Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2551
ยุคใหม่ของทุนนิยมโลก เริ่มต้น ณ บัดนี้             

 

   
related stories

บทเรียน ยุทธศาสตร์ และโอกาสบนสถานการณ์วิกฤติ
การล่มสลายของ America Inc.
ดูไบ มหานครแห่งความมั่งคั่ง
เอไอจีและเอไอเอความเชื่อมั่นที่ซื้อไม่ได้
ไอเอ็นจีสะเทือน
สโกเทียแบงก์พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
Shinsei Bank และ Tokyo Star Bank โอกาสบนซากผุพัง

   
search resources

Economics




เมื่อทุนนิยมแบบอเมริกันล่มสลายก็เป็นโอกาสของคู่แข่งอย่างทุนนิยมแบบยุโรปและเอเชีย

การอภิปรายของรัฐสภาอเมริกัน เพื่อพิจารณาร่างแผนกอบกู้วิกฤติการเงินซึ่งจะต้องใช้เงินมหาศาลถึง 700,000 ล้านดอลลาร์นั้น ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ด้วยความใจหายใจคว่ำ โดยรัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติไม่ผ่านในครั้งแรก ก่อนนำไปแก้ไขปรับปรุง จนในที่สุดก็ยอมลงมติผ่านเป็นกฎหมายในเวลาต่อมา

สำหรับแผนกอบกู้ภาคธนาคารที่กำลังล่มสลาย ซึ่งต้องใช้เงินภาษีอากรของ ประชาชนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ตลาดหุ้น ทั่วโลกดีดตัวสลับกับทรุดตัวอย่างน่าหวาด เสียวราวกับนั่งอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกา

ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ขาดทุนหนักสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ก่อนจะ ทะยานขึ้นจนสามารถชดเชยผลขาดทุนได้ แต่แล้วก็ร่วงดิ่งลงอีก แล้วกลับทะยานขึ้นใหม่อีกครั้งด้วยเลข 3 หลัก ไม่เว้นแต่ละวันตลอดสัปดาห์ที่แผนกู้วิกฤติหลายแสนล้านดอลลาร์ของ Henry Paulson รัฐมนตรี คลังสหรัฐฯ กำลังถูกอภิปรายอย่างดุเดือดในรัฐสภา

ขณะเดียวกันนั้นสถาบันการเงินก็ถูกครอบงำด้วยความหวาดระแวง อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพุ่งขึ้นสูงสุด ซึ่งแสดงว่า หลังจากตลาดการเงินเกิดวิกฤติ มานานหลายสัปดาห์ ก็ไม่มีใครรู้แล้วว่า สถาบันการเงินรายใดจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปที่แบกสินทรัพย์ที่มีปัญหาไว้กับตัว

นักลงทุนรายย่อยซึ่งรู้สึกเหมือนถูกล้อมไว้ทุกด้าน แห่ไปเข้าแถวยาวเหยียดพร้อมหอบเงินสดเป็นกองๆ เพื่อไปแลกทองคำไม่กี่แท่ง หลายคนถึงกับยอมจ่ายใน ราคาแพงกว่าราคาปกติถึง 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ความต้องการทองคำทำท่าว่าจะ สูงเกินกว่าปริมาณทองคำที่มีขาย

"อย่างน้อยนี่ก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัย" ผู้ซื้อคนหนึ่งบอก "ยังดีกว่าไม่รู้ ว่าธนาคารกำลังทำอะไรกับเงินของเรา"

นั่นเป็นคำถามเดียวกับที่ทุกๆ คนอยากถาม ไม่ใช่เพียงแค่การล้มละลายของธนาคารและวาณิชธนกิจเท่านั้น ที่ทุกคนกำลังตั้งคำถาม หากแต่ยังเลยไปถึงระบบทุนนิยมแบบอเมริกันด้วย

เป็นเวลานานถึง 3 ทศวรรษที่ภูมิปัญญาทางเศรษฐกิจที่ยึดถือกันมาตลอดบอกว่า ตลาดจะต้องรู้ดีที่สุด แต่เมื่อนักการเมืองอเมริกันต่างค้อมศีรษะยอมรับความโกรธแค้นของประชาชนที่เห็นว่า ชาวบ้านอเมริกันตาดำๆ ต้องนำเงินสดๆ เกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ที่พวกเขาทำมาหาได้มาอย่างยากลำบาก ไปกอบกู้พวก ที่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย

ซึ่งดูเหมือนว่าในท้ายที่สุดแล้ว จะไม่ได้สร้างสรรค์สิ่งใดที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง เลย (หรือถ้าจะพูดให้ถูก ต้องเรียกว่าทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป) ก็ชัดเจนแล้วว่า ความคิดที่ว่า "สิ่งที่ดีต่อ Wall Street ย่อมต้องดีต่อ Main Street" ด้วยนั้นได้จบสิ้นลงแล้ว

บัดนี้เมื่ออิทธิพลของอุดมการณ์เศรษฐกิจแบบ Reagan-Thatcher ได้เสื่อมลงเรื่อยๆ ต่อหน้าต่อตาพวกเรา จึงเกิดมีความรู้สึกกันว่า ได้มีการขีดเส้นแบ่งเกิดขึ้นแล้วระหว่างการที่เรากำลังจะก้าวออกจากยุคทองแห่งตลาดเสรี เงินกู้ดอกเบี้ย ต่ำ การทำข้อตกลงธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และเงินเดือนผู้บริหารที่สูงลิ่ว

กับการที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งจะมีการเพิ่มกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นในการควบคุมดูแลเงิน การเก็งกำไรที่น้อยลง และการที่รัฐบาลจะเข้าแทรกแซงตลาดมากขึ้น

ขณะนี้นักการเมืองทั่วทุกหนแห่ง ต่างพยายามแย่งกันเป็นผู้เรียกร้องให้เพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ๆ และ "ปฏิรูป" ระบบการเงิน ในขณะที่รัฐเผด็จการทุนนิยมอย่างจีน รวมถึงรัฐประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมอย่าง เยอรมนีและฝรั่งเศส ต่างรู้สึกโล่งอกระคนกับการวางท่าว่า "เราเตือนคุณแล้ว"

ทั้งจีนและยุโรปต่างกลัวโมเดลทุนนิยมแบบอเมริกันมานานแล้ว แม้ว่าจะด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป การล่มสลายของ Wall Street ครั้งนี้จึงหมายความว่า อาจจะถึงเวลาเสียทีที่โมเดลเศรษฐกิจในแบบของพวกเขา ไม่เพียงแต่สามารถจะอยู่รอด ได้ต่อไปเท่านั้น แต่ยังดูมีอนาคตสดใสว่าจะเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปอีกด้วย

ในฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy กำลังวางแผนจะจัดประชุมระดับโลกเพื่อ "คิดใหม่เกี่ยวกับทุนนิยม" และได้ประกาศว่า การที่อำนาจรัฐจะเข้าแทรก แซงเพื่อให้ระบบการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกตินั้น ไม่จำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม ถึงความชอบธรรมอีกต่อไป

ส่วนนายกรัฐมนตรี Angela Merkel แห่งเยอรมนีกล่าวว่า หลายปีก่อน ใครๆ ต่างก็พากันพูดว่า รัฐบาลจะอ่อนแอลงในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ แต่เธอไม่เคยเห็นด้วย กับความคิดนั้นและเสริมด้วยว่า ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษต่างก็ปฏิเสธคำเรียกร้องของเธอ ที่ให้เพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุมทางการเงินให้มากขึ้น ในระหว่างการประชุมกลุ่มประเทศ อุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (G8)

ขณะที่ Peer Steinbruck รัฐมนตรีคลังเยอรมนีถึงกับฟันธงว่า วิกฤติการเงินโลกครั้งนี้จะนำไปสู่ "จุดจบของอเมริกาในฐานะมหาอำนาจทางการเงิน"

นั่นเป็นความเห็นที่ไม่ต้องสงสัยว่าจะได้รับการขานรับทันทีจากรัสเซีย ซึ่งนายกรัฐมนตรี Vladimir Putin กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการกล่าวโทษ "โรคติดต่อ จากอเมริกา" ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ตลาดการเงินของรัสเซียต้องพลอยเจอปัญหายุ่งยากไปด้วย

ส่วนในละตินอเมริกา ซึ่งผู้นำอย่าง Hugo Chavez, Christina Fernandez de Kirchner และ Evo

ales กำลังประกาศ ว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ของสหรัฐฯ ตายตั้งแต่ยังไม่เกิด และ Rafael Correa ผู้นำเอกวาดอร์ก็ช่วยซ้ำเติมว่า โมเดลเศรษฐกิจแบบสหรัฐฯ ก็กำลังมีอาการร่อแร่เช่นกัน

