หากมองเข้าไปในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง หุ้นที่สร้างความมั่นใจให้กับตลาดอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าสถานการณ์ตลาดจะเป็นอย่างไร
หนีไม่พ้น SCC ขวัญใจนักลงทุน เช่นเดียวกับ SCCC เมื่อดูตัวเลขผลประกอบการในปัจจุบันและความมั่นใจในอนาคตพบว่าประสิทธิภาพไม่ต่างไปจากกันมากนัก
นักวิเคราะห์ต่างเทใจให้ซื้อลงทุนระยะยาว
หลังจากผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ของ "ปูนใหญ่" บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ
"ปูนกลาง" บมจ.ปูนซิเมนต์นครหลวง (SCCC) อารมณ์ของนักลงทุนในห้องค้าหลักทรัพย์แตกต่างกันออกไปทั้งผิดหวัง
และสมหวัง
ผลประกอบการน่าผิดหวัง
แทบไม่น่าเชื่อว่า ความรู้สึกแรกมาจากตัวเลขกำไรจากการดำเนินงาน "ไม่ค่อยประทับใจมากนัก"
คำกล่าวสั้นๆ ของสุรชัย ประมวลเจริญ-กิจ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
เมื่อมองถึงผลประกอบการของ SCC
ในไตรมาส 2 ปี 2546 กลุ่มปูนใหญ่มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนรายการพิเศษ 3,510
ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 3,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
2% ขณะที่ยอดขายสุทธิอยู่ที่ระดับ 36,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย
ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) เพิ่มขึ้น 13% เป็น 10,105 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนรายการพิเศษลดลง 32% และกำไร
สุทธิลดลง 35% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของราคา ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากภาวะสงครามอิรักสิ้นสุดลง
รวมถึงผลกระทบจากโรคซาร์ส แต่บริษัทมี EBITDA เพิ่มขึ้น 14% จากเงินปันผลจากบริษัทร่วม
"กำไรจากการดำเนินงานที่ออกมาเป็นผลมาจากโรคซาร์ส รวมไปถึงความผันผวนของมาร์จิ้น
และรายได้ลดลงของธุรกิจปิโตรเคมี" นายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC
อธิบาย
ดังนั้น กล่าวได้ว่าประเด็นสำคัญสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนอยู่ที่ส่วนได้เสียในกำไรของบริษัทร่วม
(Equity from Subsidiary) โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีปรับตัวลดลงมากถึง 53% จากไตรมาสแรก
และลดลง 40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือเพียง 678 ล้านบาท
"ราคาปิโตรเคมีในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว มาจากสงครามตะวันออกสิ้นสุดอย่างกะทันหัน
และโรคซาร์สระบาดในจีน ทำให้ส่วนต่างราคาเม็ดพลาสติกแนฟทาและ HDPE ปรับลดลงมาอยู่ระดับ
331 เหรียญสหรัฐต่อตัน จาก 340 เหรียญสหรัฐต่อตันในไตรมาสแรกของปี" จุฑามาศ รุจิวัตร
ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายชุมพลคาดว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของธุรกิจปิโตรเคมีและพร้อมปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความเด่นชัดในไตรมาส
3 โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์รวมถึงความต้องการจากประเทศจีนกลับมาสดใสอีกครั้ง
สำหรับธุรกิจซีเมนต์ ซึ่งถือว่าเป็นพระเอกของ SCC ตลอดกาล ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่ง
43% และมีส่วนสำคัญช่วยให้ผลการดำเนินงานไม่ตกต่ำไปมากกว่านี้ จากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น
10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้จะลดลง 5% ในไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งเป็นผลของฤดูกาล
"ราคาขายปูนซีเมนต์ทรงตัวที่ระดับ 1,700-1,750 บาทต่อตัน การส่งออกเพิ่มจากไตรมาสแรก
21% โดยเฉพาะขายให้กับเวียดนามและอเมริกา ทำให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 13%" นักวิเคราะห์หลักทรัพย์
