บอกลา Robber Baron
Maury Klein ศาสตราจารย์แห่ง University of Rhode Island และนักประวัติศาสตร์ธุรกิจที่มีชื่อเสียงไม่เห็นด้วยกับการเรียกนักธุรกิจอเมริกันกลุ่มหนึ่งว่า
"robber baron" โดยคำๆ นี้มีนัยกล่าวหาว่า พวกเขาเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยการไม่สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรมและซื่อสัตย์
แต่ Klein เห็นว่า นักธุรกิจเหล่านั้นเป็นผู้ขับดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรม
และสมควรได้รับความชื่นชมยกย่องมากกว่า เขาจึงทำการศึกษาชีวิตและความสำเร็จของนักธุรกิจทั้งหมด
26 คน ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ
ผู้ประกอบการที่ Klein พูดถึงได้แก่ ผู้ผลิตอย่าง Andrew Carnegie และ George
Eastman นักจัดองค์กรอย่าง Pierre du Pont และ Jay Gould นักการค้าอย่าง
Ray Kroc และ Samuel Walton นักเทคโนโลยีอย่าง Thomas Edison และ Bill Gates
และนักลงทุนอย่าง Warren Buffet
Ruthless Efficiency
Klein เล่าถึงความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้อย่างสั้นๆ พร้อมทั้งสรุปวิสัยทัศน์และจุดแข็งของพวกเขา
Klein อธิบายว่า Carnegie สามารถทำการผลิตแซงหน้าอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นกำลังครอบครองตลาดเหล็กและเหล็กกล้าอยู่ได้สำเร็จ
ด้วยการยึดมั่นในเรื่องประสิทธิภาพแบบ ruthless efficiency บวกกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ
เข้ามาใช้ทันทีที่มีการคิดค้นขึ้น ส่วน James Duke ทำเงินได้อย่างมหาศาลจากบริษัทข้ามชาติของเขาที่ชื่อ
British-American Tobacco (BAT) ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักรผลิตบุหรี่ทั้งที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์รับรอง
บวกกับการทำตลาดเชิงรุก เพื่อชิงครอบครองอุตสาหกรรมบุหรี่เสียก่อนคนอื่น
Cornelius Vanderbilt เป็นนักลงทุนที่ชาญฉลาด ผู้สร้างระบบทางรถไฟที่แข็งแกร่งที่สุดหนึ่งในสองของประเทศ
โดยใช้ทักษะด้านประสิทธิภาพ การจัดองค์กรและการแข่งขันที่เขามีอยู่
Jay Gould เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสามารถในการแปรสติปัญญาความสามารถของตนให้มีประโยชน์ในเชิงธุรกิจ
เมื่อเขาขยายระบบทางรถไฟของตนไปทางตะวันตกเพื่อครอบครองเส้นทางรถไฟสายข้ามทวีป
ทำให้คนอื่นต้องหันกลับมาคิดใหม่ในด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย
หลักการของหุ้นส่วน
Frank Woolworth เป็นนักการค้าผู้ยิ่งใหญ่ในสายตาของ Klein ด้วยเขาสามารถเปลี่ยนร้านค้าเล็กๆ
ของตนใน Pennsylvania ให้กลายเป็นอาณาจักรค้าปลีกระหว่างประเทศที่มีร้านค้าในเครือนับพันแห่ง
ด้วยการต่อรองซื้อสินค้าได้ในราคาถูกและซื้อแต่สินค้าที่ทำเงินได้ นอกจากนี้
Woolworth ยังรู้จักนำหลักการของหุ้นส่วนมาใช้ในการกระจายความเสี่ยง โดยหลักการร่วมรับภาระต้นทุนเมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจ
แล้วแบ่งกำไรกันคนละครึ่ง ซึ่งทำให้ Woolworth สามารถขยายธุรกิจได้โดยปราศจากหนี้สิน
Ray Kroc เป็นผู้คิดระบบแฟรนไชส์ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยเน้นเรื่องความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
การทำงานเป็นทีม ความภักดี และความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ที่สำคัญคือ การที่
Kroc ให้ความสำคัญกับการเป็นหุ้นส่วนระยะยาว ซึ่งให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งเจ้าของแฟรนไชส์
ผู้ซื้อแฟรนไชส์ และซัปพลายเออร์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Kroc สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าของเขา
และส่งผลให้แมคโดนัลด์กลายเป็นบริษัทมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีร้านอาหารในเครือนับพันแห่งกระจายอยู่ทั่วโลก
ในแวดวงเทคโนโลยี Klein ยกย่อง Bill Gates ซึ่งเป็นผู้สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้ด้วยการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วไปใช้ในตลาดอื่น
และสามารถ "บริหารบริษัทที่ระดับการเติบโตขั้นต่อไป" (manage it at the next
level of growh) Klein เปรียบเทียบ Gates กับ Carnegie ว่าเหมือนกันที่ต่างก็เห็นคุณค่าของการตั้งราคาต่ำและการชิงลงมือตัดหน้าผู้อื่น
Gates ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้งในบทที่ว่าด้วยเศรษฐีใจบุญ โดยไม่เพียงแต่
Gates จะสามารถสร้างความร่ำรวยได้มากกว่าเศรษฐีใจบุญคนดังอย่าง Carnegie
และ Rockefeller เท่านั้น เขายังบริจาคเงินเป็นการกุศลทั่วโลกที่มากกว่าทั้งสองอีกเท่าตัว
แม้แต่ Warren Buffet ซึ่งรวยเป็นอันดับสองของโลกรองจาก Gates ก็ยังบริจาคเงินเทียบได้เพียงเศษเสี้ยวของ
Gates เท่านั้นเอง