รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประกาศปฏิบัติการกอบกู้ช่วยเหลือระบบการเงินเมื่อวานนี้(13) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติยุโรปอนุมัติทั้งเงินกู้และเข้าซื้อหุ้นแบงก์ใหญ่ๆ รวมเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ ความเคลื่อนไหวเพื่อมุ่งยุติความตื่นตระหนกคราวนี้ มีผลทำให้ตลาดหลักทรัพย์ดีดทะยานขึ้นเป็นแถว
รัฐบาลชาติต่างๆ ทั่วยุโรป ซึ่งร้อนอกร้อนใจจากราคาหุ้นที่ควงสว่านดำดิ่งลงมาอย่างน่ากลัว เมื่อวานนี้ต่างพากันแถลงเปิดเผยแพกเกจช่วยชีวิตระบบการเงิน หลังจากที่ได้ไปตกลงกันระหว่างการประชุมระดับผู้นำในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะร่วมมือประสานงานกันแก้ไขวิกฤต ด้วยการค้ำประกันการปล่อยกู้ยืมระหว่างธนาคาร และเข้าซื้อหุ้นธนาคารขนาดใหญ่เพื่อประคับประคองไม่ให้ล้มครืน
เริ่มต้นด้วยอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลประกาศว่า กำลัง "ดำเนินปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด" ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นจำนวนมหึมาในธนาคารใหญ่ 3 แห่ง นั่นคือ รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ (อาร์บีเอส), และเอชบีโอเอส ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการควบรวมกับ ลอยด์ส ทีเอสบี คิดเป็นมูลค่ารวม 37,000 ล้านปอนด์ (63,950 ล้านดอลลาร์) ทั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกการซึ่งได้ประกาศไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ที่จะกันเงินเอาไว้ 50,000 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อหุ้นในสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา
สำหรับแบงก์รายที่ 4 คือ บาร์เคลย์ส ได้แถลงว่าจะไม่เข้าร่วมในแผนการนี้ของรัฐบาล แต่มีแผนจะระดมเงินทุนจากนักลงทุนภาคเอกชนให้ได้ประมาณ 6,500 ล้านปอนด์
"ในช่วงเวลาที่พิเศษ ด้วยการที่ตลาดการเงินไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐบาลย่อมไม่สามารถที่จะปล่อยทิ้งให้ประชาชนต่อสู้ดิ้นรนไปด้วยตัวเอง" นายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ กล่าวในการแถลงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวคราวนี้
เขายังบอกด้วยว่า "มีเพียงการปฏิบัติการระดับโลกเท่านั้น เราจึงจะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นขึ้นมาได้อย่างเต็มที่ โดยความเชื่อมั่นเช่นนี้คือสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่สร้างระเบียบการเงินระหว่างประเทศขึ้นมา"
บราวน์เรียกร้องให้บรรดาผู้นำโลกสร้าง "สถาปัตยกรรมทางการเงิน" ใหม่ เพื่อสะท้อนสภาพทางเศรษฐศาสตร์และการธนาคารของโลกในปัจจุบัน ทำนองเดียวกับที่ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ใช้อยู่ในเวลานี้ ได้ถูกจัดตั้งสถาปนาขึ้นมาในระหว่างการประชุมที่เมืองเบรตตันวูด มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อปี 1944
นอกจากอังกฤษแล้ว กระทรวงการคลังเยอรมนีก็ประกาศแพกเกจช่วยชีวิตภาคการเงินของตนที่มีมูลค่า 80,000 ล้านยูโร (108,000 ล้านดอลลาร์) โดยที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล เป็นประธาน ก่อนจะส่งไปให้รัฐสภาพิจารณา และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดกันว่าคงจะออกมาได้ภายในสัปดาห์นี้
มาตรการช่วยเหลือของเยอรมนีก็คล้ายๆ กับของอังกฤษ นั่นคือ ทางการให้เงินกู้ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกับหุ้นของแบงก์และสถาบันการเงินที่รับเงินกู้ อันถือได้ว่าเป็นการโอนกิจการบางส่วนมาเป็นของรัฐนั่นเอง
