|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
บิ๊กแบงก์ใบโพธิ์ชี้วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯกระทบเศรษฐกิจไทยหนักปี 52-53 แนะเอกชนชะลอลงทุน พร้อมจัดสภาพคล่องรองรับภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มหันมากู้เงินในประเทศมากขึ้น ด้านแบงก์กสิกรไทยตั้งเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีหน้าลดลงเหลือ 13%หันเน้นสร้างรายได้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีค่าธรรมเนียม พร้อมดันมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30% คุมเอ็นพีแอลปีนี้ไม่เกิน 3%
นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐฯนั้น น่าจะส่งผลมาถึงเศรษฐกิจไทยซึ่งจะเห็นผลกระทบตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าและปี 2553 ด้วย โดยภาคธุรกิจจะขายสินค้าได้น้อยลง การส่งออกจะมีการขยายตัวที่น้อยลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศที่ไม่ฟื้นตัว ทำให้จะเกิดปัญหาการชำระคืนหนี้ รวมถึงยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
"ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นเชื่อว่าจะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนในตั้งแต่ปลายปี และจะมีผลกระทบอย่างหนัก หรืออย่างที่เรียกกันว่า เผาจริงในปี 2552 รวมทั้งในปี 2553 จะเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้น"นางกรรณิกากล่าว
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้เข้าไปดูแลและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าให้พิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวังในการขยายการลงทุน หากลูกค้ารายใดที่ยังไม่มีความจำเป็นในการขยายการลงทุน ให้ชะลอการการขอสินเชื่อไปก่อน รวมทั้งเตือนให้ลูกค้าระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินระยะเวลา และมูลค่าความเสียหายได้
นอกจากนี้ ธนาคารได้เตรียมสภาพคล่องเพียงพอสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่จะปรับกลยุทธ์มากู้เงินในประเทศมากขึ้น เพ่อทดแทนการกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ต่างๆได้ระดมเงินฝากจากประชาชนไปแล้ว ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะไม่มีการแข่งขันระดมเงินฝากในระยะนี้ ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศ มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงตามตลาดโลก แต่ก็ยังต้องดูสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อีกทางหนึ่งก่อน
กสิกรฯหดเป้าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีหน้า
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ในปีหน้าธนาคารตั้งเป้าหมายการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ไว้ที่ 13% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ลดลงจากในปีนี้ซึ่งตั้งไว้ที่ 18-20% เนื่องจากมองว่าในปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะมีการชะลอตัวลงอีกทั้งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) เพิ่มเป็น 30%จากปัจจุบันอยู่ที่ 27%
ทั้งนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารยังใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าธรรมเนียมน้อยอยู่ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมในกลุ่มเอสเอ็มอีเป็น 40-50% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 30%
"การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้คงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และจากที่ธนาคารได้จัดอบรมในโครงการ K SME Care ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้นในจำนวนผู้อบรม 50% เป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่ได้เป็นลูกค้าเมื่อเข้ารับการอบรมแล้วได้หันมาเป็นลูกค้าเราประมาณ 10% จากที่เราไม่ได้มุ่งหวังในส่วนนี้ ส่วนปีหน้าคงเน้นเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมมากขึ้น เช่น Cash Managementและ Trade Finance เป็นต้น ส่วน Net Margin ของเอสเอ็มอีตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3-4%"
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีนั้นปัจจุบันอยู่ที่ 2% และเป็นเอ็นพีแอลสุทธิประมาณ 0.6% โดยในปีนี้จะควบคุมให้อยู่ที่ไม่เกิน 3% ทั้งนี้สาเหตุที่เอ็นพีแอลของธนาคารอยู่ในระดับที่ไม่สูงนั้น เนื่องจากได้มีการตั้งทีมที่จะเข้ามาดูแลปัญหาของลูกค้าที่มีสัญญาณการชำระที่ล่าช้าตั้งแต่ 1 วัน ทำให้ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าได้ก่อน 90 วัน จึงไม่ทำให้ลูกค้ากลายเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งหากไม่ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดเชื่อว่ายอดเอ็นพีแอลของธนาคารอาจจะมีตัวเลขสูงกว่าที่เป็นอยู่
นายปกรณ์ กล่าวว่า จากปัญหาวิกฤตการเงินโลกและการเมืองในประเทศไทยนั้น ทางธนาคารได้พูดคุยกับลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมแล้ว พบว่ายอดจองห้องพักใน จังหวัดท่องเที่ยวต่าง ๆ ลดลงบ้างแต่ไม่มาก แต่หากมีปัญหาธนาคารก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ และที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวไปแล้วค่อนข้างมาก แต่จากปัญหาดังกล่าวแล้วภาคส่วนที่กระทบน่าจะเป็นภาคการส่งออก แต่ที่ผ่านมาไทยได้พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง และได้กระจายไปยังประเทศอื่น ดังนั้น จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
"แม้จะมีเหตุการณ์ที่จะมากระทบแต่ปัจจัยที่น่าจะมาช่วยเสริมก็คือเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ขึ้นแล้ว แต่น่าจะมีการลดลง เนื่องจากในต่างประเทศก็ได้มีการลดดอกเบี้ยลงแล้ว และสัญญาณในบ้านเราก็น่าจะลง ซึ่งจะมีผลบวกต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันก็เริ่มลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังใช้จ่ายมากขึ้น แต่ที่ต้องติดตามก็คือการส่งออกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวนและมีการไหลออกของเงิน แต่สภาพคล่องของไทยตอนนี้ยังดีอยู่"
|
|
 |
|
|