|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
|
หากเลือกได้ มีอยู่ 2 อาชีพที่คนทั่วไปไม่คิดจะเลือกทำ "ขายตรง" และ "ขายประกัน" ทว่าทั้งสองอาชีพเจริญเติบโตและยืนหยัดมาได้ตราบทุกวันนี้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
"นักขายของแอมเวย์เหรียญทองไม่ได้มีเหรียญเดียว แต่มีสำหรับทุกคนที่เข้าถึงเส้นชัย ไม่ว่าคุณจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน อย่าให้คุณเลิกหรือหลงทาง" ปรีชา ประกอบกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด
"คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถ และดึงพลังมาใช้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผมดูถูกตัวเองมาตลอด ติดทีมชาติฟลุค ติดทีมชาติบังเอิญ ไม่เก่งหรอก เรา look down ตัวเองโดยไม่รู้ตัว ผมมีวันนี้ได้เพราะเจ้านายดึงอัจฉริยภาพผม" สรรค์ชัย ลาภสัมปันน์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายตัวแทน บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต
อาชีพขายตรงและขายประกัน นอกจากจะไม่เป็นที่พึงประสงค์ยึดเป็นอาชีพหลักแล้ว หลายๆ คนถึงกับรังเกียจและต่อต้าน เพราะบางคนมีประสบการณ์โดยตรงกับพนักงานขายที่ตื๊อขายของหรือบริการอย่างไม่ลดละ รวมไปถึงได้ยินได้ฟังมามากและส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวด้านลบ
แต่ทั้งสองธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีและธุรกิจกำลังขยายขอบเขตกว้างขึ้นทุกๆ วัน
กุญแจที่ไขความสำเร็จของสองธุรกิจนี้คือ "คนสร้างคน" บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางและอาหารเสริมยี่ห้อแอมเวย์ที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบระบบขายตรง หรือเอ็มแอลเอ็ม (Multi-Level Marketing:MLM)
ผู้บริหารที่กุมบังเหียนธุรกิจแอมเวย์ ในเมืองไทยมาตลอดระยะ 2 ทศวรรษขณะนี้กำลังก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 3 อย่าง ปรีชา ประกอบกิจ วัย 60 ปี ในฐานะกรรมการผู้จัดการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการสร้างแอมเวย์ในเมืองไทยให้มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจขายตรง
เขาสร้างรายได้ 10 ปีแรก 5,000 ล้านบาท (ปี 2530-2540) หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมาเขาทำรายได้เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท และในปี 2550 มีรายได้ 11,330 ล้านบาท และในอีก 5 ปีข้างหน้า แอมเวย์ ตั้งเป้าหมายไว้จะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว หรือ 20,120 ล้านบาท
ส่วน บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต บริษัทขายประกันชีวิตที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 3 ในปัจจุบันก็มีความฝัน และเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็นที่ 1 ในธุรกิจประกันชีวิตในอีก 3 ปีข้างหน้า
โครงสร้างธุรกิจของแอมเวย์และบมจ.อยุธยา อลิอันซ์ มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันมาก คือ สินค้าบริการ และพนักงานตัวแทนขาย
หัวใจของธุรกิจขายตรงและขายประกันที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบใหญ่และไปถึงฝั่งฝันได้นั้นคือ ตัวแทนขาย (agency)
ปรีชาในฐานะผู้บริหารหมายเลข 1 ของแอมเวย์ และสรรค์ชัย ลาภสัมปันน์ชัย วัย 52 ปี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายตัวแทน บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต เป็นนักสร้างตัวแทนขายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาคนแล้วคนเล่า
