|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2551
|
 |

"ในวิกฤติมักมีโอกาสแอบซ่อนรอคอยการค้นพบและขยายผล" ประโยคข้างต้นดูจะเป็นจริงไม่น้อย โดยเฉพาะกับกรณีที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการเงินของญี่ปุ่น ในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา
ภาวะฟองสบู่แตกที่เริ่มขึ้นในช่วงปี 1986 จากผลของการปั่นราคาที่ดินและหลักทรัพย์ ก่อนที่จะถึงจุดวิบัติและต่อเนื่องยาวนานได้ส่งผลให้ภูมิทัศน์ของระบบการเงินญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่มีทางหวนกลับ
ธนาคารและสถาบันการเงินของญี่ปุ่นแต่ละแห่งต่างต้องประสบชะตากรรม ในลักษณะที่ไม่ต่างกัน ภายใต้ระดับความรุนแรงลดหลั่นกันลงไป บ้างล้มหายไปจาก สารบบ บ้างต้องดิ้นรนหาพันธมิตรเพื่อผนวกรวมธุรกิจก่อนการเดินทางครั้งใหม่
แต่สถานการณ์ต่างๆ ดูจะย่ำแย่ลง ไปอีก เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจที่คุกคามภูมิภาค เอเชียในปี 1997 ซ้ำเติมสถาบันการเงินญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่อาจฟื้นตัวให้ต้องปิดฉากลงในที่สุด
บรรดาสถาบันการเงินที่ล่มสลายของญี่ปุ่น Long-Term Credit Bank of Japan ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่มั่งคั่งที่สุดในลำดับที่ 9 ของโลกจากขนาดของสินทรัพย์ ก่อนเกิดวิกฤติฟองสบู่แตกในช่วงปลายทศวรรษ 1980 กลายเป็นซากผุพังที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแบกภาระ
แม้จะมีความพยายามที่จะกอบกู้สถานการณ์ของ LTCB ด้วยการเสนอควบรวมกับสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ แต่ข้อเสนอ ดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นต้องขาย LTCB ออกไปให้กับกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย Ripplewood Holdings ด้วยราคา 1.21 แสนล้านเยนเมื่อเดือนมีนาคม 2000
ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนักลงทุนจากต่างประเทศ โดย LTCB เปลี่ยน ชื่อเป็น Shinsei ซึ่งมีความหมายว่าการเกิดขึ้นใหม่ (Newborn หรือ New Life)
การเข้าครอบครอง LTCB หรือ Shinsei Bank ดังกล่าวนี้สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้กับ Ripplewood Holdings ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ Shinsei Bank มูลค่ารวม 2.3 แสนล้านเยน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2004
ซึ่งหมายความว่า Ripplewood Holdings ได้กำไรจากการลงทุนครั้งนี้ไปกว่า 1 แสนล้านเยนภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี และนับเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งของ Ripplewood เลยทีเดียว
กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ในสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง โดย เฉพาะอย่างยิ่งเสียงวิพากษ์ต่อบทบาทการ เป็นที่ปรึกษาของ Goldman Sachs ซึ่งเป็นผู้แนะนำให้รัฐบาลญี่ปุ่นขาย LTCB ออกไปในช่วงก่อนหน้านี้
ในส่วนของความเป็นไปของ Shinsei นับจากนั้นเป็นต้นมายังยากที่จะประเมินว่าประสบความสำเร็จหรือไม่เพราะหากประเมินจากผลประกอบการของ Shinsei ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงิน รายได้ของ Shinsei ยังต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
แม้ว่าจะมีการขอเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบการจากการเป็นธนาคารสินเชื่อระยะยาว (long-term credit banking license) มาสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ (commercial banking license) เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมก็ตาม
ขณะที่สถานการณ์โดยรวมของ Shinsei ดูจะย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อ Shinsei ต้องขายอาคารที่ทำการสำนักงานใหญ่ที่เขต Hibiya และศูนย์ปฏิบัติการในเขต Meguro เพื่อนำมาเป็นรายได้ของธนาคาร หลังจากที่รายได้ของธนาคารตกต่ำลงต่อเนื่องจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008
สถานการณ์ของ Shinsei Bank ดังกล่าว แม้มีจุดเริ่มต้นคล้ายคลึงกับกรณี ของ Tokyo Star Bank แต่ธนาคารทั้งสอง แห่งมีความเป็นไปที่แตกต่างกันไม่น้อย
Tokyo Star Bank เกิดขึ้นจากผลของการเข้าซื้อกิจการ Tokyo Sowa Bank ซึ่งประสบปัญหาล้มละลาย โดยกลุ่ม Lone Star Funds ในปี 2001
