|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
|
หนุ่มผิวคล้ำวัย 33 ปี กำลังจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวหุ่น "เจ้าเงาะ" หุ่นสายแบบ Rod Marionette ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ ให้ดูมีชีวิตชีวาและมีอารมณ์สนุกสนาน ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์เจ้าเงาะตามจินตนาการของผู้ที่กำลังให้ลมหายใจแก่หุ่นผิวดำด้านหน้า
เชิดชัย ขะบูญรัมย์ บอกถึงเหตุผลที่ชอบคาแรกเตอร์ของเจ้าเงาะ ว่าแม้เจ้าเงาะจะตัวดำสนิท แต่ภายในใจอาจจะเต็มไปด้วยความดีและบริสุทธิ์ ...ฟังดูราวกับพูดให้กำลังใจตัวเอง
เชิดชัยเคยเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างประจำวินบางบัว แต่ก่อนเขาจะรับหน้าที่เป็นสารถีขับพาผู้โดยสารที่ต้องการมา "มันตาศิลปะการแสดง" อยู่บ่อยๆ และยังทำหน้าที่เป็นคนคอยบอกทางให้กับรถและเพื่อนร่วมวินที่ไม่รู้จักที่ตั้งของบริษัทมันตาฯ อยู่เสมอๆ
กว่า 4 ปีก่อน เชิดชัยเริ่มเข้ามาคลุกคลีในบริษัทมันตาฯ ด้วยการรับจ้างเป็นผู้รับส่งของที่จำเป็นต้องใช้สร้างพร็อพและเครื่องแต่งตัวสำหรับการแสดงและยังเป็นช่างซ่อมจำเป็นของที่นี่อีกด้วย
กระทั่งวันหนึ่งที่บริษัทมันตาฯ เริ่มนำหุ่นสายเข้ามาซ้อมการแสดง และเขาบังเอิญต้องไปส่งผ้าให้กับที่นี่ ด้วยความที่ไม่เคยเห็นหุ่นสายมาก่อนในชีวิต เขาจึงนั่งดูอยู่นานไม่ไปทำงานทำการเป็นวันๆ จนวันแสดงจริง เรื่อง "สัทธามหาบุรุษ" ละครหุ่นเรื่องแรกของคณะหุ่นสายเสมาและละครหุ่นสายเรื่องแรกที่เชิดชัยได้ชม
ขึ้นปีที่สอง เมื่อนักเชิดจากกลุ่มแกะดำ...ดำ ออกไป คณะหุ่นสายเสมาต้องการคนเข้ามาเสริม เชิดชัยจึงไม่ปฏิเสธที่จะเข้ามาทดลองจับทดลองเชิด ทั้งที่ไม่มีพื้นความรู้ด้านการเชิด ไม่มีพื้นฐานการแสดง และไม่ได้จบทางด้านศิลปะแต่อย่างใด
มีเพียงใจรักหุ่นสาย ความชอบศิลปะ และความใฝ่ฝันในการเข้ามาทำงานที่คณะหุ่นสายเสมา
"ผมตัดไม้เอง ขึ้นรูปเอง ซื้อไม้เอง ลงสีเอง งานศิลปะแบบนี้ถือเป็นความใฝ่ฝันของผมอยู่แล้ว เวลาที่ได้สร้างหุ่นออกมาแต่ละตัวผมมีความสุขและก็จะทุ่มเทมาก" เขาเชื่อว่าสายเลือดช่างเขียนโบสถ์ที่ตกทอดมาจากปู่ย่าตายายน่าจะมีส่วนในความเป็นศิลปินในตัวเขา
ทุกวันนี้เชิดชัยถือเป็นช่างศิลป์ประจำบริษัทมันตาฯ ทั้งสร้างหุ่น สร้างฉาก สร้างพร็อพ ฯลฯ หุ่นหลายๆ ตัวล้วนเป็นฝีมือและจินตนาการของเขาที่พัฒนาขึ้นมา รวมถึงหุ่นเจ้าเงาะตัวใหญ่ โดยระหว่างทำหุ่นเจ้าเงาะ เขาคิดเสมอว่าบทตัวเอกเช่นนี้คงเป็นของใครไปไม่ได้ นอกจากหัวหน้าคณะอย่างนิมิตร
