|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
|
จำวง ABBA กันได้ไหมคะ
สำหรับผู้อ่านที่อายุอานามยังไม่ถึง 30 อาจจะนึกกันลำบากหน่อย แต่ถ้ามีใครเปิดเพลง Dancing Queen ให้ฟัง เชื่อว่าหลายคนคงต้องร้อง "อ๋อ...!"
สำหรับแฟนพันธุ์แท้คงคุ้นหูกับเพลงอื่นๆ ของ ABBA เช่น Money Money Money หรือ Mama Mia! ที่มีคนเอาไปทำเป็นละครเวทีที่กำลังเป็นภาพยนตร์โด่งดังอยู่ในขณะช่วง 3 สัปดาห์ที่ผู้เขียนเข้าคอร์สอบรมเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ ณ สำนักจดทะเบียนสิทธิบัตรของประเทศสวีเดน วิทยากรทุกคนยก ABBA เป็นกรณีศึกษาให้ผู้เข้าอบรมฟัง เพราะ ABBA เป็นเสมือน ตัวแทนความสำเร็จอันสูงสุดของชาวสวีเดน เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ เนื่องจาก ABBA เป็นกลุ่มศิลปินวงแรกที่สามารถไปตีตลาดดนตรีในระดับโลกได้สำเร็จและยังครองส่วนแบ่งตลาดได้มาจนทุกวันนี้
แม้เวลาจะล่วงเลยมา 30 กว่าปีแล้วแต่ความนิยมก็ยังไม่เสื่อมคลาย
วิทยากรทุกท่านกล่าวว่าที่ ABBA ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้เป็นเพราะกฎหมายลิขสิทธิ์อันเข้มข้นของสวีเดนนั่นเอง
สวีเดนเป็นประเทศแนวหน้าด้าน กฎหมายลิขสิทธิ์ โดยให้การคุ้มครองเจ้าของผลงานอย่างเต็มที่ มีโครงสร้างในสังคม ที่คอยติดตาม ตรวจสอบการนำผลงานที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้โดยไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังคอย สอดส่องตามเก็บค่าลิขสิทธิ์จากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้แก่เจ้าของผลงาน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมประเทืองปัญญาของตน เป็นการส่งเสริมให้ศิลปินนักเขียน นักถ่ายรูป ฯลฯ สามารถรังสรรค์ผลงานเชิงศิลป์ออกมาให้สังคมเสพอย่างต่อเนื่อง
กฎหมายลิขสิทธิ์ของสวีเดนมีประสิทธิภาพถึงขนาดที่สหรัฐอเมริกาเองยังต้องคอยจับตามองความเคลื่อนไหวทางด้านการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในสวีเดนอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังพยายามติดตามผลการตัดสินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ใน สวีเดน เพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศของตนอีกด้วย
แต่กฎหมายจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถ้าไม่มีการนำไปปฏิบัติ นั่นหมายถึงว่าประเทศจะต้องมีองค์กรกลางเข้ามาดูแลผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งจะช่วยให้ตัวเจ้าของลิขสิทธิ์เองมีเวลาไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ แทนที่จะต้องมาเฝ้าระวังว่าใครจะมาละเมิดลิขสิทธิ์ของตน โดยนำผลงานของตนไปใช้ทั้งที่ยังไม่ขออนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ตน
องค์กรกลางที่ว่านี้คือ Collective Management Society แปลง่ายๆ ได้ว่า สมาคมจัดการผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์
