|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แผนการกอบกู้ภาคการเงินมูลค่ารวมกันนับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่รัฐบาลทั่วโลกจับมือกันประกาศออกมานั้นทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนดีดกลับขึ้นมาได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น ก็หวนกลับไปติดลบเหมือนเดิม จากความกลัวว่าเศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงของโลกจะถูกแรงสั่นสะเทือนทางการเงิน กระชากเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ระดับท็อปผู้หนึ่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ได้ออกมาคาดหมายว่า เศรษฐกิจอเมริกันในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้ น่าจะไม่ขยายตัวเลยด้วยซ้ำ จึงยิ่งกระพือเกิดความกลัวรอบใหม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯขึ้นมา
คำพูดที่สะท้อนปัญหาหนักของเศรษฐกิจสหรัฐฯเช่นนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอเมริกันเปิดเผยในวันอังคาร(14) ถึงโครงการนำเอาเงิน 250,000 ล้านดอลลาร์ของแผนการช่วยชีวิตสถาบันการเงินมูลค่ารวม 700,000 ล้านดอลลาร์ มาซื้อหุ้นจำนวนหนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯรวม 9 แห่ง เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินซึ่งถูกการขาดแคลนสินเชื่อเล่นงานอยู่ในขณะนี้
“นี่เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อประกันว่าระบบการธนาคารของสหรัฐฯจะไม่ล้มครืนไป” ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวเมื่อวันอังคารในขณะที่ประกาศแนวทางความช่วยเหลือนี้ออกมา
บุชกล่าวว่าเขาเองความจริงก็ไม่อยากจะออกมาตรการนี้ แต่การเข้าแทรกแซงของทางการนั้น “ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะครอบงำตลาดเสรี, แต่ต้องการจะธำรงมันเอาไว้”
ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เฮนรี พอลสันกล่าวว่าการตัดสินใจที่จะเข้าถือหุ้นในธนาคาร 9 แห่งของทางการสหรัฐ “เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย” แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจำต้องทำ
“การเข้าแทรกแซงเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการทำ แต่มาตรการที่ประกาศในวันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของเราให้คืนมาดังเดิม” เขาสรุป
แผนการกอบกู้ธนาคารของสหรัฐฯนี้ คล้ายคลึงกับแผนซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ในยุโรป ที่จะเข้าอุ้มธนาคารทั้งหลายก่อนที่จะพังทลายลงมาจากการขาดแคลนสภาพคล่องรุนแรงในระบบการเงินโลก รวมทั้งการขาดความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งทำให้รัฐบาลต่าง ๆของโลกจำเป็นต้องประกาศมาตรการฉุกเฉินหลายประการเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นรวมทั้งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในตลาดด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะที่มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ดูจะสามารถบรรเทาความวิตกต่อภาคการเงินลงได้ในหลายๆ ด้าน แต่แล้วก็กลับเกิดความกังวลกันขึ้นมาว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะดำดิ่งลงสู่ภาวะถดถอยตัวรุนแรง โดยไม่อาจยับยั้งเอาไว้ได้เสียแล้ว
เจเน็ต เยลเลน ประธานสาขาซานฟรานซิสโกลของธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นดูเหมือนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว
“ดูเหมือนว่าทุกภาคของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินอันรุนแรง”เยลเลนชี้ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในแคลิฟอร์เนีย
“ข้อมูลเศรษฐกิจเมื่อเร็ว ๆนี้ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจอ่อนตัวลงมากกว่าที่คาดไว้ในช่วงไตรมาสสาม ซึ่งถ้าเป็นจริงดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯก็จะไม่เติบโตแม้แต่น้อยในช่วงเวลาดังกล่าว” เยลเลนกล่าว “นอกจากนี้อัตราการเติบโตในไตรมาสสี่ก็น่าจะย่ำแย่ อาจเป็นได้ว่าจะหดตัวเสียด้วยซ้ำ”
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น มักวัดจากการที่เศรษฐกิจของประเทศหดตัวหรือมีอัตราการเติบโตติดลบรวมสองไตรมาสติดต่อกัน ในช่วงไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโต 2.8% ในขณะที่ตัวเลขของไตรมาสสาม กำหนดจะประกาศในช่วงสิ้นเดือนตุลาคมนี้
ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งโลก รวมทั้งวิกฤตในตลาดการเงิน ทำให้ตลาดหุ้นของนานาประเทศตกอยู่ในสภาพเหวี่ยงขึ้นลงรุนแรง และเมื่อคำนวณเป็นภาพรวมแล้ว มูลค่าของหุ้นในตลาดได้หายไปอย่างมหาศาลในช่วงปีนี้
สภาพการซื้อขายของตลาดหุ้นเอเชียวานนี้ ดัชนีหลักในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.1% ในขณะที่ฮ่องกงลงไป 2.9% ส่วนที่ออสเตรเลียที่รัฐบาลเพิ่งประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7,250 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ดัชนีหลักก็ร่วงลง 0.8%
ในปีนี้มูลค่าหุ้นในตลาดญี่ปุ่นหายไปถึง 38% ส่วนในตลาดฮ่องกงนั้นหายไปถึง 41.5% แล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่านักลงทุนพากันวิตกเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจโลกจะชะลออัตราการเติบโตลง แม้ว่าปัญหาสินเชื่อขาดแคลนจะบรรเทาไปแล้วก็ตาม
“ข่าวดีในตลาดการเงินก็ถูกประกาศออกมาหมดแล้ว” มาซาโตชิ ซาโตะ โบรกเกอร์ของมิซูโฮ อินเวสเตอร์ส ซีเคียวริตี้ส์กล่าว โดยหมายถึงมาตรการฟื้นฟูภาคการเงินทั้งหลายที่รัฐบาลทยอยประกาศออกมา “ตอนนี้นักลงทุนก็เลยหันไปสนใจภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงแทน”
เมื่อตลาดยุโรปเปิดทำการในวันพุธ หุ้นลอนดอนก็ร่วงลงไป 0.19% หุ้นในฝรั่งเศสก็ลดลงไป 0.55% ส่วนดัชนีแด๊กซ์ของตลาดแฟรงเฟิร์ตก็ลดลง 0.23%
ส่วนที่ตลาดสหรัฐฯวันอังคาร ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดลดลง 082%
ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นโลกเกือบทุกแห่งต่างพุ่งทะยานแรง หลังที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆทยอยกันออกมาประกาศแผนการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารเป็นมูลค่ารวมกันหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งประกาศมาตรการประกันเงินฝากและอัดฉีดเม็ดเงินระยะสั้นเพื่อหล่อเลี้ยงตลาดสินเชื่อ
|
|
|
|
|