Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2551
การล่มสลายของ America Inc.             
 

   
related stories

บทเรียน ยุทธศาสตร์ และโอกาสบนสถานการณ์วิกฤติ
ยุคใหม่ของทุนนิยมโลก เริ่มต้น ณ บัดนี้
ดูไบ มหานครแห่งความมั่งคั่ง
เอไอจีและเอไอเอความเชื่อมั่นที่ซื้อไม่ได้
ไอเอ็นจีสะเทือน
สโกเทียแบงก์พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
Shinsei Bank และ Tokyo Star Bank โอกาสบนซากผุพัง

   
search resources

Economics




ลัทธิทุนนิยม ซึ่งเป็น "ยี่ห้อ" ของอเมริกา ได้ล่มสลายไปพร้อมๆ กับการล้มของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ใน Wall Street อเมริกาจะสามารถฟื้นศรัทธาใน "แบรนด์" America Inc. ของตนให้กลับคืนมาได้อย่างไร

การล่มสลายของวาณิชธนกิจที่มีอายุเก่าแก่ของสหรัฐฯ การอันตรธานไปในชั่วพริบตาของเงินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากการขาดทุนในตลาดหุ้นภายในเวลาเพียงวันเดียว และแผนกอบกู้วิกฤติการเงินสหรัฐอเมริกา ที่จะใช้เงินภาษีอากรของประชาชนถึง 700,000 ล้านดอลลาร์

คงจะไม่มีครั้งใดอีกแล้วที่การล่มสลายของ Wall Street จะหนักหนาสาหัสไปมากกว่าครั้งนี้

แต่ในขณะที่คนอเมริกันยังคงตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องจ่ายเงินเป็น แสนๆ ล้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่มสลาย ยังมีบางคนที่มองเห็นว่า ยังมี "ค่าใช้จ่าย" ที่อาจจะสูงกว่านั้นอย่าง มากที่สหรัฐฯ จะต้องจ่ายด้วยในครั้งนี้

เพียงแต่อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่จับต้อง ไม่ได้ นั่นคือความเสียหายที่วิกฤติการเงินครั้งนี้ก่อให้เกิดขึ้นกับ "แบรนด์" ที่มีชื่อว่า America Inc.

แท้จริงแล้ว "ความคิด" คือสินค้าส่งออกที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ และความคิดพื้นฐานที่สุด 2 อย่าง ของสหรัฐฯ ที่สามารถครอบงำความคิดของโลกมานานตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 จนถึงทุกวันนี้ เมื่อ Ronald Reagan ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็คือ ลัทธิทุนนิยมแบบอเมริกัน ซึ่งสนับสนุนการเก็บภาษีในระดับต่ำ การมีกฎเกณฑ์แต่เพียงเบาบาง และการลดขนาดรัฐบาลให้เหลือเพียงขนาดเล็ก

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทุนนิยมแบบอเมริกันยืนยันว่า คือเครื่องยนต์ที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลัทธิ Reaganism สามารถพลิกกระแสที่คงอยู่มานานนับร้อยปีของการมีรัฐบาลขนาดใหญ่ได้สำเร็จ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กลายเป็นระเบียบประจำวัน ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นเช่นเดียวกันทั่วโลก

ความคิดสำคัญอย่างที่ 2 ที่สหรัฐฯ ส่งออกไปขายทั่วโลกคือ การที่สหรัฐฯ เป็นผู้ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยเสรีไปทั่วโลก ซึ่งถูกมองว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุด อันจะนำไปสู่ระเบียบโลกที่เจริญมั่งคั่งและเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

อำนาจและอิทธิพลของอเมริกา หาได้อยู่ที่เพียงรถถังและดอลลาร์ แต่อยู่บนความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้อง กันว่า รูปแบบของรัฐบาลแบบอเมริกันเป็น โมเดลที่เข้าท่า และต้องการที่จะจัดรูปร่างสังคมของพวกเขาตามอย่างอเมริกา นี่คือสิ่งที่ Joseph Nye นักรัฐศาสตร์เรียกว่า เป็น "อำนาจในภาคนุ่มนวล" ของอเมริกา

เป็นเรื่องยากที่จะวัดว่า ความคิดทั้งสองประการดังกล่าวซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "ยี่ห้อ" หรือ "แบรนด์" ของอเมริกานั้น ได้รับความเสียหายและถูกลดทอนความน่าเชื่อถือไปมากเพียงใดในขณะนี้