แม้แต่ในบรรดาผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเงินของสหรัฐฯ เอง ก็ยังรู้สึกว่า สิ่งต่างๆ ใน Wall Street ไปไกลเกินกว่าจะกู่กลับแล้ว

"ในระดับพื้นฐาน โมเดลของโลกาภิวัตน์และการผ่อนคลายกฎเกณฑ์นับว่าถึงกาลแตกดับลงแล้ว และนั่นก็คือสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติในวันนี้" George Soros นักลงทุนชื่อดังก้องโลกกล่าว

เขาเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ส่งเสียงเตือนถึงอันตรายของการแปลงให้แทบ ทุกอย่างกลายเป็นหลักทรัพย์อย่างซับซ้อน นับตั้งแต่หนี้ที่อยู่อาศัยที่มีบ้านจำนองเป็นหลักประกันไปจนถึงหนี้บัตรเครดิต

"ตอนนี้เรากำลังอยู่ ณ จุดสิ้นสุดของแนวคิดนี้แล้ว" Soros ยืนยันและชี้ต่อไป ว่า ในอนาคตความอิสรเสรีจะน้อยลง การ เก็งกำไรจะน้อยลง การใช้เงินกู้ในการลงทุน จะน้อยลง และการปล่อยสินเชื่อจะเข้มงวด มากขึ้น "เรากำลังอยู่ท่ามกลางการลดการ ก่อหนี้อย่างขนานใหญ่" Soros สรุป

แท้ที่จริงแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา การผ่อนคลายกฎเกณฑ์และการเปิดเสรีการเงินทำให้เราเข้าสู่ยุคที่อัตราส่วนความสามารถในการก่อหนี้ของวาณิชธนกิจ (bank leverage ratios) พุ่งสูงลิ่วถึง 33 ต่อ 1 ในกรณีของ Morgan และ 28 ต่อ 1 สำหรับ Goldman Sachs และ Merrill Lynch

ขณะเดียวกัน วาณิชธนกิจเหล่านี้และสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายอื่นๆ กำลังใช้หลักทรัพย์ที่มีโครงสร้าง ซับซ้อน อย่างเช่นตราสารหนี้อนุพันธ์ที่มีสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกัน (mortgage-backed derivative) เป็นแหล่งใน การเพิ่มพูนผลกำไรของตนเองจนสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์

แต่มาบัดนี้เมื่อวาณิชธนกิจเหล่านั้นกำลังถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด มากขึ้น ความสามารถในการก่อหนี้ของพวกเขาก็จะลดลง ซึ่งย่อมหมายถึงผลกำไร ที่จะลดลงด้วย นั่นเป็นข่าวร้ายที่ไม่ใช่สำหรับวาณิชธนกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นข่าวร้ายของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมด้วย

เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผลกำไรของวาณิชธนกิจและสถาบันการเงิน มีสัดส่วนถึงประมาณ 1 ใน 4 ของผลกำไร ของบริษัททั้งหมดในสหรัฐฯ ดังนั้น หากผลกำไรของวาณิชธนกิจลดลง ก็หมาย ความว่ารายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ จะพลอยลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักลงทุนผู้ร่ำรวยต่างเพิ่งได้ประจักษ์กับระบบที่มีแต่ความซับซ้อนและคลุมเครือ จนในที่สุด แม้กระทั่งนักลงทุนเองก็ยังไม่อาจรู้เลยว่า มูลค่าของสินทรัพย์ที่พวกเขาถือครองอยู่มีมูลค่าที่แท้จริงเท่าใด

Stephen Roach ประธาน Morgan Stanley Asia ชี้ว่า ในที่สุดแล้ววิกฤติครั้งนี้จะนำมาซึ่งการจัดการเงินทุนที่รอบคอบมากขึ้น และการมีเครื่องมือทางการเงินและสถาบันการเงินที่โปร่งใสมากกว่านี้ ซึ่ง ทำให้ต่อไปนี้จะต้องมีระบบการเงินที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่แท้จริงมากขึ้นและเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อจะรับใช้เศรษฐกิจตั้งแต่ต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเพราะ ระบบการเงินได้ก้าวออกไปไกลเกินกว่าที่มันควรจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจแท้จริง

การที่ระบบการเงินกลายสภาพเป็น เช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและเทคโนโลยีหลายอย่างปลดปล่อยสถาบันการเงินให้เติบโตและเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้