ขอเน้นคำว่า "กลุ่ม" หรือ Collective ว่าเป็นคำสำคัญ เนื่องจากองค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (non-profit organisation) ที่ดูแลจัดเก็บผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มศิลปิน (ไม่ใช่ เก็บให้กับศิลปินคนใดคนหนึ่ง หรือศิลปินในค่ายเพลงของตนเองอย่างในบ้านเรา) โดยองค์กรจะจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้แก่ศิลปินที่มาลงทะเบียนเป็นสมาชิกกับสมาคมของตน และนำรายได้เข้ากองกลาง จากนั้นพอสิ้นปีก็จะมีการคำนวณเพื่อพิจารณาว่าผลงานของศิลปินใดถูกนำไปใช้เป็นจำนวนเท่าใด แล้วจึงจัดสรรค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามสัดส่วนของการถูกนำผลงานไปใช้
ในสวีเดน สมาคมจัดการผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์แบ่งออกเป็นหลายสมาคม (แต่ไม่มากเท่ากับบริษัทจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ซึ่งมีถึงประมาณ 18 บริษัท) ตามประเภท ของผลงานที่มีลิขสิทธิ์ (เช่น ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ นิตยสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ ซอฟต์แวร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รูปถ่าย การแสดงละครเวที ฯลฯ) โดยมีองค์กรแม่ (umbrella organisations) หลักๆ คือ
1) Copyswede เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานกับองค์กรลูกที่ดูแลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ของสื่อโสตทัศนูปกรณ์ ในกรณีของการนำผลงานไปเผยแพร่ซ้ำ เช่น
- การแพร่ภาพซ้ำ ส่งสัญญาณออก อากาศซ้ำทางสายเคเบิล (เช่น ทางโทรทัศน์ และเคเบิลทีวี ไม่รวมการแพร่ภาพผ่านสัญญาณดาวเทียม) ของผลงานที่เกี่ยวกับภาพและเสียง (ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ)
- การทำซ้ำ (copy) สื่อภาพและเสียง โดยบุคคลทั่วไป เพื่อการบันเทิงส่วนตัว เช่น การก๊อบปี้เพลงลงบนแผ่นซีดี
2) Bonus Presskopia ดูแลจัดเก็บ ค่าลิขสิทธิ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ ในกรณีที่ผลิตซ้ำ (reprography) เช่น พิมพ์รูปภาพซ้ำ หรือการถ่ายเอกสารจากหนังสือ นิตยสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีองค์กรย่อยที่ดูแลผลประโยชน์ให้แก่เจ้าของผลงาน แบ่งตามประเภทของผลงาน เช่น
ด้านเพลงและการบันทึกเสียง
- STIM (Svenka Tonsattares Internationalella Musikyra หรือ The Swedish Performing Right Society) ซึ่งดูแลจัดเก็บผลประโยชน์ให้แก่ผลงานทางด้านเสียงเพลง ทั้งลิขสิทธิ์ในการแสดง สด (performing rights) และลิขสิทธิ์ในตัวสินค้าที่เกี่ยวกับเพลง เช่น CD DVD เทปเพลง (mechanical rights) เป็นต้น
- SAMI (Swedish Artists' and Musicians' Interest Organisation) ดูแลสิทธิประโยชน์ให้แก่ศิลปินและนักดนตรีของสวีเดน ก่อตั้งเมื่อปี 1963 โดยสหภาพ แรงงานนักดนตรีและสหภาพแรงงานนักแสดงในสวีเดน โดยองค์กรทำหน้าที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ผลงานของนักแสดง นักดนตรี และศิลปิน ในที่สาธารณะ (public use) เช่น การแพร่ภาพออกอากาศผลงานภาพยนตร์ ละคร หรือการแสดงดนตรีทางโทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ ซึ่ง SAMI เป็นสมาชิกขององค์กรแม่ Copyswede
ด้านสื่อสิ่งพิมพ์
