|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
|
บางกอก หรือกรุงเทพฯ ในอดีตเป็นเพียงตำบลหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บางกอกในครั้งกระโน้นมีความใกล้ชิดกลมเกลียวกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งเดียวเสมือนร่างกายและดวงวิญญาณอันจะแยกจากกันมิได้ ช่วงเวลา 200 ปีที่ผ่านมา บางกอกได้ผ่านวิวัฒนาการมาอย่างไรจนกลายเป็นกรุงเทพฯ เมือง Green Wi-Fi ในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้
ย้อนรอยอารยธรรม
บางกอกในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองท่าและศูนย์การค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในย่านสุวรรณภูมิ เรือต่างชาติที่จะเข้ามากรุงศรีอยุธยาจะต้องผ่านอ่าวไทยเข้ามาทางปากน้ำและบางกอก ดังปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของชนหลายชาติ ครั้นถึงคราวกรุงแตก พระเจ้าตากสินทรงกู้ชาติและทรงเลือกบางกอก ตอนนั้นตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีเป็นราชธานี ด้วยทรงเล็งเห็นจุดแข็งทางยุทธศาสตร์หลายประการ การสร้างเมืองจึงทรงมุ่งเน้นให้เป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคงต่อการรุกรานของศัตรู มีการสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบและป้อมปราการขนาดใหญ่ ป้อมที่หลงเหลืออยู่ทุกวันนี้คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในกองบัญชาการกองทัพเรือ
รอบนอกพระราชฐานเป็นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำสวนผลไม้ มีบ้านเรือนตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางกอก น้อยและคลองบางกอกใหญ่ ส่วนเส้นทางตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงอยุธยา เลยไปถึงสิงห์บุรีและอ่างทองก็เป็น พื้นที่ราบลุ่มดินดี มีการเพาะปลูกทั้งนาข้าว พืชผัก และผลไม้ สามารถส่งพืชผลมายังเมืองหลวงได้โดยสะดวก สองฟากฝั่งเต็มไป ด้วยวัดวาอาราม หลายวัดมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
กรุงเทพมหานครเมื่อเริ่มก่อตั้ง
ล่วงมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งบ้านเมืองสงบลง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลหลักคือ ต้องการสร้างบ้านเมืองให้กว้างขวางเป็นปึกแผ่นร่มเย็นเป็นสุข ฝั่งกรุงเทพฯ สามารถขยายเมืองออกไปได้มาก ฝั่งธนบุรี มีข้อจำกัดที่สภาพพื้นที่ติดกำแพงเมืองติดวัดที่สร้างขนาบอยู่สองด้าน
รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคูคลองขึ้นใหม่ขนานกับคูคลองเมืองชั้นในเดิม เพื่อขยายอาณาเขตของเมืองให้ กว้างขวางขึ้น นับเป็นแผนพัฒนาเมืองที่ดีในยุคนั้น เพราะคลองเป็นเสมือนเส้นชีวิตในทุกๆ ด้าน ทั้งเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ เป็นแหล่งรองรับน้ำหลากและอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ในสมัยนั้น ในการรองรับน้ำหลากอันเป็นปกติของเมืองกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างคลองเชื่อมปรับระดับน้ำ เรียกว่า คลองหลอด นอก จากนั้นยังโปรดเกล้าให้ขุดคลองทอดยาวออกไปทางตะวันออกของเมือง (แถบจังหวัดนนทบุรี) เพื่อเป็นเส้นทางติดต่อกับ ชนบท ซึ่งในฤดูน้ำหลาก (เดือน 11-12) ยังเป็นสถานที่ที่ชาวเมืองลงเรือประชุมเล่นเพลงสักวาเหมือนกรุงศรีอยุธยา นับเป็น เอกลักษณ์ที่แสดงวัฒนธรรม ศิลปกรรม และความสงบสุขของชนชาวสยามในยุคนั้น
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ เมื่อเริ่มก่อตั้งนั้นมีการวางแผนพัฒนาที่ดีเลิศ ทั้งนี้มาจากอัจฉริยภาพของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ที่ทรงมีวิจารณญาณทั้งทางด้านสภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และประเพณีวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ต่อมาในรัชกาลที่ 2 และ 3 ได้มีการเสริมต่อตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และ 3 ทรงเน้น ถึงการเสริมสร้างศิลปะ วรรณกรรม และวัดวาอาราม มีการสร้างวัดขึ้นอีกมากในรัชกาลที่ 3 เนื่องจากในรัชสมัยนั้นการค้าขายกับจีนเจริญรุ่งเรือง วัดหลายแห่งจึงเป็นศิลปะไทยผสมกับจีน โดยมากมักจะเป็นวัดประจำตระกูลของพ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในยุคนั้น กรุงเทพฯ คงจะเพียบพร้อมด้วยความสวย งามของสภาพพื้นที่ ศิลปกรรมและคุณภาพ ชีวิต ดังที่มีการกล่าวไว้ในวรรณกรรมหลาย เล่ม โดยเฉพาะของสุนทรภู่ทั้งยังมีบันทึกหลักฐานโดยสังฆราชปาลเลอกัวแห่งฝรั่งเศสบรรยายไว้ถึงความงามของกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2373
พัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองสากล
