Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2551
มังกรกลางคลื่น New Great Depression             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Economics




กว่างเจียวฮุ่ย หรืองานแสดงสินค้ากวางเจา (Canton Fair) ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานจากเดิม ณ ศูนย์แสดงสินค้าหลิวฮวา มาเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติ ผาโจว เมืองกวางเจา มณฑล กวางตุ้ง

ว่ากันว่างานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 104 นี้ไม่เพียงจะยิ่งใหญ่กว่าเดิม โดยมีการขยายเวลาจัดงานจาก 12 วัน เพิ่มเป็น 15 วัน (ช่วงเวลาของการจัดงานแบ่งออกเป็นสามเฟส ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม ถึง 6 พฤศจิกายน 2551) แต่ยังจัด ณ สถานที่ใหม่คือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติผาโจวที่มี พื้นที่ใหญ่โตเทียบได้กับสนามฟุตบอล 200 สนาม สามารถยัดบูธสินค้าเข้าไปได้ 55,600 บูธ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากกว่างานแสดงสินค้าฤดูใบไม้ผลิ เมื่อต้นปีกว่า 10,000 บูธ

...ทว่าความยิ่งใหญ่ของงานนี้กลับแฝงไว้ด้วยความเศร้าซึมของภาวะเศรษฐกิจโลก

ปลายเดือนกันยายนต้นเดือนตุลาคม หลังข่าวการล้มสลายของวาณิชธนกิจ (Investment Bank) ยักษ์ใหญ่ของโลก 5 แห่งรวด แพร่สะพัดและสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงินของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียอย่างรวดเร็ว พิษของ "โรคแฮมเบอร์เกอร์" ก็สร้างผลกระทบให้กับภาวะเศรษฐกิจของทั้งโลก จนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจเปรียบเทียบได้กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (The Great Depression) ที่เกิดขึ้นราวช่วงทศวรรษ 2470 (ค.ศ.1930) เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนเลยทีเดียว

มิตรสหายของผมที่อยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนต่างรีบโทรมาแจ้งสถานการณ์และรายงานวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจว่า ปลายปีนี้เศรษฐกิจของประเทศไทย และหลายประเทศในทวีปเอเชีย น่าจะได้รับผลกระทบเป็นการปลดคนงานเพื่อทำให้ตัวเลขบัญชีของบริษัทต่างๆ ดูสวยหน่อย ส่วนปีหน้านั้น ประเทศที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างไทยและจีนน่าจะมียอดสั่งซื้อสินค้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนั่นหมายความว่า "การเผาจริง" ทางเศรษฐกิจ ได้เริ่มขึ้นแล้ว

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานสถิติ แห่งชาติจีนออกมาประกาศตัวเลขแล้วว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 นี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนที่แท้จริง (Real GDP) เติบโต เพียงร้อยละ 9.0 เท่านั้นและฉุดให้อัตราการเติบโต ของเศรษฐกิจจีนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 นั้นลดเหลือเพียงเลขหลักเดียวคือร้อยละ 9.9 เท่านั้น ลดลงจากครึ่งแรกของปีที่เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10.4

ทั้งนี้ตัวเลขอัตราการเติบโตร้อยละ 9.9 ของเศรษฐกิจจีนถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนครั้งล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2546 นั้นมิได้มีต้นเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เกิดจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส โดยครั้งนั้นเศรษฐกิจจีนเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 6.7

ถามว่า ภาพเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีหน้า 2552 จะมีรูปลักษณ์เป็นอย่างไร? ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราต้องค้นหาก่อนว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้จะกระทบจีนผ่านช่องทางใดได้บ้าง

ช่องทางการค้า ตัวเลขในปี 2550 ปรากฏชัดว่า สหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของจีน โดยในปีที่แล้วจีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น มูลค่าสูงถึง 232,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นอุปสงค์ต่อสินค้าจีนที่ลดลงของชาวสหรัฐฯ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยย่อมปรากฏแน่ชัดตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า(1)

สำหรับตัวเลขการซื้อขายสินค้าจากงานแสดงสินค้ากวางเจาได้ส่งสัญญาณมาระดับหนึ่งแล้วว่า จำนวนผู้เข้าชมงานมีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่ผู้จัดงานบางคนปฏิเสธที่จะเช่าบูธ แต่เลือก บินไปตื้อลูกค้า เจาะตลาดถึงที่แทน

ทั้งนี้ตัวเลขที่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากมู่ ซินไห่ โฆษกของคณะผู้จัดงานเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ได้บ่งชี้ชัดว่า ตัวเลขการซื้อขายสินค้าในงานแสดงสินค้าครั้งนี้นั้นลดลง โดยในเฟสแรก มูลค่าสินค้าส่งออกที่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายกันเรียบร้อยแล้วคิดเป็นเงินรวม 16,450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนับว่าลดลงจากช่วงเวลาเดียว กันของปีก่อนราวร้อยละ 3.8 และลดลงจากการจัดงานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 103 ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมามากถึงร้อยละ 10.8