- ALIS (The Administration of Literary Rights in Sweden) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 1995 โดยสมาคมนักเขียน 4 แห่งในสวีเดน ทำหน้าที่ เป็นตัวแทนให้แก่นักเขียนที่เป็นสมาชิกของ องค์กรกว่า 2,500 คน เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของนักเขียนในกรณีที่งานเขียนของตนถูกนำไปใช้ซ้ำ นอกจากนี้ยังช่วยทำ หน้าที่ต่อรองและเป็นตัวแทนให้แก่นักเขียน (ทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม) ในการเซ็นสัญญากับบริษัทผู้พิมพ์
ด้านทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย ภาพวาด งานปั้น งานแกะสลัก ฯลฯ)
- BUS (Bildkonst Upphovsratt i Sverige, ek for. Sweden) ทำหน้าที่ดูแล เก็บค่าลิขสิทธิ์ในงานทัศนศิลป์ (visual arts) นอกจากนี้ยังช่วยศิลปินในการพิจารณาสัญญาเกี่ยวกับค่าตอบแทนในผลงานของเขา ก่อนการเซ็นสัญญา รวมทั้งตรวจตราว่ามีการอ้างอิงชื่อเจ้าของผลงานอย่างถูกต้องในกรณีของการนำผลงานทางศิลปะของเขาไปใช้ในเชิงการค้าหรือไม่
- IFRRO (International Federation of Reproduction Rights Organisations) ดูแลเรื่องการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในกรณีของการพิมพ์ซ้ำของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยคุ้มครองสิทธิให้แก่นักเขียน (author) ผู้พิมพ์ (publisher) และผู้สรรค์สร้างงานทัศนศิลป์ (visual creator)
นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ให้แก่บริษัทแผ่นเสียง คือ IFPI ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทแผ่นเสียงทั่วโลกกว่า 1,400 บริษัท ครอบคลุม 73 ประเทศ โดยภารกิจหลักขององค์กรคือ พิทักษ์และคุ้มครองลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตแผ่นเสียง ซึ่งสมาชิกของ IFPI ส่วนใหญ่คือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดเพลงทั่วโลก เกือบทั้งหมด เช่น Virgin Music, Sony BMG, Warner Music, EMI, Capitol Music, Columbia ฯลฯ
เขาคำนวณค่าลิขสิทธิ์กันอย่างไร
สำหรับการคำนวณค่าลิขสิทธิ์นั้น มีหลายวิธี ในกรณีของการฉายภาพยนตร์เก่าๆ ซ้ำตามโทรทัศน์ เคเบิลทีวี (หลังจาก ฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้ว) ทางสมาคมที่ดูแลผลประโยชน์ด้านสื่อภาพยนตร์ ก็จะขอผังการแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์ช่องนั้น ตลอดระยะเวลา 12 เดือน เพื่อบันทึกว่าใน 1 ปีมีการออกอากาศภาพยนตร์เรื่องอะไรบ้าง ภาพยนตร์ แต่ละเรื่องมีนักแสดงคนใดบ้างที่เป็นสมาชิกของสมาคมของตน รวมแล้ว นักแสดงรายนั้นมีผลงานภาพยนตร์แพร่ภาพทางโทรทัศน์กี่เรื่องใน 1 ปี จากนั้นทางสมาคมก็จะคำนวณค่าลิขสิทธิ์ และทำการ จัดส่งจำนวนเงินที่เป็นผลประโยชน์ของนักแสดงรายนั้นให้แก่นักแสดงเมื่อถึงเวลาสิ้นปี อีกวิธีหนึ่งคือการคำนวณเป็นอัตราที่แน่นอน เช่น กี่โครเนอร์ (หน่วยเงินของสวีเดน) ต่อสถานี ต่อครัวเรือน (ที่สัญญาณ ของสถานีสามารถครอบคลุมถึง) ต่อเดือน ซึ่งก็เป็นแรงจูงใจให้นักแสดง ดารา พิธีกรของประเทศสวีเดน เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรจัดเก็บผลประโยชน์เหล่านี้ เนื่องจากนั่งอยู่เฉยๆ ก็มีคนคอยติดตามดูแลจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับตน เป็นรายได้เสริม
