ความคิดในการจัดตั้ง DPZ (DATA PROCESSING ZONE) หรือ เขตอุตสาหกรรมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
ถูกตั้งข้อสงสัยในเบื้องแรกว่า ไม่ได้เป็นเรื่องจริงจังอะไรนัก เป็นเรื่องที่ออกมาแก้ลำเพื่อให้เรื่องอบาคัสของการบินไทยตกไปเท่านั้น
เพราะ DPZ เพิ่งจะมีการพูดถึงก็เมื่อการบินไทยเสนอเรื่องอบาคัสต่อคณะรัฐมนตรี
(ครม.) เท่านั้น ก่อนหน้านั้นไม่เคยมีการพูดถึงเลย
แม้กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หกก็ไม่ได้เอ่ยถึง DPZ
สักคำ
ยิ่งมาดูความพร้อมในแง่โครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารโทรคมนาคมของบ้านเราแล้ว
เอากันแค่ยกหูโทรศัพท์คุยกันระหว่างบางลำภูกับประตูน้ำ ก็ไม่ว่ายที่จะมีเสียงเพลงแซมเข้ามาประกอบการสนทนาเรื่องที่จะไปพูดถึงการส่งข้อมูลข้ามประเทศในเวลาชั่วเสี้ยววินาที
ก็เป็นอันเลิกคิดได้
จึงช่วยไม่ได้ที่ DPZ ในสายตาของเรา ๆ ท่าน ๆ จะเป็นไปได้ก็เพียงความฝันอันแสนไกลที่ไม่รู้ว่าจะไปให้ถึงได้เมื่อไร
ว่าไปแล้วเรื่อง DPZ นี่ก็เพิ่งจะมาคิดกันจริง ๆ จัง ๆ ก็ในรัฐบาลชุดนี้จริง
ๆ นั่นแหละ บังเอิญไปพ้องกับเรื่องอบาคัสเข้า ก็เลยเข้าใจกันไปว่าเป็นข้ออ้างที่จะไม่ให้อบาคัสได้เกิด
ครม.มีมติเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมปีที่แล้ว ตามข้อเสนอของกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและการพลังงานให้ตั้งคณะกรรมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการตั้ง
DPZ ขึ้นในเมืองไทย โดยมีประจวบไชยสาส์น เจ้ากระทรวงเป็นประธาน
"เราก็มานั่งดูว่า ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเป็น DPZ ต้องรื้ออะไรบ้างระบบเครือข่ายจะต้องวางสาย
OPTICAL FIBRE ไปทั่วโลกหรือไปเชื่อมต่อกับใคร ต้องลงทุนเท่าไร ใช้เวลาเท่าไร
ด้านการนำเข้าฮาร์แวร์ซอฟท์แวร์และคนที่จะเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญจะต้องแก้ไขโครงสร้างภาษีอะไรบ้าง"
ประจวบรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯ อธิบายภาระหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง
คณะกรรมการชุดนี้นอกจากจะประกอบด้วยกรรมการจากกระทรวงวิทยาศาสตร์เองแล้ว
ยังมีตัวแทนจากบีโอไอกรมศุลกากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอมพิวเตอร์ และตัวแทนจากคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นกรรมการด้วย
คือ ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์ ที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีของนายกรัฐมนตรี
ความคิดเรื่อง DPZ ก่อตัวขึ้นมาจากความตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
ที่จะมีผลโดยตรงต่อบทบาทของไทยในภูมิภาคนี้ในอนาคตอันใกล้
ความเปลี่ยนแปลงข้อแรกคือ ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองในระดับอภิมหาอำนาจ
เมื่อประธานาธิบดีมิกคาอิล กอร์บาชอฟของโซเวียตมีท่าทีผ่อนคลายอุณหภูมิสงครามเย็นเพื่อให้นโยบายเปเรสตรอยก้าเป็นจริง
การหันหน้ามาจับเข่าคุยกันระหว่างสหรัฐฯกับโซเวียตและแผนการเดินทางไปเยือนจีนของกอร์บาชอฟในปีนี้
คือสัญญาณแห่งความคลี่คลายของความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ระหว่างพี่เบิ้มในโลกใบนี้
ความเปลี่ยนแปลงในข้อแรกนี้นำมาสู่สถานการณ์ใหม่ของการเมืองในอินโดจีนเวียดนาม
กำลังเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน นโยบายต่างประเทศของลาวที่รู้จักกันต่างประเทศของลาวที่รู้จักกันในชื่อว่า
"จินตนาการใหม่" ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันฉันท์มิตรกับเพื่อนบ้าน
ในขณะที่สถานการณ์ในกัมพูชากำลังรอการลงตัวของสันติภาพ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
คือสัญญาณของการยุติการสู้รบ หันมาทำมาหากินกันของกลุ่มประเทศอินโดจีน เช่น
