|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
* ใครว่าวิกฤติสหรัฐฯ กระทบประเทศไทยน้อย
* คนถือกองทุนรวม FIF เจอเต็ม ๆ
* จากต้นปีบางกองหายไปแล้ว 60%
* RMF-LTF โดนกันถ้วนหน้า
* หุ้นยิ่งดิ่ง-คนถือหน่วยยิ่งเจ็บ
* พาผู้ลงทุนเดินซ้ำรอยต้มยำกุ้ง......
จากวิกฤติการเงินสหรัฐและปัญหาซับไพร์มทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐประสบปัญหา จนรัฐบาลสหรัฐต้องจำใจผ่านแผนความช่วยเหลือด้วยวงเงิน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่วิกฤติดังกล่าวไม่ได้หยุดอยู่ในสหรัฐ สถาบันการเงินบางแห่งของยุโรปก็ประสบปัญหาจนรัฐบาลของประเทศนั้นต้องเข้าไปโอบอุ้ม
ด้วยเหตุที่โลกการเงินเชื่อมถึงกันทั้งโลก ประเทศในแถบเอเชียก็ได้เตรียมความพร้อมหากสถาบันการเงินในประเทศของเขามีปัญหา การชักเงินกลับของบริษัทลูกเพื่อนำเงินกลับไปช่วยบริษัทแม่ หรือการไถ่ถอนเงินลงทุนของประชาชนในประเทศที่สถาบันการเงินมีปัญหา ส่งผลให้มีการขายหุ้นและตราสารต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกดำดิ่งทุกวัน ชนิดที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เองก็คาดเดาได้ยากว่าจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นในประเทศของตนอยู่ตรงไหน หลายฝ่ายเริ่มกังวลในเรื่องของสภาพคล่องทั่วโลกจะเหือดหายไป แม้กระทั่งในประเทศไทยเองก็ได้ให้ความเข้มงวดในเรื่องการออกหุ้นกู้สกุลบาทจากนักลงทุนต่างประเทศ
แม้เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยตรง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นบ้างแล้วว่า บ้านเราก็หลีกหนีไม่พ้นเช่นกัน ผู้ออมเงินหลายคนเกรงว่าเงินที่ลงทุนไปนั้นจะมีความเสี่ยงโดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย ที่ทั้งกรมการประกันภัยและผู้บริหารของบริษัทต้องออกมาแถลงถึงความมั่นคงของบริษัท
สำหรับประเทศไทยไม่เพียงได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์เงินของโลกเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่มีการปะทะกันรุนแรงเมื่อ 7 ตุลาคม 2551 หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเปิดทางผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาจนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผนวกกับการเทขายของนักลงทุนต่างประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย ตลาดหุ้นไทยจึงปรับลดลงตาม จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่หล่นมาโดยที่ยังหาจุดต่ำสุดไม่เจอ
กองทุนรวมรับเคราะห์
แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งจะออกมาปลอบใจว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้นเป็นผลกระทบทางอ้อม ในบางเรื่องกว่าจะเห็นผลอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน เช่นภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบทันทีนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐ และที่หนักหน่วงคือการที่เลห์แมน บราเธอร์ส เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย รวมไปถึงสถาบันการเงินในยุโรปเริ่มประสบปัญหาและมีโอกาสที่จะลามมาถึงประเทศในแถบเอเซีย นั่นคือตลาดหุ้นที่ปรับลดลงมาเกือบ 400 จุดภายนับตั้งแต่ 4 เดือนเศษและไหลลงมาต่ำกว่าระดับ 490 จุด จนผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเตรียมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมาเพื่อประคับประคองสถานการณ์
แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือผู้ที่ลงทุนในตลาดหุ้น หลายคนเจ็บหนัก บางรายถูกบังคับขายหุ้นเนื่องจากซื้อขายด้วยระบบมาร์จิ้น แต่นั่นคือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความพร้อม มีความรู้และยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดหุ้นได้
แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ด้านการลงทุนไม่มากนัก แต่ต้องการลงทุนตามการส่งเสริมของภาครัฐโดยการลงทุนผ่านกองทุนรวม การเจ็บตัวหรือขาดทุนจากเงินลงทุนของคนกลุ่มนี้แตกต่างจากคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นโดยตรง เพราะเงินของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นเงินออม ขณะที่กลุ่มแรกจะมีการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนไว้เฉพาะ
กองทุนรวม FIF เจ็บหนัก
ด้วยความหลากหลายของสินค้ากองทุนรวม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) วิกฤติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจึงส่งผลให้กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(Foreign Investment Fund : FIF) ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ
แม้กระทั่ง วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) ยังออกมายอมรับว่ากองทุนรวม FIF ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐมากที่สุด
กองทุนรวม FIF ของไทยเกิดขึ้นในปี 2544 ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและออกกองทุนครั้งแรกในปี 2545 และได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2550 ต่อเนื่องถึงปี 2551
แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า ในช่วงปี 2550 กองทุนรวม FIF ได้แรงหนุนจาก ก.ล.ต. เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของไทยในช่วงดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งในฝากตลาดเงินอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นมีโอกาสปรับขึ้นได้น้อย ขณะที่ฝากตลาดหุ้นอยู่ในภาวะซึม ๆ รวมไปถึงมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาเก็งกำไรในประเทศไทยจำนวนมาก
ขณะที่ในบางประเทศมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับประเทศไทยหลายเปอร์เซ็นต์ ตลาดหุ้นในบางประเทศอยู่ในระดับที่น่าลงทุน ดังนั้นเหตุผลในการกระตุ้นกองทุน FIF จาก ก.ล.ต.จึงระบุว่าเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงในการลงทุนยามภาวการณ์ลงทุนในประเทศไม่ดี และเปิดทางให้ไปลงทุนในต่างประเทศได้ผ่านทางกองทุนรวม
FIF ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ที่ดังมากคือพันธบัตรเกาหลีใต้ผลตอบแทนสูงกว่าฝากเงินในประเทศราว 2-3% บลจ.ใดออกมาขายหมดอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงมีกองอื่นที่ลงทุนในพันธบัตรออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตามมา
เมื่อ FIF ได้รับการตอบรับดี จึงมีกองอื่น ๆ ที่ขยายการลงทุนไปยังตราสารทุนหรือหุ้นของประเทศต่าง ๆ และพัฒนาไปถึงลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ในช่วงหลังเมื่อธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาระดมเงินฝากมากขึ้น พันธบัตรรัฐบาลเสนอผลตอบแทนสูงขึ้นใกล้เคียงกับพันธบัตรต่างประเทศ ความนิยมในกองทุนรวม FIF จึงเริ่มลดลง
“ผู้ลงทุนหลายรายไม่รู้ว่ากองทุน FIF ที่ถืออยู่นั้นลงทุนพันธบัตรหรือในหุ้น ขอให้เห็นตัวเลขที่ บลจ.คำนวณผลตอบแทนในระดับสูง ๆ เป็นอันซื้อ ไม่ศึกษาให้ดีว่ากองทุนนี้มีความเสี่ยงมากกว่ากองที่ลงทุนในประเทศ ไม่รู้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อผลตอบแทนที่จะได้รับ”
อัตราแลกเปลี่ยนตัวชี้ขาด
เมื่อกองทุน FIF ไปลงทุนต่างประเทศ วิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นส่งผลให้มีการขายเงินลงทุนตามประเทศต่าง ๆ ออกมา ย่อมกระทบต่อมูลค่าของหน่วยลงทุนปรับลดลง (ดูตารางผลตอบแทนกองทุนรวม FIF)
