|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เอกชนจี้นายกฯ ยุติปัญหาการเมืองด่วน หากยืดเยื้อปีหน้าเผาจริงแน่ ระบุเศรษฐกิจไทยส่อเค้าวิกฤติกว่าปี40 เหตุรัฐบาลเน้นแต่การเมืองมากกว่าแก้ไขเศรษฐกิจ เผยออร์เดอร์ไตรมาส1/52 หด 30% ปีหน้าโอกาสเห็นแรงงานเตะฝุ่น 2 ล้านคนไม่ไกลเกินจริง ซัดมาตรการรัฐที่ผ่านมาแก้ไม่ถูกที่คัน ด้านหม่อมอุ๋ยชี้วิกฤตการเงินโลกรอบนี้ฟื้นช้า เผยกระทบภาคการส่งออกโดยตรง แนะแบงก์อย่าทิ้งลูกค้ากลุ่มนี้และต้องดูแลใกล้ชิด แบงก์ชาติมองปีหน้าจีดีพีมีโอกาสหลุดกรอบ 3.8-5.0% ทีดีอาร์ไอคาดส่งออกปีหน้าอาจติดลบ
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลกับผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมากเพราะมีทั้งปัจจัยภายนอกคือปัญหาวิกฤติการเงินโลกที่จะทำให้การส่งออกไทยลดลง และปัจจัยการเมืองภายในที่จะผสมโรงให้เศรษฐกิจไทยแย่ไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีก ดังนั้นปัญหาเร่งด่วนของไทยคือทำให้ปัญหาการเมืองยุติโดยเร่งด่วนซึ่งเห็นว่าการแก้ไขนั้นเป็นความรับผิดชอบของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำรัฐบาลโดยตรง ซึ่งหากปัญหาการเมืองไม่ยุติโดยเร็วและยืดเยื้อเช่นปัจจุบันในปี 2552 ไทยจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าปี 2540
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาการเมืองส่งผลให้การทำงานของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่การเมืองเป็นหลักมากกว่าจะยึดผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชาติและมาตรการที่ออกมาดูแลเศรษฐกิจของรัฐยังไม่ไปในทิศทางที่สอดคล้องและนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงบางมาตรการดูแลเฉพาะกลุ่ม แต่ภาพรวมความไม่เชื่อมั่นทำให้แรงซื้อในประเทศยังลดต่ำอยู่ ภาคการผลิตจึงต้องเผชิญกับการส่งออกที่ลดทั้งในและนอกประเทศโดยการส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้จากการสอบถามสมาชิกคำสั่งซื้อ(ออร์เดอร์)ลดลงแล้วเฉลี่ย 15-20% ส่งผลให้ภาคการผลิตแก้ไขด้วยการไม่มีการทำงานล่วงเวลา(โอที) และลดกะการทำงานลง และสิ้นปีนี้คงยากจะเห็นการจ่ายโบนัส หรือหากจ่ายก็คงจะลดลงโดยเฉลี่ยกว่าปีที่แล้ว
แรงงานปี52 อาจเตะฝุ่น 2 ล้านคน
ขณะที่ไตรมาส 1/52 ออร์เดอร์ส่งออกลดลง 30-40% ซึ่งจะส่งผลให้กระทบแรงงานจำนวนประมาณ 1 ล้านคน แต่หากทั้งปีปัญหาการเมืองไทยยังไม่จบและไม่สามารถดูแลปัญหาด้านเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควรทั้งปีมีโอกาสจะกระทบแรงงานได้ถึง 2 ล้านคนทั้งแรงงานเก่าที่มีอยู่และแรงงานที่ควรจะเข้าสู่ตลาดใหม่เมื่อมีการจบการศึกษาแล้ว ซึ่งถือว่าโชคดีที่ค่าเงินบาทในขณะนี้อยู่ระดับอ่อนค่า 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐหากอยู่ในระดับ 30-31 บาทต่อเหรียญสหรัฐภาคการผลิตอาจจะเจ๊งไปแล้ว
“ วิกฤตปี’40 กระทบถึงขั้นรายที่ไม่แข็งแรงตายหมดรายที่รอดมาได้ทุกวันนี้ในช่วงนั้นมีงานทำเพียง 2-3 วันก็พยายามพยุงกันมาส่วนหนึ่งเพราะมีแรงซื้อในประเทศมาช่วย เราวิตกว่าหากการส่งออกที่มีผลต่อการผลิตลดลงต่อเนื่องการเมืองซ้ำเติมอีกจะผลิตขายใคร แถมเราเองก็มีปัญหาชายแดน 3 จังหวัดใต้ ปัญหากับเขมร วิกฤติปี 52 คงหนีไม่พ้นมากกว่าปี 40 แน่ ”นายสมมาตกล่าว
จี้ลด ดบ.- ภาษีรายได้นิติบุคคลด่วน
นายสมมาตกล่าวว่า รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการออกมาแบบเร่งด่วนในการฟื้นสภาพคล่องของเอกชนและแรงซื้อประชาชนด้วยการ 1. ดูแลค่าบาทให้อยู่ในสภาพที่ไม่แข็งค่าจนเกินไปโดยให้อ่อนค่าสอดคล้องกับภูมิภาค 2. ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเพื่อพยุงภาคธุรกิจให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มขึ้น 3. การลดภาษีรายได้นิติบุคคลลงจากปัจจุบัน 30% ลงมาเหลือ 20% อย่างน้อยเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนที่ถึงกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ 4. รัฐบาลต้องเร่งตั้งกองทุน 5 หมื่นล้านบาทหรือปล่อยกู้ผ่านแบงก์รัฐเพื่อช่วยธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ด้านการเงินที่ขณะนี้เอสเอ็มอีมีปัญหาการกู้เงินอย่างมาก