เดียวกับพม่าที่ความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อปีที่แล้วทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ทั้งอินโดจีนและพม่าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพรมหมจรรย์ทางเศรษฐกิจที่ยังปลอดจากการลงทุนของต่างประเทศ
ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่มาก การเปิดประเทศก็คือการเปิดตลาดขนาดใหญ่ ทั้งในแง่การบริโภคของประชาชนที่มีอยู่
60 ล้านคน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ อีกมากมาย
ความเปลี่ยนแปลงในประการที่สามคือ ประเทศที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคอย่างฮ่องกงและสิงคโปร์กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
ฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนจีนในปี 1997 ในสิงคโปร์ ลีกวนยูย่างเข้าสู่บั้นปลายของชีวิต
สำหรับประเทศที่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับคน ๆ เดียวมาเป็นเวลานานถึง 30
ปี การเปลี่ยนแปลงผู้นำใหม่ย่อมมีผลกระทบถึงสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นอน
อนาคตที่ไม่แน่นอนของฮ่องกงและสิงคโปร์ทำให้ธุรกิจที่ลงหลักปักฐานอยู่ในสองประเทศนี้
ต้องมองหาถิ่นฐานใหม่และธุรกิจใหม่ที่ต้องการเข้ามาในแถบนี้ก็ต้องมองหาประเทศอื่นที่จะเป็นฐานของตนเอง
ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ทำหใไทยมีความสำคัญมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการเป็นสปริงบอร์ดสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าสู่ตลาดอินโดจีนและพม่า
และการเป็นฐานทางธุรกิจแทนฮ่องกง สิงคโปร์บวกกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง สังคมและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึง
8-9 เปอร์เซ็นต์ต่อปีโดยเฉลี่ยทำให้เห็นกันไม่ยากนักว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้แน่นอน
DPZ เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานะใหม่ของประเทศไทย ในแง่ของสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านโทรคมนาคมสื่อสารระหว่างประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ
ระบบการสื่อสารของเรานั้น รู้ ๆ กันอยู่ว่าเป็นอย่างไร "เราถูกด่าอยู่ทุกวันว่า
ระบบการติดต่อโทรคมนาคมเชื่อถือไม่ได้เลย" ดร.เลอสรร กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เรื่องที่จะแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ๆ เพราะต้องใช้เงินทุนมหาศาล ระยะเวลาที่ยาวนาน และระเบียบขั้นตอนราชการไทย
ๆ ที่ล่าช้า
"DPZ เป็นเหมือนกระดาษหกที่เป็นทางลัดในการทำให้เราเป็นศูนย์กลางการโทรคมนาคมที่ทันสมัย
มีประสิทธิภาพในภูมิภาคนี้ แทนที่จะไปเสียเวลากับการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่"
ดร.เลอสรร อธิบาย
ความคิดเรื่อง DPZ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เป็นรูปธรรมของการช่วงชิงโอกาสที่เกิดขึ้จากการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติให้มากที่สุด
"เท่าที่เราเฝ้าดูอยู่เดี๋ยวนี้คือเจตนารมณ์ของรัฐบาล เรื่องนี้เอาจริงไหม
คำตอบคือเอาจริงนายกชัดเจน" ประจวบ ย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่า
เรื่องนี้ไม่ใช่ฝันกลางวันแน่ ๆ ถ้ารัฐบาลนี้ยังอยู่
ในทางเทคนิคแล้ว DPZ ก็คือโซน ๆ หนึ่งที่ประกอบไปด้วยอาคาร หรือกลุ่มอาคารที่เป้นสาถนที่ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในทางโทรคมนาคมระบบดิจิตอล
ซึ่งเชื่อมต่อกับศูนย์ดาวเทียมที่อยู่ในโซนนี้ด้วย
"การติดต่อจากต่างประเทศมาลงที่ศูนย์ดาวเทียมนี้แล้วส่งผ่านไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้บริการ
