|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในขณะที่ "AIG" คือขาใหญ่ในย่านวอลล์สตรีท "ING" สิงโตจากแดนกังหันลม ก็ติดทำเนียบ สถาบันการเงินระดับท็อป 20 ในย่านสหภาพยุโรป ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่บังเอิญก้าวเข้ามาติดบ่วงกรรม "มหันตภัยซัพไพร์ม" ถล่มโลก ในเวลาไลเลี่ยกัน เพียงแต่AIGเข้าไปพัวพันโดยตรง จนติดร่างแห ผ่านการค้ำประกันตราสารที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนING ต้องเผชิญกับ แรงกระเพื่อม "อาการแพนิก" นักลงทุนที่ถอนตัวจากตลาดหุ้นอย่างรวดเร็ว จนต้องรับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลกลาง แต่ถึงอย่างนั้น ING ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TMB หรือ แบงก์ทหารไทยก็ยังไม่ใช่รายสุดท้าย ในยุควิกฤตสถาบันการเงินโลกตะวันตก....
"ING GROUP" สิงโตสายพันธุ์ยุโรป แดนกังหันลม ต้องเผชิญกับแรงปะทะอย่างรุนแรงถึง 2 ครั้ง 2 ครา นับจาก "วิกฤตซัพไพร์ม" ถล่มโลกสถาบันการเงิน
เริ่มต้นจาก ชื่อที่ดันไปพ้องเสียงกับ AIG อดีตผู้ยิ่งใหญ่แห่งย่านวอลล์สตรีท ที่กำลังนอนซบพิษไข้อยู่ในห้องไอซียู
จนมาถึง การรับแรงสั่นสะเทือนจากสภาพคล่องในตลาดทุนที่กำลังแห้งขอดเพราะนักลงทุนตื่นตระหนกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จนราคาหุ้นในตลาดปักหัวดิ่ง ควงสว่าน ไม่มีปี่มีขลุ่ย...
ในที่สุด AIG ก็ทนพิษบาดแผลเหวอะหวะไม่ไหว เพราะนำตัวเข้าไปพัวพันโดยตรงกับ การค้ำประกันตราสารทางการเงินของสถาบันการเงินโชคร้ายที่ล้มตายไปแล้ว อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส
ท้ายที่สุด รัฐบาลกลางและกระทรวงการคลังทั่วโลก รวมทั้งรัฐบาลกลางเนเธอร์แลนด์ ก็ต้องเตรียมเงินอัดฉีดเงินก้อนโต สำหรับแบงก์ใหญ่ภายในพื้นที่ๆตนเองดูแลอย่างทั่วถึง...
ธนาคารกลางยุโรป กลุ่มเบเนลักส์ ธนาคารกลางอังกฤษ ออสเตรเลีย แม้กระทั่ง ญี่ปุ่น และเกาหลี ต่างก็เตรียมเงินก้อนใหญสำหรับโอบอุ้มสถาบันการเงินในประเทศอย่างคึกคัก รวมทั้งประกาศคุ้มครองเงินฝากแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อดึงเอาความเชื่อมั่นกลับคืนมา
" เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับ วิกฤตซัพไพร์ม หรือ เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพเลย แต่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ภาวะตลาดหุ้นซบเซา ทรุดตัวหนัก ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง มูลค่าหลักทรัพย์ก็ลดลง มีทางเดียวคือ ต้องหาทางพยุงมูลค่าหลักทรัพย์เราเอาไว้ พอรัฐบาลช่วยก็ทำให้มีเงินมาทำกิจการต่างๆได้มากมาย"
ราเจซ เสฐฐี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอเอ็นจีประกันชีวิต สรุป เหตุผลที่ ING GROUP รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์จำนวน 1 หมื่นล้านยูโร หรือ 1.34 หมื่นล้านดอลลาร์
เงินอัดฉีดก้อนนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้จัดสรรเอาไว้ 2 หมื่นล้านยูโร สำหรับสนับสนุนเงินกองทุนธนาคารขนาดใหญ่
โดย ING รับมา 1 หมื่นล้านยูโร นำมาเพิ่มทุนเงินกองทุนขั้นที่ 1 จำนวน 5 พันล้านยูโร เพิ่มความแข็งแกร่งให้งบดุลธุรกิจประกันชีวิต 2 หันล้านยูโร และ 3 พันล้านยูโร จะนำไปลดสัดส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนผู้ถือหุ้นจาก 15% ให้ลงมาที่ 10% ภายในเวลา 3 ปี
