ค่ายสองล้อจุดประกายส่งชุดตกแต่งรถติดแบรนด์ ตีตลาดรายย่อย หลังสำรวจพบเทรนด์ความนิยมเพิ่มสูง ยามาฮ่า ประเดิมไตรมาส 3 ด้วยการเปิดตัว”ฟีโน่ สไตล์ลิ่ง”พร้อมชุดแต่งครบชุด ด้านฮอนด้า ไม่หลุดเทรนด์ เตรียมส่ง “Brand Customized”สู้ คาดมูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาทร้อนฉ่า แม้ที่ผ่านมาทั้ง 2 แบรนด์ยังเฉือนเค้กก้อนโตได้เพียง 10%
ตลาดชุดแต่งรถจักรยานยนต์ ฟังดูอาจไม่น่าตื่นเต้นสักเท่าไร แต่จากการสำรวจของค่ายรถจักรยานยนต์ทั้งฮอนด้า และยามาฮ่า พบว่า มีมูลค่าสูงถึงปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตกเป็นของอุปกรณ์ตกแต่งแบรนด์อิสระ เล็กบ้าง ใหญ่บาง ทำให้ปัจจุบันค่ายรถจักรยานยนต์ทั้ง 2 เริ่มเปิดศึกชิงเค้กก้อนนี้แล้ว
ยามาฮ่าตอกย้ำผู้นำเทรนด์ชุดแต่ง ส่ง”ฟิโน่ สไตล์ลิ่ง”กระตุ้นตลาด
ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การเปิดตัวจักรยานยนต์ ยามาฮ่า ฟีโน่ สู่ตลาดเมืองไทย ได้สร้างกระแสให้กับธุรกิจตกแต่งรถในบ้านเราไม่น้อย แม้ช่วงเริ่มแรกของการเปิดตัวรถรุ่นนี้จะยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนมองว่ารูปร่างไม่โดนใจ ทั้งๆ ที่มีลักษณะคล้ายรถเวสป้า ที่เคยโด่งดังในอดีต อย่างไรก็ตามในปีที่ 2 ของการดำเนินงานความนิยมของรถรุ่นนี้ได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆพร้อมๆกับกระแสการตกแต่งรถในรุ่นนี้มีมากขึ้น
จินตนา อุดมทรัพย์ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า กรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงเริ่มแรกกระแสของฟิโน่ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนเช่นทุกวันนี้ ฝ่ายการตลาดได้ทำการสำรวจพฤติกรรมความชอบของผู้บริโภคว่าชื่นชอบอะไร และต้องการแบบไหน แล้วจึงนำมาประชุมและวางแผนเพื่อพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบของการตลาด และนี่จึงเป็นที่มาของการตลาดแบบไลฟ์สไตล์ สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคได้ทั้งหญิง และ ชาย จนประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
การยอมรับในตัวรถ ฟีโน่ ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดชุดแต่งเติบโตตามไปด้วย ในส่วนของยามาฮ่ามีทีมที่พัฒนาและวิจัย เพื่อออกแบบชุดตกแต่งของรถมอเตอร์ไซค์ในรุ่นต่างๆแต่จะเน้นหนักไปที่รถในกลุ่มออโตเมทิกหรือเกียร์อัตโนมัติ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์จะทำการออกแบบชุดตกแต่งออกมาในรูปแบบเซ็ทต่างๆเพื่อเป็นการแนะนำเทรนด์ และชุดแต่งที่ทำการออกแบบมาจะมีตั้งแต่หมวกกันน้อค ที่มีสีสันเข้ากับตัวรถ รวมไปถึงอุปกรณ์ชิ้นต่างๆที่อยู่ในตัวรถอาทิ ลายโครเมียม ฝาครอบ เบาะที่นั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคต้องการตกแต่งในรูปแบบที่แตกต่างไป ก็จะเป็นหน้าที่ของตัวแทนจำหน่ายหรือร้านตกแต่งที่มีมากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ที่จะทำการแนะนำว่าจะต้องตกแต่งอย่างไร ซึ่งปัจจุบันพบว่าร้านตกแต่งมีการให้เช่าชุดแต่งรถ เนื่องจากว่ากระแสความนิยมในลวดลายต่างๆมีมาก ทำให้ผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ไม่จำเจ ต้องการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถมาเช่าชุดตกแต่งจากร้านได้