แต่เมื่อนิมิตรไม่สะดวก หุ่นเจ้าเงาะก็เลยเลือกเชิดชัย!! คนในคณะหุ่นสายเสมาทุกคนเชื่อว่า พวกเขาไม่ได้เลือกหุ่น แต่หุ่นต่างหากที่เลือกคนเชิด ...ถ้าใช่ คนเชิดก็จะสามารถถ่ายทอดคาแรกเตอร์สู่หุ่นได้ราบรื่นราวกับเป็นหนึ่งเดียวกัน
เริ่มต้นจากการเชิดหุ่นตัวเล็กๆ บทน้อยๆ เช่น อาแปะบ้าง จอมมารในเรื่องสัทธามหาบุรุษบ้าง วันนี้เชิดชัยได้ขึ้นแท่นเป็นผู้เชิดหุ่นพระเอกในเรื่องเจ้าเงาะ แม้จะต้องทนปวดคอปวดไหล่ เพราะหุ่นตัวนี้หนักร่วม 10 กิโลกรัมเลยทีเดียว
จากมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เชิดชัยไม่เคยคิดว่าจะได้คลุกคลีในแวดวงศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะการแสดง ไม่เคยคิดว่าจะได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อนำงานศิลปะที่ตนสร้างไปอวดความเป็นไทยสู่ชาวโลก และยิ่งไม่เคยคิดว่าครั้งหนึ่งเขาจะมีส่วนร่วมในการพาหุ่นสายไทยไปคว้ารางวัลอันทรงเกียรติจากเวทีหุ่นโลกมาได้ ด้วยอายุเพียง 4 ปีกว่าของหุ่นสายเสมา เมื่อเทียบหุ่นสายหลายๆ ชาติที่มีอายุร่วมร้อยปี
แม้จะเลิกขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างอย่างจริงจังมาตั้งแต่ที่เข้าทำงานที่กลุ่มเสมา แต่บ่อยครั้งเวลาที่ว่างหรือยามเครียด เชิดชัยก็มักจะฉวยเสื้อวินออกไปขับรถรับส่งผู้โดยสารไปเรื่อยๆ สัก 20-30 นาที หรืออาจนานเป็น 2-3 ชั่วโมง ไม่ได้ตั้งใจไปหาเงิน แต่เพื่อเป็นการพักสมอง ผ่อนคลายจิตใจ และไปหาแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ ...สมเป็นอารมณ์ศิลปินของอดีตวินมอเตอร์ไซค์
"จริงๆ ถ้าขยันขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตรงนั้นก็น่าจะทำเงินได้เยอะกว่า แต่พอเรามาทางนี้ เงินอาจจะน้อยกว่าแต่ก็ไม่มาก เมื่อชดเชยกับการได้ทำสิ่งที่รัก ได้อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราห่วง ได้มาคอยดูแลว่าหุ่นเป็นยังไง มีอะไรต้องซ่อมตรงไหน แค่นี้ก็ถือว่าคุ้มแล้ว" เชิดชัยสรุปให้เห็นว่าเขาพอใจกับชีวิตศิลปินของเขาแค่ไหน
ทุกวันนี้เชิดชัยไม่ได้มีความสุขเพราะว่าได้ทำในศิลปะที่ตัวเองรักเท่านั้น แต่เขายังดูอิ่มเอิบใจที่ได้เห็นว่าลูกชายวัยเพียงขวบเศษของเขาเองก็รักในศิลปะที่เขาทำด้วยเช่นกัน
|
|
|
|
|