สองคนนี้ก็มีวิธีสร้างตัวแทนขายที่คล้ายคลึงเช่นเดียวกัน
ปรีชาแม้จะมีอายุ 60 ปี แต่ยังดูแข็งแรงและอารมณ์ดีในวันที่ให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" ร่วมสองชั่วโมง แม้ว่าความจริงแล้วเขาจะต้องเกษียณอายุภายในปีนี้ก็ตาม แต่บริษัทแม่ประเทศสหรัฐอเมริกาขอให้เขาทำงานต่อไป เขาก็เลยตั้งใจจะทำงานอีก 3 ปี
ปรีชาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของแอมเวย์ที่ยังไม่มีใครสามารถแทนเขาได้ในช่วงเวลานี้
ปัจจุบันปรีชาสร้างนักธุรกิจแอมเวย์ร่วม 300,000 คน เขาบอกว่านักขายเหล่านี้เป็นคนสร้างความสำเร็จให้กับแอมเวย์ สิ่งที่เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่า หากต้องการให้บริษัท ประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้พนักงานประสบความสำเร็จเสียก่อน
เขาร่วมงานกับแอมเวย์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2530 เปิดตลาดแนะนำสินค้า สร้างตัวแทนจำหน่าย เขาซึมซับธุรกิจนี้มาตลอดระยะเวลา 21 ปี ทำให้เขาตระหนักดีว่า การสร้างคนเพื่อให้เป็นนักขายไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะจากประสบการณ์ของปรีชา เขาพบว่า 99 เปอร์เซ็นต์ พนักงานใหม่ที่เริ่มขายจะยอมถอยเมื่อพบคำถามที่ว่า "ไม่มีอะไรจะทำแล้วเหรอ ถึงมาขายแอมเวย์?" และคำพูดอีกมากมายจากคนรอบข้างที่ทำให้เสียกำลังใจ
วิธีสร้างนักธุรกิจแอมเวย์ของปรีชา เขาจะสร้างคนเก่าให้ประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้คนใหม่ได้เห็นเป็นตัวอย่าง
ปรีชาเชื่อมาเสมอว่ามนุษย์มีความสามารถสูงมากที่อยู่ในตัว แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ เขาได้ดึงความสามารถของนักขายให้ออกมา เริ่มต้นจากการฝึกอบรมหลักการพูด พัฒนาบุคลิกภาพให้มีความมั่นใจ เขาปลูกฝังนักขายว่า "ฉันทำได้" "ฉันไม่ยอมแพ้" "never give up"
การพูดตอกย้ำกับนักขายของเขาวันแล้ววันเล่า กลายเป็นการซึมซับไปโดยอัตโนมัติ
เขาเริ่มให้นักขายสั่งสมผลงานทีละเล็กทีละน้อย เมื่อนักขายเริ่มแข็งแรงมีผลงาน ก็จะมอบรางวัล ตั้งระบบจ่ายผลตอบแทนที่คุ้มค่า โบนัส การท่องเที่ยวในและต่างประเทศ และสิ่งสำคัญคือการยกย่องความสำเร็จ มีพิธีประกาศเกียรติคุณ
วิธีการให้รางวัลของแอมเวย์ขึ้นอยู่กับยอดขายและการสร้างทีมเครือข่ายโดยแบ่งลำดับชั้นนักขาย หรือที่เรียกว่า นักธุรกิจแอมเวย์ออกเป็น 17 ลำดับและใช้เข็มเป็นตราสัญลักษณ์เริ่มจากเข็มเงิน จนไปจนถึงลำดับสูงสุด ซึ่งเป็นเข็มระดับมงกุฎทูตสองผู้สถาปนา
หน้าที่ของปรีชาในการสร้างนักธุรกิจ แอมเวย์ คือ การกระตุ้นความรู้สึกไม่ให้นักขายยอมแพ้ และสร้างแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด ปรีชาได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำชาวอเมริกันที่ได้ 8 เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน ความสำเร็จของเขา เกิดจากการฝึกฝนตลอดเวลา เริ่มจากได้เหรียญทองที่กรุงเอเธนส์ 6 เหรียญ และเขาก็ฝึกฝนสั่งสมประสบการณ์มาโดยตลอด ชีวิตเขาอยู่ในน้ำมากกว่าอยู่บนบก จนทำให้ เขาได้เหรียญทองเพิ่มขึ้นอีกเป็น 8 เหรียญ สิ่งที่ทำให้เขาสำเร็จคือ การไม่ยอมแพ้ตัวเอง จึงทำให้เขาประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เฉกเช่นเดียวกัน นักขายแอมเวย์ก็ต้องมีการสั่งสมการทำงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ปรีชาบอกว่า นักกีฬา มีเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง หากไม่ได้เหรียญใดเหรียญหนึ่ง ก็เหมือนกับล้มเหลว
