เยื่อกระดาษสยาม (SPP) ในเครือปูนใหญ่ (SCC) สยายปีกลงทุนข้ามชาติอีกครั้ง อัด
220 ล้านบาทซื้อหุ้น UPPC บริษัทผู้ผลิตกระดาษคราฟท์รายใหญ่ในฟิลิปปินส์ ที่เจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียตั้งแต่ปี
2540 อีก 43% ส่งผลเครือปูนใหญ่เทกฯเบ็ดเสร็จ 86% เพิ่มสินทรัพย์กลุ่มปูนใหญ่เป็นกว่า
4 พันล้านบาท ก่อนทำเทนเดอร์ฯ ซื้อหุ้นจาก รายย่อยทั้งหมด โบรกเกอร์ชี้การเทกฯ
โรงงานกระดาษครั้งนี้ ไม่กระทบเครือปูนใหญ่ แม้จะรับภาระหนี้กว่า 3.6 พันล้านก็ตาม
แต่ได้ส่วนแบ่งตลาดกระดาษคราฟท์มากที่สุดในแดน ตากาล็อกทันที 35% ตั้งเป้าเป็นผู้นำเอเชียอีก
10 ปีข้างหน้า
บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) (SPP) ในเครือ ซิเมนต์ไทย ประกาศแสวงหา
โอกาสการเติบโตในต่างประเทศ ปีนี้ หลังประสบความสำเร็จลงทุน ซื้อหุ้นในบริษัทอื่นๆ
ที่ดำเนินธุรกิจ เดียวกันในไทย อาทิ บมจ.ฟินิคซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ (PPPC) บมจ.ไทยเคนเปเปอร์
(TPC) จนครองส่วนแบ่งตลาดกระดาษคราฟท์ เกิน 50% พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษ
ติดอันดับต้นในภูมิภาคเอเชียภายใน 10 ปีข้างหน้า
นายกานต์ ตระกูลฮุน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
(SCC) กล่าววานนี้ (28 ก.ค.) ว่าขณะนี้ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม ซึ่งเป็นบริษัทย่อย
SCC ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Phinma Group ฟิลิปปินส์ เพื่อซื้อหุ้นบริษัท United
Pulp and Paper Co., Inc. (UPPC) เพิ่มอีก 56 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 280 ล้านเปโซ
(ประมาณ 220 ล้านบาท)
เทกบริษัทกระดาษตากาล็อกเบ็ดเสร็จ 86%
ส่งผลบริษัทเยื่อกระดาษสยามสัดส่วนถือหุ้น UPPC เพิ่มจาก 43% เป็น 86% การซื้อหุ้นดังกล่าว
บริษัท เยื่อกระดาษสยามจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ UPPC จากผู้ถือหุ้นทั่วไป
(Tender Offer) เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ตามกฎหมายฟิลิปปินส์
เนื่องจาก UPPC เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งตั้งตามกฎหมายฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์
ประกอบธุรกิจกระดาษคราฟท์ในฟิลิปปินส์
เจอพิษ ศก.เอเชียดิ่งปี 40
นายกานต์กล่าวต่อไปว่า การซื้อหุ้น UPPC ดังกล่าว ทำให้บริษัท เยื่อกระดาษสยามสามารถขยายธุรกิจหลักในภูมิภาค
แม้ UPPC กระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย-เอเชียปี 2540 แต่เนื่องจากบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานดี
และมีศักยภาพเพิ่มผลประกอบการ
การที่บริษัท เยื่อกระดาษสยาม เพิ่มสัดส่วนถือหุ้น UPPC คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ
ได้แก่ การหาวัตถุดิบในภูมิภาค เพิ่มประสิทธิภาพ และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านตลาด
และความเชี่ยวชาญการบริหารการผลิต มีโครงการ อนาคตลดต้นทุน โดยการติดตั้ง coal-fired
boiler รวมทั้งยังคาดว่า จะสามารถลดต้นทุนการเงินโดยการ refinance หนี้ที่มีอยู่
หลังซื้อหุ้นดังกล่าว เครือซิเมนต์ไทยจะมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000
ล้านบาท หนี้สินรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 3,600 ล้านบาท
สิ้นปี SPP กำไรกว่า 4 พัน ลบ.
