ดูเหมือนว่าหลังจากเหตุการณ์ 9/11 พฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวอเมริกันจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
จากเดิมที่ท่องเที่ยวด้วยความสบายอกสบายใจไปในทุกที่ ก็ต้องเปลี่ยนเป็นเพิ่มความระมัดระวังในสถานที่ที่เลือกจะเดินทางไป
อีกทั้งประเภทของพาหนะที่ใช้เดินทางก็เปลี่ยนไปด้วย อย่างเช่น บางคนเคยท่องเที่ยวโดยเครื่องบินปีละสองสามครั้ง
ก็เปลี่ยนเป็นเดินทางด้วยรถบัสปีละครั้งสองครั้งแทน บางคนก็ถึงขั้นตัดใจ
เลิกเดินทางไปเลย...ที่กล่าวถึงนี้เป็นพฤติกรรมภายในประเทศอเมริกาเอง ในขณะที่อเมริกันชนที่รักการท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็เริ่มหันมาใส่ใจว่า
คนรอบข้างคิดอย่างไรกับเชื้อชาติตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น
บางคนถึงขั้นไม่อยากถือยูเอสพาสปอร์ต บางคนพยายามหาเข็มกลัดสัญชาติอื่น เช่น
แคนาดา ออสเตรเลีย มาติดกระเป๋าหรือสวมเสื้อใส่หมวกสัญชาติอื่น เพื่อพรางตัวเองว่า
ฉันไม่ใช่อเมริกันนะ โปรดอย่าเกลียดชังฉันเลย โปรดต้อนรับฉันเยี่ยงเดิมเถิด...
ความรู้สึกเหล่านี้เกิดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากรัฐบาลอเมริกันเปิดฉากล้างแค้นบินลาดิน
และซัดดัม ฮุสเซน...
นิตยสาร Conde Nast Traveller ได้ทำการสำรวจสมาชิกชาวอเมริกันผู้รักการท่องเที่ยว
จำนวน 10,000 คน และใช้ข้อมูลจาก 1,100 คนแรกในการวิเคราะห์เกี่ยวกับความวิตกกังวลในความไม่เป็นมิตรที่พวกเขาจะได้รับในการท่องเที่ยวใน
17 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับกลางๆ
เป็นอันดับที่ 8 ที่มีจำนวน 12% ที่คาดว่าจะพบการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตร ในขณะที่เวียดนามอยู่ในลำดับ
7 (17%) ส่วนลำดับที่ 1-3 คือเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ (64%), นครปารีส แห่งฝรั่งเศส
(51%) และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (47%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ช่วงประมาณกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาผู้สื่อข่าวประจำต่างประเทศของ
Conde Nast Traveller รายงานว่า โดยส่วนมากประเทศต่างๆ มีการประท้วงเพื่อแสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาลอเมริกัน
ด้วยการประท้วงเลิกบริโภคสินค้าอเมริกัน แขวนป้ายสโลแกนต่อต้านสงคราม เป็นต้น
แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่แสดงการต่อต้านเจาะจงที่ตัวบุคคลชาวอเมริกันอย่างรุนแรง
อาจจะมีบ้างการพูดจาเสียดสีประชดประชัน อย่างเช่นที่ปาร์ตี้ในเม็กซิโก ผู้สื่อข่าวของ
Conde Nast Traveller เผชิญหน้ากับชาวฝรั่งเศสผู้อ้างข้อความจากหนังสือพิมพ์
USA TODAY ว่า ชาวฝรั่งเศสเรียกนักท่องเที่ยวสาวชาวอเมริกันว่า "Pigs" ซึ่งผู้สื่อข่าวผู้นั้นไม่ได้ต่อความยาวสาวความยืด
หากเดินเลี่ยงไปอย่างเงียบๆ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนที่วิจารณ์นั้นก็เป็นนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน
ไม่ใช่ชาวเม็กซิกันแต่อย่างใด... มีเหตุการณ์คล้ายคลึงกันซึ่งเกิดขึ้นกับตัวดิฉันเอง
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ช่วงที่อเมริกากับอิรักกำลังรบกันพอดี) มีโอกาสติดตามสามีไปประชุมทางวิชาการที่นีซ
ฝรั่งเศส ค่ำวันหนึ่งได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเวียดนามชื่อ Hot Pot
บังเอิญพนักงานเสิร์ฟเป็นคนไทย ด้วยความที่เจอคนชาติเดียวกันก็คุยทักทายกันอย่างดีใจ
คนไทยผู้นั้นถามว่า ดิฉันมาจากที่ไหน ดิฉันก็ตอบไปว่ามาจากชิคาโก เขาก็สวนกลับทันควันว่า
"อ๋อ ชิคาโกที่อยู่ใกล้กับแบกแดดใช่ไหม" ดิฉันอึ้งไปพักหนึ่ง จึงตอบกลับว่า
"ใช่ค่ะ อยู่ใกล้กับแบกแดด มลรัฐที่ 52 ของอเมริกา และใกล้กับมลรัฐที่ 51
คือ อัฟกานิสถานไงคะ" จากนั้นก็เปลี่ยนเรื่องคุย นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บางครั้งการเสียดสีประชดประชันนั้นเกิดจากนักท่องเที่ยวด้วยกันเอง
ซึ่งไม่ได้เกิดจากคนพื้นเมืองในประเทศนั้นๆ เลย และเหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นเป็นประจำก่อนการสู้รบระหว่างอเมริกากับอิรักจะเปิดฉากขึ้น...
