|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2551
|
|
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 20 ตุลาคม 2551
วิกฤติครั้งนี้บีบให้สหรัฐฯ ต้องหันหน้ากลับมาเผชิญนิสัยที่ไม่ดีของตนเองที่สะสมมานานหลายทศวรรษ แต่ถ้าชาวอเมริกันสามารถขจัดนิสัยเหล่านี้ได้ ความเจ็บปวดที่ได้รับในวันนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นผลดีในวันหน้า
หลายคนโดยเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า 60 อาจจะเคยนึกสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรหากได้มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อย่างที่เราเคยอ่านจากในหนังสือ ถ้าเคยคิดอย่างนั้น นี่ก็คือเวลานั้น เรากำลังเป็นประวัติศาสตร์มีชีวิตที่กำลังทนทุกข์ทรมานจากวิกฤติการเงินที่เลวร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เทียบได้ กับวิกฤติครั้งใหญ่ในอดีตอย่างในปี 1907 และ 1929 เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้จะไปสิ้นสุดลงที่ใด จะส่งผล กระทบรุนแรงเพียงใดต่อระบบการเงิน เศรษฐกิจหรือสังคมทั้งมวล
แต่เชื่อว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลต่างๆ ในโลกก็คงจะสามารถ เอาชนะสงครามแห่งความหวาดกลัวครั้งนี้ได้ พวกเขาต่างมีเครื่องมือที่อาจหยิบฉวยมาใช้ได้อย่างไม่จำกัด โดยเฉพาะหากทั้งโลกร่วมมือทำพร้อมๆ กัน พวกเขาอาจยึดบริษัทเป็นของรัฐอุ้มธนาคาร ระงับการซื้อขายในตลาดหุ้นนานหลายสัปดาห์ กว้าน ซื้อหนี้เสียและหุ้น และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่อาศัยใหม่ และที่สำคัญที่สุด รัฐบาลอเมริกันสามารถพิมพ์เงินได้เอง แม้เครื่องมือเหล่านี้อาจจะสร้างปัญหายุ่งยากอย่างมากในระยะยาว แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ไม่มีอะไรที่เลวร้ายยิ่งไปกว่าการล่มสลายของ ระบบการเงินอีกแล้ว ดูเหมือนสหรัฐฯ เองก็ตระหนักดีว่า จะต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อค้ำจุนระบบการเงินของตน เครื่องหมายคำถามอันมหึมายังคงอยู่ จะทำอย่างไรจึงจะหยุดยั้งความตกต่ำครั้งนี้ได้ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกมากมายเท่าใด ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดแผนกอบกู้วิกฤตที่ประกาศใช้ไปแล้วจึงจะเริ่มเห็นผล แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความตื่นตระหนกที่ครอบงำตลาดโลกจะยุติลง แน่นอน นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะกลับไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือตลาดกระทิงอีก เพราะเรากำลังอยู่ในยุคแห่งปัญหา แต่อย่างน้อยเราก็จะได้กลับคืนสู่ความสงบ
ท่ามกลางปัญหาและความทุกข์ยากนานาที่กำลังจะต้องเผชิญนี้ เรายังพอมองเห็นขอบฟ้าสีทอง วิกฤติครั้งนี้บีบบังคับให้สหรัฐฯ ต้องหันมาเผชิญกับนิสัยที่ไม่ดีของตัวเองที่ได้สร้างขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หากพวกเขาสามารถกำจัดนิสัยที่ไม่ดีเหล่านั้นทิ้งไปได้ ความเจ็บปวดในวันนี้ก็จะแปรเปลี่ยนเป็นผลดีในระยะยาว
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ชาวอเมริกันบริโภคมากกว่าที่ตัวเองผลิตได้และชดเชยส่วนต่างที่เกิดขึ้นด้วยการก่อหนี้