กองที่มีปัญหาน้อยที่สุดคงเป็นกองที่ลงทุนในพันธบัตร หากถือจนครบอายุก็จะได้ผลตอบแทนตามที่บลจ.ประเมินผลตอบแทนไว้
อย่างไรก็ตามบลจ.ส่วนใหญ่มักจะซื้อสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ ตรงนี้ต้องไปดูว่าการทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงนั้น ทำบางส่วนหรือเต็มจำนวน หากทำเต็มจำนวนคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าทำเพียงบางส่วนก็อาจเสี่ยงต่อความผันผวนของค่าเงิน
เขายกตัวอย่างว่า อย่างกองที่ไปลงทุนในพันธบัตรออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์ กรณีนี้ตัวพันธบัตรออกเป็นเงินสกุลท้องถิ่น กองทุนของไทยจะต้องเปลี่ยนจากเงินบาทเป็นดอลลาร์สหรัฐจากนั้นจึงเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐเป็นดอลลาร์ออสเตรเลีย ตรงนี้ต้องไปดูรายละเอียดว่าคุ้มครองความเสี่ยงไว้กี่สกุลเงิน และทำทั้งตอนซื้อและตอนครบอายุหรือไม่ ทำไว้ที่อัตราใด
เพราะบลจ.บางแห่งอาจไม่ทำสัญญาเต็มวงเงิน เพราะประเมินว่ามีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วย
ส่วนกอง FIF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ตามต่างประเทศ กองเหล่านี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงขายของนักลงทุนทั่วโลก บางกองมูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิ(NAV)หายไป 60% ในบางช่วงก็มี แน่นอนว่าผู้ที่ซื้อกองทุนนั้นไปย่อมต้องขาดทุน
ทางออก:ไม่มีทางออก
ผู้บริหาร บลจ.รายหนึ่งยอมรับว่า ทางออกสำหรับผู้ที่ซื้อกองทุน FIF ในยามนี้คงไม่ง่ายนัก เนื่องจาก FIF บางกองเป็นกองปิดต้องรอให้ครบกำหนดก่อน แม้บางกองจะเป็นกองทุนเปิดแต่ไม่เปิดให้ผู้ถือหน่วยขายคืนได้ทุกวันเหมือนกองทุนปกติ โดยจะรับซื้อคืนตามที่ บลจ.กำหนดไว้ ดังนั้นดีที่สุดคืออย่าเพิ่งมองว่า NAV เหลือเท่าไหร่ ก้มหน้าก้มตาทำงานอื่นต่อไป รอให้มีการฟื้นตัวขึ้นมาก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ
เขายอมรับว่าในยามที่ภาวะเศรษฐกิจดีเราจะไม่เห็นจุดอ่อนของกองทุน FIF แต่เมื่อวิกฤติการเงินในสหรัฐปะทุขึ้น ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่ากองทุนประเภทนี้มีจุดอ่อนที่ไม่แตกต่างกับกองทุนปิดที่เคยเจอปัญหานี้มาในปี 2540 นั่นคือไม่มีประตูหนีไฟ เนื่องจากกองทุนนี้มีเงื่อนไขว่าต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมีกำหนดว่าขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามข้อกำหนด ผู้ลงทุนจึงไม่สามารถลดความเสี่ยงในยามที่เกิดวิกฤติได้ทันที
“เรื่องนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต.ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลและออกกฎเกณฑ์สำหรับกองทุนรวมเป็นผู้พิจารณาหาทางแก้ไข เราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางที่ ก.ล.ต.กำหนด”
พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมว่ากองทุน FIF นั้น ที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องของกระแสหลังจากที่กองทุนที่ออกไปก่อนหน้าสร้างผลตอบแทนได้ดี บลจ.ทุกแห่งจึงต้องเร่งออกกองทุน FIF เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง
การที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ FIF ลดลงนั้นประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย เรื่องแรกคือผลตอบแทนในประเทศนั้น ๆ ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ สภาพเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น ปรับตัวลดลงตามแรงขายของนักลงทุนทั่วโลกหรือไม่ หากเป็นกองที่ลงทุนในตราสารหนี้คงไม่มีปัญหาเนื่องจากจะถือตราสารหนี้จนครบอายุ
แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหานั่นคือตัวอัตราแลกเปลี่ยน หลายคนมองว่าช่วงต้นปีค่าเงินบาทที่ประมาณ 30 บาทวันนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาท ก็น่าจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นมากกว่า 13% นั้น นั่นเป็นการหลักคิดในเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากก่อนที่จะมีการออกกองทุน บลจ.จะคาดการณ์เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้วจึงทำการซื้อสัญญาคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นผลตอบแทนจึงอยู่ภายในกรอบที่ได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยได้ทราบในช่วงที่เสนอขายกองทุน
แม้ว่ากองทุน FIF ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็มีบางกองทุนที่ผลตอบแทนติดลบ ตรงนี้ต้องไปดูเงื่อนไขการทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงของ บลจ.นั้น ๆ ว่าทำไว้เต็มจำนวนหรือไม่และทำไว้กี่ด้าน เพราะบางแห่งไม่คุ้มครองความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด เนื่องจากคาดการณ์ว่ามีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเพิ่มให้กับผู้ถือหน่วย
ต้นเหตุ 3 ฝ่าย
อดีตผู้บริหารบลจ.รายหนึ่งกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นประกอบด้วย 3 ฝ่าย ที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้คือ ก.ล.ต.ในฐานะผู้ออกกฎเกณฑ์โดยไม่ได้เปิดทางออกในช่วงที่เกิดวิกฤติให้กับผู้ถือหน่วย ซึ่งเรื่องนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาในอดีตแล้ว
แม้ว่าจะเป็นเจตนาดีที่เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน แต่ทางการก็ต้องคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาด้วย ธุรกิจกองทุนรวมเคยซบเซามาหลังจากวิกฤติค่าเงินบาท และหลังจากนี้ธุรกิจกองทุนรวมก็จะกลับเข้าสู่ภาวะนั้นอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ถือหน่วยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ตัวบลจ.เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
“ธุรกิจนี้อยู่ได้เพราะผู้ถือหน่วย หากเขาต้องเจ็บตัวจากการลงทุน เราก็อยู่ลำบาก ตรงนี้ ก.ล.ต. ควรไปหาทางแก้ไข ไม่ใช่นึกจะตั้งกองทุนใดออกมาก็ได้ การเอาแบบมาจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิด แต่ท่านต้องเอามาให้หมด ปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะการลงทุนของคนไทย”
ในอีกด้านหนึ่งยอมรับว่า บลจ.ที่เสนอขายกองทุนก็ต้องควรรับผิดชอบเช่นกัน ส่วนแบ่งการตลาด รายได้ค่าธรรมเนียมเป็นแรงกดดันให้ต้องแข่งขันกันออกกองทุนรวม เมื่อตลาดที่มีความเสี่ยงน้อยเริ่มเต็ม ก็ไปหาสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาเสนอขาย โดยใช้ผลตอบแทนในระดับสูงเป็นตัวล่อใจผู้ลงทุน โดยที่กล่าวถึงความเสี่ยงให้น้อยที่สุด
หลายกองทุนที่พยายามเพิ่มตลาดใหม่เช่นลงทุนในราคาน้ำมัน หากกองประเภทนี้ออกมาในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้านี้ก็พอทน แต่บางแห่งเตรียมออกกองในช่วงที่ราคาน้ำมันเริ่มอยู่ในช่วงอิ่มตัวและพร้อมจะปรับลดลงได้ตลอดเวลา ซึ่งบางค่ายก็ยกเลิกกองประเภทนี้ไป หรือบางแห่งใช้กระแสช่วงที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นมาขาย
ต้องยอมรับว่าหลักเกณฑ์ในการลงทุนในกองทุนรวม ตัว บลจ.ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ธุรกิจนี้อยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นของผู้ถือหน่วยและมูลค่าของกองทุนรวมที่บริหารอยู่ มีกองทุนมาก ขนาดกองทุนใหญ่ ที่จะสร้างรายได้ให้กับ บลจ.
