ตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมใช้เวลาว่างเท่าที่มีรวมถึงโอกาสจากการไปดูงานหรือประชุมนอกประเทศ เพื่อเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองหรือประเทศต่างๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวย
ญี่ปุน: ความเป็นมาของเมืองเอโดะ
ถ้าคุณเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่น อย่างน้อยคุณน่าจะคุ้นกับชื่อของเรียวก๊กกุก๊กกุกิคัง (Ryogoku Kokugikan) ที่นี่คือสถานที่แข่งขันซูโม่ ที่ตั้งมากว่า 300 ปี ซูโม่กีฬาสุดยอดของประเทศญี่ปุ่น จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมกราคม, พฤษภาคม และกันยายนของทุกปี แต่ตึกใกล้ๆ กันนั้น เพียงเดินผ่านสนามซูโม่แล้วเข้าไปในพื้นที่ติดๆ กัน จะเห็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของเมืองโตเกียว ที่นี่คือเอโดะมิวเซียม หรือ Edo-Tokyo Museum
วันที่ผมไปถึงนั้นเป็นยามสายของวันพุธ แต่ผู้คนเกือบแน่นพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์
มองจากภายนอก ตึกที่ออกแบบทันสมัยและดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์แนวสงครามจักรวาลอย่าง Star Wars พร้อมๆ กับรูปปั้นที่ยืนตระหง่านระหว่างทางเดินเข้าไปยังตัวตึก แค่นี้ก็รู้สึกตื่นเต้นแล้ว พร้อมๆ กับตั้งคำถามในใจว่า นี่คือ พิพิธภัณฑ์เอโดะ หรือพวกเขากำลังจะเล่าเรื่องราวญี่ปุ่นยุคสำรวจอวกาศกันแน่
ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สำหรับผู้ใหญ่เพียง 600 เยนเท่านั้น หรือคิดเป็นเงินไทยก็แค่ 180 บาทโดยไม่รวมนิทรรศการพิเศษต่างๆ ที่อาจจะมีในแต่ละช่วงเวลา ก็ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะนี่เป็นราคาเดียวกับราคาอาหารมื้อถูกๆ มื้อหนึ่งในกรุงโตเกียว
เมื่อเดินเข้าสู่พื้นที่พิพิธภัณฑ์แล้ว ทันใดที่เราเดินข้ามสะพานนิฮอม-บาชิ (Nihom-bashi bridge) จำลอง เราก็กำลังเข้าสู่ยุคสมัยเอโดะอย่างแท้จริง
พิพิธภัณฑ์เอโดะแบ่งพื้นที่การแสดงเป็นยุคสมัยเอโดะ และเมจิ
ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นนั้นต้องย้อนยาวไปถึงสมัย 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช แต่นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่โตเกียวคือ ในเมืองนารา หรือเกียวโต เมื่อโตกุกาวา อิเอยะสุปราบโตโยมิ ฮิเดโยริลงในสงครามเซกิกาฮารา พื้นที่กองบัญชาการของโตกุกาวาอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า เอโดะ หรือโตเกียวในปัจจุบัน นี่คือการเริ่มต้น
ยุคสมัยของเอโดะหรือโตกุกาวา นับตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช 1600 ดำเนินมากว่า 250 ปี อย่างไรก็ตาม เวลานั้นยังคงใช้เกียวโตเป็นเมืองหลวงโดยเป็นที่ตั้งของราชวังและศาลยุติธรรมต่างๆ
ยุคสมัยเอโดะเป็นยุคการสร้างสันติภาพและปิดตัวเองจากการที่เคยเปิดรับชาวต่างชาติทั้งจากตะวันตกและประเทศใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการค้าขายและติดต่อกับชาวดัตช์ จีน และเกาหลีอยู่ แต่ถูกกีดกันและจำกัดพื้นที่การค้าขายค่อนข้างมาก ยุคสมัยเมจิในช่วงปีคริสต์ศักราช 1868-1912 การยอมแพ้ของไดเมียวทำให้พื้นที่ถูกแบ่งเป็น prefecture อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เอโดะกลายเป็นเมืองหลวงใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว (ซึ่งแปลว่า เมืองหลวงทางตะวันออก) รัฐบาลเริ่มมั่นคงและมีการนำเอารูปแบบการปกครองแบบตะวันตกมาปรับใช้ เช่นเดียวกับที่ซามูไรถูกปลดอาวุธและริบคืนอำนาจ