ในช่วงระหว่างปี 2002 ถึง 2007 เมื่อโลกยังคงเพลิดเพลินกับช่วงเวลาแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เป็นเรื่องง่ายที่จะไม่มีใครสนใจ คำพูดของนักสังคมนิยมในยุโรป และนักประชานิยมในละตินอเมริกา ที่พยายามจะประณามโมเดลเศรษฐกิจแบบอเมริกันว่าเป็น "ทุนนิยมคาวบอย"

แต่มาบัดนี้ เครื่องยนต์ที่เคยสร้างการเติบโตคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น กลับเสียหายจนใช้การไม่ได้เสียแล้ว และยังทำท่าจะฉุดลากโลกทั้งโลกให้พลอยล้มคว่ำ ตามไปด้วย

ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ร้ายในครั้งนี้ ก็คือโมเดลเศรษฐกิจแบบอเมริกันนั่นเอง

ภายใต้มนตราของการลดบทบาทรัฐบาลให้น้อยลง ทำให้สหรัฐฯ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการควบคุมตรวจสอบภาคการเงิน และปล่อยให้มันสร้างความเสียหาย อย่างมโหฬารให้แก่สังคมโดยรวม

ประชาธิปไตยแบบอเมริกายังเสื่อมเสียไปก่อนหน้านี้อีก ในทันทีที่พบหลักฐานที่กลับตาลปัตรว่า Saddam หาได้มีอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงไว้ในครอบครองไม่ รัฐบาล Bush ก็ดิ้นหาความชอบธรรมใหม่ให้แก่สงครามอิรัก ด้วยการโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ "วาระแห่งเสรีภาพ"

ทันใดนั้น การส่งเสริมประชาธิปไตย กลับกลายไปเป็นอาวุธสำคัญที่สุดในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ไปเสียแล้ว แต่สำหรับคนมากมายทั่วโลก การโยงเรื่องประชาธิปไตยเข้ากับอิรัก ฟังดูเหมือนคำแก้ตัวของสหรัฐฯ เพื่อหวังที่จะครองโลกต่อไปเท่านั้น

ทางเลือกที่สหรัฐฯ เผชิญในขณะนี้ไปไกลเกินกว่าแค่เพียงแผนกอบกู้เศรษฐกิจ หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียแล้ว แต่แบรนด์ America กำลังถูกทดสอบอย่างหนักหน่วงและเจ็บปวด

ขณะที่โมเดลของประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือรัสเซีย กลับยิ่งดูเข้าท่า มากกว่าการฟื้นชื่อเสียงที่ดีงามของสหรัฐฯ และการฟื้นความน่าดึงดูดใจของแบรนด์ America เป็นปัญหาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพยายามจะฟื้นเสถียรภาพภาคการเงินของสหรัฐฯ

Barack Obama และ John McCain คนใดคนหนึ่ง จะต้องเป็นผู้แบก ภาระในการแก้ปัญหานี้ในอนาคตอันใกล้ คงจะแก้ปัญหานี้แตกต่างกันไปตามสไตล์ของแต่ละคน

แต่สิ่งที่แน่ๆ คือ นี่จะเป็นงานที่หนักหนาสาหัสที่สุดและต้องใช้เวลานานหลายปี และการแก้ปัญหาคงจะยังเริ่มต้นไม่ได้ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรที่ผิดพลาดไป ส่วนไหนของโมเดลแบบอเมริกันที่ยังคงมั่นคงดีอยู่ และส่วนไหนที่ยังต้องปรับปรุง ที่สำคัญคือส่วนไหนที่ควรจะตัดทิ้งไป

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า การล่มสลายของ Wall Street นับเป็นจุดจบของยุค Reagan ดูเหมือนพวกเขาจะคิดถูก ถึงแม้หาก McCain อาจได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนก็ตาม

แนวคิดที่มีความสำคัญในประวัติ-ศาสตร์มักเกิดขึ้นในบริบทแห่งยุคที่มีความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ และไม่อาจจะอยู่รอดได้เมื่อบริบทที่แวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป

นี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมการเมืองจึงมักจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างซ้ายกับขวาเป็นวัฏจักรเช่นนี้อยู่เสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงรอบหนึ่งอาจกินเวลานานนับชั่วคน