"นักขายของแอมเวย์เหรียญทองไม่ได้มีเหรียญเดียวแต่มีสำหรับทุกคนที่เข้าถึงเส้นชัยไม่ว่าคุณจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนอย่าให้คุณเลิก หรือหลงทาง"
ปรีชาบอกว่า ปรัชญาการทำงานของเขาไม่มีทฤษฎีอะไรมาก เพียงแต่ใช้สามัญสำนึกให้มากที่สุด และกฎทองของแอมเวย์ที่ปลูกฝังการทำงานของเขามาตลอด คือจงทำอะไรให้คนอื่น หมายถึงต้องการให้เขาทำอะไร เราต้องทำสิ่งนั้นให้เขาก่อน ไม่อยากให้เขาทำอะไรก็ไม่ควรทำอย่างนั้นเช่นกัน
ปรีชาเป็นบุคคลที่มีศิลปะในการโน้มน้าวจิตใจคนสูง ด้วยบุคลิกที่เป็นผู้ใหญ่ ใจดี มีอารมณ์ขัน ทำให้คนอยากเข้าใกล้ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะสร้างให้นักขายเชื่อในสิ่งที่เขาพูด เขาไม่ได้พูดเพียงอย่างเดียว แต่เขาได้ปฏิบัติให้เห็น ผสมผสานกับที่ตำแหน่งของเขาที่ไปถึงจุดสูงสุดของผู้บริหารแอมเวย์ในเมืองไทย ยิ่งทำให้คำพูดของเขาน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นไปอีก
"คุณปรีชาเป็นผู้นำที่ผมประทับใจมากตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น คุณปรีชามีรังสีด้านความเป็นผู้นำ โอบอ้อมอารี เป็นผู้นำที่น่าศรัทธา ให้เกียรติกับคนทุกๆ คนที่ร่วมงาน ให้ความเชื่อมั่น ยอมรับการตัดสิน ใจของลูกน้องได้ดี เปิดกว้างรับความคิดเห็นและเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์" คำพูดของกิจธวัช ฤทธีราวี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สัมพันธ์ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมงานกับปรีชามานาน 6 ปี
ปรีชาตระหนักดีว่าพื้นฐานของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาต้องการความมั่นคงในชีวิต มีรถ มีบ้าน มีครอบครัวที่อบอุ่น และได้รับการยกย่องอย่างมีเกียรติ
ความมั่นคงของชีวิต การได้รับเกียรติ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สรรค์ชัยผู้บริหารของ บริษัท บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. เข้ามาสู่วงการนักขาย พร้อมกับละทิ้งอาชีพนักฟุตบอล ทีมชาติ จนกระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทแห่งนี้ ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
เขากลายเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักขายรุ่นใหม่ในปัจจุบัน กลายเป็น "ครู" ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาชีพนักขาย และเขาใฝ่ฝันไว้ว่า บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. จะเป็นมหาวิทยาลัยชีวิตของคนทำงานต่อไป
สรรค์ชัยมีบุคลิกที่แตกต่างจากปรีชา เขามีความมั่นใจในตัวเองสูง พูดจาคล่องแคล่ว ตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่เขาทั้งสองมีความเหมือนกันคือ คำพูดที่สามารถโน้มน้าวให้คนเชื่อถือ และมีวิธีการดึงอัจฉริยภาพของแต่ละบุคคลออกมา
ชีวิตของสรรค์ชัยเริ่มจากเป็นนักขายประกันที่บริษัท อเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) เขาเป็นนักขายมือหนึ่งที่ได้รับรางวัลติดต่อกันหลายปี
จากนักขายธรรมดา เขาก้าวไปเป็นประธานของหัวหน้าหน่วยทั่วประเทศ มีรายได้ 1 ล้านบาทต่อเดือน เขาทำงานให้กับเอไอเอ 16 ปี สร้างทีมนักขายกว่า 20 ทีม หลังจากนั้นได้เข้ามาทำงานให้บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ปีนี้เป็นปีที่ 6 ที่เขาร่วมงานกับบริษัทแห่งนี้