ผลดำเนินงานปีนี้ ผู้บริหารระดับสูงเยื่อกระดาษสยามคาดว่า บริษัทฯ จะมีรายได้และกำไร
สุทธิใกล้เคียงปี 2545 ที่มีรายได้ 2.93 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 4.08 พันล้านบาท
แม้ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมากระทบจากโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน รุนแรง (ซาร์ส)
ทำให้ราคากระดาษคราฟ์ตลาดโลกช่วงนั้นลดจาก 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เหลือเพียง 280
ดอลลาร์ ส่งผลกระทบรายได้ไตรมาส 2 แต่ขณะนี้ สถานการณ์โรคซาร์สคลี่คลาย ทำให้แนวโน้ม
ราคากระดาษคราฟท์ดีขึ้นอยู่ที่ 450 ดอลลาร์
กลุ่มกระดาษฯ เครือปูนใหญ่ คาดว่าปีนี้จะส่งออก 20% ของการผลิตกระดาษในเครือฯ
ทั้งหมด เป็นมูลค่า 6 พันล้านบาท ตลาดส่งออกหลัก คือจีน มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์
และสหรัฐอเมริกา
ไม่สร้างโรงงาน 3 ปีรวด-เทกแทน
ปัจจุบัน กำลังผลิตเยื่อและกระดาษในไทย ยังเกินความต้องการกว่าล้านตัน ทำให้เยื่อกระดาษสยามยืนยันไม่ลงทุนสร้างโรงงานใหม่ตลอด
3 ปีข้างหน้า แต่จะใช้กำลังผลิตในประเทศที่มีอยู่แทน โดยลงทุนบริษัทผลิตเยื่อและกระดาษ
ทั้งในและต่างประเทศ
"การตัดสินใจลงทุน จำเป็นต้องคำนึงถึงตลาดในภูมิภาคอาเซียน ไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียว
เพราะไทยอยู่ภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ซึ่งแผนการลงทุนนั้น บริษัทฯมีความพร้อมที่จะร่วมทุนในบริษัทอื่นๆ
หรือสร้างโรงงานใหม่ แต่เศรษฐกิจต้องโตขึ้น หรือมีผู้ที่อยากออกจากธุรกิจ นี้ เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจหลัก
การควบรวมกิจการความ จริงเป็นข้อดี" ผู้บริหารเยื่อกระดาษสยามเคยกล่าว
โบรกฯ ชี้เกื้อกูลธุรกิจใน ปท.
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคิน กล่าวว่าการตัดสินใจเทกฯ UPPC ฟิลิปปินส์
ทำให้ SPP ครองส่วนแบ่งตลาดกระดาษคราฟท์ในฟิลิปปินส์ทันที 35% ซึ่งเพิ่มมาร์เกตแชร์ในตลาด
เอเชีย คาดว่า SPP จะทยอยซื้อโรงงานกระดาษในฟิลิปปินส์ ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมอนาคต
โดยใช้กลยุทธ์เดียวกับไทยขยายการลงทุน
อย่างไรก็ตาม การเทก UPPC ครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบกลุ่มธุรกิจกระดาษในไทย อาจเพิ่มแรงประสาน
(Synergy) ระหว่างโรงงานกระดาษในไทย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากปัจจุบัน SPP ยังต้องส่งออก
เยื่อและกระดาษไปต่างประเทศ เพราะกำลังผลิตในประเทศเกินความต้องการใช้กว่าล้านตัน
ส่วนภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 3,600 ล้านบาท ถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับหนี้ทั้งหมดของเครือซิเมนต์ไทยที่มีถึง
1.5 แสนล้านบาท สิ้นไตรมาสแรก
UPPC ครึ่งปีทำรายได้ 1.2 พันล้านบาท
ครึ่งแรกปีนี้ UPPC ยอดขายประมาณ 1,600 ล้านเปโซ (1,200 ล้านบาท) กำไรก่อนดอกเบี้ยค่าเสื่อม
และภาษี (EBITDA) 280 ล้านเปโซ (ประมาณ 220 ล้านบาท) ขาดทุนจากการดำเนินงาน 40
ล้านเปโซ (30 ล้านบาท)
ส่วนความต้องการใช้กระดาษคราฟท์ในฟิลิปปินส์ปี 2545 ประมาณ 439,000 ตัน โดยนำเข้า
34% ปีนี้ คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 10%
สัดส่วนความต้องการใช้กระดาษอุตสาหกรรม ในฟิลิปปินส์ 6 ก.ก.ต่อคน ซึ่งต่ำกว่าไทย
ที่ 18 ก.ก. ทำให้มีช่องทางขยายตัวใช้กระดาษสูงขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับ UPPC
เป็นผู้นำตลาดเพื่อทดแทนนำเข้า
UPPC ก่อตั้งปี 2513 ปัจจุบัน กำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ 200,000 ตันต่อปี บริษัทมีฐาน
ลูกค้าในประเทศเข้มแข็ง ส่วนแบ่งตลาดในประเทศประมาณ 35% ณ 30 มิ.ย. บริษัทมีสินทรัพย์ประมาณ
5,200 ล้านเปโซ (ประมาณ 4,000 ล้านบาท)หนี้สินประมาณ 4,600 ล้านเปโซ (3,600 ล้านบาท)
ส่วนเยื่อกระดาษสยาม (SPP) เป็นกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์เครือซิเมนต์ไทย ดำเนินธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษ
กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ SPP เป็น ผู้ผลิตกระดาษอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของไทย
และเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในภูมิภาค หลังซื้อหุ้น UPPC กำลังผลิตกระดาษอุตสาหกรรมของ
SPP จะเพิ่มเป็นประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี
ความเคลื่อนไหวหุ้น SCC วานนี้ (28 ก.ค.) เปิดตลาดฯ 149 บาท ก่อนขึ้นสูงสุด 149
บาท หลัง จากนั้น มีแรงเทขายต่อเนื่อง จนปิดตลาดฯ 143.00 บาท ลดลง 4 บาท ลดลง 2.72%
มูลค่าซื้อขาย 211.52 ล้านบาท