|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของหุ้นกู้ค้ำประกันภายใต้ Medium-Term Note Programmes ซึ่งมียอดคงเหลือ 500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนตุลาคม 2552 ที่ออกโดยบริษัทไพรมัส ลีสซิ่ง จำกัด (ไพรมัส) เป็น "B-(tha)" จาก "BB-(tha)" แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ โดยการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของไพรมัสเป็นผลมาจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ของบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต (ฟอร์ด เครดิต) และบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ (ฟอร์ด) ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา เป็น "CCC" จาก "B-" แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัททั้งสองยังคงเป็นลบ ไพรมัสเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยของ ฟอร์ด เครดิต โดยฟอร์ด เครดิตยังเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของไพรมัส อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันที่ออกโดยไพรมัส มีพื้นฐานมาจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเต็มจำนวนจาก ฟอร์ด เครดิต และอันดับเครดิตของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของไพรมัส
สำหรับสาเหตุที่ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาว IDR ของ ฟอร์ด และ ฟอร์ด เครดิตนั้น เนื่องจากวิกฤติทางการเงินที่ขยายตัวจนส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ ความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้นในส่วนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ สถานะทางการเงินที่อ่อนแอของตัวแทนจำหน่าย และความได้เปรียบในด้านเงินทุนของค่ายรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้เสริมเข้ากับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากผลของสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงและการที่ผู้บริโภคหันไปใช้รถยนต์ประเภทประหยัดพลังงานมากขึ้น ยอดขายที่ลดลงจะทำให้กระแสเงินสดของฟอร์ดติดลบในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และจะมีกระแสเงินไหลออกมากต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552 ถึงแม้ว่าบริษัทจะแสดงความสามารถในการลดต้นทุนลงได้และสภาวะของราคาวัตถุดิบที่อ่อนตัวลง ฟิทช์ยังมองว่าถ้าปราศจากการระดมทุนเพิ่มและการขายสินทรัพย์ออก ฟอร์ดจะต้องเผชิญกับภาวะที่เงินสดที่ใช้สำหรับการดำเนินงานลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำในช่วงครึ่งหลังของปี 2552
โดยฟอร์ดมีเงินสดในมือ ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2551 ที่ระดับ 2.66 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าหากไม่มีการระดมทุนเพิ่ม ฟอร์ดจะต้องเผชิญกับภาวะที่มีเงินสดที่ใช้สำหรับการดำเนินงานนี้ลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำที่ระดับ 1.0-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 18 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องของฟอร์ดน่าจะมาจากเงินกู้ที่จะเข้ามาในอนาคตอันใกล้โดยมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน การเจรจาเพื่อโครงสร้างหนี้สินในส่วนของกองทุนเพื่อสวัสดิภาพของพนักงานตามโครงการ VEBA (Voluntary Employee Beneficiary Association) และบางส่วนมาจากการเพิ่มทุนจากภายนอกและการขายสินทรัพย์ออกไป ฟิทช์คาดว่าฟอร์ดน่าจะได้รับประโยชน์จากเงินกู้ที่มีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน ถึงแม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนในส่วนของ เวลา จำนวน โครงสร้าง และอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สถานะทางการเงินของไพรมัสจะอยู่ในระดับที่เพียงพอ แต่บริษัทยังคงต้องพึ่งพา ฟอร์ด เครดิต ในส่วนความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนและการดำเนินงาน แนวโน้มอันดับเครดิตของฟอร์ด และฟอร์ด เครดิต ซึ่งยังคงเป็นลบ บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ค้ำประกันของไพรมัสในอนาคต ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแนวโน้มอันดับเครดิตจะบ่งชี้ถึงทิศทางการปรับอันดับเครดิตที่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า โดยการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้
|
|
|
|
|