ลัทธิ Reaganism หรือที่คนอังกฤษ เรียกว่า Thatcherism เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมกับยุคนั้น นับตั้งแต่ยุค "ข้อตกลงใหม่" (New Deal) ของ Franklin Roosevelt ในทศวรรษ 1930 รัฐบาลทั่วโลกก็ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงทศวรรษ 1970 หลาย ประเทศกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่มีขนาดใหญ่เทอะทะและเศรษฐกิจก็ถูกขัดขวาง

ความก้าวหน้าจากระบบราชการที่ใหญ่โตงุ่มง่าม ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ ในตอนนั้น โทรศัพท์มีราคาแพงและขอยากมาก การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเรื่องหรูหราสำหรับคนรวยเท่านั้น และคนส่วนใหญ่ต้องฝากเงินในธนาคารที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำเพราะถูกควบคุมโดยรัฐ

โครงการสวัสดิการสังคมบางอย่างของสหรัฐฯ ไม่จูงใจให้ครอบครัวคนจนในอเมริกาขยันทำงานหรือรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้ ทำให้ครอบครัวอเมริกันแตกสลาย การปฏิวัติของ Reagan-Thatcher ทำให้การว่าจ้างและปลดคนงาน ทำได้ง่ายขึ้น แม้จะต้องแลกมาด้วยการสร้างความเจ็บปวดอย่างใหญ่หลวง เมื่ออุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมหดตัวหรือปิดตัวลง

แต่ขณะเดียวกันลัทธินี้ก็ได้วางรากฐานที่ทำให้เกิดการเติบโตเกือบ 3 ทศวรรษ ทำให้เกิดภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและไบโอเทค

ในระดับโลก การปฏิวัติของ Reagan ได้ขยายสู่ "ฉันทามติวอชิงตัน" (Washington Consensus) ซึ่งสหรัฐฯ และสถาบันที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ เช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ผลักดันให้ชาติกำลังพัฒนาเปิดเสรีเศรษฐกิจ

ถึงแม้ฉันทามติวอชิงตันจะถูกด่าประณามจากผู้นำประชานิยมอย่าง Hugo Chavez แห่งเวเนซุเอลา แต่หลักการนี้ก็ได้ช่วยผ่อนคลายวิกฤติหนี้สินของละติน อเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 เมื่อปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรงกำลังสร้างความเจ็บปวดให้แก่อาร์เจนตินาและบราซิล

นโยบายที่เป็นมิตรกับตลาดที่คล้าย คลึงกับฉันทามติวอชิงตันก็เปลี่ยนจีนและอินเดียให้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

ถ้าต้องการหลักฐานมากกว่านี้ ก็ลองมองไปที่ตัวอย่างที่สุดโต่งที่สุดในโลกของประเทศที่มีรัฐบาลขนาดใหญ่ นั่นคือเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางอย่างอดีต สหภาพโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ อื่นๆ

ในทศวรรษ 1970 ประเทศเหล่านั้น ต่างล้าหลังประเทศคู่แข่งที่เป็นทุนนิยมในเกือบทุกๆ ด้าน การล่มสลายของประเทศ เหล่านั้นหลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินยืนยันว่า รัฐสวัสดิการขนาดใหญ่กำลังมาถึงทางตันทางประวัติศาสตร์

เช่นเดียวกับสิ่งใดๆ ในโลกล้วนเป็นอนิจจัง การปฏิวัติของ Reagan ก็หนีไม่พ้น หลังจากที่บรรดาสาวกได้เชิดชูลัทธินี้เป็นอุดมการณ์ที่สูงส่งแตะต้องไม่ได้ แต่ไม่ใช่คำตอบสำหรับการขจัดส่วนเกินของรัฐสวัสดิการ

แนวคิด 2 ประการของลัทธินี้กลาย เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามแตะต้องหนึ่งคือแนวคิดที่ว่าการลดภาษีจะทำให้รัฐได้ภาษีกลับคืนมามากขึ้นในท้ายที่สุด และ สองคือ ตลาดการเงินสามารถควบคุมตัวมันเองได้

ก่อนทศวรรษ 1980 กลุ่มอนุรักษ-นิยมมีนโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยมกล่าวคือ จะไม่ใช้จ่ายเกินกว่าเงินภาษีที่เก็บได้ แต่เศรษฐกิจแบบ Reaganomics ริเริ่มแนวคิดที่ว่า การลดภาษีเกือบทุกชนิด จะกระตุ้นการเติบโต จนในที่สุดรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น (ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Laffer curve)

แต่แท้ที่จริงแล้ว แนวคิดดั้งเดิมแบบ อนุรักษนิยมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหากลดภาษีโดยไม่ลดการใช้จ่ายไปพร้อมกันด้วย ในที่สุดประเทศจะขาดดุลงบประมาณ