กรณีที่เกิดขึ้นกับ ING หากดูผิวเผิน จึงไม่ต่างจากสถาบันการเงินรายใหญ่ยักษ์หลายราย ที่ได้รับการช่วยเหลือจากรับบาลกลางโดยตรง หลังจากห้องค้าในตลาดหุ้นเกิดอาการแพนิก จนนักลงทุนต้องอพยพหลบหนีหัวซุกหัวซุน สถาบันการเงินแทบทุกรายจึงตกระกำลำบากกันเป็นทิวแถว
AIG ต้องประกาศขายทรัพย์สินในหลายส่วนของโลก รวมถึงหุ้นบางส่วนของ AIA และตัดขายธุรกิจ คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ กรุ๊ป ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป
จนเดือดร้อนมาถึง เอไอเอสาขาประเทศไทย ธุรกิจที่ทำรายได้และกำไรอย่างงดงามให้กับ AIG มาโดยตลอด 70 ปี แต่ลูกค้าก็ยังแห่ถอนกรมธรรม์กันแบบมืดฟ้ามัวดินในช่วงแรกๆ ทั้งที่ AIA สาขาประเทศไทย มีกำไรแต่ละปีมหาศาล
รวมถึงธนาคาร AIG เพื่อรายย่อยและ เอไอจี การ์ด ธุรกิจในเครือ AIG ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจกันอย่างเร่งด่วน ทั้งถูกประกาศขายแบบยกล็อต และแบ่งขายหุ้นเพื่อมองหาพันธมิตรหน้าใหม่มาร่วมธุรกิจ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
กระทั่งมาถึงคราวของ ธนาคารฟอร์ติส ในกลุ่มเบเนลักส์ ที่รัฐบาล3ประเทศ ต้องเข้าไปเทคโอเวอร์ จนส่งผลมาถึง การปรับมุมมองอันดับเครดิต ของเมืองไทยประกันชีวิต ที่ กลุ่มฟอร์ติสถือหุ้นอยู่ราว 25% ในมุมลบ ทั้งที่องค์กรมีฐานะการเงินแข็งแกร่งอย่างมาก บวกกับมีผลกำไรติดต่อกันทุกปี
ท้ายที่สุดก็ลุกลามไปยัง "ยูโรโซน" ก่อนจะมีชื่อ ING ติดทำเนียบเพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาล ซึ่งทุกครั้งที่มีการช่วยเหลือสถาบันการเงินรายใหญ่ ก็มักจะสร้างความสับสนและสงสัยให้กับลูกค้าแบงก์ และผู้ถือกรมธรรม์ประกันชีวิตแทบจะทุกราย
ดังนั้น เมื่อ ING กำลังถูกจับตาเฝ้ามองจากทั่วสารทิศ ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจแต่อย่างใดที่ธนาคารทหารไทย หรือ TMB จะพลอยฟ้า พลอยฝนไปด้วย ในฐานะธนาคารในเครือ ไอเอ็นจี กรุ๊ป ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ ก็มีหน้าตาสวยสดงดงาม ในยุคที่มี ซีอีโอ ชื่อ บุญทักษ์ หวังเจริญ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ถึง 5 เดือน...
แต่ที่ต่างออกไปและ ราเจส กำลังอธิบายก็คือ ING ต้องเพิ่มทุน เพื่อสร้างทำนบกั้นน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมบ้าน เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็เพราะต้องการให้งบดุลบาลานซ์ในฝั่งหนี้สินกับทรัพย์สิน ภายหลังราคาทรัพย์สินดิ่งนรก จากอาการแพนิกที่เกิดกับตลาดหุ้นทั่วโลก
" เพื่อนบ้านโดนน้ำท่วมแล้ว แต่เราต้องทำผนังกั้นน้ำอย่างแข็งแกร่ง ให้สูงขึ้นไปอีก เพราะมองว่าน่าจะป้องกันได้ ส่วนเพื่อนบ้านที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐก็จะสร้างกำแพงสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นการมีภาครัฐหนุนหลัง ลูกค้าก็จะรู้สึกปลอดภัยไม่ย้ายหนีไปไหน และยังเป็นอีกสเต็ปหนึ่งที่ เราอาจจะทำธุรกรรมกู้ยืม ต้นทุนถูกลง"
ราเจส อธิบายว่า เงินที่ได้มาถือเป็นต้นทุนที่ถูกมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลง และไม่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีก็สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆได้ ขณะเดียวกันก็อ้างว่า จำนวนเงินที่ได้มา สามารถจ่ายคืนหนี้ธนาคารกลางได้ทั้งหมดในทันทีเลย เพราะ ไอเอ็นจี ไม่ได้มี ปัญหาวิกฤตซัพไพร์มเหมือนสถาบันการเงินอื่นๆ