บล.พัฒนาสิน กล่าว
สำหรับแนวโน้ม แม้ว่าช่วงนี้เป็นฤดูฝนแต่ตลาดปูนซีเมนต์ยังคงได้แรงกระตุ้นจากความต้อง
การที่อยู่อาศัยซึ่งขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวของ
SCC อยู่ในทิศทางที่ดีต่อไป
ด้านธุรกิจกระดาษ ราคาและมาร์จิ้นใกล้เคียงกับไตรมาสแรก แต่มีรายได้จากการขายในประเทศลดลง
11% กระนั้นก็ตามไตรมาส 3 บริษัทประเมินว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของความต้องการในเอเชีย
และเป็นช่วงปกติของฤดูขาย (Peak Season)
ด้านการประมาณการผลประกอบการปีนี้ จุฑามาศเชื่อว่ายอดขายจะอยู่ที่ระดับ 137,780
ล้านบาท กำไรสุทธิ 14,911 ล้านบาท "ปัจจัยอยู่ที่ธุรกิจปิโตรเคมีฟื้นตัว ธุรกิจกระดาษเติบโตจากการเข้าถือหุ้นของไทยเคนเปเปอร์
และผลประกอบการปูนซีเมนต์แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น"
ประทับใจในปูนกลาง
หากมองความเคลื่อนไหวของ SCCC นักลงทุนอาจจะรอคอยความชัดเจนต่อการซื้อกิจการ
บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ด้วยผลประกอบการไตรมาส
2 ปีนี้ออกมาสามารถชดเชยบรรยากาศขมุกขมัวได้
"ตัวเลขที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ดีและน่าประทับใจแม้จะไม่ใช่ฤดูขาย เพราะศักยภาพการบริหารงานที่ดี"
สุรชัย บอก
ในไตรมาส 2 SCCC มีกำไรสุทธิ 954 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ
749 ล้านบาท แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี แม้ว่ายอดขายจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม EBITDA กลับเพิ่มมาอยู่ที่ 37.6% เนื่องเพราะความสามารถในการลดต้นทุนดอกเบี้ยได้ถึง
86% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีที่ผ่านมา และ 11% จากไตรมาสแรกปีนี้ หลังจากบริษัทจ่ายคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดมูลค่า
5,000 ล้านบาท ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว
"บริษัทแทบไม่มีหนี้เหลืออยู่ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่ำ และมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ"
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เล่า
ด้านราคาขายเฉลี่ยปูนซีเมนต์ไตรมาส 2 ของ SCCC อยู่ที่ระดับ 1,700-1,750 บาทต่อตัน
ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ซึ่งโดยปกติในไตรมาส 2 เป็นช่วงนอกฤดูขายเพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน
และมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ราคาขายปรับลดลง แต่ปีนี้ราคากลับปรับตัวสูงขึ้น
แม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของ SCCC จะเป็นรอง SCC แต่ด้วยความพยายามสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์
ประกอบกับการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง นับตั้งแต่การเปิดตัวเว็บเซลล์หรือการสั่งซื้อปูนซีเมนต์ด้วยระบบออนไลน์เมื่อ
3 ปีที่แล้ว จนถึงการออกปูนอินทรีทอง นวัตกรรมใหม่แห่งวงการปูนฉาบของเมืองไทยที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน
"ปูนกลางวางกลยุทธ์ทางการตลาดโดยเน้นเรื่องราคาซึ่งสามารถทำกำไรให้ได้มากขึ้น
จึงมองกลยุทธ์นี้ในเชิงบวก เนื่องจากเป็นสัญญาณบอกว่าบริษัทกำลังพยายามรักษาราคาไว้ในระดับนี้
โดยราคาปูนซีเมนต์ดังกล่าวเป็นราคาสำหรับปูนซีเมนต์ระดับพรีเมียมในประเทศไทย" นักวิเคราะห์
บล.เมอร์ริล ลินช์ ภัทร กล่าว
สำหรับการประเมินผลประกอบการปีนี้ สุรชัย คาดว่ายอดขายจะยังเติบโตในเกณฑ์ดีเท่ากับ
9% ประมาณ 18,409 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 3,505 ล้านบาท "ส่วนแนวโน้มระยะยาวยังขยายตัวต่อเนื่อง
จากภาครัฐมีการเร่งใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"