ดังนั้นนโยบายลดภาษีของ Reagan ในทศวรรษ 1980 จึงทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณครั้งใหญ่ ส่วนการเพิ่มภาษีในยุค Clinton ในทศวรรษ 1990 ทำให้เกินดุลงบประมาณ และการลดภาษีในรัฐบาล Bush ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ยิ่งทำให้การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ความจริงที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในยุค Clinton ซึ่งใช้นโยบายขึ้นภาษีก็ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วพอๆ กับยุค Reagan ซึ่งใช้นโยบายลดภาษี ยังคงไม่สามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่ว่า การลดภาษีจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแน่นอนลงไปได้

ยิ่งกว่านั้น โลกาภิวัตน์กลับกลายเป็นสิ่งที่ช่วยปกปิดจุดบกพร่องของเหตุผลดังกล่าวมานานหลายทศวรรษ ต่างชาติยังดูเหมือนเต็มใจที่จะถือเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไว้ตลอดไป ซึ่งทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถ ใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณ

ในขณะที่ยังคงสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชาติกำลังพัฒนาใดจะทำได้โดยไม่ถูกตำหนิ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้รองประธานาธิบดี Dick Cheney เคยกล่าวต่อประธานาธิบดี Bush ว่า บทเรียนจากทศวรรษ 1980 คือ การขาดดุลเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไร

ส่วนความเชื่อประการที่สองของยุค Reagan คือการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ทาง การเงินนั้นได้รับการผลักดันโดยผู้ที่เชื่อถือ ศรัทธาในแนวคิดนี้อย่างแท้จริงและบริษัทใน Wall Street ในทศวรรษ 1990 แม้แต่ Democrats ก็ยังยอมรับแนวคิดนี้มาเป็นสรณะด้วย

ผู้ที่สนับสนุนยืนยันว่า กฎเกณฑ์เข้มงวดที่ใช้มานานตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ Great Depression อย่างกฎหมาย Glass-Steagall Act (ซึ่งแยกธนาคารพาณิชย์กับวาณิชธนกิจ) เป็นตัวสกัดกั้นนวัตกรรมและบ่อนทำลายความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินสหรัฐฯ

พวกเขาพูดถูก

การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ก่อให้เกิดนวัตกรรมอย่างท่วมท้นและเกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อย่างตราสารหนี้ประเภท collateralized debt obligations (CDO) ซึ่งได้กลายมาเป็นต้นตอของวิกฤติการเงินในวันนี้นั่นเอง

แต่สมาชิก Republican บางคนยังคงไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าอะไรคือชนวนของ ปัญหาในวันนี้ เห็นได้จากการที่พวกเขายังคงเสนอแผนกู้วิกฤติการเงินใหม่แทนที่แผน 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อจะเสนอให้ลดภาษีมากยิ่งขึ้นอีกสำหรับกองทุน hedge fund

ปัญหาก็คือ Wall Street แตกต่างจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างเช่น Silicon Valley อย่างมาก

การมีกฎเกณฑ์ที่เบาบางเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อภาคไฮเทค แต่สถาบันการเงินนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมให้ภาคการเงินมีความโปร่งใส และจำกัดความเสี่ยงที่พวกเขาจะทำกับเงินของคนอื่น

ภาคการเงินยังแตกต่างจากภาคอื่นๆ ตรงที่หากสถาบันการเงินล้ม ก็จะส่ง ผลเสียหายไม่เพียงแต่ผู้ถือหุ้นและพนักงาน ของสถาบันการเงินนั้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย

สัญญาณที่บ่งชี้ว่าการปฏิวัติ Reagan ได้เบี่ยงเบนไปจนเป็นอันตราย เห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษที่แล้ว สัญญาณ เตือนแรกคือการเกิดวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997-1998

ประเทศอย่างเกาหลีใต้และไทย ซึ่งทำตามคำแนะนำและแรงกดดันของสหรัฐฯ ให้เปิดเสรีตลาดทุนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ทำให้เงินร้อนเริ่มทะลักเข้าสู่ไทยและเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดฟองสบู่การเก็งกำไร แล้วเงินร้อนเหล่านั้นก็เร่งรีบถอนออกไปทันที่เกิดสัญญาณแรกของปัญหาในเอเชีย