กองทุนบำเหน็จบำนาญได้รับอนุญาต ให้เริ่มลงทุนในตลาดหุ้น โบรกเกอร์ เริ่มสามารถเสนอขายกองทุนรวมแก่นักลงทุนรายย่อย สถาบันการเงินที่ต่างประเภทกันได้รับอนุญาตให้รวมกัน และก้าวเข้าสู่พื้นที่ ใหม่ของการทำธุรกิจ

เครื่องเอทีเอ็มและโปรแกรมซอฟต์ แวร์ได้สร้างเครือข่ายการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการซื้อขายอย่างไม่มีวันหยุดตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนถึงปี 2005 จำนวนชาวอเมริกันที่เป็นเจ้าของหุ้นเพิ่มขึ้น จาก 16% เป็นกว่า 50%

Robert Reich อดีตรัฐมนตรี แรงงาน สมัยอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton เขียนไว้ในหนังสือ "Supercapitalism" ว่า ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในเชิงจิตวิทยาทางเศรษฐกิจของชาวอเมริกันคือ "นักออมเปลี่ยนไปเป็นนักลงทุน และนักลงทุนก็เปลี่ยนเป็นกระตือรือร้นมากขึ้น"

ผู้ที่ผลักดันอยู่ข้างหลังสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดก็คือวาณิชธนกิจ ซึ่งในยุคที่เงินเฟ้อ ต่ำได้พยายามมองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้สูงถึงระดับเลข 2 หลักให้ได้ นวัตกรรมทางการเงินจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากนักการเมืองที่หนุนระบบตลาดเต็มตัว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Ronald Reagan และ Margaret Thatcher อดีตผู้นำสหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งเกิดฟองสบู่สลับกับการสะดุดเป็นห้วงๆ ตลอดมา หาก ยังไม่ลืมวิกฤติ S&L ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 แต่วิกฤติเหล่านั้นก็ถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว เมื่อความมั่งคั่งยังคงเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยส่งเสริมให้ปรัชญา "ตลาดรู้ดีที่สุด" ครอบงำต่อไปได้

ตลอดทศวรรษ 1990 การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ยังคงดำเนินต่อไป จนถึงขนาดยกเลิกกฎหมาย Glass-Steagall Act ซึ่งแบ่งแยกระหว่างธนาคารพาณิชย์กับวาณิชธนกิจ อันนับเป็นจุดสูงสุดจุดหนึ่งของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์

กรณีดังกล่าวทำให้ธนาคารต่างได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด รวมทั้งจากผลประโยชน์ทับซ้อนกันถ้วนหน้า ทำให้เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถทำข้อตกลงควบรวมกิจการรายใหญ่ๆ ซึ่งสร้างผลกำไรสูงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งรับประกันการขายหุ้น IPO ที่มีมูลค่า สูงขึ้นตลอดเวลา

การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวอนุญาต ให้ธนาคารเพื่อรายย่อยอย่างเช่น Citigroup และธนาคารอื่นๆ สามารถเข้าสู่ตลาดอนุพันธ์ ด้านเครดิต (credit-derivative market) ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ร้อนแรงได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ การเงินอย่างหลักทรัพย์ที่มีสินทรัพย์จำนอง เป็นหลักประกัน และตราสารหนี้เสี่ยงสูงประเภท CDO ซึ่งมีหนี้ประเภทต่างๆ จากหลายแหล่งเป็นหลักประกัน และเป็นต้นตอ ของวิกฤติการเงินครั้งนี้

ผู้บริหารวาณิชธนกิจกลายเป็นต้นแบบอมตะในนิยายและภาพยนตร์มากมาย ในยุคนั้น การเกิดขึ้นของการมอบสิทธิ์แก่ ผู้บริหารในการซื้อหุ้นบริษัท (stock options) ตลอดช่วงทศวรรษนั้น ยิ่งเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ผู้บริหารวาณิชธนกิจ (รวมถึงผู้บริหาร บริษัทที่ใช้บริการวาณิชธนกิจเหล่านั้นด้วย) แต่ในขณะเดียวกันกลับทำให้วัดจำนวนที่แน่นอนได้ยาก

เกือบทุกคนในขณะนี้เชื่อว่า ทั้งสอง ประการข้างต้นคือชนวนของปัญหาในห้วงเวลาปัจจุบัน