สรรค์ชัยเริ่มสร้างทีมนักขายหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อปี 2550 ได้สร้างนักขายเพิ่มขึ้นมาอีก 9,000 คน ปัจจุบันมีทีมขายทั้งสิ้น 20,000 คน
เป้าหมายของเขา ต้องการสร้างพนักงานให้ได้ 80,000 คนในเวลา 3 ปี เพราะจุดมุ่งหมายสูงสุดของเขา คือการล้มแชมป์เอไอเอ บริษัทเก่าที่เคยร่วมงานมาก่อน
กลยุทธ์ที่จะล้มช้างอย่างเอไอเอได้นั้น จำนวนทีมงานต้องใกล้เคียงกัน
วิธีการคัดเลือกนักขายของสรรค์ชัย เขาจะเริ่มต้นจากรับคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และดึงคนเหล่านี้ให้เข้าร่วมห้องวิชาการ และดึงคนไปโชว์บนเวทีบอกเล่าความสำเร็จ ซึ่งเรียกว่า โครงการขายอาชีพ
ความสามารถของสรรค์ชัย เขาสามารถคัดเลือกนักขายด้วยการพูดคุยว่า คนที่กำลังพูดคุยอยู่มีเลือดนักสู้ และลุ่มหลงการทำงานเพียงใด
บ่อยครั้งที่เขาเริ่มต้นถามคนหน้าใหม่ๆ ถึงเป้าหมายในชีวิต ความสุขในการทำงาน ความพึงพอใจที่มีอยู่
กระบวนการดึงคนเข้ามา การเป็นนักขายไม่ได้เกิดจากการใช้คำพูดเพียงไม่กี่คำ แต่เขาได้สร้างหลักสูตรอบรมของนักขาย ซื้อหลักสูตรจากต่างประเทศมาปรับใช้กับหลักสูตรในเมืองไทย
สโมสรนิวไลฟ์เป็นกิจกรรมจัดหลักสูตรดึงอัจฉริยภาพที่สรรค์ชัยก่อตั้งด้วยตัวเอง มาร่วม 10 ปี เป็นสโมสรที่เขาใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างในการก้าวมาสู่เป็นนักขาย
"คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถและดึงพลังมาใช้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ยกตัวอย่างผม ผมดูถูกตัวเองมาตลอด ติดทีมชาติฟลุค ติดทีมชาติบังเอิญ ไม่เก่งหรอก เรา look down ตัวเอง โดยไม่รู้ตัวเพราะคำพูดของตัวเอง พอมาทำอาชีพนี้เริ่มมองว่า ผมมีวันนี้ได้เพราะเจ้านายกระตุ้นผม ดึงอัจฉริยภาพผม"
เขายกตัวอย่าง สมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก กว่าจะค้นพบ ตัวเองอายุบั้นปลายชกมวย 33 ปี ส่วนมนัส บุญจำนงค์ หากยังสู้จะได้แชมป์ครั้งต่อไปเพราะมนัสรู้จักตัวเอง เขาจะเป็นแชมป์ ถ้าเขาควบคุมตัวเองมากกว่านี้แต่จะมีกี่คน ชี้ให้มนัสเห็น
บุคลิกท่าทางที่คล่องแคล่ว คำพูดที่เน้นเสียงหนักเบา เมื่อเขาโชว์เดี่ยวอยู่บนเวทีเมืองทองธานี ภายในงาน AACP ครั้งที่ 4 เขาเปรียบเหมือนนักแสดงมืออาชีพที่กำลังสร้างจิตวิญญาณนักขายให้กับตัวแทนของเขาหลายพันคนฟังเพื่อหลอมละลายความกลัว ความอาย ให้หมด ออกไปทีละเล็กทีละน้อย
เวทีนี้ไม่ใช่เวทีเดียวที่เขาต้องทำหน้าที่กระตุ้นอัจฉริยภาพของนักขาย เขารู้ดีว่าต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อีกหลายต่อหลายครั้ง และเขาก็เต็มใจเพราะมันเป็นอาชีพที่เขารัก
แต่ก่อนที่เขาจะรักในอาชีพขายประกัน เขาบอกว่า เขาไม่มีความชอบอาชีพนี้แม้แต่น้อย แต่หลังจากที่ได้มาสัมผัส จึงรู้ว่าธุรกิจประกันชีวิตเป็นเรื่องของ เหตุและผลไม่ใช่การหลอกลวง
การสร้างแรงบันดาลใจของสรรค์ชัย และปรีชาไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากความฝันที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตและต้องการหลุดพ้นจากความยากจน เมื่อครั้งยังเยาว์วัย
ทั้งปรีชาและสรรค์ชัยมาจากครอบครัวที่มีฐานะไม่ร่ำรวย ชีวิตต้องต่อสู้ ดิ้นรนตั้งแต่วัยเด็ก เพราะมีพี่น้องหลายคน ปรีชามีพี่น้อง 12 คน ส่วนสรรค์ชัย มีพี่น้อง 16 คน
ปรีชาเป็นพี่คนโต แต่สรรค์ชัยเป็นลูกคนสุดท้อง