แพกเกจความช่วยเหลือนี้ "คือคำตอบที่เราจะต้องให้ เพื่อที่จะ ... บรรลุหนทางแก้ไขอันซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ในการจัดการกับระบบการเงินทั่วทั้งหมด ทั้งนี้จะต้องทำให้ตลาดเกิดความเชื่อถือไว้วางใจกันขึ้นมาอีกครั้งให้ได้" รัฐมนตรีคลังเยอรมัน เปเอร์ สไตน์บรืค กล่าวกับหนังสือพิมพ์ บิลด์
ทางด้านฝรั่งเศส มีรายงานว่าจัดเตรียมมาตรการค้ำประกันเงินกู้ระหว่างธนาคาร ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านยูโร (405,000 ล้านดอลลาร์) โดยที่ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี เตรียมที่จะแถลงเรื่องนี้ออกอากาศทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ เลอมง แผนการของฝรั่งเศสจะให้การค้ำประกันการปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์นี้ไปจนถึงสิ้นปี 2009
ส่วนที่กรุงมาดริด นายกรัฐมนตรี โฆเซ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเตโร แถลงว่า รัฐบาลสเปนจะกันเงินเอาไว้สูงสุดไม่เกิน 100,000 ล้านยูโร (134,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อใช้ค้ำประกันเงินกู้ระหว่างธนาคารเช่นกัน ขณะที่ในกรุงโรม รัฐบาลอิตาลีกำหนดประชุมกันวานนี้ เพื่อพิจารณามาตรการใหม่ๆ ในการสร้างเสถียรภาพของภาคการเงิน
ความเคลื่อนไหวของชาติยุโรปเหล่านี้ บังเกิดขึ้นภายหลังการจัดประชุมฉุกเฉินระดับผู้นำของ 15 ประเทศผู้ใช้เงินตราสกุลยูโรเมื่อวันอาทิตย์ที่กรุงปารีส และมีการตกลงกันเกี่ยวกับขอบเขตของมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขวิกฤต
นอกจากความเคลื่อนไหวของรัฐบาลแล้ว ทางด้านธนาคารกลางของชาติทางยุโรป ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี), ธนาคารชาติของอังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เมื่อวานนี้ ระบุว่า จะปล่อยกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯแบบไม่จำกัดจำนวน แก่ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อที่จะแก้ปัญหาตลาดเงินระยะสั้นที่ยังคงตึงตัวอย่างหนัก
ในส่วนของประเทศอื่นๆ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น โชอิชิ นากางาวะ แถลงว่า ประเทศของเขาพร้อมที่จะพิจารณารับประกันเงินฝากในธนาคารทั้งหมด ถ้าหากมีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวจีจิ
ขณะที่ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า จะรับประกันเงินฝากทั้งหมดของธนาคารในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียแจ้งว่า จะเพิ่มเพดานรับประกันเงินฝากขึ้นไปเป็นไม่เกิน 2,000 ล้านรูเปียห์ (203,000 ดอลลาร์) ขณะที่อินเดียก็ให้สัญญาที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือตลาดการเงิน
ที่สหรัฐฯ นีเอล คัชคารี ผู้รับผิดชอบของกระทรวงการคลังอเมริกัน ในแผนการ 700,000 ล้านดอลลาร์ช่วยชีวิตสถาบันการเงิน ได้แถลงว่า สหรัฐฯพร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้นของสถาบันการเงินต่างๆ โดยเขาบอกว่าทางกระทรวงกำลังจัดทำโครงการที่เป็นมาตรฐานขึ้นมา เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้
จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนดูจะบังเกิดความเชื่อมั่น และตลาดหลักทรัพย์ก็ทะยานขึ้นเป็นแถว ที่แถบเอเชียตอนปิดตลาดวานนี้ ฮ่องกงปิดเพิ่มขึ้น 10.2% หลังจากสัปดาห์ที่แล้วดำดิ่ง 16% ส่วนสิงคโปร์ก็บวกขึ้นไป 6.57% สำหรับโตเกียวปิดตลาดเนื่องจากเป็นวันหยุด
ทางฟากยุโรป เมื่อการซื้อขายดำเนินไปได้ราวครึ่งวันเมื่อวานนี้ ตลาดลอนดอน บวก 4.84%, แฟรงเฟิร์ต 6.15%, และปารีส 6.36%
|