ตลอด 2 ทศวรรษแห่งดอกเบี้ยเงินกู้ถูกและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงินเกิดใหม่มากมาย มีความหมายว่าคนอเมริกัน แทบทุกคนสามารถจะก่อหนี้สินจำนวนเท่าใดก็ได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในเรื่องใดก็ได้ หากคนอเมริกันต้องการบ้านหลังใหญ่ขึ้น โทรทัศน์ที่ดีกว่าเดิม หรือรถที่เร็วกว่าเดิม แต่ไม่มีเงินที่จะซื้อ ไม่มีปัญหา พวกเขาสามารถใช้บัตรเครดิตหรือเอาบ้านไปจำนองเพื่อกู้เงินมาซื้อความฝันทุกอย่าง ยิ่งความฝันของคนอเมริกันโตมากเท่าไร หนี้ภาคครัวเรือนในสหรัฐฯ ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จาก 680,000 ล้านดอลลาร์ในปี 1974 เป็น 14 ล้านล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน ใน 7 ปีหลังนี้ยอดรวมก็เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว ครัวเรือน อเมริกันโดยเฉลี่ยมีบัตรเครดิตครัวเรือนละ 13 ใบ และ 40% ของ ครัวเรือนเหล่านั้นเลือกที่จะชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนเพิ่มขึ้นจากเพียง 6% ในปี 1970
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของคนอเมริกันข้างต้นก็ยังนับว่า ดีกว่าเมื่อเทียบกับพฤติกรรมของรัฐบาล ทุกเมืองและทุกรัฐในอเมริกาต่างต้องการจะปกปักรักษาโครงการต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ก่ายกองของตัวเอง แต่ไม่ต้องการขึ้นภาษี ถ้าเช่นนั้นจะทำอย่างไร คำตอบก็คือการกู้ยืมผ่านเครื่องมือการเงินที่แนบเนียน นั่นคือ revenues bond ซึ่งมีรายได้ในอนาคตของรัฐจากภาษี หรือสลาก กินแบ่งเป็นหลักประกัน Chris Edwards จาก Cato Institute ชี้ว่า แนวโน้มที่รัฐต่างๆ ของสหรัฐฯ นิยมทำในตอนนี้คือ ขายหลักทรัพย์เพื่อระดมเงินทุนไปใช้สร้างทางหลวง ที่อยู่อาศัยและโครงการอื่นๆ ในอนาคต แต่วิธีการนี้ก็จะทำให้โครงการต่างๆ ของรัฐมีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เนื่องจากต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และเป็นเพราะความต้องการจะปกป้องประชาชนผู้เสียภาษีอากรจากค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งทำให้สิ่งที่ต้องจ่ายทั้งหมดในวันนี้มีเพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น จึงทำให้โครงการต่างๆ เหล่านั้นมักมีค่าใช้จ่ายเกินงบในอนาคต
แต่นักการเมืองท้องถิ่นของสหรัฐฯ ไม่ใช่เพียงปัญหาเดียว ในยุคของ Alan Greenspan ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: Fed) ไม่ยอมให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ อย่างเด็ดขาด รัสเซียผิดนัดชำระหนี้รึ ลดดอกเบี้ย กลัว Y2K รึ ลดดอกเบี้ย ตลาด NASDAQ ร่วงรึ ลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจชะลอตัวหลัง 9/11 ลดดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรก็ตาม วิธีแก้ก็คือ รักษาการไหล ของเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้า ในที่สุด กลยุทธ์การทำให้ ตลาดที่อยู่อาศัยคึกคักอยู่ตลอดเวลา ได้กลับกลายมาสร้างปัญหา ที่ใหญ่เกินกว่าจะแก้ไขได้
นักเศรษฐศาสตร์ Jeffrey Sachs ชี้ว่า ทุกๆ คนในสหรัฐฯ ต่างมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการ "โกงครั้งมโหฬาร" ครั้งนี้ "เราต้องการสิ่งต่างๆ มากมายจากรัฐบาล แต่กลับไม่ยอมควักกระเป๋า จ่าย" Sachs กล่าว "ดังนั้นเราจึงใช้การก่อหนี้เป็นวิธีแก้ปัญหา" ในปี 1990 หนี้ประชาชาติของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งก็สูงมากอยู่แล้ว แต่ในปี 2000 มันยังทะยานขึ้นไปอีกเกือบสองเท่าเป็น 5.75 ล้านล้านดอลลาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 10.2 ล้านล้านดอลลาร์ ยอดหนี้ของสหรัฐฯ ทะยานขึ้นไปเป็นเลข 11 หลักแล้วเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย.)