ทั้งนี้ Conde Nast Traveller ยังยืนยันว่า ฝรั่งเศสยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวในใจของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันอันดับต้นๆ
พร้อมการต้อนรับที่อบอุ่น ก็ยังมีอยู่เสมอ... แต่กระนั้นอเมริกันบางคนเองต่างหากที่เกิดความรู้สึกไวด้วยการผสมผสานเรื่องการเมืองที่ผ่านจากสื่อ...
เกิดต่อต้านฝรั่งเศสกลับ ด้วยการไม่เดินทางไปเที่ยว ทั้งยังเลิกดื่มไวน์ที่มาจากฝรั่งเศสอีกด้วย...
ส่วนที่ประเทศสเปน ในช่วงเดือนมีนาคมผลการสำรวจพบว่า 90% ของชาวสเปนต่อต้านสงคราม
และที่เมืองท่องเที่ยวอย่างเมือง Madrid ปรากฏว่า เป้าหมายของการโกรธเคืองของชาวสเปนอยู่ที่ตัวรัฐบาลของประเทศ
เขาเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานาธิบดี Jose Maria Aznar ไม่ใช่อเมริกา...
เช่นเดียวกับในเม็กซิโก ที่ประชาชนต่างไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับรัฐบาลของพวกเขาและรัฐบาลอเมริกัน
แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวอเมริกันอย่างดี สิ่งเดียวที่ชาวเม็กซิกันวิตกกังวลคือ
การที่ประเทศต้องใช้จ่ายงบประมาณในการเข้าร่วมสงครามกับรัฐบาลอเมริกัน ยิ่งกว่านั้นพวกเขากังวลเกี่ยวกับเรื่องการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องปากท้องของพวกเขา
ผู้สื่อข่าว Conde Nast Traveller เล่าว่า ขณะที่เขานั่งแท็กซี่ในเม็กซิโก
คนขับหันมาถามเขาว่า ... เป็นความจริงหรือไม่ ที่รัฐบาลอเมริกันบอกชาวอเมริกันว่า
"ไม่ให้มาเที่ยวในเม็กซิโก" ไม่มีคำตอบจากนักข่าวผู้นั้น...
ส่วนประเทศในเอเชียหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ไม่พบว่ามีรายงานการต่อต้านชาวอเมริกันแต่อย่างใด
แม้กระทั่งประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซีย แม้ว่าก่อนหน้าการสู้รบจะมีรายงานข่าวการต่อต้านที่รุนแรงอยู่เสมอ
แต่หลังจากสงครามเกิดขึ้น เหตุการณ์ต่างกลับสงบเงียบ แม้กระทั่งกลุ่มผู้ประท้วงยังไม่หนาแน่นเท่าการประท้วงในปี
ค.ศ.2001 ช่วงที่อเมริกาเข้าตะลุยอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ดี ในกรุงจาการ์ตามีรายงานว่า
ชาวอเมริกัน 3 คนถูกกระชากออกจากรถแท็กซี่ แต่ก็หนีเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัย
ส่วนในประเทศไทย Pavillion Resort ที่เกาะสมุยก็ปรากฏชื่ออยู่ในรายงานของ
Conde Nast Traveller ว่าได้สร้างความประหลาดใจไม่น้อยที่ออกมาประกาศต่อต้านนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน
ในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของรีสอร์ตเป็นชาวสวิสและชาวเยอรมัน ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้น่ากังวลมากนัก
นิตยสาร Conde Nast Traveller ยังช่วยโปรโมตประเทศไทยให้ด้วยว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าเที่ยวมากที่สุด
เพราะราคาที่พักถูกกว่าที่เคยเป็นมาถึง 20-30% ซึ่งในกรณีนี้นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันในประเทศไทยยังถือเป็นเปอร์เซ็นต์น้อย
เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปหรือเอเชียด้วยกันเอง รัฐบาลไทยควรเก็บไปคิดว่า
ทำอย่างไรจะโปรโมตให้คนอเมริกันมาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น เชื่อเถอะ ยังมีอเมริกัน
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่อยากมาเยือนแผ่นดินไทยอีกมากมาย... รายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวในประเทศของเราเคยอยู่ในระดับพันๆ
ล้าน...ช่วยกันปลุกให้ตื่นจริงๆ เสียที... ส่วนที่แย่หน่อยเห็นจะเป็นฮ่องกง
ที่ได้รับผลกระทบจาก SARS อย่างหนัก หากถามชาวอเมริกันตอนนี้ว่าอยากไปฮ่องกงไหม
คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "Thanks, but no thanks" แม้ว่าราคาตั๋วเครื่องบินพร้อมที่พักจะถูกแบบสุดๆ...
นี่แหละพิษของการเมืองและข่าวสารที่ไร้พรมแดน... ทีนี้จะรังเกียจใครดีล่ะ...