การบินไทยรายได้ขยับสู่ปกติ "กนก" เผยจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินอยู่ในระดับ
70% เท่าเดิม ชี้ฟื้นตัวจากวิกฤตโรคซาร์สเร็วกว่าที่คาดไว้ ผู้โดยสารเส้นทางยุโรป
อเมริกา ออสเตรเลียล้น ส่วนเอเชียอาจต้องใช้เวลาเล็กน้อย มั่นใจทั้งปี 46 กำไรไม่น้อยกว่าปี
45 แน่นอน ส่วนสายการบินต้นทุนต่ำ บอร์ดตั้งคณะทำงานวางกรอบและแผนร่วมทุนแล้ว ขณะที่ฝ่ายครัวการบินทดลองประมูลจัดซื้อวัตถุดิบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
ตามนโยบายธรรมาภิบาล ชี้ผลดีประหยัดต้นทุนและโปร่งใส
นายกนก อภิรดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการของการบินไทยภายหลังโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
(ซาร์ส) ยุติว่า ขณะนี้จำนวน ผู้โดยสารต่อเที่ยวบินหรือ Cabin Factor เริ่มดีขึ้น
จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ 100% แล้ว โดยเฉลี่ย Cabin Factor อยู่ที่ประมาณ 70% โดยมีบางเส้นทางภายในเอเชีย
ที่อาจต้องเวลาฟื้นตัวบ้าง แต่หลายเส้นทาง เช่น ลอสแองเจลิส ออสเตรเลีย ยุโรป มีการตอบรับจากผู้โดยสารดีมาก
ประกอบกับหลายประเทศในยุโรปเริ่มเข้าสู่หน้าหนาว จะส่งผลให้ผลประกอบการของการบินไทยเริ่มดีขึ้นตามลำดับและเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยเมื่อจำนวนผู้โดยสารกลับสู่ภาวะปกติ รายได้ก็เริ่มดีขึ้นเช่นกัน คาดว่าผลประกอบการรวมใน
ปี 2546 จะไม่น้อยกว่าปี 2545 ซึ่งมีกำไรประมาณ 10,000 ล้านบาทเศษแน่นอน ส่วนที่มีการประมาณการว่า
โรคซาร์สจะทำให้บริษัทมีกำไรลดลงประมาณ 6,000 ล้านบาท ก็น่าจะไม่ถึง โดยขณะนี้บริษัทไม่อยู่ในภาวะที่ขาดทุนแล้ว
โดยในปี 2546 เหลือการดำเนินงานอีก 1 ไตรมาสซึ่งมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน
ต.ค.-พ.ย. 2546 นี้ บริษัทจะได้รับมอบเครื่องบินโบอิ้ง อีก 2 ลำเข้ามาประจำฝูงบิน
ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีที่นั่งเพิ่มขึ้นสำหรับการบริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเส้นทางบินที่เหมาะสม
"Cabin Factor ประมาณ 70% ถือว่าดีมาก และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ และน่ายินดีที่การฟื้นตัวของทั้งจำนวนผู้โดยสารและรายได้ของการบินไทยกลับสู่ภาวะปกติเร็วที่คาดไว้ ทำให้ในไตรมาสสุดท้าย มีโอกาสที่รายได้จะเพิ่มขึ้นอีกเร่งวางกรอบตั้งสายการบินไทยต้น
ทุนต่ำ"
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ (Low cost Airline) นั้น นายกนกกล่าวว่า
คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทได้ตั้งคณะทำงานพิจารณากรอบโครงสร้างและแนวทางที่เหมาะสม
โดยมีนายวิชิต สุรพงษ์ชัย บอร์ดการบินไทยเป็นประธาน โดยหลักการการบินไทยจะจัดตั้ง
สายการบินต้นทุนต่ำโดยร่วมทุนกับพันธมิตรโดยถือหุ้นไม่เกิน 50% โดยคณะทำงานจะกำหนดกรอบโครงสร้าง
การร่วมทุน ตลอดจนเส้นทางบินที่เหมาะสม ซึ่งจะเน้นเส้นทางภายในภูมิภาค เป็นหลัก
ส่วนเครื่องบินนั้นจะใช้วิธีการเช่ามาดำเนินการ
"การจัดตั้งและดำเนินสายการบินต้นทุนต่ำจะต้องพิจารณาในทุกกรอบประกอบกัน
เพื่อให้ได้แนวทางที่ดีที่สุด โดยบอร์ดการบินไทยได้ตั้งคณะทำงานและกำหนดกรอบกว้างๆ ไว้
ส่วนจะจัดตั้งได้เมื่อใดนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายหากเร่งให้เสร็จภายในปี 46 นี้ ก็สามารถทำได้
ทั้งนี้ การบินไทยพร้อมปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีร่วมมือกับสายการบินเอกชนภายในประเทศในการทำการบินร่วม
เพื่อให้ เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจการบินได้" นายกนกกล่าว
ครัวการบินประมูลผ่านอิเล็กทรอนิกส์
วานนี้ (4 ส.ค.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดการประมูลอาหารและวัตถุดิบด้วย
ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นธรรมาภิบาลของฝ่ายครัวการบินประจำปี 2546/2547 โดยมีพล.ต.อ.
ชาญ รัตนธรรม ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการ การคมนาคมเข้าร่วมงาน โดยนายกนก
อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มการประมูลสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
หรือ e-Auction มาตั้งแต่ต้นปี 2546 ที่ผ่านมา ประมาณ 10 ครั้ง คิดเป็นมูลค่ากว่า
50 ล้านบาท ในสินค้าประเภทกระดาษ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานผ้า (เครื่องแบบพนักงาน)
และเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 6 ล้านบาท หรือประมาณ 12
%
โดยบริษัทต้องการสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐและเอกชนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เข้ามาสนับสนุนการทำงานให้รวดเร็ว โปร่งใส มีประสิทธิภาพและให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งการประมูลสินค้าด้วยระบบคอมพิวเตอร์จัดนำร่องครั้งแรกที่ฝ่ายครัวการบิน
โดยละปี ครัวการบินไทย มีมูลค่าจัดซื้อประมาณ 11,000-12,000 ล้านบาท โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพื่อผลิตอาหารประมาณ
70% โดยครั้งนี้จะประมูลใน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง กุ้งทะเลสดแช่แข็ง
และข้าวสารมูลค่าประมาณ 34 ล้านบาท