คำว่า leverage เป็นเพียงคำหรูหราที่ Wall Street ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แทนคำว่าหนี้ และเป็นต้นตอของวิกฤติในปัจจุบัน Warren Buffett อธิบายปัญหานี้ในแบบของเขาซึ่งไม่มีใครเหมือนว่า "leverage คือวิธีเดียวที่คนฉลาดๆ จะทำให้ตัวเอง สิ้นเนื้อประดาตัว เมื่อคุณทำเรื่องฉลาดๆ คุณจะร่ำรวยมากในที่สุด แต่ถ้าคุณทำเรื่องฉลาดๆ แถมใช้ leverage เพียงแค่คุณทำอะไร ผิดพลาดเพียงอย่างเดียว คุณจะหมดเนื้อหมดตัวทันที เพราะอะไร ที่เป็นศูนย์จะเพิ่มอีกสักกี่เท่าก็ยังคงเป็นศูนย์ แต่ที่ทำให้มันดูเหมือนมีค่ามากขึ้นนั้น เป็นเพราะคนอื่นๆ รอบตัวคุณต่างก็ดูเหมือนประสบความสำเร็จกับการ leverage เช่นเดียวกับคุณต่างหาก มันก็เหมือนกับซินเดอเรลล่าในงานเลี้ยงของเจ้าชายไงล่ะ ทุกอย่างดูดีไปหมด มีแต่ความสนุกสุขสันต์ คุณเลยคิดว่า เรื่องอะไรจะต้องรีบออกจากงานตอนอีก 15 นาทีจะเที่ยงคืนเล่า ออก ตอนอีก 2 นาทีจะเที่ยงคืนก็ได้นี่ แต่ปัญหาก็คือ ไม่มีนาฬิกาอยู่บนผนัง และทุกคนต่างก็คิดจะออกในเวลาอีก 2 นาทีจะเที่ยงคืน เหมือนๆ กันหมด"
หากจะมีบทเรียนใดที่ได้รับจากวิกฤติครั้งนี้ก็คือ กฎง่ายๆ และเก่าแก่ของเศรษฐศาสตร์นั่นคือ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ คุณจะต้องจ่ายทั้งนั้น หนี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย หากใช้อย่างรับผิดชอบ และมันเป็นหัวใจของทุนนิยมสมัยใหม่ แต่การซุกซ่อนหนี้เป็นภูเขาเลากาไว้ภายใต้เครื่องมือการเงินที่ซับซ้อน คือการปกปิดค่าใช้จ่ายที่แท้จริง และเชิญชวนให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่รับผิดชอบ
เมื่อถึงจุดหนึ่งการหมกเม็ดจะต้องยุติ ผู้บริโภคจะต้องหยุด ใช้บ้านของตัวเองอย่างกับเป็นธนาคาร และหยุดใช้จ่ายเงินที่ตัวเองไม่มี รัฐบาลจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับหนี้ที่ตัวเองก่อขึ้น สหรัฐฯ รวมทั้งสังคมอื่นๆ ที่ก่อหนี้มากเกินไป ต่างได้รับสัญญาณเตือนจากนรกแล้ว หากสามารถรับมือและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองได้ วิกฤติครั้งนี้ก็อาจจะเป็นดั่งพรของพระเจ้าที่ปลอมแปลงกายมา (แม้ว่าอาจจะปลอมได้แนบเนียนเกินไปสักหน่อย)
ในระยะสั้น การแก้ปัญหาวิกฤติในขณะนี้จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้หมาย ความว่าเราควรจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีมากขึ้นอีก เหมือนอย่างที่มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอ แต่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่านั้น น่าจะเป็นการประกาศริเริ่มโครงการใหม่ๆ หรือเร่งรัดโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งนับเป็นการลงทุน ไม่ใช่การบริโภคและ จะส่งผลดีต่อการคลังของประเทศ (แม้ว่าโครงการเหล่านี้จะไม่ได้บันทึกแยกต่างหากในงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่นั่นเป็นเพียงข้อบกพร่องของวิธีการทางบัญชี)
ในระยะกลางและระยะยาว เราต้องกลับคืนสู่สามัญ เช่นครัวเรือนจะต้องออมมากขึ้น และรัฐบาลต่างๆ ควรจะออกมาตรการจูงใจให้ประชาชนออมมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ มักออกมาตรการจูงใจให้บริโภค (เช่นการให้นำดอกเบี้ยหนี้จำนองบ้านไปหักภาษีได้ เป็นต้น) ซึ่งได้ผลมาก สหรัฐฯ มีบ้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทีวีที่แบนบางที่สุดในโลก และมีรถมากที่สุด ถ้าหากจะเปลี่ยนมาเป็นเก็บภาษีการบริโภคและกระตุ้นการออมบ้าง ก็คง จะได้ผลเช่นกัน กฎเกณฑ์การควบคุมหนี้บัตรเครดิตควรมีการทบทวน เพื่อให้แน่ใจว่า ประชาชนเข้าใจความเสี่ยงและค่าใช้จ่าย ของเครื่องมือการเงินนี้อย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง นี้จะเป็นผลดีต่อทั้งครัวเรือนและรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย
Wall Street ก็ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน Paul Volcker พยายามเตือนมานานแล้วว่า นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่าง มากมายไม่ได้มีอะไรใหม่เลย แต่เป็นเพียงการยักย้ายถ่ายเททรัพยากรที่มีอยู่แล้ว และมีส่วนช่วยให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจน้อยมาก นวัตกรรมเหล่านั้นจะต้องลดลงอย่างมาก Boykin Curry จาก Eagle Capital ชี้ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แกนกลางของสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งได้เปลี่ยนแปลงไปอย่าง น่ากลัว เมื่อใดที่มีใครบางคนกดดันให้ก่อหนี้มากขึ้น (more leverage) และเสี่ยงมากขึ้น อีกสองสามปีถัดไปก็มักปรากฏว่าพวกเขาเป็นฝ่ายถูก คนเหล่านี้จึงได้เลื่อนตำแหน่งและได้ควบคุมเงินทุนที่มากยิ่งขึ้น แต่คนที่ลังเล คนที่ท้วงติงให้ระมัดระวัง กลับปรากฏว่าเป็นฝ่ายผิด คนเหล่านี้ถูกข่มขู่คุกคามและถูกมองข้ามใน การเลื่อนตำแหน่ง พวกเขาจึงสูญเสียการควบคุมเงินทุน เหตุการณ์ เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันซ้ำแล้วซ้ำเล่าในแทบทุกสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เงินทุนที่ยังเหลืออยู่ได้ถูกแบ่งสรรไปยังมือที่เชื่อถือได้ในที่สุด นั่นคือเหล่าผู้บริหารและนักลงทุนที่ระมัดระวังรอบคอบเช่นเดียวกับ Warren Buffet
Volcker ยังยืนยันด้วยว่า ระบบการเงินที่มีความซับซ้อนสูง หาได้มีเสถียรภาพสูงอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ และจำเป็นจะต้องเพิ่มกฎเกณฑ์ควบคุมระบบการเงินอย่างกว้างขวางเพื่อฟื้นเสถียรภาพของมัน ขณะนี้ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจในระดับสูงที่สุด สิ่งที่ Wall Street กลัวที่สุดคือ จะถูก รัฐบาลที่มาจากพรรคเดโมแครตส์ควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป แต่เมื่อมองเห็นว่าใครบ้างที่เป็นที่ปรึกษาของ Barack Obama ไม่ว่าจะเป็น Buffett, Volker และอดีตรัฐมนตรีคลังอย่าง Robert Rubin และ Larry Summers ก็ค่อนข้างจะแน่นอนว่า พวกเขาจะทำให้ระบบการเงินได้รับการควบคุมที่ดีกว่านี้ แม้ว่าอาจจะทำให้มีผลกำไรที่หรูหราฟู่ฟ่าน้อยลง แต่เราก็จะได้ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพและมั่นคงมากขึ้น
อุตสาหกรรมการเงินก็คงจะหดเล็กลง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย เพราะว่ามันได้พองตัวมากเกินไป Curry ชี้ว่า 30% ของผลกำไรใน S&P 500 เมื่อปีที่แล้วเป็นของสถาบันการเงิน ส่วนผู้บริโภคอเมริกันก็ใช้จ่ายเงินเกินกว่ารายได้ไปถึง 800,000 ล้านดอลลาร์ทุกปี ผลก็คือ ดอกเตอร์ระดับหัวกะทิส่วนใหญ่ถูกดูดเข้า ไปสู่ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมทางการเงินซึ่งไม่ได้เพิ่มผลผลิตใดๆ แทนที่จะเข้าไปอยู่ในการวิจัยไบโอเทคและเทคโนโลยีเชื้อเพลิง การใช้จ่ายทางด้านทุนกลับไปอยู่ที่การก่อสร้างปลีกย่อย แทนที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อประเทศ วิกฤติครั้งนี้จะยุติการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์และการเงินที่ผิดพลาดเหล่านั้น และจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้นไปในทางที่เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น หากเหล่าคนฉลาดๆ ที่ขณะนี้อยู่ใน Wall Street ได้ลงเอยไปเป็นผู้พัฒนาโมเดลการใช้และประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีกว่านี้ นั่นคงจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในท้ายที่สุด
