นิพนธ์ นิรันดร์วิชย มือสถาปนิกจาก 012 ดีไซน์ ฉลองวัย 26 กับจินตการอันบรรเจิดของเขาด้วยความสำเร็จของโครงการเจ้าพระยาลากูน
และในเวลาเดียวกันเขาก็พร้อมที่จะทะยานสู่ตึกสูงในปีถัดมา
ผลก็คือการร่วมทุนกับจิรวุฒิ คุวานันท์ ทายาทคนโตของกลุ่มโค้วยู่ฮะมอเตอร์
กรรมการพิทักษ์สินประกันภัยวัยย่าง 30 คนหนุ่มผู้มีความคิดกว้างไกลหลังจากวางใจกับธุรกิจประกันภัยที่เขาคร่ำเคร่งมานาน
กระทั่งหลังจากร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ประกันภัยฝรั่งเศสแล้วทำให้เขามีเวลามาขยายงานด้านอื่น
ๆ มากขึ้น คือ การเริ่มเข้าสู่ยุทธจักรตึกสูงหลังจากที่เขาซื้อซีทีไอพลาซ่าแล้วคอนโดมิเนียมคือเป้าหมายต่อไป
นั่นก็คือการถือกำเนิดของ "GRAMERCITE MOON TOWER" ณ สุขุมวิทซอย
59 ด้วยการดีไซน์อย่างสุดฝีมือของนิพนธ์และด้วยทีมงานตลาดของจิรวุฒิ นับเป็นการจับมือครั้งสำคัญสำหรับคนหนุ่มทั้งสองกับการก้าวย่างเข้าสู่ยุทธจักรคอนโดมิเนียมเป็นครั้งแรก
"โครงการนี้เราต้องการสร้างชื่อ" นิพนธ์ว่า
คอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิทในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ชุมนุมเจ้ายุทธจักรทั้งหลายแล้ว
ปี 2532 นี้ จะมีโครงการต่าง ๆ ผุดขึ้นไม่น้อยกว่า 70 โครงการคิดเป็นเงินรวมแล้วไม่ต่ำกว่า
30,000 ล้านบาท เฉพาะโครงการเพรสิเด้นท์พาร์ค หมู่ตึกคอนโดมิเนียม 13 หลังย่านสุขุมวิท
24 แห่งเดียวก็ตก 3,000 ล้านบาท เข้าไปแล้ว
โครงการนี้กว่าจะแล้วเสร็จก็ในราวปี 2537 คอนโดมิเนียมจะบูมถึงวันนั้นจริงหรือ
มีผู้อรรถาธิบายถึงการบูมของเหล่าตึกสูงที่เรียกว่าคอนโดมิเนียมไว้หลายกระแสต่อความเห็นที่สอดคล้องกันคือ
เศรษฐกิจบูมมาก ๆ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ
ที่สำคัญคือการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลทำให้ปริมาณความต้องการที่ตั้งสำนักงานและที่อยู่อาศัย
"ปรากฎการณ์เช่นว่านี้เริ่มไม่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังจะกระจายไปสู่ภาคตะวันออก
คือโครงการอีสเทอร์นซีบอร์ด ซึ่งจะเกิดในเร็ว ๆ นี้ ตอนนี้จึงมีการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรเป็นการใหญ่
อีกไม่นานคอนโดฯก็จะผุดขึ้นมาก" คนในวงการทำนาย
และเพราะอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีที่แล้วต่ำมาก ๆ ทำให้การฝากธนาคารดูจะไม่คุ้มค่าจึงพากันไปลงทุนในกิจการอื่น
ๆ เป็นต้นว่าตลาดหุ้นซึ่งฟื้นตัวขึ้นมากภายหลังแบล็คมันเดย์เมื่อ 19 ตุลาคม
2530 ส่วนหนึ่งก็หันมาลงทุนด้านคอนโดมิเนียมเพื่อให้เช่า และบางคนก็เพื่อเก็งกำไรกระทั่งนายกสมาคมคอนโดมิเนียมถึงกับกล่าวว่าที่คอนโดมิเนียมขายดีมากในทุกันนี้เป็นเพราะการซื้อเพื่อเก็งกำไร
"ผมว่าไม่จิรง เพราะถ้าเก็งกำไรมันต้องกว่าครึ่งขึ้นไป แต่นี่ผมว่ามีไม่ถึง
ผมยอมรับว่ามีบ้างจริงเรียกว่าส่วนหนึ่งได้แต่เรียกว่าส่วนใหญ่ไม่ได้"
ถนอม อังคณะวัฒนา กรรมการผู้จัดการพาร์คบีชคอนโดมิเนียม และกรรมการผู้จัดการโมเดอร์นโฮม
บริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำให้ความเห็น
แต่ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้ก็ถีบตัวสูงขึ้นพร้อม ๆ กับเงินฝากก็ได้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นกัน
ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงทั้งผู้ทำโครงการและผู้ซื้อ ทว่าคอนโดมิเนียมก็ยังทยอยเกิดขึ้นราวโรคระบาด
กระทั่งบางคนถึงกับวิจารณ์ว่ากรุงเทพมหานคนและพัทยาจะกลายเป็นสลัมคอนโดมิเนียมในอนาคตอันใกล้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2526-2528 อันเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทำให้โครงการคอนโดมิเนียมที่บูมมาก