เพราะ "การยอมให้ธนาคารพาณิชย์ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและการให้ stock options เป็นรางวัลแก่ผู้บริหาร ทำให้ ทุกคนสนใจแต่การแสวงหาผลกำไรอย่างรวดเร็วแบบสายตาสั้น" Joseph Stiglitz ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ชี้ "และนั่นคือการสร้างวัฒนธรรมแห่งการพนันให้เกิดขึ้น"

เศรษฐกิจได้เปลี่ยนทิศในปี 2001 ทำให้อะไรต่างๆ ยากขึ้น แต่การที่สหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยลงเรื่อยๆ (Federal Reserve หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Alan Greenspan ลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำสุดเหลือเพียง 1% ในปี 2003) ทำให้ เงินไม่เคยขาดมือ

การลดดอกเบี้ยยังส่งผลให้การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ credit derivative รุ่งเรืองถึงขีดสุด หลักทรัพย์ซึ่งมีโครงสร้างหนี้ที่ซับซ้อนเป็นหลักประกันเหล่านี้ก็คือต้นตอของวิกฤติการเงินในขณะนี้ ซึ่งเป็นเพราะการที่วาณิชธนกิจต่างพยายามหาวิธีที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้ได้มากที่สุดในสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ

ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จนถึงกลางปีที่แล้วซึ่งเป็นจุดที่ตราสาร อนุพันธ์ดังกล่าวรุ่งเรืองถึงขีดสุด ตราสารอนุพันธ์ประเภท credit default swap ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่สำคัญที่สุดของตราสาร อนุพันธ์ credit derivative จึงเติบโตขึ้น อย่างพรวดพราดจาก 100,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 62 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่ผู้รู้อย่าง Warren Buffett (ซึ่งเคยเรียกตราสารอนุพันธ์เหล่านั้นว่า "อาวุธทางการเงินที่มีอำนาจทำลายล้างสูง" เหมือนระเบิดนิวเคลียร์) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศซึ่งเป็นที่นับถืออย่าง Bank of International Settlements ต่างแสดงความวิตกต่อความแพร่หลายของตราสารดังกล่าว

แต่คนอื่นๆ อย่างเช่น Greenspan กลับยืนยันว่า ตราสารอนุพันธ์ credit derivative มีบทบาทสำคัญในการกระจาย ความเสี่ยง

ความเสี่ยงมากมายก็ถูกกระจายออกไปจริงๆ โดยเฉพาะหลังจากปี 2004 ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายอีกครั้ง และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้แก่เกมพนันนี้

เมื่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือ SEC ซึ่ง ต้องการจะขยายขอบเขตอำนาจการควบคุมไปยังบริษัท holding company ที่เป็น บริษัทแม่ของวาณิชธนกิจอีกที (ซึ่ง SEC ควบคุมดูแลอยู่) โดยยอมแลกกับการยกเลิก เพดานความสามารถในการก่อหนี้ 12 ต่อ 1 ที่ใช้มายาวนาน

ซึ่งเท่ากับอนุญาตให้สถาบันการเงิน สามารถจะก่อหนี้มากเพียงใดก็ได้ตามแต่อำเภอใจ

แม้ว่าในด้านหนึ่งการตัดสินใจของ SEC จะมีเหตุผล เนื่องจากบริษัทแม่ของวาณิชธนกิจเหล่านั้นคือองค์กรหลักที่ออก ตราสารอนุพันธ์ credit derivative ทั้งหลายซึ่งกำลังสร้างความวิตกแก่ผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

ทว่าผลที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า ผู้คุมกฎของ SEC ได้ขาดเครื่องมือสำหรับการวัดเงินทุนที่ชัดเจนในการตรวจสอบสถาบันการเงิน เพื่อจะตัดสินความสามารถ ในการชำระหนี้และทำให้ SEC ต้องใช้เทคนิคที่ยุ่งยากซับซ้อนมากมาย ในการเปรียบเทียบมูลค่าของกลุ่มสินทรัพย์ต่างกลุ่มในเวลาต่างๆ กัน หรือที่รู้จักกันในชื่อเทคนิควิเคราะห์มูลค่าตราสารหนี้แบบ Monte Carlo simulation

จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ SEC จึงได้รับเงินเดือนสูง ถึงห้าหลัก จากการที่ต้องปวดหัวและยุ่งยากกับการติดตามควบคุมดูแลตราสารหนี้ ที่ซับซ้อน