“ในแง่ของผู้ผลิต การจะตัดสินใจพัฒนาชุดแต่งออกมาแต่ละชุดนั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องมีคุณภาพ และมั่นใจได้ว่าเหมาะสมกับตลาด ดังนั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เรามีการออกแบบเซ็ทชุดแต่งมาค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับกระแสความนิยมที่หลากหลายของตลาด อย่างไรก็ตามเรามองว่าหน้าที่ของเราคือการกระตุ้นตลาดเป็นหลัก เป็นเสมือนผู้จุดประกาย หากผู้บริโภคต้องการตกแต่งในสไตล์ที่แตกต่างออกไป ก็สามารถใช้บริการร้านชุดแต่งได้ ตรงนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของผู้ผลิตและผู้ที่อยู่ในแวดวงเกี่ยวเนื่องกัน” จินตนากล่าว
ปัจจุบันยามาฮ่า มีรายได้จากกลุ่มชุดแต่ง 90 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมทั้งหมด แต่ในแง่ของภาพลักษณ์แบรนด์นั้น ต้องบอกว่าการตกแต่งรถในรุ่นนี้สร้างการจดจำที่ดีให้กับผู้บริโภคไม่น้อย รวมไปถึงยังเป็นการกระตุ้นให้ตลาดตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์มีการตื่นตัว และเพิ่มมูลค่าเม็ดเงินในตลาดให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อเป็นการตอกย้ำเทรนด์ของ ฟีโน่ ยามาฮ่าจึงได้จัดกิจกรรมกระตุ้นตลาดใน “ ฟีโน่ ฟีเวอร์ เฟส ”ซึ่งเป็น บิ๊ก อีเว้นท์ ที่มีการรวบรวมเอารถมอเตอร์ไซค์”ฟีโน่”กว่า 80 คัน ที่ได้รับการตกแต่งในสไตล์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นแบบคลาสสิค ,คิวท์,สปอร์ตและอินโนเวทีฟ รวมไปถึงการตกแต่งฟีโน่ในสไตล์ของดารา – นักร้องชื่อดัง อาทิ ดา เอนโดรฟีน ,ป๊อป แคลอรี่ บลา บลา หรือสเตฟาน มาร่วมโชว์บนพื้นที่ของสยามเซ็นเตอร์ ,สยามดิสคัพเวอรี่ และ ลานปาร์ค พารากอน
นอกจากนำรถที่มีการตกแต่งในสไตล์ต่างๆแล้ว ภายในงานยังทำการเปิดตัวรถใหม่ “ฟีโน่ สไตล์ ลิ่ง” ที่มีให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ ฟีโน่ พรีเมียม ที่มีการออกแบบในสไตล์เรโทร ,ฟีโน่ คลาสสิค ที่มาพร้อมกับลายกราฟฟิคสีสันสะดุดตา เบาะสีทูโทน และ ฟีโน่ สปอร์ต ที่มาพร้อมกับกราฟฟิคแนวเรซซิ่ง เบาะโฉบเฉี่ยวดู สปอร์ต
การเปิดตัวรถรุ่นใหม่พร้อมทั้งนำรถในรูปแบบต่างๆออกมาโชว์ในงาน “ ฟีโน่ ฟีเวอร์ เฟส ”นอกจากจะเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ฟีโน่ที่แข็งแกร่งและได้รับการตอบรับที่ดีแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะกระตุ้นยอดขายและความนิยมของชุดแต่งที่มีจำหน่าย ทั้งในงานและจากร้านแต่งรถอิสระ
ฮอนด้าต่อยอดตลาดชุดแต่งตั้ง “Brand Customized”รองรับ
แม้จะถูกมองว่าก้าวช้ากว่ายามาฮ่า ในตลาดชุดตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ แต่แท้ที่จริงแล้ว ค่ายฮอนด้ามีฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยชุดตกแต่งส่วนใหญ่จะเน้นความสวยงาม และอรรถประโยชน์ มากกว่าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาทิ หมวกกันน้อค ที่จะไม่มีการผลิตออกมา ชุดตกแต่งที่มีการพัฒนาออกมาส่วนใหญ่จะรองรับกับรถมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นของฮอนด้า
