เปลี่ยนความคิดเป็นความสำเร็จ
มีแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเกิดขึ้นทุกวัน แต่ผู้บริหารจะรู้ได้อย่างไรว่า
แนวคิดใดเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับองค์กรของตนอย่างได้ผล ในเมื่อแต่ละแนวคิดต่างก็อวดสรรพคุณต่างๆ
ไม่แพ้กัน Thomas Davenport และ Laurence Prusak จึงทำการศึกษา "idea practitioner"
อันหมายถึง ผู้ที่สนับสนุนการนำแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจมาใช้ในองค์กรของตน
จำนวนหลายสิบคน เมื่อนำผลการศึกษาที่ได้มารวมเข้ากับประสบการณ์ทางด้านวิชาการ
ด้านธุรกิจและการให้คำปรึกษาแก่องค์กรธุรกิจมานานปีของทั้งสอง จึงได้มาเป็นหลักและเทคนิคในการเลือกเฟ้นแนวคิดใหม่ๆ
ทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับองค์กรของคุณ รวมทั้งวิธีที่จะพัฒนาแนวคิดเหล่านั้นหลังจากนำมาใช้
สิ่งที่ Davenport และ Prusak นำเสนอคือ แนวทางใหม่ในการเข้าถึงแนวคิดใหม่ๆ
เกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจและการบริหารจัดการที่แพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
อันได้แก่ แนวคิดอย่าง total quality management, worker empowerment, reengineering,
knowledge management, activity-based costing, balanced scorecards และอื่นๆ
ทั้งสองชี้ว่า บริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่ขายความคิดเป็นสำคัญ ควรจะให้ความสนใจกับผู้ที่เป็น
idea practitioner ในองค์กรให้มากๆ เพราะพวกเขาเปรียบเสมือนลูกค้ารายแรกของบริษัท
และมีอิทธิพลต่อผู้ซื้อคนอื่นๆ
หลีกเลี่ยงแนวคิดยอดนิยม
What's the Big Idea? แนะวิธีเลือกสรรแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมที่ควรจะนำมาใช้กับองค์กรของคุณ
รวมทั้งวิธีหลีกเลี่ยงแนวคิดที่คนนิยม แต่อาจไม่เหมาะสมกับองค์กรของคุณ การกระตุ้นให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อปรับปรุงเรื่องการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในองค์กร
นอกจากนี้ยังแนะนำวิธีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในองค์กร
การริเริ่มนำแนวคิดทางธุรกิจใหม่ๆ มาใช้ในองค์กรจะกระตุ้นให้พนักงานเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ
และรู้สึกมีพลังใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่งผลให้องค์กรมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น
เกิดการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
ได้ในที่สุด เหตุที่เป็นดังนี้เพราะแนวคิดใหม่ๆ ทางธุรกิจจะช่วย :
1. ปรับปรุงหรือพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กร เช่น ปรับปรุงเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย
รอบเวลา ประสิทธิภาพทางการเงิน ส่วนแบ่งตลาดและอื่นๆ
2. เป็นเหตุผลสนับสนุนความพยายามในการปรับปรุงธุรกิจทั้งขององค์กรและสมาชิกในองค์กร
แม้ว่าความพยายามนั้นอาจจะล้มเหลว
แนวโน้มใหม่ของโลกธุรกิจ
ผู้ประพันธ์ชี้ว่า ขณะนี้การหันมาสนใจการบริหารจัดการความคิด กำลังเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกธุรกิจสมัยใหม่
เพราะบริษัทในโลกธุรกิจสมัยใหม่จะต้องสามารถเสนอ "solution" ให้แก่ลูกค้า
มิใช่เพียงสินค้า หรือบริการเดี่ยวๆ แต่เพียงอย่างเดียว "solution" คือกลุ่มก้อนของสินค้า
บริการและความคิด ที่เมื่อนำมารวมกันแล้วสามารถ "แก้ไขปัญหาทางธุรกิจ" ของลูกค้าได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเครื่องถ่ายเอกสารและอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ กำลังกลายเป็นเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์
ที่แต่ละยี่ห้อแทบจะไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องคุณภาพอีกต่อไป Xerox บริษัทเครื่องถ่ายเอกสารชื่อดังจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็น
"The Document Company" โดยอาศัยหลักของการนำเสนอ solution ดังกล่าว ความหมายหนึ่งของแนวคิดการเป็น
The Document Company ของ Xerox คือการที่ Xerox ริเริ่มเสนอบริการ document
processing services ให้แก่ลูกค้าองค์กร ซึ่งต่อมาบริการดังกล่าวได้กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดธุรกิจหนึ่งของ
Xerox ในตอนท้าย ผู้แต่งชี้ให้เห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการนำแนวคิดใหม่ไปใช้อย่างผิดๆ
หรือตามกระแสโดยไม่พิจารณาถึงความเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้แนะนำพร้อมตัวอย่างกรณีศึกษาแก่ผู้จัดการถึงวิธีขาย
"ความคิด" ใหม่ๆ ของตนให้ได้รับการยอมรับจากบริษัท