"แม้ว่า SEC จะเก่งในหลายเรื่อง แต่นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่ SEC ไม่เก่งเลย" ศาสตราจารย์ John Coffee ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายหลักทรัพย์แห่งมหาวิทยาลัย Columbia กล่าวและชี้ว่า หลักทรัพย์ที่มีความซับซ้อนเติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ SEC จะตามทัน

Coffee เชื่อว่า การควบคุมโมเดลที่ซับซ้อนขนาดนั้น ควรจะยกให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดีกว่า ซึ่งกำลังจะรับหน้าที่ควบคุมสถาบันการเงินอย่าง Goldman Sachs และ Morgan Stanley ต่อไป

ราคาบ้านซึ่งพุ่งสูงระหว่างปี 2001-2005 กลับตกต่ำลง เผยให้เห็นมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่ย่ำแย่ ไม่เป็นการช่วย อะไรเลย ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้รับค่าจ้างจากบริษัทที่จะต้องถูกจัดอันดับ ฟองสบู่แตก โดมิโน่ล้ม ขณะนี้ชาวอเมริกันต้องถูกทิ้งให้แบกภาระเงินมหาศาลที่จะนำไปใช้กู้ภาคการเงิน ซึ่งดูเหมือนจะให้รางวัลแก่ความโลภอันเป็นต้นเหตุของความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่ต้น

"สิ่งที่ชาวอเมริกันโกรธแค้นอย่างมาก ไม่ใช่การที่รัฐบาลจะทุ่มเงินหลายแสนล้านดอลลาร์กอบกู้วิกฤติ หากแต่เป็นเพราะคนที่จะได้รับเงินเหล่านั้นคือคนของ Wall Street ซึ่งทำตัวเยี่ยงโจรปล้นชิงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา" Robert Reich กล่าว

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านอเมริกันก็กำลังกลัว (ซึ่งเป็นจุดที่ทั้ง 2 ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังนำมาหาเสียง) และความฝันที่จะมีบ้านเป็นของตนเองก็ดูเหมือนจะหลุดลอยไปสำหรับหลายๆ คน

ผู้เชี่ยวชาญอย่าง Coffee ทำนายว่า การล่มสลายของการแปลงหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ จะทำให้ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งหมดในสหรัฐฯ หดตัวลงเหลือเพียง 1 ใน 10 ของขนาดในปัจจุบัน การที่เมืองๆ หนึ่งอาจจะเหลือสถาบันสินเชื่อเพียงแห่งเดียวในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำ อาจเป็นเรื่องที่ไม่ไกลความจริงอีกต่อไป

ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า ชาวอเมริกันโดยทั่วไปจะได้รับความช่วยเหลือมากน้อยเท่าใด จากแผนกอบกู้ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐบาล แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ทุนนิยมที่โลดแล่นอย่างอิสระเสรีสุดขีดตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมากำลัง จะพบกับการเปลี่ยนแปลง

แม้อาจไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลง โดยสิ้นเชิง แต่ก็คงจะเป็นทุนนิยมที่ถ่อมเนื้อ ถ่อมตัวมากขึ้น

ประการแรกคือ วาณิชธนกิจอย่างที่เราเคยรู้จักได้หมดยุคลงแล้ว เมื่อถูกควบคุมดูแลโดย Fed ความสามารถของวาณิชธนกิจที่จะใช้เงินกู้เพิ่มความสามารถ ของตัวเองในการบรรลุข้อตกลงใหญ่ๆ ก็จะหดตัวลงอย่างมาก

Roach จาก Morgan Stanley คิดว่า วาณิชธนกิจคงจะหวน "คืนสู่สามัญ" นั่นคือกลับไปสู่การเป็นธุรกิจให้คำปรึกษา แนะนำมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ และทำธุรกิจที่ใช้เงินกู้น้อยลง ต่อไปนี้ ข้อตกลงเกี่ยวกับการควบรวมกิจการและการขายหุ้น คงจะถูกขับดันด้วยความจำเป็นทางด้านยุทธศาสตร์ของบริษัทลูกค้า ไม่ใช่ของตัวกลางอีกต่อไป เราจะได้เห็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุผลทางยุทธศาสตร์ของบริษัทมากกว่าทางการเงิน