แต่ก็ยอมรับว่า อาการขาดความเชื่อมั่นของลูกค้า ทำให้ต้องกำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์อธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดอาการตื่นตระหนก
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของ "ฟูบอน ไฟแนนเชียล โฮลดิ้ง" ประเทศไต้หวัน ที่มีการซื้อขายกิจการโดยการสว็อปหุ้นระหว่างกัน ราเจส อธิบายว่า เป็นการเจรจามานานเป็นปี ก่อนจะมาลงตัวในจังหวะที่ INGได้รับเงินอัดฉีดพอดิบพอดี
ข่าวการซื้อขาย รวมกิจการระหว่างฟูบอนฯ และไอเอ็นจี จึงสร้างความตื่นตระหนกกับนักลงทุน ผู้เกี่ยวข้องกับ กลุ่มไอเอ็นจี พอสมควร ถึงแม้ผู้บริหารจะบอกว่า ครั้งนี้คาดว่า น่าจะเลวร้ายที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่ปฏิเสธถ้าลูกค้าจะยกเลิกกรมธรรม์ หลังจากนี้ไปแล้วเกิดผลกระทบตามมาอีก
" หากจะยกเลิกกรมธรรม์หรือจะชะลอ ก็ขอให้ดูข่าวในช่วง 2-3 วันนี้ก่อน เพราะหลังจากการอัดฉีดเงินเข้ามา ตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงราคาหุ้น ไอเอ็นจี ก็ดีดตัวขึ้นมา"
ING นำหุ้นมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ ขายให้กับ ฟูบอนฯ แลกกับ การถือหุ้น 5% เพื่อเปิดช่องทางขายผ่านสาขาแบงก์ขนาดใหญ่อันดับ 2 ในไต้หวัน ส่วน ฟูบอนฯก็จะได้กองทัพตัวแทนที่แข็งแกร่ง เกรียงไกรของ ING เข้ามาเสริมทัพ
สำหรับ ING กรุ๊ป ปัจจุบันถือหุ้นใน TMB หรือ ธนาคารทหารไทยในสัดส่วนประมาณ 32% มีธุรกิจ บลจ.ไอเอ็นจี ไอเอ็นจี
ประกันชีวิต ไอเอ็นจี เรียลเอสเตท ที่ทำงานผ่านสาขาบริษัทแม่ที่ฮ่องกง และมีธนาคาร ING โฮล์ดเซลส์ โดยใช้สำนักงานตัวแทนให้บริการลูกค้าชาวยุโรปในประเทศไทย
สมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไอเอ็นจีประกันชีวิต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ไตรมาส 1-2 ที่ผ่านมา ไอเอ็นจี กรุ๊ป มีกำไรสุทธิ ร่วม 2 พันล้านยูโร มีเพียงไตรมาส 3 เท่านั้นที่ผลประกอบการขาดทุน แต่ยังมีกำไรสะสม 2.9 พันล้านยูโร
ส่วนไอเอ็นจีประกันชีวิตมีเงินกองทุนสูงถึง 337% สูงกว่าเกณฑ์ทางการที่กำหนดไว้ 150% โดยคาดว่าปีนี้จะมีเบี้ยประกันชีวิตรวม 6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25%
ขณะที่การขายประกันชีวิตผ่านสาขาธนาคารทหารไทย มียอดผู้ถือกรมธรรม์ 2 หมื่นราย มีเบี้ยประกัน 5 เดือน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิม ก่อนจะขยายเป้าหมายเป็น 1 พันล้านบาท
สำหรับธุรกิจบริษัทจัดการกองทุนรวม ไอเอ็นจี เดือนก.ค.-ส.ค. มียอดขาย 7,000 ล้านบาท
สมโพชน์ บอกว่า การที่ ING บริษัทแม่ ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นข่าวดี ที่ลูกค้าน่าจะสบายใจได้ว่า ธุรกิจคงไม่มีปัญหา และเงินที่ได้รับมาก็สามารถนำไปขยายกิจการในประเทศแถบเอเชียได้อย่างต่อเนื่อง
ผลจาก วิกฤตซัพไพร์มถล่มเศรษฐกิจโลกคราวนี้ จึงทำให้เห็นว่า " ING-TMB" ยังไม่ใช่รายสุดท้ายในปีนี้ แต่กำลังจะมีหลายกรณีให้ศึกษาเรียงหน้ากระดานกันมาเป็นหางว่าว และแต่ละกรณีก็แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ...
แต่ที่เหมือนกันก็คือ สถาบันการเงินทั้งแบงก์และประกันชีวิต ต้องเผชิญหน้ากับ ความเชื่อมั่นในตัวนักลงทุน ลูกค้าเจ้าของเงินฝาก ผู้ถือกรมธรรม์ ที่อยู่ในระยะลังเล และค่อยๆลดทอนลงเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีใครพยากรณ์ได้ว่า ความเชื่อมั่นที่เคยมีอยู่อย่างเหนียวแน่นในแบรนด์ สถาบันการเงินชื่อก้องโลก จะหวนกลับคืนมาได้เมื่อไร...
|
|
|
|
|