|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2551
|
|
หากพูดถึงพลังงานทดแทนกับประเทศนิวซีแลนด์ ก็คงต้องเป็นที่ยอมรับในชื่อเสียงในด้านนี้เพราะว่าพลังงานกว่า 70% ในเมืองกีวีนั้นมาจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะที่เมืองใหญ่อันดับที่ 7 ของประเทศอย่างปาร์มเมอสตันนอร์ท พลังงานไฟฟ้าทั้งเมืองมาจากไฟฟ้าพลังลมทั้งสิ้น
แม้ว่าปาร์มเมอสตันนอร์ทจะเป็นเมืองที่มีประชากรเพียง 78,000 คน แต่ก็มีชื่อเสียงมากว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษาของประเทศนิวซีแลนด์ เพราะมีสถาบันอุดมศึกษาถึง 4 แห่งในเมือง คือ มหาวิทยาลัยแมสซี่, วิทยาลัยนานาชาติแปซิฟิก, วิทยาลัยยูคอลและมหาวิทยาลัยเมารี (วานังกา) ซึ่งจุดเด่นของเมืองนี้คือนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยมากจะได้สิทธินั่งรถประจำทางฟรี จนได้ฉายาของเมืองว่าเมืองมหาวิทยาลัย ของประเทศเพราะประชากรเกือบครึ่งของเมืองทำธุรกิจ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษา แต่สิ่งที่สะดุดตาของเมืองนี้นอกจากการศึกษากับสวนดอกกุหลาบที่ได้รับการจัดอันดับว่าสวยติด 5 อันดับแรกของโลกนั้นก็คือแนวกังหันลมสีขาวที่ยาวตลอดแนวภูเขาที่อยู่ด้านใต้ของเมือง เพราะว่าเขตจังหวัดมานาวาตู เป็นเขตที่มีลมค่อนข้างแรง ทำให้บริษัทไฟฟ้าหลายแห่งในประเทศนิวซีแลนด์ ตัดสินใจลงทุนในการสร้างวินฟาร์มเพื่อผลิตไฟฟ้า
ในประเทศนิวซีแลนด์นั้นเขาได้เปิดเสรีด้านการพลังงานซึ่งส่งผลให้มีการแข่งขันทางด้านธุรกิจพลังงานกันอย่างออกนอกหน้า โดยการไฟฟ้าของนิวซีแลนด์ได้แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจเรียกว่า บริษัทเมอริเดียนกับบริษัท เจเนสิส ยังมีคู่แข่งคือบริษัทเอกชน เช่น คอนแทค เอเนอจี ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ออริจินเอเนอจีของออสเตรเลีย และบริษัททรัสต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคชาตินิวซีแลนด์ที่ทำให้มีการแข่งขันกันเองในธุรกิจพลังงาน ทำให้ผู้บริโภค มีทางเลือกมากขึ้น
เมื่อเอกชนหันมาลงทุนด้านการพลังงาน บริษัทเหล่านี้ย่อมทราบดีว่าการใช้พลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมัน หรือถ่านหินนั้นมีปัญหาหลายประการทั้งเรื่องมลพิษ ต้นทุนการผลิต และค่าแรงซึ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามสภาวะของตลาด ส่วนไฟฟ้าพลังน้ำนั้น ก็มีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงต่อการถูกต่อต้านโดยสารพัดม็อบ และเอ็นจีโอ ประกอบกับค่าก่อสร้างเขื่อนครั้งหนึ่งต้องใช้งบมหาศาลรวมทั้งต้องขออนุญาตทั้งจากทาง เทศบาลและรัฐบาล บริษัทเอกชนต่างๆ จึงหันมาเน้นพลังงานทดแทนเช่นพลังงานความร้อนใต้โลกซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มากเป็นอันดับที่สองของประเทศในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังงานความร้อนใต้โลกนั้นมีปัญหาเดียวกันคืองบประมาณที่ค่อนข้างสูง และแหล่งพลังน้ำหรือความร้อนหลักๆ ต่างตกไปอยู่ในมือบริษัทรัฐวิสาหกิจ เพราะได้รับโรงงานไฟฟ้าตกทอดมาตั้งแต่สมัยที่เป็นหน่วยราชการ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ดังนั้น