แต่ประเทศอย่างจีนกับมาเลเซียไม่ได้เดินตามคำแนะนำของสหรัฐฯ และยังคงปิดตลาดการเงินของตน หรือควบคุม อย่างเข้มงวด ซึ่งพบว่าพวกเขาได้รับผลกระทบน้อยกว่า

สัญญาณเตือนที่สองอยู่ที่การขาดดุลงบประมาณสะสม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสหรัฐฯ เอง จีนและอีกหลาย ชาติเริ่มซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากปี 1997 โดยมีเจตนาเพื่อจะรักษาค่าเงินของตนให้อ่อน รักษาโรงงานผลิตสินค้าของตนและคุ้มครองตัวเองจากวิกฤติการเงิน

การกระทำดังกล่าวเหมาะสมกับสหรัฐฯ ในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 เป็นอย่างยิ่ง เพราะหมายความว่า สหรัฐฯ ยังคงสามารถลดภาษี มีเงินใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอย่างเหลือเฟือ มีเงินสนับสนุนสงครามที่แสนแพง 2 ครั้ง และขาดดุลการคลังต่อไปได้ในเวลาเดียวกัน

แต่การทำเช่นนั้นทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลและยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสูงถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีในปี 2007 แต่สถานการณ์ขาดดุลการค้าอย่างน่ากลัวเช่นนี้ไม่อาจจะคงอยู่ได้ตลอดไป ไม่ช้าก็เร็วต่างชาติก็จะฉุกคิดได้ว่า สหรัฐฯ ไม่ใช่ที่ที่พวกเขาควรจะฝากเงินไว้อีกต่อไป

การอ่อนค่าของดอลลาร์บ่งชี้ว่า สหรัฐฯ กำลังเริ่มเดินมาถึงจุดจุดนั้นแล้ว ซึ่งชัดเจนและตรงข้ามกับคำกล่าวของ Cheney ข้างต้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว การขาดดุลเป็นเรื่องที่สำคัญ

แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง ผลเสียของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ก็ชัดเจนก่อนหน้าที่ Wall Street จะล้มในครั้งนี้เสียอีก

ในแคลิฟอร์เนีย ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นจนเกินควบคุมในปี 2000-2001 ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในตลาดพลังงานของแคลิฟอร์เนีย ที่ซึ่งบริษัทที่ไร้จริยธรรมอย่าง Enron ได้เข้าไป "เล่นพนัน" เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

Enron และบริษัทอื่นอีกหลายแห่ง ล้มในปี 2004 เนื่องจากไม่มีการควบคุมมาตรฐานบัญชีอย่างเพียงพอ ความไม่เท่าเทียมในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นตลอดทศวรรษที่แล้ว เนื่องจากผลดีที่ได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจไปอยู่ในมือของคนรวยและคนที่มีการศึกษาดีมากกว่า

ขณะที่รายได้ของชนชั้นแรงงานกลับไม่เพิ่มขึ้น สุดท้าย การยึดครองอิรักที่ผิดพลาดและการไม่สามารถรับมือกับ Hurricane Katrina ได้เผยให้เห็นถึงความอ่อนแอของภาครัฐตั้งแต่ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุดของสหรัฐฯ

ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข้าราชการได้รับการสนับสนุนที่น้อยเกินไปและเกียรติยศศักดิ์ศรีตกต่ำลงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุคของ Reagan เป็นต้นมา ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่ายุค Reagan ควรจะจบสิ้นไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้ แต่ที่ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่เพียงเป็นเพราะการที่พรรค Democrats ไม่มีผู้สมัครประธานาธิบดีเหตุผลที่เพียงพอจะโน้มน้าวประชาชนได้ แต่ยังเป็นเพราะสหรัฐฯ มีบางอย่างที่แตกต่างจากยุโรป

ชนชั้นแรงงานในยุโรปจะออกเสียงเลือกพรรคสังคมนิยม คอมมิวนิสต์และพรรคอื่นๆ ที่เอียงซ้าย ซึ่งเป็นการเลือกตามผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองตามปกติ

หากแต่ที่อเมริกา ชนชั้นแรงงานสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในการสนับสนุนพรรคซ้ายหรือพรรคขวา ชนชั้นแรงงานเคยเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร พรรค Democrats ในยุคที่เรียกว่า "ข้อตกลงใหม่" ของ Roosevelt และยังคงเข้า ร่วมกับนโยบาย "Great Society" ของ Lyndon Johnson ในทศวรรษ 1960