เมื่อเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 4 และ 5 อันเป็นยุคที่อิทธิพลตะวันตกแผ่ขยายเข้ามา หรือเรียกว่า ยุคล่าอาณานิคม ประเทศสยาม จำเป็นต้องผ่อนหนักผ่อนเบาไปตาม สถานการณ์ กุศโลบายของพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองรัชกาล คือ การยอมรับอิทธิพลและวัฒนธรรมตะวันตกในระดับหนึ่ง ตราบ เท่าที่ตะวันตกจะไม่ก้าวล้ำอธิปไตยของชนชาวไทย ทรงเล็งเห็นว่า การส่งเสริมทางด้านการศึกษาและการรับเอาเทคโนโลยี เข้ามาพัฒนาประเทศจะเป็นหนทางที่ประเทศสยามจะเอาตัวรอดและเจริญก้าวหน้าขึ้นทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงส่งพระเจ้าลูกเธอไปร่ำเรียนที่เมืองตะวันตก ซึ่งกำลังพัฒนาวิชาการในทุกๆ ด้าน
ช่วงนี้เองที่กรุงเทพฯ เริ่มพัฒนาขึ้นมาเป็นเมืองสากล มีการก่อตั้งการไฟฟ้า การรถไฟ หรืออีกนัยหนึ่งรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นระบบสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการต่างๆ ขึ้นมา ในด้านการศึกษาในประเทศ พระพุทธเจ้าหลวงทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งการศึกษาชั้นสูง ต่อมาคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนปลายรัชกาล ที่ 5 มีการสร้างถนนราชดำเนินอันกว้างใหญ่สง่างาม มีต้นไม้เรียงรายเพื่อให้เป็นถนนเดินชมเมือง เทียบเท่าถนนชองอาลิเซ่ ของกรุงปารีส ถนนอุลต้าลาเด็นของกรุงเบอร์ลิน ปลายสุดของถนนราชดำเนินนอก ตรงไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม อันตั้งตระหง่านเป็นศรีของบ้านเมือง
การเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตริมน้ำขึ้นมาบนบก
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 มีการสร้างบ้านแปลงเมืองเพิ่มขึ้น มีการตัด ถนนหลายสายออกไปทุกทิศทุกทางของกรุงเทพฯ การเติบโตของเมืองเกาะติดไปตามถนน ถนนเหล่านี้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯ จากที่เคยใช้ชีวิต อยู่กับน้ำมาแต่บรรพบุรุษให้เริ่มมาใช้ชีวิตอยู่บนบก มีการสร้างบ้านเรือนสวยงามแบบฝรั่งของคหบดีขึ้นมาบนบก ตามถนนเจริญกรุง สามเสน สาทร สีลม เพลินจิต การขยายตัวเป็นการแผ่ออกจากศูนย์กลาง ของเมืองเดิมไปตามเส้นทางถนนที่สร้างขึ้น ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ทรงเสริมแต่งกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่มากขึ้นด้วยทรงคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนเมือง จึงทรงพระราชทานที่ดินในบริเวณทุ่งศาลาแดงให้เป็นสวนสาธารณะ แห่งแรกของไทย คือ สวนลุมพินี
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปรวดเร็วอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ มีการก่อสร้างอาคารแบบตึก แถวขึ้นมากมาย การใช้ชีวิตริมน้ำและประเพณีทางน้ำตามคลองเล็กคลองน้อยทั่วกรุงเทพฯ แทบจะหายไปหมด เพราะคลองจำนวนมากถูกถมเป็นถนน จนรัฐไม่สามารถสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับได้ทัน การเติบโตเริ่มปรวนแปรไร้ทิศทาง การวางแผนพัฒนาเมือง การวางผังเมืองกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน การจราจรและขนส่งมวลชน และการออกข้อบังคับอาคารและการก่อสร้างต่างๆ ล้วนหย่อนยานไม่มีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นสถานภาพของการปกครองประชา ธิปไตยแบบเผด็จการ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองที่คำนึงถึงเศรษฐกิจที่แฝงด้วยประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพชีวิตและสังคมโดยรวม
การเติบโตโดยไร้ทิศทางของกรุงเทพฯ
หลัง พ.ศ.2500 มีการ ตัดทางหลวงเชื่อมต่อระหว่าง กรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่างๆ แต่แทนที่จะสร้างความเจริญไปสู่ชนบท กลับนำไปสู่การหลั่งไหลของประชากรจากชนบทเข้ามายังเมือง เพื่อหางานทำในเมืองหลวง ทุกวันนี้กระแสการอพยพเข้าเมืองก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ อะไรเป็นสาเหตุ ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่จะแก้ปัญหานี้ได้ และนับวันก็ยิ่งพอกพูนขึ้น อาจเป็นเพราะความยากจน ขาดการศึกษา ขาดการกระจายความเจริญ ไปสู่ท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เข้มแข็ง การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม กัน กระแสวัตถุนิยม น่าจะเป็นสาเหตุทุกอย่างดังกล่าวรวมกัน
การอพยพเข้าเมืองตลอดช่วงหลาย สิบปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความต้องการที่อยู่ อาศัยและสาธารณูปโภคมากขึ้น เกิดเป็นชุมชนแออัด เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมา ดังมีเพลงที่แต่งขึ้นสะท้อนให้ เห็นสภาวะความเป็นจริง "อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้ พี่เคยไปมาแล้วน้องแก้วเอ๋ย" แม้ว่าผู้บริหารกรุงเทพฯ หลายคนที่ผ่านมา เริ่มมีความตระหนักและพยายามที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ เช่น มลภาวะ น้ำท่วม ขยะ สวนสาธารณะ แต่ก็ยังเป็นลักษณะของการขายผ้าเอาหน้า รอด หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไป มิใช่เป็นการแก้ไขระยะยาวอย่างเป็นระบบที่ดี ยังขาดการวางแผนที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่สำคัญขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