นอกจากนี้ต้องกล่าวถึงตัวผู้ลงทุนด้วยว่า หลายคนซื้อหน่วยลงทุนตามกระแส เห็นคนอื่นได้ผลตอบแทนสูงก็แห่เข้าไปซื้อตาม โดยที่ไม่ได้ศึกษาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดีก่อนตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องปกติว่าหากได้รับผลตอบแทนสูงก็พอใจ แต่ถ้ามูลค่าลงทุนลดลงมาก ๆ ก็จะออกมาร้องเรียน
ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะทบทวนหน้าที่ของตัวเอง เพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้เดินหน้าต่อไปได้ และเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนสำหรับผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุนน้อยและไม่มีเวลาในการติดตามข่าวสาร
RMF-LTF โดนด้วย
วิกฤติการเงินของโลกไม่เพียงทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม FIF หลาย ๆ กองปรับลดลง แต่ยังกระทบไปยังกองทุนรวมประเภทอื่น ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน หลังจากที่ตลาดหุ้นไทยลดลงมาราว 400 จุด มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยปรับลดลงมากกว่า 20% เป็นส่วนใหญ่
กองทุนที่เน้นลงทุนในตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด รองลงมาเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(Long Term Equity Fund : LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(Retirement Mutual Fund:RMF) และกองทุนรวมแบบผสม/ยืดหยุ่น ด้วยเงื่อนไขที่กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65% เมื่อมีแรงเทขายหุ้นออกมาย่อมทำให้ผู้บริหารกองทุนมีช่องทางในการลดความเสี่ยงให้กับผู้ถือหน่วยได้ยาก
แรงขายที่มาจากนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่จะขายหุ้นขนาดใหญ่ทิ้ง และพอร์ตของกองทุนรวมส่วนใหญ่ก็ถือหุ้นใหญ่ตามต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์
ผู้ที่ถือกองทุนรวมทั่วไปส่วนใหญ่เป็นกองทุนเปิด เมื่อเป็นสถานการณ์ไม่ดีมีสิทธิที่จะขายหน่วยลงทุนออกไปได้ ส่วนผู้ที่ลงทุนใน LTF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นโดยตรงก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ที่สำคัญคือใครที่ยังไม่ครบกำหนดถือหน่วยมา 5 ปีปฏิทินก็ขายออกไม่ได้ แม้แต่คนที่ครบกำหนดแล้วสถานการณ์อย่างนี้ก็ตัดใจขายออกยากเช่นกัน
ไม่ต่างจากกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นหรือลงทุนแบบผสม ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับ LTF ที่ต้องซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปีและขายออกได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบรูณ์ คนที่ยังไม่ครบกำหนดก็คงต้องภาวนาให้เหตุการณ์นับจากนี้ไปคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่คนที่ครบกำหนดแล้วจังหวะนี้ก็ขายยากเช่นกัน
แม้ RMF-LTF จะมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่ต้องถือให้ได้ตามกำหนด มูลค่าหน่วยลงทุนที่หายไปราว 20% ก็ยังถือว่ามีตัวช่วยแบ่งเบาผลขาดทุนนั่นคือเงินที่ขอคืนจากภาษี ตรงนี้ก็ช่วยลดการขาดทุนไปได้อย่างต่อ 10% ขึ้นไป
นี่คือปัญหาเดิม ๆ ที่ผู้ถือกองทุนรวมที่ต้องกลับมาเผชิญอีกครั้ง ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ก.ล.ต.และบลจ.ย่อมทราบดีว่านับจากนี้ไปความนิยมในกองทุนรวมจะลดลงอีกครั้งเหมือนเหตุการณ์เมื่อปี 2540
ยิ่งทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีแนวคิดที่จะขยายเพดานการซื้อหน่วยลงทุน RMF-LTF เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ซื้อได้ไม่เกิน 15% หรือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี ยิ่งกลายเป็นแรงผลักให้ผู้คนเดินเข้ามาสู่วังวนของความเสี่ยงมากขึ้น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และก.ล.ต.ยังไม่พยายามหาทางปกป้องผู้ลงทุน