สำหรับเพลงนั้น การคำนวณก็ทำ ได้ไม่ยุ่งยากเช่นกัน คือนอกจากองค์กรจะจัดเก็บผลประโยชน์จากร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ร้านกาแฟ (เช่นเดียวกับไทย) แล้ว องค์กรดังกล่าวยังตามเก็บผลประโยชน์จากสถานีวิทยุต่างๆ ซึ่งการคำนวณค่าลิขสิทธิ์นั้นจะเหมือนกับในกรณีของสถานีโทรทัศน์ เพราะเป็นเพียงการขอผังการออกอากาศของสถานีวิทยุนั้นๆในแต่ละวัน มาพิจารณาว่าในปีหนึ่งๆ ทาง สถานีเล่นเพลงของศิลปินคนไหนไปบ้าง กี่เพลง และเพลงนั้น ใครเป็นคนร้อง ใครเป็นคนแต่งทำนอง และเนื้อร้อง จากนั้นจึง คำนวณค่าลิขสิทธิ์เป็นรายปี และแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มีสิทธิในผลประโยชน์ของเพลงๆนั้นทุกคน (ทั้งนักร้อง คนแต่งเนื้อร้องทำนอง ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน ฯลฯ)
สิ่งที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ การเก็บค่า ลิขสิทธิ์จากแหล่งอื่น เช่น ตามโรงพยาบาล ทัณฑสถาน (ใช่ค่ะ คุณผู้อ่านอ่านไม่ผิดหรอก) บริษัท ออฟฟิศต่างๆ ที่มีการเล่นเพลง หรือเปิดวิทยุในสถานประกอบการของตน ทั้งเพื่อเป็นการสร้างความบันเทิงใจ และผ่อนคลายให้กับลูกค้า (ซึ่งในกรณีของ ทัณฑสถานหรือคุกนั้น ลูกค้าก็คือผู้ต้องโทษ นั่นเอง) หรือแม้แต่พนักงานของตน ซึ่งในกรณีของออฟฟิศและบริษัทนั้น หากพนักงานเล่นซีดี หรือเปิดวิทยุฟังเพลงคลอไปเบาๆ ขณะทำงาน ทางบริษัทก็ต้องจ่ายค่า ลิขสิทธิ์ให้กับองค์กรดูแลผลประโยชน์เหล่านี้ด้วย
โดยส่วนใหญ่เป็นการเหมาจ่าย เช่นสมมุติเอาว่า ใน 1 ปี ออฟฟิศนี้เปิดฟัง วิทยุทุกช่องอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะเก็บค่าลิขสิทธิ์แบบเหมาเป็นรายปีเข้าเงินกองกลางของทางองค์กร จากนั้นจึงทำการคำนวณโดยทำการสำรวจสุ่มตัวอย่างผู้บริโภคว่าในปีนั้นๆ เขาฟังเพลงของใครบ้าง จากนั้นจึงมาคำนวณว่าศิลปินรายใดควรจะได้ค่าลิขสิทธิ์เท่าใด แล้วองค์กรก็จะจัดส่งค่าลิขสิทธิ์ให้เมื่อสิ้นปี
เหตุที่ต้องเหมาก็เพราะคงเป็นไปไม่ได้ถ้าองค์กรจะบังคับให้ผู้บริโภค หรือ ห้างร้านต่างๆ มานั่งจดรายละเอียดกันทุกวันว่า วันหนึ่งๆ เขาเล่นเพลงของใครไปบ้าง จึงใช้วิธีเหมาจ่ายแทน
ค่าเหมาจ่ายนี้คงไม่มากเท่าไหร่ เรียกว่าไม่เกินกำลังที่ผู้ซื้อพอจะจ่ายได้ ซึ่งผู้เขียนลองคุยกับเพื่อนๆ ชาวสวีเดนที่ไม่ได้ทำงานกับภาครัฐ ก็ปรากฏว่าพวกเขา ก็ไม่เดือดร้อนที่จะจ่าย กลับเห็นดีเห็นงามเสียอีกว่าการเก็บค่าลิขสิทธิ์ให้กับศิลปิน ตามระบบ Collective Management Society ที่ทำอยู่ในสวีเดนเหมาะสมแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เอากับแผ่นซีดีเปล่า ดีวีดี หรือ เทปคาสเซ็ต หรือเทปวิดีโอเปล่า รวมทั้งเครื่องเล่นวิดีโอ เครื่องเล่น MP3 ที่มีเนื้อที่ สำหรับการอัดบันทึกภาพและเสียงอยู่ในตัว รวมทั้งฮาร์ดดิสก์ในคอมพิวเตอร์ ค่าลิขสิทธิ์ ดังกล่าวเรียกว่าค่า Private Copying Levy
ทำไมถึงต้องเก็บค่าลิขสิทธิ์จากการซื้อเทป ซีดี หรือดีวีดีเปล่า?