ยุคไตโช (Taisho) ระยะสั้นๆ พร้อมกับที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเยอรมัน แต่ก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องลึกซึ้งนัก และเป็นช่วงของการขยายอำนาจทางการเมืองผ่านศักยภาพทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคโชวะและการขึ้นสู่จุดสูงสุดของความเป็นชาตินิยม และสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกจากปฏิบัติการเซอร์ไพรส์ในการบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์
หลังการกระตุกหนวดเสือและถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ จักรพรรดิฮิโรฮิโตประกาศยอมแพ้สงคราม จุดเปลี่ยนและสมดุลอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนมือไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นกลับมาสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งพร้อมๆ กับการสร้างโตเกียวใหม่ก่อนจะขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลกจนถึงปัจจุบัน
เอโดะมิวเซียมมีเรื่องราวเหล่านี้ ที่นี่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของโตเกียวรวมถึงได้เห็นอะไรอะไรที่เกี่ยวกับโตเกียว
คุณต้องไม่ลืมก้าวแรกบนสะพานนิฮอน-บาชิ ที่เปิดศักราชของโตเกียว เมื่อเดินลึกเข้าไปจะเห็นโรงละครคาบูกิ เห็นขบวนแห่ รวมไปถึงแบบจำลองเมืองโตเกียวในยุคสมัยเอโดะที่น่าตื่นตาตื่นใจ
รูปแบบการใช้ชีวิตที่จำลองออกมาให้เห็นตั้งแต่ซามูไรสมัยเอโดะมาจนถึงชีวิตที่ยากลำบากหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับหายนะอันเกิดจากธรรมชาติ คือ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ รวมถึงหายนะจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง
ก่อนที่จะเห็นความสว่างไสวของโตเกียวยุคปัจจุบัน
สิงคโปร์: เล่าอดีตที่มองถึงอนาคตอันสดใส
มีคนเตือนด้วยความหวังดีหลายๆ คน ก่อนผมจะจองตั๋วเครื่องบินโลว์คอส (ในตอนนั้น) เพื่อไปสิงคโปร์ห้าวันว่า สิงคโปร์ไม่มีอะไรให้ดู เที่ยววันสองวันก็หมดแล้ว แต่ด้วยความดื้อส่วนตัว ผมเลยจองโรงแรมสี่คืน กะว่าจะเที่ยวให้ทุกซอกทุกมุมของสิงคโปร์เลย แต่การกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะผมเห็นสิงคโปร์แค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น และผมไม่แน่ใจว่า ถ้าผมมีเวลาหนึ่งเดือนผมจะเห็นสิงคโปร์จริงหรือเปล่า
สิงคโปร์คือตัวแทนของความทันสมัยและการปลดแอกจากมาเลเซียอย่างแท้จริง พวกเขาพิสูจน์ให้อดีตเมืองแม่อย่างมาเลเซียรู้ว่า พวกเขาเอาตัวรอดได้ และทำได้ดีกว่ามาเลเซียเสียด้วยซ้ำ
ผมเลือกนั่งกระเช้าข้ามไปเกาะเซ็นโตซาในสายของวันที่สองของการเดินทาง ผมให้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ บนเกาะเซ็นโตซา วันนั้นฝนตกเล็กน้อยก่อนที่แดดจะจ้าเมื่อข้ามไปยืนบน ฝั่งเกาะเรียบร้อยแล้ว
ผมเลือกซื้อแพ็กเกจเที่ยวเกาะเซ็นโตซา ซึ่งรวมการข้ามกระเช้าไปกลับและเข้าไปในปากสิงโตทะเล แน่นอนว่าพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเมืองสิงคโปร์รวมอยู่ในแพ็กเกจนี้ด้วย
Image of Singapore เป็นพิพิธภัณฑ์ทันสมัยและได้รับรางวัลมาหลายต่อหลายครั้งจากการประกวดพิพิธภัณฑ์ระดับโลก Image of Singapore บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิงคโปร์ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการใช้หุ่นขี้ผึ้งและการออกแบบเส้นทางการเดินชมพิพิธภัณฑ์อย่างน่าสนใจและนำเอาสัญลักษณ์หลายๆ อย่างมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย หรือสัตว์ที่พบเห็นบนเกาะสิงคโปร์