ทางออกของบริษัทเอกชนหลายแห่งก็คือการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นเอง หันมาเน้นพลังงาน ทดแทน ซึ่งบริษัทต่างๆ ทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เช่น ทรัสต์พาวเวอร์ หรือเมอริเดียนได้ลงทุนสร้างกังหันกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เมืองปาร์มเมอส-ตันนอร์ทกลายเป็นแหล่งไฟฟ้าพลังลมที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของไฟฟ้าพลังลมมีสองอย่างด้วยกัน ในขั้นแรกไฟฟ้าพลังลมเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งอาศัยลมจากธรรมชาติหมุนใบพัด เพื่อสร้างกำลังให้กับเฟืองที่ปั่นกระแสไฟฟ้าโดยทำให้ไม่เกิดมลพิษอย่างกรีนเฮาส์แก๊สอย่างพลังน้ำ นอกจากนี้จุดเด่นทางธุรกิจคือ การลงทุนเพียงครั้งเดียว คือการสร้างใบพัดขณะที่ลมนั้นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีการตั้งราคาค่างวดกันแต่อย่างใดจึงไม่ต้องเสียเงินซื้อวัตถุดิบ
บริษัทที่หันมาลงทุนจริงจังทางด้านไฟฟ้าพลังลมในปาร์มเมอสตันนอร์ทมีสองแห่งคือบริษัททรัสต์พาวเวอร์ ซึ่งเริ่มการสร้างกังหันตั้งแต่ปี 1999 มาแล้วเสร็จในปี 2007 โดยมีกังหันทั้งหมด 134 ตัว ซึ่งประกอบด้วยกังหันขนาดเล็ก 103 ตัว ซึ่งมีใบพัดยาว 23.5 เมตร และกังหันขนาดใหญ่อีก 31 ตัวโดยมีใบพัดยาว 45 เมตร ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ขณะที่ บริษัทคู่แข่งคือ เมอริเดียนก็ลงทุนทันที 100 ล้านเหรียญ หรือ 2,500 ล้านบาท ในการสร้างกังหันขนาดกลางความสูง 70 เมตร ใบพัดยาว 35 เมตร จำนวน 55 ตัว มีกำลังผลิตรวม 91 เมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วพื้นที่ของเมืองปาร์มเมอสตันนอร์ทประกอบด้วยกังหันลมถึง 199 ตัว ซึ่งทำให้เป็นแหล่งไฟฟ้าพลังลมที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกใต้ และผลิตไฟฟ้าได้ถึง 251 เมกะวัตต์ทีเดียว นอกจากการไม่สร้างมลพิษและไม่มีต้นทุนการผลิตแล้ว พื้นที่โดยรอบของกังหันยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เช่นที่ปาร์มเมอสตันนอร์ท โดยรอบกังหันเป็นทุ่งหญ้าซึ่งชาวนายังใช้ทำการปศุสัตว์ได้ต่อไป โดยฝูงแกะ ฝูงวัว ยังสามารถมากินหญ้าได้แม้แต่ใต้กังหัน ในขณะที่โรงไฟฟ้าต่างๆ กลับต้องกันบุคคลและสัตว์ออกจากพื้นที่ โรงไฟฟ้าพลังลมกลับเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนและสัตว์โดยรอบ พื้นที่ในการสร้างกังหันหลายแห่งได้ทำการเช่า มาจากชาวนา ซึ่งบรรดาชาวนาก็ยินดีให้เช่าเพราะมีรายได้เพิ่มและเสียพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรต่อกังหันหนึ่งตัว