Copyswede ซึ่งดูแลผลประโยชน์การเก็บค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวให้เหตุผลว่า คนที่ซื้อซีดีหรือดีวีดีเปล่า ฯลฯ นั้น ส่วนใหญ่ซื้อไปเพื่อจะก๊อบปี้เพลงทางอินเทอร์เน็ต หรือก็อบเพลงภาพยนตร์จากแผ่นออริจินอลของเพื่อนพี่น้องของตน เพื่อเอาไว้ใช้ส่วนตัวนั่นเอง แม้แต่ตัวฮาร์ดดิสก์ที่มา กับคอมพิวเตอร์เวลาเราซื้อเครื่องคอมฯ นั้น คงมีบางส่วนที่ทุกคนเก็บเนื้อที่ของฮาร์ดดิสก์ ไว้ดาวน์โหลดเพลง หรือภาพยนตร์เช่นกัน ซึ่งถ้าไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์เลยก็จะถือว่าไม่เป็น ธรรมต่อศิลปินผู้สรรค์สร้างผลงาน
ฟังดูแล้วไม่ค่อยเป็นธรรมสักเท่าไหร่ เพราะหลายคนแย้งว่า ที่ซื้อซีดีหรือดีวีดีเปล่าไป ก็เพื่อจะไปเก็บไฟล์รูปถ่ายหรือไฟล์เอกสารของตนเอาไว้ ไม่ได้เอามาก๊อบ เพลงสักหน่อย
แต่องค์กรต่างๆ กลับให้เหตุผลว่า ค่าลิขสิทธิ์ที่เก็บกับซีดีเปล่าเหล่านี้ คิดเป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เทียบแล้วราคาไม่กี่บาทต่อแผ่น และเก็บจากองค์กรที่ผลิตและนำเข้าแผ่นซีดี ดีวีดี หรือเทปเปล่า โดยไม่เก็บจากสินค้าที่ส่งออก รวมทั้งสินค้าที่ผลิตมาสำหรับคนพิการ (เช่น ในกรณีของการผลิตหนังสือเสียงเพื่อ คนพิการทางสายตา)
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายบริษัทนำเข้า และผู้ผลิตเทป ซีดี ดีวีดีเปล่า ก็ต้องส่งต่อภาระในการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอยู่วันยังค่ำ
ซึ่งเท่าที่ผ่านมา คนซื้อก็เต็มใจจ่าย (ทางองค์กรเขาว่า) เพราะเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก ถือว่าช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม บันเทิงและศิลปินในประเทศของตน
แล้วเขาเก็บกันในอัตราเท่าไหร่?
ทาง Copyswede บอกว่ากฎหมาย ลิขสิทธิ์ของสวีเดนได้กำหนดอัตราการเก็บค่าลิขสิทธิ์ในกรณีของ Private Copying
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ค่าลิขสิทธิ์ที่เก็บจากซีดีและดีวีดีเปล่าแต่ละแผ่น ควรจะนำส่งให้แก่ศิลปินรายไหน เพราะในเมื่อเป็นแผ่นเปล่า ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคตคนซื้อจะซื้อแผ่นเปล่านั้นไปก๊อบปี้เพลงหรือภาพยนตร์ของใคร
คำตอบก็คือ ทำการสุ่มตัวอย่างจากผู้บริโภคอีกนั่นเอง โดยสุ่มสัมภาษณ์ว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคดาวน์โหลดภาพยนตร์ หรือเพลงของใครบ้าง แล้วจึงคำนวณตามนั้น จากนั้นจึงจัดสรรค่าลิขสิทธิ์ ให้แก่ผู้มีสิทธิในลิขสิทธิ์ของผลงานของตน
