ขึ้นชื่อว่า "นักท่องเที่ยวไทย" (รวมถึงนักเรียนไทย) ไปเหยียบถึงถิ่นไหน
มีอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อระบือไกลไปทั่วโลก ย่อมหนีไม่พ้นเรื่อง การซื้อ ซื้อ
และซื้อ!
คนไทยขึ้นชื่อเหลือเกินกับการชอปปิ้ง โดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี
2540 ถึงกับมีข่าวซุบซิบมาว่า ร้านแฟชั่นแบรนด์เนมต่างๆ ในฝรั่งเศส ต่างกระดี๊กระด๊าเป็นอย่างยิ่งหากทราบว่าทัวร์ไทยมาลง
เพราะนั่นหมายความว่าถึงคราวรับทรัพย์อีกก้อนโต
ส่วนถ้าถามว่า ปักกิ่งนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ที่มีแทรกอยู่แทบทุกหัวถนนแล้ว หากต้องการจะ "เสียเงิน" ควรไปที่ไหนกันบ้าง?
คำตอบก็คือ มีมากมายไปหมด แล้วแต่ว่าอยากจะไปซื้ออะไร
หากอยากไปซื้อเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย รองเท้า ราคาย่อมเยา และสามารถต่อราคาได้แบบครึ่งต่อครึ่ง
(คือ ราคาเริ่มต้น 400 หยวน สามารถต่อได้ในราคาต่ำกว่า 200 หยวน) ก็ต้องไปที่
ย่านสรรพสินค้าซีตัน หรือยาเป่าลู่
หากต้องการเดินย่านสยามสแควร์ของปักกิ่ง ซื้อเสื้อผ้า สินค้าแบรนด์เนม
เดินเล่นหย่อนใจย่านชอปปิ้งแบบศิวิไลซ์ ก็ต้องไปที่ย่านหวังฝูจิ่ง
หากเป็นพวกชอบเสียเงินกับเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่นซีดี
ดีวีดี แล้วก็ต้องไปที่หงเฉียว ที่อยู่ห่างจากสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเทียนถาน
หรือวิหารสวรรค์ไปไม่เท่าไร หรือไม่อยากเดินซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า
แบรนด์เนม (ปลอม) หรือเสื้อผ้าที่ทำจากไหม กี่เพ้า ผ้าพันคอแคชเมียร์ ก็เรียกไกด์มาปรึกษา
บอกให้พาไปที่ย่านสถานทูต ที่เรียกว่า จิ้วสุ่ยจี รับประกันได้ว่าต้อง "เสียทรัพย์"
ดังประสงค์เป็นแน่แท้
ครับ ย่านชอปปิ้งในปักกิ่งยังมีอีกมากมายนับกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ที่ตัวผมเองได้ไปอยู่บ่อยๆ
ก็คือ ย่านจงกวานชุน ...... ย่านที่ผมตั้งชื่อเอาเองว่า พันธุ์ทิพย์ปักกิ่ง
เนื่องจากย่านจงกวานชุนนี้เป็นศูนย์รวมของสินค้าไฮเทคทั้งหลาย โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์
และเทคโนโลยีใหม่ๆ
หลายท่านคงยังไม่ทราบว่า ด้านหนึ่งปักกิ่งนอกจากจะเป็นเมืองหลวงที่มีความเก่าแก่
และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และการเมืองเป็นอันดับต้นๆ ของจีน แม้ฐานะของการเป็นเมืองเศรษฐกิจยังตามหลัง
"Paris of the East" อย่างเซี่ยงไฮ้อยู่บ้าง แต่ในเรื่องไฮเทคอย่างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่ปักกิ่ง ซึ่งก็หมายถึงย่านจงกวานชุนนี่เอง
"วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพลังการผลิตอันดับหนึ่ง : " เป็นคำขวัญที่ประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง
ประกาศไว้ ณ ที่ประชุมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อปี ค.ศ.1978 เพื่อกระตุ้นให้จีนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ที่หันมาใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจักรกลนำในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้คนจีนที่ถูกปิดหูปิดตามานาน
สามารถไปแข่งขันกับโลกภายนอกได้
จากนั้นจึงมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ของจีนรวมตัวกัน 6 คน จากสถาบันวิจัยฟิสิกส์
สังกัดสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกันตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์เอกชนขึ้นเป็นแห่งแรก
ณ ย่านจงกวานชุน เขตไห่เตี้ยน อันเป็นย่านที่อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
(เป่ยต้า) มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของจีน
อีก 10 ปีต่อมา รัฐบาลจีนจึงอนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตทดลองการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ขึ้น
ณ ย่านจงกวานชุนนี้ โดยใช้ชื่อเรียกว่า สวนวิทยาศาสตร์จงกวานชุน (Zhongguancun
Science Park) อันทำให้ย่านนี้กลายเป็นเขตพัฒนาเทคโนโลยีแห่งแรกและแห่งใหญ่ที่สุดของจีนไปโดยปริยาย
จากการพัฒนาอันต่อเนื่องทำให้ปัจจุบัน จงกวานชุนเต็มไปด้วยสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และด้านเทคโนโลยีมากมาย
มีสถาบันวิจัย 39 แห่งที่ดำเนินการ 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน คือ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
และมหาวิทยาลัยซิงหวา ที่ตั้งอยู่ในเขตไห่เตี้ยน และที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน
(Chinese Academy of Sciences : CAS) และสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน (Chinese
Academy of Engineering : CAE) อีกมากกว่า 200 สถาบัน ทำให้แต่ละปีมีผลงานวิจัยทางด้านซอฟต์แวร์
ฮาร์ดแวร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกระดับ ออกมาจากย่านจงกวานชุนมากมายหลายพันชิ้น
นอกจากนี้ด้วยความที่จงกวานชุนเป็นย่านที่ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
ทำให้ภาคเอกชนที่ผลิตสินค้าไฮเทคต่างมีสำนักงานอยู่ที่นี่ทั้งสิ้น เช่น เหลียนเสี่ยง
(Legend เปลี่ยนชื่อเป็น Lenova), Stone, Founder, Netease, ซิงหวาตงฟัง
ส่วนบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งสำนักงานอยู่ที่นี่ ก็มีมากกว่า 40 แห่ง เช่น
ไอบีเอ็ม, ไมโครซอฟท์, มิตซูบิชิ
ปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับสถานที่ตั้งของจงกวานชุนคือ เขตไห่เตี้ยน นั้นอยู่ใกล้กับ
"ย่านปัญญาชน" (มีสถาบันอุดมศึกษา อยู่ใกล้ๆ อีกเกือบ 70 แห่ง) ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้จงกวานชุน
กลายเป็นส่วนมันสมองของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของจีนไปโดยปริยาย
ส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากที่นี่ก็มีมหาศาล หากพิจารณาจากตัวเลขคือ รายได้จากการค้าสินค้า
และเทคโนโลยีที่มาจากย่านสวนวิทยาศาสตร์จงกวานชุน ในปี 2001 นั้นนับได้เป็นร้อยละ
18 ของรายได้จากเขตไฮเทคที่มีอยู่ 53 แห่งทั่วประเทศจีน
เหตุนี้จึงมีการเรียกย่านนี้ในอีกนามหนึ่งว่า "ซิลิคอนวัลเลย์จีน (Silicon
Valley of China)"
เมื่อไปถึงตึกไห่หลง หรือตึกไท่ผิงหยาง สองในหลายๆ อาคารในย่านจงกวานชุน
ด้านหน้าอาคาร หากต้องการซื้อสินค้าใต้ดิน ซอฟต์แวร์ปลอม ซีดี วีซีดี หรือแม้แต่ใบเสร็จปลอมก็สามารถสอบถามเอาจากผู้คนที่ดูเหมือนจะยืนเตร็ดเตร่อยู่
และเมื่อเข้าไปด้านในก็จะพบว่า คึกคักและเต็มไปด้วยบรรยากาศอุ่นหนาฝาคั่งของการค้า
โดยมีข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทุกระดับตั้งแต่พีซี จอแอลซีดี
โน้ตบุ๊ค เมนบอร์ด กล้องดิจิตอล เครื่องเล่น MP3 พรินเตอร์ สแกนเนอร์ ฯลฯ
หลากหลายยี่ห้อ ทั้งยี่ห้อจีนท้องถิ่น เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ในราคาที่ไม่เพียงเรียกได้ว่าถูกกว่าประเทศเจ้าของแบรนด์
แต่ยังสามารถต่อราคาได้อีกด้วย!
ณ วันนี้ จงกวานชุน ย่านที่ใช้เวลาพัฒนาเพียง 20 กว่าปี ก็สามารถผงาดเป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1 ใน 4 เขตที่สำคัญที่สุดของเอเชีย ไม่เพียงแต่เติบโตเพียงเปลือกนอก (การค้า)
แต่โดยเนื้อใน คือ การวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เป็นแก่น และพลังขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศยังก้าวไปไกล
จนผมเริ่มรู้สึกละอายหากจะนำไปเทียบกับพันธุ์ทิพย์พลาซ่าของเมืองไทย ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็ตาม