|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจโรงแรมซบเซา 9 เดือนแรกยอดพักเฉลี่ยลดลง ทีเอชเอ ระบุโดยเฉพาะเดือนกันยายน อัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยทั้งเดือนวูบกว่า 16% เมื่อเทียบกับปีก่อน เหตุรัฐประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสถานการณ์ทางเมืองไม่สงบ หวั่นโรงแรมขนาดเล็กล้มตาย วอนรัฐคุมกำเนิดโรงแรมเกิดใหม่ ก่อนซัพพลายล้นตลาด ด้านสทน.จี้ปรับเกณฑ์เข้มออกใบอนุญาตมัคคุเทศก์ เหตุปริมาณมากแต่ขาดคุณภาพ
ในการประชุมสมาชิกสหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทยหรือเฟสต้า นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทยหรือ ทีเอชเอ กล่าวว่า อัตราเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรม 4-5 ดาว ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 16% เหลืออัตราเข้าพักเพียง 50.67% สาเหตุเพราะในเดือนดังกล่าวประเทศไทยเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 2-14 กันยายน และจากข้อมูลดังกล่าว ยังส่งผลให้ ตัวเลขอัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ย 9 เดือน(ม.ค.-ก.ย.) ลดลงด้วย โดยลงมาอยู่ที่ 66.38% ซึ่งช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 67.51%
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้สมาคมฯห่วงและกังวลในกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลี เพราะทั้ง 2 ตลาดนักท่องเที่ยวลดลงมาก เพราะเกิดความกังวลจึงยกเลิกการเดินทาง เป็นผลให้โรงแรมขนาดเล็กมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 30% บางแห่งถึงขนาดงดจ่ายเงินเดือนพนักงานเป็นการชั่วคราว และยังไม่ถึงขนาดปลดพนักงานออก
นอกจากนั้น สมาคมฯ ยังเป็นห่วงและรู้สึกกังวล กับจำนวนโรงแรมเปิดใหม่ ที่จะเริ่มทยอยเปิดให้บริการในช่วง 3-4 ปีนับจากนี้ไป คิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 20,000 ห้อง แบ่งเป็น ในกรุงเทพฯราว 8,000 ห้อง ที่เหลือจะกระจายอยู่ตามจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และสมุย เป็นต้น โดยเกรงว่าจะเกิดโอเวอร์ซัพพลายในกลุ่มธุรกิจโรงแรม เพราะในพ.ร.บ.ธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2551 ที่ประกาศใช้อยู่ในขณะนี้ เปิดกว้างให้ อพาร์ทเม้นต์ สามารถ ปรับปรุงกิจการ แล้วนำมาขอใบอนุญาต ให้บริการเป็นธุรกิจโรงแรมได้
"ปัจจุบันห้องพักโรงแรมที่เปิดให้บริการทั่วประเทศมีทั้งหมดราว 4 แสนห้อง และยังมีโรงแรมเปิดใหม่กับ อพาร์ทเม้นต์ที่จะจดทะเบียนเข้าสู่ระบบอีก จึงมองว่า จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรง ใครที่ทุนน้อย ก็อาจต้องล้มหายตายจาก หรือเกิดภาวะสงครามราคา"
ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องการลงทุนในธุรกิจโรงแรม ว่ามีอุปสงค์อุปทานมากน้อยแค่ไหนในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุน และยังช่วยไม่ให้การลงทุนเกิดการกระจุกตัวเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวหลักเท่านั้น
ทางด้านนายอภิชาต สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ แอตต้า กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลรณรงค์ให้ข้าราชการ หน่วยงานรัฐ จัดประชุมสัมมนาภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจท่องเที่ยว เพราะนอกจากได้ช่วยภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังทำให้ภาพการเดินทางท่องเที่ยวมีความคึกคักมากขึ้น แต่ทั้งนี้การเลือกเดสติเนชั่นเดินทางก็ต้องกระจายไปทั่วประเทศ ไม่กระจุกอยู่เพียงจังหวัดท่องเที่ยวหลักเท่านั้น และควรเฉลี่ยให้มีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งปี จะได้ไม่ต้องมากระจุกตัวเพียงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสิ้นปีงบประมาณ
ทางด้านนางสาวมัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) กล่าวว่า ต้องการให้ ททท.และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะ มองว่ายังไม่มีการประชาสัมพันธ์เท่าที่ควร ประกอบกับต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับปรุงเรื่องความสะอาดของรถไฟ โดยเฉพาะ ห้องสุขา และเบาะนั่ง และจะต้องพัฒนาบุคลากรไว้สำหรับต้อนรับผู้โดยสารในกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวด้วย นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ปรับเกณฑ์การขอใบอนุญาตมัคคุเทศก์ โดยผู้สนใจขอใบอนุญาต ควรผ่านการฝึกงานด้านมัคคุเทศก์มาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะปัจจุบันนี้มองว่าจำนวนมัคคุเทศก์มีจำนวนมากแต่กลับขาดมัคคุเทศก์ที่มีคุณภาพ
|
|
|
|
|