ทั้งนี้ องค์กรบางแห่งบอกว่า ตนทำ การสุ่มตัวอย่างอย่างน้อยก็ปีละครั้งและทำทุกปี แต่บางกรณีก็ทำการสุ่มตัวอย่างปีละหลายครั้ง เนื่องจากการสุ่มตัวอย่างผู้บริโภคนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะประโยชน์ในการคำนวณค่าลิขสิทธิ์เพื่อจัดส่งให้แก่เจ้าของผลงานเท่านั้น แต่องค์กรยังใช้ข้อมูล ที่ได้มาประเมินการกำหนดค่าลิขสิทธิ์ที่จัดเก็บจากทางห้างร้าน หรือจากแผ่นซีดีเปล่าอีกด้วย ว่าควรจะอยู่ในอัตราเท่าใด และอัตราที่จัดเก็บอยู่นั้น เหมาะสมแล้วหรือไม่
ซึ่งหากพิจารณาจากข้อมูลสุ่มตัวอย่างแล้ว องค์กรรู้สึกว่าอัตราที่จัดเก็บอยู่นั้นน้อยไป ทางองค์กรก็จะนำข้อมูลที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างเป็นหลักฐานในการ ต่อรองกับบริษัท ห้าง ร้าน หรือผู้ผลิตซีดีเปล่า เพื่อขอขึ้นค่าลิขสิทธิ์ก็เป็นได้
แล้วในกรณีของนักดนตรีข้างถนน ที่นำเสนอเสียงเพลงให้แก่ผู้ที่เดินผ่านไปมา โดยนำเพลงดังของคนอื่นมาร้องแล้วเปิดกล่องกีตาร์ของตนขอรับบริจาคล่ะ สมควร จะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของผลงานหรือไม่
สำหรับกรณีนี้ทางองค์กร STIM กล่าวว่าตามหลักแล้วก็ควรจะเก็บ เนื่อง จากเป็นการนำผลงานของผู้อื่นมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพียงแต่ว่าองค์กรของตนนั้นไม่สามารถตาม เก็บค่าลิขสิทธิ์จากศิลปินข้างถนนเหล่านี้ได้ จึงถือว่าเป็นการอนุโลมให้ ทั้งๆ ที่ศิลปินเหล่านี้ก็ละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน
หากกฎหมายดังกล่าวถูกนำมาบังคับใช้ในประเทศไทย เชื่อว่าวงดนตรีคนตาบอดที่ขอบริจาคตามสะพานลอย คงลำบากกันถ้วนหน้า แต่โชคดีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่มีโครงการจะนำนโยบายดังกล่าวมาใช้
ผู้แทนของ STIM กล่าวเสริมอีกว่า ศิลปินข้างถนนเหล่านี้ ควรมาสมัครเป็นสมาชิกกับองค์กรของตน (สมัครฟรี) เพราะหากมีวิทยุคลื่นไหนสนใจเพลงของเขาและอยากได้เพลงไปเปิดในรายการวิทยุของตน โอกาส "แจ้งเกิด" ของศิลปินเหล่านั้นก็จะมีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีศิลปินบางรายในสวีเดนแจ้งเกิดด้วยวิธีนี้มาบ้างแล้ว
ความสำเร็จของ ABBA และกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุมเข้มของสวีเดน ทำให้ศิลปินกลุ่มอื่นๆ ของสวีเดน มีโอกาสแจ้งเกิดในตลาดโลกตามกันมาติดๆ เช่น วง Ace of Base และ Roxette ที่โด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว แม้แต่ปัจจุบันใครจะรู้บ้างว่าเพลงดังของ Britney Spears อย่าง Toxic ก็เป็นผลงานของนักแต่งเพลงชาวสวีเดนอย่าง Christian Karlsson และ Henrik Jonback ส่วนเพลงดังในชุดแรกของ Britney Spears อย่าง Sometimes และ Your Drive Me Crazy ก็แต่งโดยนักแต่งเพลงชาวสวีเดน Jorgen Elofssson เช่นกัน
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของสวีเดนยังมีอยู่อีกมาก ฉะนั้นผู้เขียนจะขออนุญาตนำมาเล่าเป็นตอนๆ ให้คุณผู้อ่านได้อ่านในโอกาสต่อๆ ไป
|
|
|
|
|