จุดอ่อนอยู่ที่ไหน
การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการขยายตัวเมืองออกไปโดยขาดการควบคุมและวางแผนที่เหมาะสมนั้นแหละ ที่นำไปสู่ความยุ่งเหยิงไร้ระบบ ยกตัวอย่างเช่น
- การถมคลองสร้างถนนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการวางเครือข่ายให้เชื่อมโยงกัน ขาดการโซนนิ่ง (กำหนดการใช้ประโยชน์ ที่ดิน) ไม่มีการวางแผนการระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่มีระบบสาธารณูป โภครองรับ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด น้ำท่วมเจิ่งนอง และมลภาวะ
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไม่มีการคุมกำเนิดจำนวนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ทำให้การจราจรหนาแน่น
- ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิ ภาพทำให้คนต้องซื้อรถส่วนตัวใช้
- ระบบโรงเรียนที่ไม่มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทำให้ผู้ปกครองต้องส่งเด็กไปเรียนไกลจากบ้าน
จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการจัดการที่อ่อนแอและการบังคับใช้กฎหมาย ที่หย่อนยาน ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยตลอดมา เช่น ผังเมืองที่ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง กฎหมายและข้อบังคับการก่อสร้างอาคาร การจัดระเบียบ การรักษาความสะอาดที่ไม่เข้มงวด ปล่อยให้ "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" จุดอ่อนนี้เปิดช่องว่างให้การดำเนินงานเกือบทุกโครงการถูกแทรกแซงด้วยการรับสินบนอย่างยกโขยง
จุดอ่อนที่ซ่อนอยู่อีกอย่างคือ การขาดวิสัยทัศน์ที่จะวางแผนให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน การแก้ปัญหาแบบแยกส่วน ทั้งๆ ที่ปัญหาต่างๆ นั้นเกี่ยวเนื่องกันไม่นำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน
จุดอ่อนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยู่ในวิสัยที่แก้ไขได้ ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และคณะผู้บริหารรวมทั้งเจ้าหน้าที่ กทม.ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด บทบาทของประชาชน มีอยู่หลายช่องทาง ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่มชุมชนดูแลสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่ของ ตนเอง การปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองดีโดยเคารพกฎหมายข้อบังคับ ช่วยกันรักษา ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ประหยัดพลังงาน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนผู้ที่มีความรู้ความสามารถควรจะอาสา เข้ามารับเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบาย ในฐานะ สก., สข. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นอาจส่งเสริมได้ด้วยการให้การศึกษาทางสิ่งแวดล้อมกับประชาชนมากขึ้น เพื่อสร้างจิตสำนึก ซึ่งท่านผู้ว่า กทม.คนก่อนก็ได้ดำเนินการอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่จำเป็นต้องทำให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ความหวังของคนกรุงเทพฯ
แน่นอนที่คนกรุงเทพฯ จะต้องภาคภูมิใจที่กรุงเทพฯ และอารยธรรมของไทย จะได้เป็นที่รู้จักชื่นชมของประชาคมชาวโลก ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นด้วย การได้เป็นมรดกโลกจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดให้มีการอนุรักษ์จัดการที่ดีอย่างต่อเนื่อง มิใช่แต่เพียงการจัดฉากสำหรับงานพิธีและการท่องเที่ยวเท่านั้น แม้ว่าขอบเขตที่ขอขึ้นทะเบียนจะจำกัดอยู่เพียงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงท่าวาสุกรีถึงสะพานพุทธ ซึ่งมีพระบรมมหาราชวังและวัดหลวงต่างๆ ตั้งอยู่รายรอบ แต่ก็หวังว่าการจัดการจะมิได้มุ่งเน้นถึงความอลังการของสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงตลาดชุมชนและสภาพแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งเป็นความเป็นอยู่ที่แท้จริงด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดการที่จะเกิดขึ้นในส่วนนี้ ถ้าเป็นไปได้ อาจเป็นต้นแบบที่จะขยายผลไปยังกรุงเทพฯ ส่วนอื่นๆ ได้ด้วย แต่จะสัมฤทธิผลอย่างยั่งยืนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันบริหารจัดการ มิใช่เป็นความรับผิดชอบของผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ กทม.แต่ฝ่ายเดียว
|
|
|
|
|