แม้ว่าจะมีข้อดีจำนวนมากแต่ข้อเสียของไฟฟ้าพลังลมก็มีอยู่บ้าง ในขั้นแรกคือปัญหาของอัตราการผลิต ไฟฟ้าต่อกังหันตัวหนึ่งนั้นค่อนข้างต่ำ คือระหว่าง 0.5-3 เมกะวัตต์เท่านั้น และในประเทศนิวซีแลนด์เองไฟฟ้าพลังลมคิดได้เพียง 3% ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดในประเทศและปริมาตรการผลิตไฟฟ้า 251 เมกะวัตต์จากปาร์มเมอสตันนอร์ท ซึ่งคิดเป็น 78% ของไฟฟ้าพลังลมที่ผลิตได้ทั่วประเทศนิวซีแลนด์นั้นเพียงพอกับประชากรเพียง 145,000 ครัวเรือน หรือพูดง่ายๆ คือเพียงพอแค่ในเมืองปาร์มเมอร์สตันนอร์ทและจังหวัดใกล้เคียงแค่ 3-4 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งถ้านำไปใช้ในเมืองใหญ่ๆ อย่างเวลลิงตัน หรือไครส์ เชิร์ชก็อาจจะเรียกได้ว่าพอแบบเฉียดฉิวเท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่ในการสร้างกังหันต้องใช้ภูเขาหลายลูกสำหรับกังหันเพียง 199 ตัว หากว่าต้องสร้างให้เพียงพอกับเมืองใหญ่อย่างโอ๊กแลนด์ น่ากลัวว่าจำเป็นต้องใช้ภูเขาถึง 5 ลูก กังหันสัก 300 ตัว ถ้านำแนวคิดมาใช้ในเมืองไทย แค่ไฟฟ้าที่พอสำหรับชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล คงต้องสร้างกังหันสัก 3,000 ตัวกินพื้นที่สัก 20 ตารางกิโลเมตรเสียงบก่อสร้างราวๆ 150,000 ล้านบาท โดยประมาณ ถ้ามาคิดถึงอัตราการลงทุนก็คงต้องพูดกันว่ามากมายมหาศาลมากซึ่งไม่ทราบว่า 20 ปีจะถอนทุนได้ หรือไม่ แม้ว่าจะไม่ต้องมีค่าวัตถุดิบในอนาคตก็ตาม นอกจากนี้การใช้ไฟฟ้าพลังลมจะลดมลพิษแต่ถ้าคิดที่จะสร้างกังหันสักสามพันตัวผมเชื่อว่าต้องสร้างมลพิษมหาศาลทั้งการถลุงเหล็กมาสร้างฐานของใบพัด การสร้าง มอเตอร์ การเอารถบรรทุกขนส่งการนำแทรกเตอร์มาไถ ป่าสร้างฐานใบพัด ล้วนแต่เป็นการสร้างมลพิษทั้งสิ้น
ปัญหาที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งของไฟฟ้าพลังลม นั่นก็คือกำลังลมและอัตราการพัดของลมนั่นเอง แม้ว่า นักวิจัยจะทำการคำนวณแล้วว่ากำลงลมที่พัดอยู่รอบโลก ในแต่ละปีนั้นหากนำมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้วจะมีมากมายเกินพอสำหรับคนบนโลกทั้งหมดในตอนนี้เกือบเท่าตัว แต่ว่าการที่ลมจะพัดไปทิศทางใดนั้นเป็นเรื่องที่สุดแต่ดินฟ้าอากาศ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมจะไม่สามารถทำได้ทุกที่ แต่ต้องกระทำในพื้นที่ซึ่งมีลมค่อนข้างแรงและพัดอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น จะสังเกตได้ว่าในนิวซีแลนด์เองก็ยังสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมเพียงไม่กี่แห่งนอกปาร์มเมอร์สตันนอร์ท เพราะถ้าไม่มีลมพัดสม่ำเสมอการสร้างกังหันลมย่อมเป็นเรื่องสูญงบประมาณเปล่าๆ แม้ว่าจะมีปัญหาอย่างไรก็ตาม ไฟฟ้าพลังลมถือได้ว่าเป็นพลังงานแห่งอนาคตซึ่งทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างแหล่งไฟฟ้าพลังลมเพิ่มขึ้นอีกทั่วประเทศ รวมถึงภูเขาทางด้านตะวันออกของเมืองปาร์มเมอร์สตันนอร์ท ก็มีนักธุรกิจได้รับการอนุมัติสร้างกังหันขนาดเล็กอีก 97 ตัว ซึ่งจะสร้างกระแสไฟฟ้าได้อีก 48.5 เมกะวัตต์ ผมเชื่อว่าในอนาคต อันใกล้ไฟฟ้าพลังลมอาจจะเป็นทางออกที่ถูกต้องสำหรับ ปัญหาพลังงานขาดแคลนมากกว่าการที่มนุษย์เราไปหวังพึ่งพลังงานน้ำมันหรือถ่านหินซึ่งทำให้เกิดมลพิษและมีต้นทุนสูง หรือพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพลังงานที่มีความปลอดภัยแต่ก็มีความเสี่ยงที่สูงมากรวมทั้งปัญหาของการกำจัดกากนิวเคลียร์ ในขณะที่ไฟฟ้าพลังลมนั้นไม่มีต้นทุน ไม่มีมลพิษ แถมยังปลอดภัยและไม่มีกากกัมมันตภาพรังสีให้คนมากลัวกันอย่างทุกวันนี้
|
|
|
|
|