ต้มยำกุ้งสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซื้อกองทุนสูญกว่า 60%
กองทุนรวมเริ่มออกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปมาตั้งแต่ปี 2535 ครั้งนั้นมีกองทุนประเภทเดียวคือกองทุนที่ลงทุนในตลาดทุนและเป็นกองทุนปิดที่ต้องรอจนครบอายุจึงจะได้รับเงินคืนพร้อมผลตอบแทน โดยจะมีการจ่ายเงินปันผลให้ระหว่างปี 1-2 ครั้งแล้วแต่นโยบายของแต่ละกองทุน
ช่วงเวลานั้นตลาดหุ้นยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ตามยุคสมัยของการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาลงทุนมาก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระดมทุนจากต่างชาติได้ง่าย ธนาคารพาณิชย์ดึงเงินจากต่างชาติมาปล่อยกู้ได้สะดวก ตลาดหุ้นจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ใครที่ซื้อกองทุนรวมไว้ในช่วงปี 2535 และอีก 1-2 ปีต่อมา ล้วนแล้วแต่พึงพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ
ผู้ลงทุนรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ครั้งนั้นเขาซื้อกองทุนรวมแห่งหนึ่งเพียง 1 หมื่นบาท หน่วยละ 10 บาทหรือ 1,000 หน่วย อายุ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2535 เพียงปีแรกเขาได้รับเงินปันผลหน่วยละ 4 บาท เท่ากับได้ผลตอบแทนสูงถึง 40% ปีต่อมาตลาดหุ้นยังอยู่ในเกณฑ์ดีได้ปันผลอีก 3 บาทต่อหน่วย เปิดเสร็จ 2 ปีได้เงินคืนมา 7,000 บาท จากเงินลงทุน 10,000 บาท
เมื่อปีแรกได้ผลตอบแทนถึง 40% จึงได้ซื้อกองทุนรวมเพิ่มอีกหลายกองทุน กระจายไปยังบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)อื่น เงินปันผลได้มากบ้างน้อยบ้างตามความสามารถของแต่ละบลจ. หลังจากนั้นผลตอบแทนก็เริ่มลดลงหลังจากประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จนลามไปถึงการโจมตีค่าเงินบาท
การลอยตัวค่าเงินบาท 2 กรกฎาคม 2540 ทำให้เงินทุนจากต่างชาติไหลออกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินจากตลาดหุ้น เมื่อต่างชาติขายหุ้นออกทุกราคา ทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์และราคาหุ้นจึงดิ่งลง แต่กองทุนรวมไม่สามารถปล่อยหุ้นออกไปได้เนื่องจากติดหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ที่กองทุนต้องลงทุนในหุ้นไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65%
"หน่วยลงทุนที่เสนอขายครั้งแรกที่ 10 บาท จากที่เคยขึ้นไป 12-15 บาท รูดลงมาเรื่อย ๆ บางกองเหลือเพียง 2 บาทเท่านั้น ข้าราชการหลายคนเจ็บตัว เนื่องจากถูกตัวแทนขายกองทุนหลอกว่าเหมือนกับการฝากเงิน หลายคนยังเข็ดกับธุรกิจกองทุนรวม" แหล่งข่าวกล่าว
จากนั้นธุรกิจกองทุนรวมซบเซาไปพักใหญ่ หลายคนขยาดกับกองทุนรวม ก.ล.ต.ในฐานะผู้ควบคุมดูแลธุรกิจกองทุนรวม จึงเริ่มผ่อนปรนเงื่อนไขในธุรกิจนี้มากขึ้น เริ่มมีกองทุนเปิดเสนอขายให้กับผู้สนใจได้เลือก เพื่อเปิดให้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ทุกวัน รวมถึงมีสินค้ากองทุนรวมที่หลากหลายมากขึ้น
ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกองทุนรวมอีกครั้ง นับตั้งแต่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยอนุญาตให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(Retirement Mutual Fund : RMF) ในปี 2544 ที่กรมสรรพากรอนุญาตให้นำเงินที่ใช้ลงทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 3 แสนบาท จากนั้นจึงมีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(Long Term Equity Fund : LTF) หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 3 แสนบาทเช่นกัน ปัจจุบันทั้ง 2 กองทุนหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึงกองละไม่เกิน 5 แสนบาท
กองทุนรวม RMF ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการออมให้กับประชาชนระยะยาว มุ่งเน้นไปที่การเตรียมตัวไว้สำหรับช่วงที่พ้นวัยทำงาน ขณะที่กองทุนรวม LTF เน้นไปที่การเพิ่มนักลงทุนประเภทสถาบันให้มากขึ้น ลดความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์