ในระยะแรก Tokyo Star Bank กลายเป็นสีสันใหม่ให้กับวงการเงินญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะเปลี่ยนสถานะจากธนาคารท้องถิ่นขนาดเล็กให้ขยายตัวเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีโครงข่ายครอบคลุมไปสู่หัวเมืองขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นแล้ว
ธนาคารแห่งใหม่นี้ยังนำเสนอ บริการใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในบริบทของสังคมการเงินญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการบัตร MasterCard Debit Card ซึ่งสามารถใช้จ่ายได้อย่างไม่มีขีดจำกัดของ วงเงินสินเชื่อ หากแต่ขึ้นอยู่กับยอดบัญชีเงินฝากของลูกค้าแต่ละรายโดยตรง
ความน่าตื่นตาตื่นใจของ Tokyo Star Bank อีกประการหนึ่งที่กลายเป็น talk-of-the-town อยู่ที่การก้าวขึ้นมาเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Todd Budge เมื่อปี 2003 นับเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดในธนาคารญี่ปุ่น และยังเป็น CEO ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินญี่ปุ่นด้วย
กระนั้นก็ดี Todd Budge ไม่ใช่มือใหม่แปลกหน้าในสังคมการเงินญี่ปุ่น เพราะเขาใช้เวลากว่า 15 ปี คร่ำหวอดอยู่ในภาคการเงินของญี่ปุ่น ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่ของ Citibank และ GE Capital ประจำญี่ปุ่น ก่อนจะเข้าเป็นสมาชิกคนสำคัญในคณะผู้บริหารของ Tokyo Star Bank ในช่วงต้นปี 2002
Todd Budge เป็นจักรกลสำคัญใน การสร้างเครื่องมือและรูปแบบการบริการใหม่ๆ ของ Tokyo star Bank รวมถึงการ นำพา Tokyo Star Bank เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์บนกระดานหลัก (First Section) ในตลาดหลักทรัพย์ Tokyo ในเดือนตุลาคม 2005
ความสำเร็จของ Tokyo Star Bank ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นรูปแบบที่ผู้คนในแวดวงการเงินญี่ปุ่นเฝ้าติดตามและขยาย วงเป็นตัวอย่าง ที่ธนาคารขนาดกลางในหลายประเทศให้ความสนใจ
ขณะที่ Great Place to Work Institute ยกย่องให้ Tokyo Star Bank เป็นบริษัทที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานในญี่ปุ่น 2 ปีติดต่อกันในปี 2007 และ 2008
แต่นั่นอาจเป็นเพียง "เกล็ดน้ำตาล บนยาพิษ" ที่ฉาบเคลือบเพื่อแฝงเร้นข้อเท็จ จริงที่น่าสะพรึงกลัวบางประการเท่านั้น
เพราะในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายน 2008 ที่ผ่านมา ข้อมูลว่าด้วยการหลบเลี่ยงภาษีและการทำ ธุรกรรมอำพรางของกลุ่ม Lone Star ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ Tokyo Star Bank ถูกเปิดเผยออกมา ในช่วงใกล้เคียงและคาบเกี่ยวกับความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้
สำนักงานภาษีท้องที่โตเกียว พบว่า Lone Star ปิดบังรายได้จำนวนรวมกว่า 1.4 หมื่นล้านเยน จากการดำเนินธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2002-2003 และพยายามที่จะเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจำนวน รวมกว่า 5 พันล้านเยนจาก Lone Star
แต่ดูเหมือนกรณีดังกล่าวจะถูกเปิดเผยออกมาช้าเกินกว่าที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ด้วยเหตุที่ Lone Star ไม่เหลือสินทรัพย์ใดๆ อยู่ในญี่ปุ่น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับ Lone Star ได้
เพราะ LSF-TS Holdings, SCA และ LSF Tokyo Star Holdings, SCA ซึ่งเป็นแขนขาของ Lone Star ในการถือหุ้นใหญ่ใน Tokyo Star รวมกว่า 68.1% ได้ผ่องถ่ายทรัพย์สินและหุ้นของ Tokyo Star ไปให้กับกลุ่มบริษัทร่วมทุนรายอื่นตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
กรณีที่เกิดขึ้นกับทั้ง Shinsei Bank และ Tokyo Star Bank ดำเนินผ่านความเคลื่อนไหวของ Ripplewood Holdings และ Lone Star Funds ในด้านหนึ่งได้สะท้อนธรรมชาติของการลงทุน โดยเฉพาะ วิถีการแสวงหากำไรของกองทุนและสถาบันทางการเงินที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเงินระดับนานาชาติ
ซึ่งพร้อมจะสวมบทบาทของผู้กอบกู้และซ้ำเติมสถานการณ์ไปในคราวเดียวกัน
ปัญหาอยู่ที่ว่า ขณะที่มีผู้แสวงหาประโยชน์และโอกาสจากวิกฤติที่เลวร้ายนี้ การเสริมสร้างความรู้เท่าทันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์จะดำเนินไปในรูปลักษณ์ใด
|
|
 |
|
|