จากกรณีที่มีการปะทะกัน ที่แนวชายแดนไทย-กัมพูชา สร้างความวิตกต่อผลกระทบที่จะมีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในไทย แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อบริษัทจดทะเบียนในไทย พบว่า มีบริษัทที่ไปลงทุน หรือ ร่วมลงทุน ในกัมพูชาไม่มากนัก โดยบริษัทที่มีไปลงทุน มีทั้งกลุ่มธนาคาร, พลังงาน, สื่อสาร,โรงพยาบาล,วัสดุก่อสร้าง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ซึ่งมีสาขาของธนาคารจำนวน 2 สาขา อยู่ที่เสียมเรียบ และพนมเปญ รวมถึง ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ที่มีธนาคารในเครือโดย SCB ถือหุ้น 100% ได้แก่ ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ มี 3 สาขาที่ พนมเปญ พระตะบอง และเสียมเรียบ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชา ได้แก่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) และ บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO) ซึ่งมีโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ขนาดกำลังการผลิต 3,660 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานประมาณปี 2559 ซึ่ง 3 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนบริษัทละ 35% ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ส่วน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) มีโครงการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศกัมพูชา ในแหล่ง กัมพูชา B ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมไปแล้ว 1 หลุม เป็นโครงการที่คาดว่าจะใช้เวลากว่า 8-12 ปี ในการพัฒนาให้สามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้
รวมถึงบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ บมจ.ช.การช่าง(CK) ที่มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มูลค่า 1,153 ล้านบาท ส่วน บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัทย่อย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 30% ของโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เบื้องต้น บริษัทมีเงินลงทุนจากการพัฒนาและกู้ยืมระหว่างกันประมาณ 280 ล้านบาท โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ซึ่งถ้ามีการหยุดชะงักของโครงการ ฝ่ายวิจัยประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากลงทุนที่ประมาณ 280 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ซึ่งมีการลงทุนในธุรกิจปูนซีเมนต์ เงินลงทุนโดยรวมราว 3,450 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 90% และเป็นผู้ประกอบการในประเทสกัมพูชา 10% ประเมินว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทมีประกันความเสียหาย
อย่างไรก็ดี บริษัทจดทะเบียนในกลุ่มสื่อสาร อาทิ บมจ.ไทยคม(THCOM) เข้าไปลงทุนธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกัมพูชา โดยปัจจุบัน THCOM มีสัดส่วนรายได้จากบริการโทรศัพท์ในกัมพูชา และลาว ประมาณ 25% หรือประมาณ ไตรมาสละ 400 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากบริการโทรศัพท์ในกัมพูชาประมาณ 60% ส่วน บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาด 23 เมกกะวัตต์ โดยเป็นการผลิต และจำหน่ายกระแสฟ้าให้แก่โรงงานกัมปอตซีเมนต์ ในกัมพูชา มีรายได้ต่อปีประมาณ 200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1% ของรายได้รวม
รวมถึง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BGH) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มโรงพยาบาล ที่เข้าไปลงทุนโรงพยาบาล 2 แห่งในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แห่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีจำนวนเตียงรวมประมาณ 85 เตียง และมีสัดส่วนรายได้เพียง 0.5-0.6% ของรายได้รวมเท่านั้น
|