วัฒนธรรมจีนหลายๆ อย่างนำมาบอกเล่าผ่านหุ่นขี้ผึ้ง ไม่ว่าจะเป็นพิธีการแต่งงานการใช้ชีวิตของคนจีนสมัยก่อน การกราบไหว้บรรพบุรุษ การละเล่นในยุคสมัยต่างๆ ไปจน ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมานับแต่อดีตจนถึงยุคสมัยที่สิงคโปร์แย่งชิงการเป็นศูนย์กลางการค้าและท่าเรือของซีกโลกตะวันออกจากมะละกาได้สำเร็จ
เสียงและแสงถูกนำมาใช้อย่างลงตัวเหมาะเจาะ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการและสูงอายุให้สามารถชื่นชมประวัติศาสตร์สิงคโปร์ได้เหมือนๆ กับคนปกติทั่วไป
ก้าวแรกของการเหยียบเข้า Image of Singapore คือการเล่าตำนานความเป็นมาของสิงคโปร์ผ่านการแสดงแสง สี เสียง ตระการตา เมื่อไฟดับลง แสงสว่างเล็กๆ เริ่มขับขานเรื่องราวของเจ้าชายแห่ง Sumatran
สิงคโปร์หรือเมืองแห่งสิงโตมีที่มาของชื่อจากการที่เจ้าชายแห่งเกาะสุมาตรา เดินทางมาถึงเกาะนี้หลังจากหลบพายุเข้ามา เมื่อขึ้นเกาะได้เห็นสัตว์ชนิดหนึ่งวิ่งอยู่ ผู้ติดตามได้ทูลว่าเป็นสิงโต แต่มันเป็นสิงโตที่คล้ายเสือมาก เจ้าชายจึงได้ตั้งชื่อเกาะนี้ว่าสิงคโปร์หรือสิงหปุระ เมืองแห่งสิงโต
สิงคโปร์อาจเป็นเพียงแค่หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เงียบๆ แห่งหนึ่ง ถ้าเซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟ เฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ไม่ได้มองเห็นศักยภาพและเลือกเกาะแห่งนี้เป็นเมืองท่าแห่งใหม่ในปี 1819 ด้วยอิทธิพลล้นฟ้าในเวลานั้นของจักรภพอังกฤษ สิงคโปร์จึงกลายเป็นเมืองท่าค้าขายที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงการเป็นฐานปฏิบัติการทางการทหารด้วย อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่สามารถหนีรอดการคุกคามของญี่ปุ่น ในช่วงแผ่อิทธิพลในสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1942
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1959 สิงคโปร์มีระบบรัฐปกครองตนเอง ก่อนที่จะเลือกเข้าไปรวมกับมาเลเซีย ในปี 1963 และตัดสินใจที่จะแยกตัวเป็นอิสระอีกครั้งในปี 1965 จนถึงปัจจุบัน โดยเหตุผลเบื้องหลังคือความขัดแย้งของนโยบายที่มาเลเซียต้องการให้ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศของคนมาเลย์อย่างแท้จริง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของสิงคโปร์เป็นคนเชื้อสายจีน
ลี กวน ยู จึงเปิดศักราชของความยิ่งใหญ่ของสิงคโปร์นับจากนั้นมา พร้อมๆ กับการเพิ่มศักยภาพทางการค้า การท่องเที่ยว และการเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์ รวมถึงการพยายามถ่วงดุลทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อช่วยให้สิงคโปร์มีอำนาจต่อรองกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
ภาพการประกาศปลดแอกอย่างยิ่งใหญ่พร้อมๆ กับแสงสว่างปลายทางออกที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สดใสของสิงคโปร์ยุคใหม่ ทำให้ผมพลอยตื่นเต้นดีใจและฮึกเหิมไปพร้อม กับคนสิงคโปร์ ณ ปลายทางออกด้วยเช่นกัน