"พายุวิกฤติการเงินที่ขยายตัวมาจากวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อเศรษฐกิจภายในและภายนอก สภาวะการส่งออกของจีนกำลังเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่ และย่อมส่งผลต่อการเยี่ยมชมงานของบรรดาลูกค้าที่จะเยี่ยมชมงานนี้ โดยในช่วง 5 วันแรก จำนวนผู้ชม 87,000 คน ก็ถือว่าไม่น้อยแล้วเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจของโลกในขณะนี้" โฆษกงานแสดงสินค้ากวางเจาครั้งที่ 104 กล่าว(2)

มากกว่านั้นภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐให้มีมูลค่าลดต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินเหรินหมินปี้ หรือเงินหยวน เมื่อเทียบกับดอลลาร์ เงินหยวนย่อมแข็งค่าขึ้นไปอีกและทำให้การส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ นั้นประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐย่อมส่งผลกระทบต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ของจีน ที่ปัจจุบันมีปริมาณมากที่สุดในโลกกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยเช่นกัน

ในแง่มุมการเงิน วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่งผลเป็นระลอกคลื่นให้สถาบันการเงินในทุกภูมิภาคของโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที ไม่ว่าจะเป็นธนาคารในยุโรปหลายแห่ง สถาบันการเงิน-ธุรกิจประกันในเอเชีย จำนวนมาก ทว่า ในส่วนของจีนนั้นผลกระทบจากวิกฤติ แฮมเบอร์เกอร์ต่อภาคการเงินของจีนนั้นถูกจำกัดวงอยู่พอสมควร ด้วยนโยบายการควบคุมเงินไหลเข้า-ออกของรัฐบาลจีนที่เข้มงวดยิ่ง แม้ว่าจีนจะเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกมาเกือบ 7 ปีแล้วก็ตาม

ขณะเดียวกันในภาคการเงินและธนาคาร ด้วยความที่ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน หรือในชื่ออย่างเป็นทางการ ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนนั้นสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้จำนวนมหาศาล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในจีนเองก็ค่อนข้างมีฐานะแข็งแกร่ง กอปรกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกดดันให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายออกมาตรการหลายประการเพื่อควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดความร้อน แรงทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้น สถาบันการเงินของจีนจึงไม่น่าจะล้มลงเป็นโดมิโนดังเช่นสถาบันการเงินในประเทศอื่นๆ

ด้านทัศนะจากฝั่งจีนอย่างฝาน กัง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ ภายใต้กองทุนเพื่อการปฏิรูปจีน (China Reform Foundation; CRF) ก็ออกมาให้ความเห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ณ พ.ศ.นี้ มีความผิดแผกแตกต่างจาก Great Depression เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วอยู่พอสมควร โดยเขามองว่าวิกฤติครั้งนี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรงในระดับครึ่งต่อครึ่งดังเช่นที่เกิดในยุค Great Depression อย่างแน่นอน และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถเลือก ใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาวิกฤติครั้งนี้ได้(3)

ฝาน กัง คาดการณ์ว่าในช่วงหลายปีข้างหน้านี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะซึมยาวเป็นรูปตัวแอล (L) โดยจะถดถอยประมาณร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปน่าจะทรงตัวไม่เติบโตแต่ก็ไม่ถดถอย ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เขาระบุว่า ภาคการเงินของจีนนั้นค่อนข้างจะเป็นอิสระ แม้จะมีความเชื่อมโยงกับภาคการเงินโลกบ้างแต่ก็ยังไม่ถลำตัวลงลึกมากนัก ดังนั้นวิกฤติการเงินโลกจะไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อระบบการเงินของจีน ขณะที่ภาคเศรษฐกิจ จีนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็มีเพียงภาคการส่งออก

"ผมเห็นว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน ปริมาณเงินสดหมุนเวียน ปริมาณการปล่อยสินเชื่อ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ยังมีความแข็งแกร่งอยู่ ขณะเดียวกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจจีนเผชิญกับภาวะร้อนแรงเกินไป ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ในภาวะฟองสบู่ รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดมาควบคุมอยู่แล้ว และก็ค่อนข้างจะได้ผลด้วย" ฝานกล่าวพร้อมระบุว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นและกำลังขยายตัว กระตุ้นให้รัฐบาลจีนต้องพิจารณาขยายตลาดภายใน ประเทศ ขยายการลงทุนในประเทศมากขึ้น

ประเทศจีนยังโชคดีครับที่มีตลาดภายในที่ใหญ่ แม้ระบบการเงิน-ภาคการผลิตจะพึ่งพาตลาดต่างประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ถลำลึกและพึ่งพิงเศรษฐกิจโลกมากนัก ซึ่งถ้าหันกลับมามองประเทศไทยแล้ว ตลาดเงิน ตลาดทุน ภาคการค้าและระบบ เศรษฐกิจของเราเสียอีกที่แนบแน่นอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคงจะเป็นเรื่องยากที่เราจะรอดพ้นจาก Great Depression ครั้งใหม่นี้

อ้างอิงจาก :
(1) PRC General Administration of Customs, China's Customs Statistics   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us