อัครเดช โรจน์สิรวรพัฒน์ ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ฝ่ายการตลาด บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดชุดตกแต่งมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่เม็ดเงินจะตกเป็นของผู้ประกอบการอิสระมากกว่าผู้ผลิต เพราะได้เปรียบทั้งในเรื่องของราคา ความหลากหลายของตัวสินค้า ไอเดีย และ ประสบการณ์ของผู้ประกอบการอิสระที่มีมากกว่า ขณะที่ผู้ผลิตจะมีการผลิตชุดตกแต่งของรถแต่ละรุ่นออกมา แต่ว่าเป็นการผลิตออกมาเพื่อประชาสัมพันธ์มากกว่าเน้นการขาย
“ ชุดตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ของฮอนด้าจะมีการจัดจำหน่ายผ่านทางตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ รวมไปถึงมีการนำเสนอผ่านทางหน้าเวปไซต์ ซึ่งผู้บริโภคที่สนใจสามารถเข้าไปชมตัวอย่างสินค้าได้ โดยราคาของสินค้าเหล่านี้ก็มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน หรือในกรณีที่ทางบริษัทจัดกิจกรรมโรดโชว์ตามจังหวัดต่างๆก็จะมีการนำสินค้าเหล่านี้ไปร่วมแสดงและจำหน่าย”อัครเดช กล่าว
ฮอนด้าเริ่มเอาจริงเอาจังกับตลาดชุดตกแต่งรถมอเตอร์ไซค์ในปีที่ผ่านมา หลังจากที่พวกเขาตัดสินใจเปิดตัวรถเอ.ที.ในรุ่น” คลิก “และ “ไอคอน”โดยเฉพาะอย่างหลังที่ถูกออกแบบมาให้สามารถตกแต่งได้หลากหลายสไตล์ ซึ่งฮอนด้าให้ความสำคัญกับรถในกลุ่มนี้ด้วยการออกแบบชุดตกแต่งพิเศษผ่านบริษัท ฮอนด้า แอ็คเซส จำกัด (Honda Access) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดอุปกรณ์ตกแต่งทั้งของรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ที่ผ่านการทดสอบและรับการรับรองจากประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นแล้วฮอนด้า ยังได้ตั้ง “Brand Customized”เพื่อการออกแบบชุดอะไหล่ตกแต่งคัสตอมไมซ์ (Customized Parts) หรือ C-parts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อะไหล่ตกแต่งพิเศษขึ้นมารองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ฮอนด้า มีการทำตลาดในส่วนของชุดตกแต่งมีสัดส่วนยอดขายของกลุ่มชุดแต่งรถอยู่ประมาณ 130 ล้านบาทหรือคิดเป็น 5 % ของรายได้ทั้งหมด สอดคล้องกับค่ายยามาฮ่าที่มีรายได้จากตรงส่วนนี้น้อยมาก แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ไม่สามารถทิ้งได้ และยังถือเป็นกลุ่มช่องทางใหม่ที่สามารถจะต่อยอดทางการตลาดได้ในอนาคต
ชุดแต่งรายย่อยเจอศึกหนัก
การก้าวเข้ารุกตลาดชุดแต่งรถของทั้ง ยามาฮ่า และฮอนด้า ดังกล่าว เป็นการต่อยอดธุรกิจหลักคือตลาดรถจักรยานยนต์ ก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ก็เริ่มขยับออกมาทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องในเรื่องของแฟชั่นเครื่องแต่งกาย สำหรับกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบและใช้รถจักรยานยนต์ แม้จะเป็นส่วนที่ทำรายได้ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะกับบรรดาตัวแทนจำหน่าย ที่มีอยู่