ชี้เอสเอ็มแอลอัดฉีดไม่ก่อให้จ้างงาน
สำหรับมาตรการต่างๆ หากพิจารณาช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถอัดฉีดไปสู่รากหญ้าได้อย่างแท้จริงซึ่งเห็นว่าโครงการเอสเอ็มแอลก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ควรจะต้องพิจารณาว่าจัดสรรงบประมาณไปแล้วได้ก่อให้เกิดการจ้างงานหรือไม่หรือควรจะนำไปใช้ในการดูแลงานเก่าที่ค้างอยู่เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานไม่ควรเน้นแต่เพียงการหว่านเงินเข้าไปเพียงเพื่อหาเสียงแต่ไม่มองผลที่จะได้กลับมาที่เป็นประโยชน์ต่อชาติและชุมชน
อุ๋ยแนะแบงก์อย่าทิ้งลูกค้าส่งออก
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาถกฐาพิเศษหัวข้อ “ความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา” ในงานสัมมนา “Global Events and the Future of Thai Economy” ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของทางการสหรัฐฯ นั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาด้านเดียว คือ การทำให้สถาบันการเงินยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในภาคประชาชน ไม่ได้ทำให้การสร้างบ้านมีมากขึ้นหรือคนมีงานทำมากขึ้น ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันโลกที่มีการปรับตัวลดลงนั้นจะช่วยในภาคการบริโภคให้ฟื้นตัวได้บ้าง แต่โดยรวมการบริโภคจะยังคงมีน้อยอยู่ เนื่องจากการเก็บออมของคนสหรัฐฯ จะมาจากการลงทุนในหุ้น และตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวลงแล้วประมาณ 40-45%
อย่างไรก็ตาม มองว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้นจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า โดยไม่มีมาตรการใดที่จะมาแก้ไขได้ และจะใช้เวลาระยะหนึ่งในการฟื้นตัว ส่วนเงินเฟ้อจะมีการลงต่ำลง จนอาจจะติดลบได้ แต่การลดลงนั้นจะเป็นไปแบบที่ช้ามาก
“วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ได้ลุกลามไปในยุโรป ซึ่งมีการลงทุนในซับไพรม์แล้ว ส่วนญี่ปุ่นแม้ว่าจะมีการลงทุนตราสารนี้น้อยมาก แต่คงจะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ในด้านของการส่งออกที่น่าจะลดลงอย่างชัดเจน จึงทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า G3 นั้นจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกัน”
ส่วนผลกระทบต่อไทยนั้นแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ ผลกระทบต่อการส่งออก ผลกระทบต่อสถาบันการเงิน และผลกระทบต่อรัฐบาล โดยผลกระทบต่อการส่งออกนั้นเนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลต่อ G3 ทำให้ผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นกับคู่ค้าในทุกประเทศซึ่งรวมถึงไทยโดยตรงด้วย โดยอุตสาหกรรมที่เริ่มชะลดตัวชัดเจนก็คือ อุตสาหกรรมไอที รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องประดับและเสื้อผ้าที่เริ่มเห็นผลกระทบแล้ว แต่ที่ผ่านมาในส่วนของไทยนั้นผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกมีไม่มากนัก เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่ในขณะนี้ก็เริ่มลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องมีการปรับตัวเพื่อรับสภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะต้องมีการลดการเก็บสต็อกให้อยู่ในระดับเหมาะสม ไม่ให้เงินจม และต้องดูแลกิจการในภาวะที่การขายชะลอตัวลง โดยยังคงต้องมีการจ้างงานไว้ เพื่อช่วยไม่ให้ผลกระทบลุกลาม เนื่องจากในความเป็นจริงคนยังต้องบริโภคอยู่ สินค้าก็ยังขายได้ และเศรษฐกิจปีหน้าจะยังมีการเติบโตที่เป็นบวก
"สิ่งที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องทำตอนนี้ คือ การดูแลลูกค้าโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกนี้ให้สามารถดำเนินธุรกิจให้ดี และธนาคารไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่เป็นการซ้ำเติมและเตรียมมาตรการดูแลลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบนี้"