รายได้ของผู้บริหารวาณิชธนกิจอาจถูกจำกัด โดยในสหรัฐฯ Reich และอีก หลายคนกำลังเรียกร้องให้จ่ายค่าตอบแทน ผู้บริหาร โดยให้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายประสิทธิภาพการทำงาน 5 ปีติดต่อกัน เพื่อป้องกัน การทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงในระยะสั้นมากเกินไป ส่วนในยุโรปมีแผนที่จะออกกฎหมาย หน่วงเหนี่ยวการตรวจสอบการให้สิทธิ์ stock option แก่ผู้บริหาร

ขณะเดียวกันตลาดอนุพันธ์ซึ่งซับซ้อนและทำให้ผู้บริหารวาณิชธนกิจร่ำรวยมากเกินไป ก็จะถูกควบคุม ในสหรัฐฯ มีเสียงเรียกร้องให้จัดตั้ง clearinghouse เพื่อทำให้การค้าตราสารหนี้โปร่งใสมากกว่านี้

ส่วนในยุโรปกำลังเดินหน้าแผนการ ที่จะออกกฎเกณฑ์ควบคุมตราสารอนุพันธ์ โดยกำลังมีการร่างข้อเสนอที่จะห้ามหรือควบคุมตราสารหนี้เสี่ยงสูงประเภท CDO รวมทั้งควบคุมไม่ให้วาณิชธนกิจใช้กลเม็ดต่างๆ ในการเปลี่ยนให้หนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้กลับกลายเป็นหลักทรัพย์ชั้นดีระดับ 3A

Steinbruck รัฐมนตรีคลังเยอรมนีถึงกับเริ่มรณรงค์อย่างเป็นทางการให้พัฒนา ตลาดการเงินให้มีความ "ศิวิไลซ์"

"ทุนนิยมที่ปราศจากการควบคุมเหมือนอย่างที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความละโมบ ในที่สุดแล้วจะกลืนกินแม้กระทั่งตัวเอง" Steinbruck กล่าว พร้อมกับกล่าวอ้างถึงลัทธิมาร์กซิสม์

เขายังสนับสนุนให้เพิ่มกันสำรองเงินสดของสถาบันการเงินให้สูงกว่านี้ ห้ามการทำ short selling จำกัดโบนัสของผู้บริหาร และไม่ควรอนุญาตให้มีนิติบุคคลนอกงบดุลอีกต่อไป (off-balance-sheet vehicle) ในการแถลงต่อสภาล่างเยอรมนีหรือ Bundestag

รัฐมนตรีคลังเยอรมนียังชี้ด้วยว่า ทุกคนควรจะต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า ผลตอบแทน 25% นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นแสดงว่าต้องมีความเสี่ยงที่ไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้น หรือต้องมีใครเจตนาที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ส่วนอื่นๆ ของตลาด

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ข้อตกลงธุรกิจที่ใช้เงินกู้สูงที่สุดบางรายกลับทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินของเยอรมนีที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเอง มากกว่าโดยสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ใน Wall Street

ดังนั้น การสอดส่องดูแลที่มากขึ้นของรัฐบาล โดยตัวมันเองก็ใช่จะสามารถรับประกันได้ว่า ทุกอย่างจะออกมาดี การควบคุมดูแลต่างๆ จะต้องผ่านการคิดอย่าง รอบคอบ มีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดและในบางครั้งก็จะต้องยืดหยุ่นด้วย

George Soros ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ความล้นเกินของ Wall Street ตัวยง สนับสนุนให้ลดอัตราส่วนความสามารถในการก่อหนี้ (leverage ratios) ก็จริง แต่ไม่สนับสนุนให้ลดในอัตราที่ตายตัว แต่ให้ Fed สามารถยืดหยุ่นที่จะเพิ่มหรือลดอัตราส่วนดังกล่าวได้ตามสภาพการณ์ของตลาด

แต่นักการเมืองจะสามารถหยุดยั้งความพยายามที่จะแสวงหาผลตอบแทนการลงทุน 25% ได้จริงล่ะหรือ และทุนนิยม จะถูกควบคุมได้จริงหรือ หรือว่าด้านร้ายที่เหมือนกับโจรสลัดของมัน จะโผล่ขึ้นมาใหม่เสมอ หลังจากที่ถูกกดเอาไว้นานๆ

กองทุน hedge fund ซึ่งบาดเจ็บจากการขาดทุนหนักจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ อาจจะหนีไปตั้งหลักก่อน หลังจากที่กองทุน เหล่านี้ได้เปลี่ยนไปถือเงินสด 100,000 ล้านดอลลาร์ ในตลาดเงินในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่มีใครเสนอที่จะเพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุม ดูแลกองทุนประเภทนี้