การเดินทางเที่ยวนั้น ภาพท้ายๆ ของสิงคโปร์จากการบอกเล่าของคนขับแท็กซี่เป็น Singapore Flyer หรือชิงช้าสวรรค์อันใหม่ของสิงคโปร์ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเดือนถัดไปนับจากวันที่ผมเดินทางกลับ พร้อมกับพื้นที่ก่อสร้างกาสิโนขนาดใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนบทบาทของประเทศสิงคโปร์ครั้งยิ่งใหญ่ในอีกสองปีข้างหน้า ผมทิ้งภาพสุดท้ายของสิงคโปร์เป็นสนามบินเทอร์มินัลใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จและจะเปิดใช้งานในอีกไม่กี่วัน นับจากวันที่ผมเดินเข้าไปเยี่ยมชมอย่างไม่เป็นทางการ
ผมยอมรับว่า ผมลืมสุวรรณภูมิที่เพิ่งจากมาเมื่อห้าวันก่อนนั้นไปสนิทใจเลย
มาเลเซีย: เมื่อมะละกามีชีวิตมีลมหายใจใหม่
ผมไปมาเลเซียทันทีที่ได้รับรู้ข่าวสองข่าว
ข่าวหนึ่งเป็นการกระเพื่อมของการเมืองมาเลเซียครั้งสำคัญ การประท้วงที่เกิดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์พร้อมกับการคุกคามสิทธิเสรีภาพของอันวาร์ อิบราฮิม ทำให้ผมไม่รอช้าที่จะเข้าไปจองตั๋วเครื่องบินโลว์คอส (ที่เริ่มไม่โลว์แล้วในตอนนั้น) บินไปมาเลเซียทันที
อีกข่าวเป็นข่าวเล็กๆ แทรกอยู่ในความขัดแย้งของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ผมกำลังจะไปมะละกาครับ มะละกาเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกพร้อมกับปราสาทพระวิหาร ปีนัง และอีกหลายๆ เมือง แต่ดูเหมือนการเมืองเรื่องเขาพระวิหารจะกลบเรื่องราวของมะละกาและอีกหลายเมืองให้หายไปจากการรับรู้ของคนไทยไปเสียหมด
ผมพบว่า ผมรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศมาเลเซียที่มีพื้นที่ติดกับไทยแบบแนบสนิทน้อยมาก ถ้าไม่นับละครเรื่อง นางอาย ที่ศิริลักษณ์ ผ่องโชค ถูกพ่อที่เป็นกงสุลเมืองปีนังส่งไปเรียนโรงเรียนประจำที่นั่นแล้ว ผมอาจจะแทบไม่ค่อยเคยเห็นเมืองมาเลเซียเท่าไรนัก ถ้าไม่นับภาพข่าวประปรายที่เกี่ยวกับมาเลเซีย โดยไม่ต้องพูดถึงมะละกา
แต่มะละกากลับคุ้นหูคุ้นปากผมมากกว่า แม้ความจริงในภาษามลายูจะเรียกมันว่า เมลักขะ (Melaka) ก็ตามที แต่ผมก็ขอเรียกว่ามะละกา ตามที่ปากถนัดตลอดบทความนี้นะครับ
ผมเดินเข้า Historical, Ethnographic & Literature Museums หรือพิพิธภัณฑ์ ประวัติศาสตร์ ชนชาติ และวรรณคดีของเมืองมะละกาที่ตั้งอยู่ในตึกซึ่งเคยเป็นศูนย์บัญชาการและที่พักของผู้ปกครองชาวดัตช์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า สแตดฮายส์ หรือสแตดฮุยส์ (Stadthuys)
ตัวตึกไม้แม้จะดูเก่ามากแล้วแต่การแบ่งพื้นที่การจัดแสดงที่เป็นสัดส่วน โดยเฉพาะการแยกบทบาทของมหาอำนาจที่เข้ามาปกครองมะละกาในแต่ละยุคสมัยก็ทำให้เรื่องราวความเป็นมาของมะละกา น่าสนใจไม่แพ้เมืองอื่นๆ ที่ผมเคยไปเยี่ยมชมมา
รูปแบบการแสดงมีทั้งหุ่นจำลองที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ เช่น การแต่งงานของแต่ละชนชาติในมะละกา รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย
มะละกาเป็นเมืองทางด้านประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าน่าสนใจมากที่สุดของประเทศมาเลเซีย และมีตำนานเรื่องราวเล่าขานทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับเมืองนี้
การเข้ามามีบทบาททางประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของชาติตะวันตก ในประเทศมาเลเซีย นับจากโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ ล้วนเกิดขึ้นที่นี่ทั้งสิ้น
แน่นอนว่า ที่นี่ยุคสมัยหนึ่งคือ ท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะช่องแคบมะละกาที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงมาเนิ่นนาน