ส่วนผลกระทบต่อสถาบันการเงิน ซึ่งหลายฝ่ายกลัวว่าจะลุกลามมายังไทยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเชื่อว่าคงจะมาแน่ แต่จะมีความแตกต่างกันเนื่องจากโครงสร้างมีความแตกต่างกับประเทศอื่น อีกทั้งสถาบันการเงินในมีการลงทุนในตราสารที่มีปัญหาน้อยมาก และไม่ได้มีการลงทุนในหุ้นมากนัก
ธปท.จีดีพีมีสิทธิหลุดกรอบ 3.8-5.0%
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวต่ำ 3.8% ซึ่งเป็นคาดการณ์ขั้นต่ำในช่วง 3.8-5.0 ที่ ธปท.ประเมินไว้ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ช่วงต่ำสุดภายในปีหน้า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีโอกาสได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยโดยตรง ขณะที่การลงทุนในประเทศก็อาจจะได้รบผลกระทบจากโครงการเมกะโปรเจ็คต์ของภาครัฐที่มีโอกาสเลื่อนออกไปจากที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในไตรมาส 1/52 อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้
"ธปท.ยังหวังว่าการที่รัฐบาลพยายามผลักดันมาตรการต่าง ๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการลดผลกระทบวิกฤติการเงินโลก หากมาตรการเหล่านี้ประสบความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้นได้ ตอนนี้จะต้องให้รัฐเป็นตัวนำในการสร้างควาเชื่อมั่นให้กับเอกชน ในการไปลทุนต่าง ๆ รวมทั้งต้องพึ่งพาความต้องการภายในประเทศมากขึ้นด้วย"นางอมรากล่าวและว่า จากที่พูดคุยกับภาคเอกชนพบว่า ปัญหาการเมืองทำให้นักธุรกิจหลายรายชะลอการลงทุนออกไป ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลดลงเรื่อย ๆ นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุน และมองว่าภาคเอกชนนอกจากจะชะลอการลงทุนใหม่ ๆ แล้วก็จะคงกำลังการผลิตที่มีอยู่ไว้ในระดับเดิมด้วย
"หลายประเทศต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เมื่อประสบวิกฤติจากปัญหาภายนอกประเทศ จึงต้องกลับมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของไทยเองพื้นฐานเศรษฐกิจยังแข็งแกร่งเพียงพอรับมือวิกฤติจากภายนอกได้ แต่ยอมรับว่าปัญหาการเมืองเป็นสิ่งที่จะต้องปลดล็อคและหาทางออกให้ได้ เพราะปัญหาการเมืองไทยกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องใช้ความระมัดระวังประกอบการตัดสินใจลงทุน"
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวม และการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ไม่อยากให้เอกชนหยุดการลงทุน ควรหาช่องทางเพื่อลงทุนเพิ่ม ส่วนภาครัฐควรเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ ในส่วนของการส่งออกปีหน้าของไทย มีโอกาสอยู่ที่ 0 ถึง ติดลบ ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้ คือ งบประมาณรัฐบาล และการนำเข้าที่ลดลง คาดการณ์ GDP ปีหน้า อยู่ที่ 2-4%
มศวให้นักศึกษาผ่อนค่าธรรมเนียม
ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งปัญหาการเมืองในประเทศได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศและกระทบต่อการจ้างงาน ขณะนี้คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยได้ให้กองบริการการศึกษา สำรวจว่าในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างนี้ นิสิตได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ปรากฏว่ามีนิสิตที่ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ตอนนี้ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยกำลังจะหาทางแก้ปัญหาด้วยการให้นิสิตสามารถผ่อนค่าทำเนียมการศึกษารายเดือนได้
"เรื่องที่น่าห่วงอย่างมากสำหรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาและต้องออกไปสู่โลกแห่งการทำงาน มหาวิทยาลัยจึงได้เร่งสร้างทัศนะใหม่ให้แก่นิสิต ต้องรู้จักสร้างที่จะสร้างงานของตัวเองให้มากขึ้น และต้องไม่รอที่จะเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนหรือรอทำงานในหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียว ” อธิการบดี มศว กล่าว
|
|
|
|
|