ๆ ในช่วงเวลานั้นต้องกลายเป็นสุสสานตึกสูงและที่ยังไม่สร้างแต่ยื่นแบบขออนุญาตไว้ต่างเจ็บตัวกันถ้วนหน้า
เหตุการณ์ในช่วงนั้นค่อนข้างจะใกล้เคียงกับห้วงเวลานี้มาก เศรษฐกิจดี บรรดาตึกสูงทยอยกันอุบัติไม่เว้นแต่ละวันกระทั่งกลายเป็นแฟชั่น
ทว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะดำรงอยู่ตลอดไปกระนั้นหรือ ปีที่แล้วเศรษฐกิจเติบโตถึง
10% แต่ปีนี้และจากนี้ไปเล่า
ภายในทศวรรษ 80 นี้นักลงทุนต่างค่อนข้างมั่นใจในอนาคตเศรษฐกิจว่าจะไปได้สวยแต่ทศวรรษจากนี้ไปเล่าจะมีใครกล้าทำนาย
และถ้าเศรษฐกิจไม่เป็นใจเล่า เหล่านักลงทุนจะทำฉันใด
ถนอม อังคณะวัฒนา ซึ่งเคยเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงมาแล้ว เมื่อครั้งที่เขาเป็นผู้จัดการโครงการวอลสตรีท
ทาวเวอร์ เมื่อครั้งกระโน้น
เขาสามารถฝ่าวิกฤตการณ์มาได้ก็ด้วยความสามารถทางการตลาดของเขา เพราะเขาเป็นนักวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่ยอดเยี่ยมคนหนึ่ง
ด้วยความที่เขาเป็นทั้งนักบัญชีและนักการตลาด ทำให้เขาเป้นคนมองไปข้างหน้าและเป้ฯคนสุขุมรอบคอบไปในตัวตามแบบนักบัญชี
บทเรียนในครั้งกระนั้นทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ๆ ในโครงการซิลเวอร์บีชที่พัทยา
ในปี 2530 และโครงการพาร์คบีช ในปี 2531 กระทั่งบริษัทรับสร้างบ้านของเขาก็อยู่ในข่าย
ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจคอนโดมิเนียมในช่วงภาระเศรษฐกิจตกต่ำนั้นอยู่ที่การวางแผนการตลาดที่ดี"
เขาสรุป
ดูเหมือนเขาจะเป็นคนแรก ๆ ที่นำระบบพรีเซลล์ (PRESELL) มาใช้ในการขายคอนโดมิเนียมกระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นระบบที่ธนาคารให้การยอมรับและเป็นหลักฐานในการขอกู้เงิน
ประการสำคัญอีกอย่างคือการบริหารต้นทุนซึ่งควบคู่ไปกับการบริหารเวลา "คือเราต้องพยายามควบคุมต้นทุนไม่ให้บานาปลาย
และต้องพยายามให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดด้วยเพื่อที่จะไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการบริหารทางการเงิน"
เขาสรุป
สิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับวงการคอนโดมิเนียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็คือชื่อเสียงผู้ประกอบการ
ซึ่งว่าไปแล้วก็คือยี่ห้อของผู้ลงทุนนั่นเอง โดยที่ตัวผู้ลงทุนเป็นตัวรับประกันว่างานนี้คงไม่มีการตีหัวเข้าบ้านเป็นแน่
สำหรับนิพนธ์และจิรวุฒิแห่ง GRAMERCITE MOON TOWER นั้นก็คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจเช่นกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่วัยเยาวร์เขากระทั่งคิดเตรียมการเพื่อการอยู่รอยและพร้อมที่จะเผชิญหน้าอย่างไม่หวาดหวั่น
"สมมตินะครับ ซึ่งผมคิดว่ามันยังไม่เกิดแน่นอนในช่วงสองปีข้างหน้านี้
เพราะเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงที่เรียกกันว่าเด็กกำลังโต ผมจะแปรสภาพคอนโดมิเนียมของผมเป็น
หนึ่ง-อพาร์ตเม้นท์ สอง-โรงแรม" นิพนธ์กล่าว
จากนี้ไปธุรกิจคอนโดมิเนียมจะต้องดำเนินการโดยมืออาชีพมากยิ่งขึ้น เพราะสภาวะเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นใจขึ้นมาวันใดก็ได้
และวันนั้นแหละจะพิสูจน์ฝีมือกัน
แต่อย่างน้อยที่สุดนักลงทุนรุ่นใหม่ต่างก็เตรียมการเพื่อความอยู่รอดเป็นอย่างดี
เหตุการณ์คอนโดฯ ล้มระเนระนาดเช่นเมื่อหลายปีก่อนคงจะไม่เกิดหรือ คงจะไม่รวดเร็วปานพายุ
แต่เราก็ได้แต่เพียงหวัง!!!!!