Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน28 ตุลาคม 2551
คลังจับแบงก์เอสเอ็มอีควบบสย.             
 


   
www resources

โฮมเพจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
โฮมเพจ กระทรวงการคลัง
โฮมเพจ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

   
search resources

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
กระทรวงการคลัง
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย




ลบฝังดินเรื่องฉาวโฉ่แบงก์เอสเอ็มอี คลังจับควบ บสย. "ประดิษฐ" ชี้ไม่ต้องเพิ่มทุนซ้ำซาก นำเข้า ครม.วันนี้ มั่นใจหลังควบรวมแข็งแกร่งทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ประเดิมสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ 3 หมื่นล้าน คลอดแพคเกจสู้ศึกวิกฤตการเงินโลก ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินหมื่นล้าน กองทุนร่วมทุนและค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการกรณีกู้แบงก์อื่น

นายประดิษฐ์ ภัทรประดิษฐ์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังเปิดโครงการ “ช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ช่วยเหลือตัวเองได้” หรือ smePOWER ว่า คณะทำงานศึกษาปัญหาของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ปฏิเสธคำขอเพิ่มทุนของสองสถาบันการเงิน จำนวน 2,100 ล้านบาท เพราะเห็นว่า ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริงในระยะยาว พร้อมกับเห็นชอบให้ควบรวมสถาบันการเงินทั้งสองเข้าด้วยกัน และให้มีการปรับโครงสร้างผู้บริหารใหม่ตามที่ประกาศไปแล้วด้วย

ทั้งนี้ การควบรวมสององค์กรดังกล่าว จะเกิดประโยชน์ช่วยสร้างองค์กรการเงินใหม่ที่มีงบดุลการเงินแข็งแกร่งขึ้น รวมเป็นเงินสินทรัพย์ ประมาณ 54,000 ล้านบาท โดยมาจากเอสเอ็มอีแบงก์ ราว 48,000 ล้าน และจาก บสย. ประมาณ 6,000 ล้านบาท หนี้สินรวมกว่า 46,000 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น 8,800 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการควบกิจการ เอสเอ็มอีแบงก์ จะมีเงินกองทุนกว่า 9,000 ล้านบาท สามารถขยายการให้สินเชื่อและออกหนังสือค้ำประกันเงินให้สินเชื่อวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องขอเงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เกิดจากการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพของสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียมูลค่าสูง และมีการขอเพิ่มทุน ผมจึงปฏิเสธไม่ให้มีการเพิ่มทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปทำงาน ซึ่งเชื่อได้ว่ามีความเชี่ยวชาญและโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการควบรวมกิจการจะทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรดีขึ้น และการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อใหม่จะพิจารณาถึงการปล่อยกู้ที่มีประสิทธิภาพ” รมช.คลังกล่าว

การควบกิจการยังลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งจะสามารถทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้ง ประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ระบบไอที เงินเดือนพนักงาน เป็นต้น

ด้านปรับโครงสร้างองค์กรหลังควบรวมแล้ว บสย.จะเข้ามาเป็นหน่วยงานหนึ่งของเอสเอ็มอีแบงก์ ในส่วนพนักงานเบื้องต้นยังไม่มีแผนปรับลดแต่อย่างใด ส่วนผู้จะมาดำเนินตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่นั้น ทางคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นประธานจะดำเนินการสรรหาต่อไป ทั้งนี้ จะเสนอแผนควบรวมให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในวันนี้ (28 ต.ค.) หลังจากนั้น ส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกาตีความ พิจารณาแก้กฎหมาย คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในระยะเวลา 6-9 เดือนข้างหน้า

นายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ในฐานะที่ปรึกษา รมช.คลัง อธิบายว่า เดิมการช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน การรวบกิจการจะมาช่วยแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีอย่างครบวงจร รวมถึง แก้ปัญหาภายในของทั้งสององค์กรด้วย เพราะถ้าปล่อยให้ดำเนินการอย่างเดิมต่อไป รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ แต่การมาควบรวม ช่วยเพิ่มศักยภาพให้เป็นสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์ สูงกว่าร้อยละ 46.85 ส่วน บสย. ประมาณร้อยละ 10 เมื่อรวมกันแล้วจะมีมูลค่ารวม 20,000 ล้านบาทหรือร้อยละกว่า 50 ทางคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ชุดใหม่ ซึ่งมีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธาน จะเข้ามาวางแผนสะสาง เช่น อาจจะขายเอ็นพีแอล หรือดำเนินการรูปแบบต่างๆ เป็นต้น ตั้งเป้าจะลดเอ็นพีแอลที่ไม่นำสินเชื่อใหม่มาเฉลี่ยรวม ให้เหลือร้อยละ 15 ภายใน 4 ปี

คึกสู้วิกฤตการเงินโลก

นายประดิษฐ์เปิดเผยถึงความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระยะเร่งด่วนซึ่งดำเนินการได้ทันที เพื่อรับมือวิกฤตการเงินโลก ภายใต้โครงการ smePOWER แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และด้านเสริมศักยภาพความรู้ และเทคโนโลยี ในด้านแหล่งเงินทุน ประการแรก จะมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเอสเอ็มอี จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยคิดอัตรา MLR หรือร้อยละ 7.25 ซึ่งถูกว่าอัตราสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่จะมีอัตราที่ MLR + 1 หรือ + 2 อีกทั้ง จะขยายระยะเวลาชำระหนี้คืน จาก 5 ปีเป็น 7 ปี และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินทุน แต่ธุรกิจยังพอดำเนินการต่อไปได้ จะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ในวงเงินตั้งแต่ 3 แสนถึง 10 ล้านบาท

ประการที่สอง ให้บริการเงินร่วมลงทุนแก่เอสเอ็มอี โดยจัดสรรเงินจำนวน 500 ล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนแก่เอสเอ็มอีในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หรือกำลังขยายกิจการ ซึ่งต้องการเงินลงทุนเพิ่ม แต่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอที่จะกู้ยืม ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์จะเข้าถือหุ้นเป็นส่วนน้อยในกิจการเพื่อแลกกับการอัดฉีดเงินร่วมลงทุนเข้าไปในวิสาหกิจนั้นๆ หลังจากที่ธุรกิจประสบความสำเร็จแล้ว ธนาคารจะขายหุ้นและปล่อยให้ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างเต็มตัว

ประการที่สาม คือ การค้ำประกันสินเชื่อให้แก่สถาบันการเงินอื่นๆ ที่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โดยเอสเอ็มอีแบงก์จะค้ำประกันให้ผู้ประกอบการในส่วนที่หลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ ซึ่งบริการนี้จะจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ปล่อยสินเชื่อให้แก่เอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มาช่วยเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ได้จัดสรรเงินทุนสำหรับค้ำประกัน จำนวน 4,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะขยายวงเงินสินเชื่อสู่เอสเอ็มอีได้กว่า 12,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น โครงการ smePOWER ในด้านเสริมศักยภาพความรู้ และเทคโนโลยี จะเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ผ่านการช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ โดยส่งผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ไปเยี่ยมกิจการเอสเอ็มอี เพื่อให้คำแนะนำถึงเทคโนโลยี หรือกระบวนการทำงานเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าสินค้า หรือลดต้นทุนการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ จะให้หน่วยงานของรัฐอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาเป็นกำลังขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้ สวทช. กำลังดำเนินโครงการยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพของเอสเอ็มอีอยู่แล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถช่วยผู้ประกอบการได้ปีละแค่ 250 คน ดังนั้น จะยกระดับโครงการนี้ อีกสิบเท่าเป็น 2,500 คนต่อปี

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือในโครงการ smePOWER ดังกล่าว เบื้องต้นต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตามข้อกำหนดของกฎหมาย ส่วนรายละเอียด และเงื่อนไขต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งมีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธาน จะประกาศภายในอีก 2-3 วันข้างหน้า

โครงการ smePOWER จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันนี้เช่นกัน และจะสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us