เจ้าชายปรเมศวร (Parameswara) ซึ่งลี้ภัยออกมาจากเกาะชวาข้ามช่องแคบมะละกามายังเมืองเตมุสิกหรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน จากนั้นก็พาไพร่พลอพยพมายังพื้นที่ที่เป็นมะละกาในปัจจุบันเพราะมีชัยภูมิเหมาะกับการเทียบเรือ รวมถึงสามารถป้องกันข้าศึกได้ด้วย
ปี 1405 Admiral Cheng Ho หรือเจิ้งเหอ แม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่ได้เดินทางมาถึงเมืองมะละกาและมีความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าชายปรเมศวร โดยเจ้าชายได้จัดส่งเครื่องราชบรรณาการให้กับจักรพรรดิในราชวงศ์หมิง เพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองจากการรุกรานของประเทศสยามหรือกรุงศรีอยุธยา รวมถึงการคุกคามของศาสนาอิสลาม
ปี 1511 Alfonso d' Albuquerque เข้ามายึดและปกครองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสและป้อมลาฟาโมซา (A'Famosa) ที่สร้างขึ้นในปี 1641 มะละกาถูกส่งต่อให้ฮอลันดา หลังสงครามแย่งชิงเมืองระหว่างฮอลันดากับโปรตุเกส กว่าแปดเดือนสิ้นสุดลง
ปี 1795 ฝรั่งเศสเข้ามาแทนที่ฮอลันดา ตามมาด้วยอังกฤษที่เข้ามาปกครองเมืองขึ้นของฮอลันดาเป็นการชั่วคราว ในปี 1824 มะละกาถูกนำไปแลกกับเมืองท่า Bencoolen บนเกาะสุมาตราของอังกฤษ อังกฤษจึงเข้าปกครองมะละกาอย่างเต็มตัวนับจากนั้น
ความที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์รวมถึงการเข้ามามีอิทธิพลของการประเทศตะวันตกและตะวันออกหลายชาติ ทำให้เรื่องเล่าของมะละกาไม่สามารถบรรจุอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ทั้งหมด ทำให้ผมต้องเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ใกล้เคียงกันอีกมากมาย ทั้งพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของพรรคอัมโนก่อน ระหว่างและหลังจากการประกาศเอกราชในปี 1957 ตึกอนุสรณ์การประกาศเอกราชที่มีทั้งภาพ เสียง และหุ่นจำลองเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นซึ่งทำให้เรารู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเข้าไปเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมของมาเลเซีย พิพิธภัณฑ์ทางทะเลที่ตั้งอยู่ในเรือโปรตุเกสขนาดยักษ์ มิพักต้องพูดถึงซากปรักหักพังและสถานที่ทางประวัติศาสตร์อีกมากมายที่ตั้งกระจายทั่วเมืองมะละกาที่สามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาด้วยตัวมันเองได้
มะละกากลายเป็นเมืองที่หลับใหลไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่กำลังถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้งพร้อมกับการเป็นเมืองมรดกโลก การพัฒนาบริเวณท่าเรือใหม่ เพื่อให้เห็นประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของความยิ่งใหญ่รวมถึงการสร้างเกาะขึ้นมาใหม่ชื่อว่า Pulau Melaka ไม่ไกลจากชายฝั่ง ซึ่งจะทำให้มะละกากลายเป็นเมืองรีสอร์ตริมทะเลแห่งใหม่
แม้ความทันสมัยกำลังรุกคืบเข้ามาทุกวันๆ แต่ถนนแบบจีนโบราณ ร้านค้าแบบดั้งเดิมสไตล์โคโลเนียล วัดเก่าแก่ และสุสานโบราณ ยังคงฉายให้เห็นภาพของความยิ่งใหญ่ของยุคสมัยล่าเมืองขึ้นได้อย่างชัดแจ้งในห้วงคำนึง
ประเทศไทย: เล่าเรื่องสยามผ่านมิวเซียมสยาม
ถ้าคุณเคยไปงานนิทรรศการของ TCDC มาบ้าง คุณอาจไม่แปลกใจ เมื่อได้ไปเยี่ยมเยียนมิวเซียมสยาม หรือพิพิธภัณฑ์ที่บอกขานถึงเรื่องราวความเป็นสยาม
มิวเซียมสยามเริ่มเล่าตั้งแต่ความเป็นมาของตัวตึกรวมถึงสถาปัตยกรรมยุคดั้งเดิม