ที่อาจจะอยู่ในโซนนี้หรืออยู่ข้างนอกก็ได้ถ้าอยู่นอกโซนก็จะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายของการสื่อสารหรือองค์การโทรศัพท์ที่มีอยู่แล้ว
เวลาส่งข้อมูลออกไปต่างประเทศก็มีขั้นตอนแบบเดียวกัน" ดร.เลอสรร พูดถึงหลักการทำงานอย่างง่าย
ๆ ของ DPZ
ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จาก DPZ คือ การสำรองที่นั่งของสายการบนิที่เรียกกันว่า
CRS ซึ่งการบินไทยตั้งชื่อว่าอบาคัส หรือการใช้บริการของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่ต้องการมีตลาดใหญ่พอที่จะทำการพิมพ์ในประเทศไทย
โดยส่งเนื้อข่าว รูปภาพที่จัดหาไว้เรียบร้อยแล้วในรูปของสัญญาณผ่านดาวเทียมมาที่ศูนย์ดาวเทียมใน
DPZ สัญญาณจากศูนย์ดาวเทียมจะถูกส่งต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักงานในประเทศไทย
ซึ่งจะแปรสัญญาณกลับออกมาเหมือนต้นฉบับที่ต่างประเทศอีกทีหนึ่ง แล้วนำไปพิมพ์ออกจำหน่ายได้ทันที
ไม่ต้องส่งหนักสือเป็นเล่ม ๆ ข้ามประเทศอีกต่อไป
คอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่นำเข้ามาใช้ใน DPZ นี้ จะได้รับการยกเว้นภาษี
เช่นเดียวกับบุคลากรจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานในโซนนี้ก็จะได้รับการผ่อนผันในด้านการเข้าเมืองและภาษีด้วยเช่นเดียวกัน
"โดยหลักการแล้ว DPZ ก็เหมือนกับเขตอุตสาหกรรมการส่งออกที่ต้องมีการสร้างแรงจูงใจทางด้านภาษีด้วย"
ตามการประมาณการของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว DPZ จะเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่เกินสองปีนั่นคือปี
2534
"เราจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลเลย" ดร.เลอสรร พูดถึงรูปแบบการลงทุนตั้ง
DPZ ซึ่งจะตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาลงทุนดำเนินงานและมีรายได้จากบริษัทธุรกิจที่ต้องการใช้บริการของ
DPZ การสื่อสารแห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์จะถือหุ้นในบริษัทนี้ด้วย
เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลในการควบคุมการบริหารงานร่วมกับบริษัทเอกชน
"ตอนนี้ บริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจโทรคมนาคมหลาย ๆ แห่งกำลังติดต่อขอข้อมูลเพื่อทำโครงการลงทุนอยู่"
เอาหละ ถ้าโครงการนี้เกิดฝันเป็นจริงขึ้นมาในปี 2534 อะไรเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
สิงคโปร์ ซึ่งมีพื้นที่เพียงแต่ถนนสุขุมวิทตลอดทั้งสายหนาแน่นไปด้วยประชากรธุรกิจเพียง
2.5 ล้านคน หรืออีกนัยหนึ่งมีขนาดเพียงแค่เกือบครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯเท่านั้นในด้านความหนาแน่นของประชากรแต่ไหนแต่ไรมา
เป็นศูนย์กลางการค้าบริการมาตลอด
ในปลายยุคลีกวนยู สิงคโปร์ประกาศตัวเด่นชัดต้องการเป็นศูนย์โทรคมนาคมในภูมิภาคนี้แบบผูกขาด
ซึ่งนั่นคือ รายได้จากค่าต๋งบริการอันมหาศาล
ดังนั้น DPZ ของไทยตัวนี้มันจะกลายเป็นตัว BACK UP อย่างดี ที่ธุรกิจต่าง
ๆ ที่ทำมาหากินในภูมิภาคนี้กับภูมิภาคอื่น ๆ จะสามารถ
ใช้ DPZ นี้ เป็นศูนย์ข้อมูลถ่ายทอดหรือสื่อสารด้วยระบบโทรคมนาคมไปยังเครือข่ายธุรกิจต่าง
ๆ ทั่วโลก
ไทยก็จะได้ทั้งค่าต๋งจาก DPZ และปริมาณธุรกิจที่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ต่าง
ๆ ของ โลก ที่แต่ก่อนเคยใช้ผ่านสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ด้านกิจการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก็จะไหลผ่านเข้ามาเมืองไทยแทน
และอุบัติการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ก็หมายถึงไทยได้กลายเป็น
จุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ธุรกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในสายตานักลงทุนยักษ์ใหญ่ไปในที่สุด….
ความหมายที่มีนัยสำคัญของ DPZ ก็อยู่ตรงนี้นั่นเอง