แต่พวกเขากลับเริ่มต้นหันไปลงคะแนนให้ Republican ในยุค Nixon กับ Reagan แล้วกลับไปสนับสนุน Clinton ของ Democrats ในทศวรรษ 1990 แต่แล้วก็หันกลับไปสนับสนุน Republican อีกครั้งในสมัย George W. Bush

เวลาที่ชนชั้นแรงงานอเมริกันลงคะแนนให้แก่ Republican นั้น มักจะเป็น เพราะประเด็นทางวัฒนธรรมอย่างเช่นศาสนา ความรักชาติ คุณค่าของครอบครัว และสิทธิการเป็นเจ้าของปืน ซึ่งสำคัญกว่าประเด็นเศรษฐกิจในขณะนั้น

คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นผู้ตัดสินใจการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกครั้ง อย่างน้อยก็เป็นเพราะชนชั้นแรงงานมีอยู่มากในรัฐที่เรียกว่า swing state ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่แน่นอนว่าจะสนับสนุนพรรคใด อย่างเช่น โอไฮโอและเพนน์ซิลเวเนีย

พวกเขาจะเลือก Obama ซึ่งมีการศึกษาสูงจาก Harvard ที่ดูไกลตัวแต่อาจสะท้อนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพวกเขาได้ถูกต้องกว่า หรือจะเกาะติดกับคนที่พวกเขารู้สึกคุ้นเคยมากกว่าอย่าง McCain กับ Sarah Palin

ในอดีตนั้น ต้องรอให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 1929 จนถึง 1931 เสียก่อน Democrats จึงสามารถกลับมาเถลิงอำนาจได้อีกครั้ง ส่วนผลสำรวจความนิยมผู้สมัครประธานาธิบดีปีนี้ก็บ่งชี้ว่า สหรัฐฯ อาจกำลังมาถึงจุดจุดนั้น อีกครั้งในเดือนนี้ (ตุลาคม)

องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างของแบรนด์อเมริกันคือประชาธิปไตย และความเต็มใจของสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก อุดมการณ์นี้สอดแทรกอยู่ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่เคยขาดตลอดศตวรรษที่แล้ว

ตั้งแต่สันนิบาตชาติ (Leage of Nations) ของ Woodrow Wilson ถึง "เสรีภาพทั้ง 4" (Four Freedoms) ของ Roosevelt จนถึงการที่ Reagan ชักชวน Mikhail Gorbachev ให้ "ทลายกำแพงนี้ลงเสียเถิด"

การส่งเสริมประชาธิปไตยของสหรัฐฯ โดยผ่านการทูต การให้ความช่วยเหลือต่อกลุ่มสังคมในประเทศอื่นๆ การสนับสนุนเสรีภาพสื่อและอื่นๆ ไม่เคยมีปัญหาขัดแย้งมาก่อน

แต่ปัญหาในขณะนี้คือ การที่รัฐบาล Bush อ้างประชาธิปไตยเป็นความชอบธรรมในการก่อสงครามอิรัก ทำให้หลายคนมองคำว่า "ประชาธิปไตย" ของสหรัฐฯ ว่า เป็นคำรหัสที่หมายถึงการแทรกแซงทางทหารและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในประเทศอื่น

ความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้นในอิรักก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของประชา ธิปไตยดีขึ้นแต่อย่างใด และตะวันออก กลางคือกับระเบิดสำหรับรัฐบาลอเมริกันโดยเฉพาะ

เนื่องจากสหรัฐฯ สนับสนุนชาติพันธมิตรที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย และกลับปฏิเสธกลุ่ม Hamas และ Hizbullah ซึ่งขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง สหรัฐฯ จึงสูญเสียความน่าเชื่อถือเมื่ออ้างถึงการส่งเสริมเสรีภาพ

โมเดลประชาธิปไตยของเมริกายังมัวหมองอย่างหนักจากการที่รัฐบาล Bush ใช้การทรมาน หลังจากเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่า พร้อมที่จะสลัดทิ้งการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ค่ายกักขังผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย Guantanamo Bay สภาพของนักโทษในเรือนจำ Abu Ghraib ของอิรัก กลายเป็นภาพที่มาแทนที่เทพีเสรีภาพในฐานะสัญลักษณ์ของอเมริกาไปเสียแล้วในสายตา ของคนที่ไม่ใช่อเมริกัน

ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งประธานา ธิบดีสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยน แปลงเข้าสู่วงจรใหม่ของการเมืองอเมริกันและการเมืองโลกก็จะเริ่มต้นขึ้นอย่างแน่นอน คาดว่า Democrats จะสามารถเพิ่มเสียงข้างมากได้ทั้งในสภาผู้แทนและวุฒิสภา

ความไม่พอใจของประชาชนกำลังเพิ่มขึ้น เมื่อการล่มสลายของ Wall Street ลามไปสู่ Main Street หรือประชาชนทั่วไป และทุกคนดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นจะต้องมีการฟื้นกฎระเบียบเพื่อควบคุมหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ

ในระดับโลก สหรัฐฯ จะไม่สามารถ ธำรงความเป็นเจ้าโลกไว้ได้อีกต่อไป เห็นได้จากเหตุการณ์ที่รัสเซียส่งทหารรุกล้ำเข้าไปในจอร์เจีย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งสหรัฐฯ ทำอะไรรัสเซียไม่ได้เลย

ความสามารถของสหรัฐฯ ในการกำหนดความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ผ่าน ข้อตกลงการค้า IMF และธนาคารโลกก็จะลดลง เช่นเดียวกับทรัพยากรทางการเงินของสหรัฐฯ ก็จะลดลงด้วย และในหลายส่วนของโลก แนวคิด คำแนะนำหรือแม้กระทั่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะเป็นที่ยินดีต้อนรับน้อยลง

ภายใต้สภาวการณ์ข้างต้น ผู้สมัครประธานาธิบดีคนใดจะมีภาษีดีกว่าในการ "รีแบรนด์" อเมริการะหว่าง Barack Obama กับ John McCain

เป็นที่ชัดเจนว่า Barack Obama แบกภาระความผิดพลาดที่ผ่านมาของรัฐบาลน้อยกว่า สไตล์การทำงานแบบไม่ยึดติดกับพรรคของเขา ก็สามารถจะอยู่เหนือความแตกแยกทางการเมืองสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

โดยพื้นฐานแล้วเขาดูเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักอุดมการณ์ แต่ความสามารถในการสร้างฉันทามติของเขาจะต้องถูกทดสอบอย่างหนัก เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ ทั้งยังจะต้องสามารถ เกลี้ยกล่อมไม่แต่สมาชิกพรรค Republican แต่ยังรวมถึงสมาชิก Democrats ของเขาเอง ซึ่งไม่มีใครควบคุมได้

ส่วน McCain กล่าวโทษ Wall Street และต้องการให้ปลด Chris Cox ประธาน SEC ออก เขาอาจจะเป็น Republican เพียงคนเดียวที่สามารถนำพาพรรคเข้าสู่ยุคหลัง Reagan ได้

แต่บางคนรู้สึกว่า McCain ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างแน่นอนเลยว่า ตัวเขาเองจะเป็นคน Republican แบบไหนกันแน่ และเขาควรจะใช้หลักการใดในการนิยามอเมริกายุคใหม่

อเมริกาจะสามารถฟื้นอิทธิพลของตัวเองได้ในที่สุด ในขณะที่โลกทั้งโลกกำลังจะประสบกับเศรษฐกิจขาลง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนอยู่ดีว่า โมเดลแบบจีนหรือรัสเซียจะดีไปกว่าโมเดลแบบอเมริกัน อีกประการคือ สหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวจาก การถดถอยครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้งในช่วงระหว่างทศวรรษ 1930 ถึง 1970 อันเนื่องมาจากการที่ทั้งระบบของสหรัฐฯ และ ชาวอเมริกันต่างก็มีความสามารถในการปรับตัวและฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเปลี่ยนแปลงที่ลึกถึงระดับพื้นฐานของตัวเอง

ประการแรก สหรัฐฯ จะต้องหลุดพ้นจากการผูกติดกับยุค Reagan และนโยบายลดภาษีและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ นโยบายลดภาษีอาจดูเป็นเรื่องดี แต่ไม่จำเป็นว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจหรือจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเสมอไป

เมื่อดูจากสถานการณ์ด้านการคลังในระยะยาวของสหรัฐฯ ชาวอเมริกันควรจะได้รับการบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขาอาจจะต้องจ่ายและรับผิดชอบอนาคตของตัวเอง

การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ หรือจะพูดว่าเป็นความล้มเหลวของผู้คุมกฎในการติดตามตลาดการเงินที่เคลื่อนไหวอย่าง รวดเร็วนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอย่างที่เราก็ได้เห็นกันแล้ว ข้าราชการอเมริกันทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ อ่อนแอและสูญเสียขวัญกำลังใจ จะต้องได้รับการฟื้นฟูใหม่ รวมทั้งได้รับการยกย่องให้เกียรติ อีกครั้ง เพราะมีงานบางอย่างที่มีแต่เพียงรัฐบาลเท่านั้นที่จะทำให้สำเร็จได้

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมาอยู่นั้น แน่นอนว่าบางครั้งก็อาจจะเกิดปัญหา "ทำเกินไป" ในขณะที่สถาบันการเงินสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจสอบควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ไม่แน่ว่าภาค เศรษฐกิจอื่นๆ จะจำเป็นต้องถูกควบคุมในระดับเดียวกันไปด้วย

การค้าเสรียังคงเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการเป็นเครื่องมือทางการทูตของสหรัฐฯ นอกจากนี้สหรัฐฯ ควรจะช่วยให้ชนชั้นแรงงานของตน สามารถปรับตัวรับสภาพการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีกว่านี้ แทนที่จะมัวแต่คอยปกป้องงานเดิมๆ ของพวกเขา หากการลดภาษีมิใช่หนทางสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยอัตโนมัติ ถ้าเช่นนั้นการให้สวัสดิการสังคมอย่างไม่จำกัดก็ไม่อาจเกิดผลดีเสมอไปเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะใช้ในการกอบกู้ภาคการเงินสหรัฐฯ รวมทั้งความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ในระยะยาว มีความหมายว่า เงินเฟ้อกำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตและหากยังขืนดำเนิน นโยบายการคลังอย่างไม่รับผิดชอบต่อไป ก็อาจจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น

ขณะที่ชาติอื่นๆ อาจจะรับฟังคำแนะนำของอเมริกาน้อยลง ก็ยังมีอีกหลาย ชาติที่จะได้รับประโยชน์ หากทำตามหลักการบางอย่างของโมเดล Reagan แน่นอน ย่อมไม่ใช่การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในตลาดการเงินแต่อย่างใด

ถ้าหันไปมองในยุโรป พนักงานยังได้รับวันหยุดยาว เวลาทำงานสั้น มีหลักประกันการทำงานและสวัสดิการอื่นๆ ที่มากเกินไป ซึ่งมีแต่จะทำให้ความสามารถในการผลิตของยุโรปอ่อนแอ และจะไม่มีความยั่งยืนทางการเงิน

การรับมือวิกฤติ Wall Street อย่าง ไม่ทันท่วงทีของสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่สหรัฐฯ ต้องการ ก็คือการเมืองของสหรัฐฯ เอง การปฏิวัติ Reagan อาจจะเคยสามารถทำลายการครอบงำอเมริกามานานถึง 50 ปีของฝ่ายเสรีนิยมและพรรค Democrats ได้ และเปิดโอกาสให้ลองนำวิธีการที่แตกต่างออกไปมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

แต่หลังจากหลายปีผ่านมา สิ่งที่เคย เป็นความคิดใหม่ๆ ที่ดีกว่านั้น ได้กลับกลายเป็นความคิดที่ล้าสมัยและดันทุรังไปแล้วในวันนี้

คุณภาพของการต่อสู้กันทางการเมืองในสหรัฐฯ ลดลง จากการที่แต่ละพรรคต่างไม่ยอมจำกัดคำถามอยู่เพียงความคิดของอีกฝ่าย แต่กลับเลยไปถึงเรื่องส่วนตัว ทั้งหมดนี้ทำให้สหรัฐฯ ยากที่จะปรับตัวเข้ากับความจริงใหม่และปัญหาใหม่ที่กำลังเผชิญอย่างยากลำบาก

ดังนั้น สิ่งที่จะได้รับการทดสอบที่สำคัญที่สุดของโมเดลแบบอเมริกัน แท้จริงแล้วคือความสามารถของสหรัฐฯ ในการสร้างตัวเองขึ้นใหม่อีกครั้ง การสร้างแบรนด์ที่ดีไม่ใช่การทาลิปสติกให้กับหมู (เป็นคำพูดของหนึ่งในสองผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ)

แต่เป็นการที่จะต้องมีสินค้าที่ถูกต้องสำหรับขาย ตั้งแต่แรกเริ่ม ประชาธิปไตยของอเมริกาก็มีงานที่หนักหน่วงรออยู่ข้างหน้า

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 13 ตุลาคม 2551   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us