กองทุนที่เริ่มร้อนแรงและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คือกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(Foreign Investment Fund : FIF) เนื่องจากสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงเหนือกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในประเทศ รวมถึงปัจจัยเอื้อในเรื่องค่าเงินบาทแข็งและทุนสำรองทางการอยู่ในระดับสูง
"กระแสตอบรับในกองทุนรวม FIF ไม่ต่างจากกองทุนรวมหุ้นในปี 2535-2537 เนื่องจากทั้งตลาดเงินและตลาดหุ้นไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ หลายคนซื้อโดยไม่ศึกษาถึงรายละเอียดและความเสี่ยง เพียงแต่มุ่งไปที่ผลตอบแทนที่สูงกว่าในประเทศเป็นหลักในการตัดสินใจเท่านั้น"
โดยเฉพาะกองทุนรวมพันธบัตรเกาหลีใต้ถือเป็นสินค้ายอดฮิตของ FIF ขายเพียงไม่กี่นาทีก็หมดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อ FIF ติดลมบนแล้ว บลจ.ต่าง ๆ ก็ผุดกองทุนประเภทนี้ออกมาอย่างพร้อมเพียงกัน บางแห่งได้เปลี่ยนตลาดไปยังประเทศอื่นเช่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ลงทุนในหุ้นต่างชาติ รวมถึงการออกกองทุนเพื่อนำเงินไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)
ถึงวันนี้เกิดวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง แม้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยแต่ผลกระทบจากความหวาดวิตกทั่วโลก ทำให้ทุนจากสหรัฐและยุโรปขายทิ้งทั้งตราสารหนี้และหุ้นในทุกประเทศที่ลงทุนเพื่อดึงเงินกลับประเทศของตน
"เราได้เห็นมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน FIF บางกองลดฮวบลงไปถึง 60% นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน แม้เหตุการณ์จะยังไม่รุนแรงสาหัสเท่าวิกฤติในปี 2540 แต่นี่คือการย้อนอดีตกลับไปยังเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ใครที่เห็นเงินของตัวเองหายไป 60% ก็คงไม่สบายใจนัก"
ส่วนใครจะบาดเจ็บตัวมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับความสามารถในการบริหารจัดการของ บลจ.ที่บริหารเงินของเรา นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่น ๆ เช่นระยะเวลาที่รับซื้อหน่วยลงทุนคืน แม้บางแห่งจะกองทุนเปิด แต่ก็ไม่ได้รับซื้อคืนทุกวัน
กองทุนรวม FIF สินค้าอินเตอร์
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสินค้าของกองทุนรวมที่โดดเด่นที่สุด หนีไม่พ้นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือกองทุนที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ ที่ขายหมดภายในระยะเวลาไม่กี่นาทีนับแต่เปิดจอง ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแทบทุกแห่งต้องผุดกองทุนประเภทนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และขยายช่องทางการลงทุนไปยังตราสารประเภทอื่นและในประเทศอื่น ๆ
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(Foreign Investment Fund : FIF) คือ กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้มีการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้ในวงเงินจำกัดในแต่ละปี
กองทุนรวม FIF จึงนับเป็นช่องทางเพียงช่องเดียวที่ผู้ลงทุนไทยจะสามารถกระจายเงินลงทุนของตนให้กว้างขวางขึ้น และเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน บริษัทจัดการที่สามารถจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เห็นชอบ บริษัทจัดการอาจให้ผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนรวมได้ เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวในการจัดการลงทุน
นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ อาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งในมาตรฐานของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งมีความเสี่ยงและผลตอบแทนในระดับที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน การยอมรับความเสี่ยง และการคาดหวังผลตอบแทน กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนด กล่าวคือ
1.ต้องนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน เว้นแต่เป็นกรณีเงินฝากในประเทศ เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงานของกองทุน รอการลงทุน รักษาสภาพคล่องของกองทุน เป็นต้น
2.ต้องลงทุนในประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV)
3.ผู้ออกหลักทรัพย์หรือตราสารการเงินอื่นใดและผู้รับฝากเงิน ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายของประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือของประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ FIBV
4.การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้น หุ้นนั้นต้องมีการซื้อขายใน Organized markets ของประเทศนั้น ๆ (ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ IOSCO หรือในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ FIBV
บริษัทจัดการต้องยื่นคำขอต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอให้พิจารณารับหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทุน หากตลาดหลักทรัพย์สั่งไม่รับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจัดการต้องดำเนินการเพื่อยกเลิกกองทุน
กองทุน FIF เริ่มมีการจัดตั้งขึ้นในปี 2545 หลังจากมีประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กน.31/2544 ยุคที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย1 โดยออกประกาศเมื่อ 2 ตุลาคม 2544
ในระยะแรกเปิดให้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปที่สนใจเข้ามาลงทุนได้ ด้วยเหตุผลที่สวยหรูจากหน่วยงานของ ก.ล.ต. ว่าเพื่อเพิ่มทางเลือกในการหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศและกระจายความเสี่ยงจากความผันผวนอันเกิดจากเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศ
ข้อกำหนดของกองทุนรวม FIF เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยมีนโยบายการลงทุนที่เสนอขายมีหลากหลายประเภท เช่น ลงทุนในตราสารหนี้ ลงทุนในหุ้น ลงทุนในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน ทองคำ น้ำประปา สินค้าหรูหรา รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ
สำหรับรูปแบบการลงทุนของกองทุนรวม FIF มีทั้งการลงทุนโดยตรงกับหลักทรัพย์ที่หมายตาไว้ในประเทศที่ต้องการลงทุน หรืออาจลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีอยู่แล้ว
จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ในช่วงที่แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ และยากต่อการปรับขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศที่สูงกว่าประเทศไทยหลายเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำให้กองทุน FIF ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
เห็นได้จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม FIF ที่เพิ่มจาก 2.8 หมื่นล้านบาทในปี 2549 มีกองทุน 33 กองทุน สิ้นปี 2550 มีกองทุน FIF จำนวน 113 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 2.09 แสนล้านบาท จนถึง 26 กันยายน 2551 มีกองทุน 324 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 3.56 แสนล้านบาท
นั่นคือความเฟื่องฟูและความนิยมที่มีต่อกองทุนรวม FIF จนทำให้กองทุนประเภทนี้ครองส่วนแบ่ง 22.61% ของกองทุนรวมทั้งหมดที่มี
ถึงวันนี้ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวม FIF คงหวั่นใจกับสถานการณ์ของวิกฤติการเงินในสหรัฐว่าจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนของพวกเขาใน FIF หดหายไปเพียงใด
|
|
|
|
|