มิวเซียมสยามเริ่มสืบค้นความเป็นสยามตั้งแต่ก่อนยุคสมัยของสุวรรณภูมิ สมัยที่คนยังเดินหลังไม่ตรง และไดโนเสาร์ยังวิ่งอยู่รอบข้าง เครื่องมือเครื่องใช้สมัยดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ยุคหิน ยุคโลหะ มาจนถึงยุคเหล็ก ก่อนที่คนจะเริ่มจับกลุ่มเลิกเร่ร่อน และรวมตัวเป็นสังคมสร้างเมืองเกษตรกรรมขึ้นมา
จากการทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตัวเองก็พัฒนาขึ้นเป็นการเกษตรเพื่อการค้า ทั้งการค้าระหว่างหน่วยสังคมเล็กๆ ไปจนถึงการสร้างเป็นเมืองใหญ่และค้าขายกับเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป นั่นจึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้า วัฒนธรรม ศาสนาไปจนถึงผู้คนที่อพยพกันไปมา
มิวเซียมสยามให้ความสำคัญกับกรุงศรีอยุธยาค่อนข้างมาก อาจจะเป็นเพราะนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญและเป็นการทำให้ทั่วโลกรู้จักคำว่า "สยาม" ทำให้สยามมีพื้นที่ในแผนที่โลก อย่างไรก็ตาม มิวเซียมสยามขมวดปมการเปลี่ยนจากสยามมาสู่ความเป็นไทย พร้อมกับสอดแทรกอิทธิพลของวัฒนธรรมชาติตะวันตกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเป็นสยามและเป็นไทยมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะตั้งคำถามถึงความเป็นไทยและเราจะทำอะไรเพื่อไทย
มิวเซียมสยามอาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนพิพิธภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้ทั้งหมด อาจจะเปรียบเหมือนเอโดะมิวเซียมที่เน้นกล่าวถึงแต่เอโดะที่กลายเป็นโตเกียว อย่างไรก็ดี มิวเซียมสยามอาจจะต้องนิยามสยามว่าหมายถึงอะไรกันแน่ มีอาณาเขตพื้นที่ครอบคลุมไปถึงไหนบ้าง เพราะในความเข้าใจของหลายๆ คน สยามคือไทย ไทยคือสยาม อาณาเขตของสยามจึงน่าจะกว้างขวางกว่าเอโดะ สิงคโปร์ หรือแม้แต่มะละกามากมายนัก
ในแง่กลวิธี มิวเซียมสยามบอกเล่าเรื่องราวประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจ เพียงแค่ถ้าผมไม่ใช่คนไทยแล้ว ผมก็คงเดินดูอย่างตื่นตาตื่นใจโดยไม่คิดอะไรมาก เพราะไม่รู้ว่าหลายๆ เรื่องราวถูกเล่าข้ามไป ซึ่งถ้ามองถึงพัฒนาการของการสร้างพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยแล้ว มิวเซียมสยามโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางซากปรักหักพังของพิพิธภัณฑ์โบราณของไทย เพราะมิวเซียมสยามทำให้ทุกก้าวของการเดินเข้ามาอ่านเรียงความฉบับนี้มีจุดดึงดูดให้สนใจได้ตลอดเวลาด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องที่หลากหลาย มิใช่การวางสิ่งของกับข้อความเล็กๆ ให้เพ่งสายตาอ่านกันเองแบบพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งในประเทศไทย
พลันที่ผมเดินออกจากมิวเซียมสยาม ผมกลับเกิดคำถามที่หน้าทางออก เราจะทำอะไรเพื่อประเทศไทย หรือจริงๆ แล้วประเทศไทยต้องการให้เราช่วยอะไรหรือเปล่ากันแน่!
ว่าแล้ว...ผมก็แวะซื้อหนังสือเรียงความประเทศไทยกลับไปทบทวนความเป็นสยามอีกครั้ง ก่อนจะไปจิบกาแฟหอมกรุ่นนั่งชมพระปรางค์วัดอรุณริมแม่น้ำเจ้าพระยา มองเรือแล่นผ่านไปมาอย่างสงบในบ่ายวันอาทิตย์ที่แสงอาทิตย์ยังแผดจ้า และไม่มีเค้าว่าฝนจะตกมาในชั่วระยะเวลาสั้นๆ
อ่านเพิ่มเติม:
1. Japan, Lonely Planet, October 2003.
2. Philips, C (ed.). (2005), TimeOut Tokyo, London: Time Out Guides Ltd.
3. South-East Asia on a shoestring, Lonely Planet, May 1999.
4. เรียงความประเทศไทย โดย มิวเซียมสยาม
|