ปัจจุบัน ฮอนด้า และยามาฮ่า รวมถึงค่ายอันดับอย่าง ซูซูกิ เองพยายามสร้างร้านค้า หรือดีลเลอร์ ที่เป็น ร้านเฉพาะแบรนด์ของตัวเอง จากเดิมที่ดีลเลอร์รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่นิยมขายรถให้ครบทุกๆ แบรนด์ ดังนั้นการดึงดีลเลอร์บางแบ่งให้ทำตลาดเฉพาะแบรนด์ของตนเองย่อม ทำให้รายได้ดีลเลอร์หายไปส่วนหนึ่งด้วย การเปิดไลน์ผลิตภัณฑ์เพิ่มทั้งในเรื่องแฟชั่น และชุดแต่ง จึงเป็นส่วนเสริมรายได้ให้กับดีลเลอร์ของตนเอง
อย่างไรก็ดี ในตลาดชุดแต่งรถจักรยานยนต์นั้น ทั้ง 2 แบรนด์ต้องแข่งขันกับ ผู้ผลิตชุดแต่งรายย่อย หรือบางประเภทต้องแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศไทยเอง ซึ่งเป็นชุดแต่งที่มีจุดเด่นในเรื่องราคาต่ำกว่าพอสมควร ในขณะที่คุณภาพ หรือดีไซน์อาจแตกต่างกันไม่มาก
ดังนั้นทั้งฮอนด้า และยามาฮ่านั้น จึงต้องพยายามเน้นการตลาดโดยเน้น ไลฟ์สไตล์ และดีไซน์ ของชุดแต่ง เพื่อสู้กับแบรนด์ย่อยที่มีราคาต่ำกว่า นอกจากนี้ความได้เปรียบในด้านของการเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดแทรนด์ของรถจักรยานยนต์แต่ละรุ่น ทำให้สามารถพัฒนาหรือออกแบบชุดแต่งให้สอดคล้องกับตัวผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่า ก็เป็นอีกจุดเด่นหนึ่งของทั้ง 2 แบรนด์ด้วยเช่นกัน
สำหรับภาพรวมของตลาดรถจักรยานยนต์ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมานั้น ยังถือได้ว่าโตต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ การเมืองและน้ำมันเข้ามากระทบ โดยตัวเลขยอดขายพบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,176,088 คัน มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 7 % เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ที่ขายได้ 1,100,730 คัน ขณะที่ผู้นำยังเป็นของฮอนด้า ที่เพิ่งเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ที่มีการใช้กลยุทธ์เครื่องยนต์หัวฉีด โดยสามารถทำยอดขายรวมทั้งสิ้น 805,739 คัน เติบโต 4% และครองส่วนแบ่งทางการตลาด 68.5 % ส่วนยามาฮ่า ตามมาเป็นอันดับสองของตลาดรวม โดยสามารถทำยอดขายได้ 298,794 คัน เติบโต 20 % และครองส่วนแบ่งทางการตลาด 25.4 %
จากตัวเลขรายได้ของทั้งยามาฮ่าและฮอนด้าราว 200 ล้านบาทในตลาดชุดแต่ง เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ชุดแต่งจากผู้ผลิตรถจักรยายนต์เฉือนเค้กตลาดได้เพียง 10% เท่านั้น แต่ด้วยอนุภาพแผนการตลาดใหม่ๆ ของทั้งคู่ ในแง่ของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ,มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง และไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง เรียกได้ว่าทุกอย่างล้วนถูกดึงมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อเข้าหากลุ่มเป้าหมาย
เพราะฉะนั้นในไม่เร็วๆ นี้ เราคงได้เห็นผู้ที่กำลังจะได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ บรรดาชุดแต่งแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยๆ ในตลาด ต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับการแข่งขันที่ดุดเดือดกว่าในอดีตอีกมาก ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วคงหนีไม่พ้นเรื่องการเปิดสงครามราคานั่นเอง
|