เมื่อถึงจุดหนึ่ง บรรดาผู้จัดการของ กองทุนเหล่านี้ก็จะกลับมา และพร้อมที่จะทำอะไรที่เสี่ยงๆ แทนที่วาณิชธนกิจซึ่งไม่กล้าที่จะทำเช่นนั้นอีก เช่นเดียวกันกองทุน ความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาล (sovereign wealth funds) และชาติมหาอำนาจตลาด เกิดใหม่ซึ่งมีเงินสดเต็มกระเป๋า

เพียงแค่ธนาคารกลางของเอเชียอย่างเดียวก็มีทุนสำรองมากกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ซึ่งมากกว่าแผนกู้วิกฤติการเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐหลายเท่า

เงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้เคยเป็นตัวขับดันสำคัญที่ทำให้เกิดนวัตกรรมการเงิน ที่ซับซ้อนตลอดหลายปีที่ผ่านมา มาบัดนี้ เงินมหาศาลเหล่านั้นก็ยังจะผลักดันให้เกิดความพยายามคิดค้นเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถจะหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ได้อีก นักลงทุนและบรรดาคนที่ให้บริการพวกเขาไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการแสวงหา วิธีการที่ดีกว่าเดิมในการหลบเลี่ยงกฎ

ไม่ต้องสงสัยว่าส่วนหนึ่งของเงินมหาศาลก้อนใหม่นี้ก็คงจะไปลงเอยในตลาดการเงินตะวันตกอยู่ดี ในขณะที่อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองของชาติมหาอำนาจตลาดเกิดใหม่คงจะเพิ่มพูนขึ้นอย่างแน่นอนนั้น ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ระบบตลาดเสรีจะล่มสลายลงทั้งหมด ในขณะที่จีนได้ใช้วิกฤติที่เกิดกับ Wall Street เป็นโอกาสในการประโคมความดีของระบบทุนนิยมเผด็จการของตน แต่ "โมเดลแบบจีน" ก็ยังขาดทุนในตลาดไปแล้วถึง 66% ในปีนี้ และความมั่งคั่งที่ถูกทำลายลงอย่าง ขนานใหญ่ในหมู่ชาวจีนทั่วไปก็ไม่อาจเรียก ได้ว่าเป็นความสำเร็จ

ด้านยุโรปก็หาได้มีอะไรที่ดีกว่าจริงๆ ที่จะมาเสนอแทนที่ทุนนิยมแบบอเมริกันได้ ระบบทุนนิยมของยุโรปเองก็ดูจะเดินตามรอยอเมริกันในเวลาอีกเพียงไม่กี่ปีถัดไป โดยรัฐบาลยุโรปจะคอยเบรกไว้อยู่เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม โลกซึ่งกำลังจะเข้าสู่ ยุคเศรษฐกิจใหม่ อาจจะลงเอยด้วยการคล้ายกับยุโรปมากกว่า "เราจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกับบ่นมากขึ้น จะไม่มีการเติบโต ที่สำคัญ แต่ก็จะไม่มีเรื่องร้ายใดๆ เกิดขึ้นเช่นกัน" Bob McKee หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Independent Strategy ในลอนดอนกล่าว

เราจะกลับไปเป็นนักออมแทนนักลงทุน วัฒนธรรมแห่งการประหยัดอดออม จะกลับมาอีกครั้ง ส่วนการปล่อยเงินกู้ก็จะเข้มงวดมากขึ้นในระยะสั้น จากนั้นเงินก็จะไหลอีกครั้ง ฟองสบู่ใหม่ๆ จะก่อตัวขึ้น อีก

แต่จะเกิดขึ้นที่ใด ภาคพลังงาน หรือเทคโนโลยีสีเขียว หรือในอวกาศ ก็คงต้องเดากันไป แต่ที่แน่ๆ คือมันจะยังคงเกิดขึ้นอีก แม้ว่าจะมีแผนกอบกู้วิกฤติหรือกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นก็ตาม เมื่อฟองสบู่เกิดขึ้นอีก ทุกคนก็จะลืมไปว่า โลกเคยเกือบจะถึงจุดจบเสียแล้วในปี 2008

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 13 ตุลาคม 2551   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us