เศรษฐกิจอเมริกันยังคงเต็มไปด้วยพลวัตและความยืดหยุ่น อย่างลึกซึ้ง แม้กระทั่งขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าประหลาดใจที่สุดของสหรัฐฯ ยังคงเป็นความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สหรัฐฯ แม้จะต้องผ่านปัญหาต่างๆ มากมายข้างต้น อย่างไรก็ตาม คงไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ตลอดไป โดยเฉพาะหากความตื่นตระหนัก ยังคงอยู่ กระนั้นก็ตาม สิ่งนี้ได้ฉายให้เห็นความจริงที่ว่า เศรษฐกิจ สหรัฐฯ มีสิ่งที่ดีในระดับพื้นฐาน และหลังจากการถดถอยอย่างรุนแรงแล้ว จะสามารถกลับฟื้นคืนสภาพเดิมได้อย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด การเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งได้กระตุ้นการเติบโตของโลกมาตลอด ก็จะไม่ดับสูญไปในชั่วข้ามคืนเช่นเดียวกัน วินัยที่จะเกิดขึ้นใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากกว่าเพียงแค่เรื่องเศรษฐกิจ ตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มไป สหรัฐฯ ก็อยู่ในโลกอย่างไม่มีใครคอยควบคุมหรือตรวจสอบอำนาจ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับนโยบายต่างประเทศ เพราะมันทำให้สหรัฐฯ ยโส เกียจคร้านและเลินเล่อ การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ผ่านมาเหมือน กับกลยุทธ์ธุรกิจของ General Motors ในทศวรรษ 1970-1980 ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยภายในโดยไม่ตระหนักถึงความเร่งด่วน หรือความรับรู้เกี่ยวกับแรงกดดันจากภายนอก สหรัฐฯ คิดว่า เราไม่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกอะไรเลย เพราะมีทางเลือกทุกอย่างอยู่ในมืออยู่แล้ว เราสามารถทำผิดพลาด ทำให้โลกไม่พอใจ แตกแยกกับพันธมิตร ผลาญทรัพยากร หรือจะก่อสงครามที่ไร้ประโยชน์ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร เพราะยังมีที่ว่างมากมายสำหรับความผิดพลาดมากมายเกินพอ
แต่โลกข้างนอกเป็นโลกที่แตกต่างไปแล้ว หากอิรักทำให้เกิดเงาดำทาบทอลงบนความน่าเชื่อถือทางการเมืองและการทหารของสหรัฐฯ วิกฤติการเงินครั้งนี้ก็จะกัดเซาะอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ เช่นกัน ในระยะสั้น ประเทศต่างๆ คงจะยังหลบไปยังที่ปลอดภัยคือเงินดอลลาร์และพันธบัตรคลังสหรัฐฯ (T-bill) แต่ในระยะยาว ประเทศต่างๆ คงจะหาทางเป็นอิสระจากมหาอำนาจที่ไม่มีความเสถียรอย่างสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ก็คงจะต้องพยายามดึงดูดเงินทุนเข้าประเทศ และบริหารการคลังให้ดีกว่านี้ นอกจากนี้คงจะต้องใช้วิธีโน้มน้าวประเทศต่างๆ ในการแสวงหาการสนับสนุนนโยบายต่างประเทศ และคงจะต้องตัดสินใจเลือกเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งคงไม่อาจเที่ยวนำระบบต้านขีปนาวุธไปติดตั้งตามแนวชายแดนของชาติเพื่อนบ้านรัสเซีย หรือดึงจอร์เจียกับยูเครนเข้าร่วม NATO แล้วยังหวังจะให้รัสเซียร่วมมือกดดันอิหร่านเรื่องปัญหานิวเคลียร์ได้อีก สหรัฐฯ คงไม่อาจโวยวายประณามการลงทุนของ จีนและชาติอาหรับในอเมริกา แล้วยังหวังจะให้ชาติเหล่านั้นยังคงซื้อพันธบัตรคลัง 4 พันล้านดอลลาร์ของตน และสหรัฐฯ คงไม่อาจจะพร่ำสอน โลกเกี่ยวกับประชาธิปไตยและทุนนิยม ในขณะที่ บ้านตัวเองยังคงไร้ซึ่งระเบียบใดๆ
สหรัฐฯ มีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ กีฬาหรือชีวิต การตรวจสอบและความสมดุลคือกลไกที่สำคัญ รวมถึงการตีแผ่และต่อต้านการประพฤติมิชอบและความหยิ่งยโสตลอดจนการสร้างวินัยในคน วินัยนี้อาจจะเจ็บปวดสำหรับประเทศที่เคยชินกับการมีทุกอย่างในครอบครอง แต่นั่นจะทำให้สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว หากสามารถเรียนรู้บทเรียนที่ถูกต้องจากวิกฤติครั้งนี้ได้ และสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาเล่นตามกฎของตัวเองได้อีกครั้ง
|
|
|
|
|