ปรีชาเกิดที่จังหวัดปทุมธานี บิดาและมารดามีอาชีพเป็นครู ด้วยพี่น้องที่มีจำนวนมาก เขาถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียน ดอนบอสโกสำหรับเด็กยากจน
โรงเรียนดอนบอสโกเป็นโรงเรียนของนักเผยแผ่ศาสนาที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียน
เขาเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 5 พร้อมกับเลือกเรียนช่างไฟฟ้าเป็นวิชาชีพ หลังจากจบการศึกษา เขาเริ่มทำงานที่บริษัท ไฟฟ้าฟิลิปส์แห่งประเทศไทย จำกัด ในฐานะช่างซ่อม หลังจากที่ทำงานไม่นานนัก เขามีความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความก้าวหน้าทำให้เขาเริ่มเก็บเงินก้อนหนึ่งเพื่อเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับใช้วิชาชีพที่รับซ่อม ทีวี วิดีโอเพื่อเก็บเงินเรียนหนังสือไปด้วย
ปรีชาจบปริญญาตรีคณะบริหาร ธุรกิจ วอลเตอร์ อี เฮลเลอร์ มหาวิทยาลัย รูสเวลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากนั้นกลับมาทำงานเป็นผู้จัดการ สร้างแบรนด์บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด ทำงานเพียง 3 ปี ก็กลับไปทำงานที่บริษัทไฟฟ้าฟิลิปส์ฯ ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ อีก 2 ปีกว่า และย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์
หลังจากนั้นมีบริษัทจัดหางานติดต่อเขาให้ไปสัมภาษณ์กับผู้บริหารแอมเวย์ในเมืองไทย จนกระทั่งเวลาผ่านไป 1 ปี จึงได้รับการติดต่อกลับมา
ปรีชายอมรับว่าในตอนนั้นธุรกิจขายตรงเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย และใหม่สำหรับเขาเช่นเดียวกัน แต่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมงานเพราะประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา สินค้าใกล้ชิดกับผู้บริโภค แต่ไม่ได้สัมผัสกับลูกค้าโดยตรง ในขณะที่แอมเวย์ ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง
เขาต้องการทำงานท้าทาย ผจญภัย ได้ลองสิ่งใหม่ๆ
หลังจากที่เข้าร่วมงานกับแอมเวย์มาตลอดระยะเวลา 21 ปี ทำให้เขาพบว่า การบริหารงานที่แอมเวย์แตกต่างจากงานที่เขาทำมาในอดีตอย่างสิ้นเชิง
ปรีชาบอกว่าแอมเวย์มีปรัชญาการทำงานชัดเจน เป็นการเรียนรู้เรื่องคนและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งเป็นแนวทางของผู้ก่อตั้ง 2 คน คือ ริช เดอโวส และเจย์ แวน แอนเดล
แอมเวย์มีวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างมานาน เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรง มีการ ผสมความคิดส่วนตัวและความคิดบริษัท เมื่อพนักงานมีความสุขจะก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ ทำให้ทำงานได้ยืนยาว
โรงเรียนดอนบอสโกเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็น "ผู้ให้" กับปรีชามาตั้งแต่วัยเด็ก เขาซึมซับไปอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อเขามาทำงานกับบริษัทแอมเวย์ ผู้ก่อตั้งได้เปิดมุมมองโลกทัศน์ของเขากว้างมากขึ้น
สิ่งเหล่านี้ได้บ่มเพาะบุคลิกภาพและทัศนคติของเขาให้กลายเป็นคนแอมเวย์อย่างสมบูรณ์
ส่วนสรรค์ชัยเป็นคนลพบุรีโดยกำเนิด เขาบอกว่าบ้านของเขาอยู่ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีรถ มีแต่รถไฟวิ่งผ่านขบวนเดียว
เขาจบโรงเรียนวัด ฉะนั้นชีวิตวัยเด็กของเขามีแต่ความฝัน
เมื่อไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียวอยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป“นพี่เขยของเขา เป็นช่วงที่อังกฤษได้ฟุตบอลโลก เขานั่งดูและตั้งใจไว้ว่า สักวันเขาต้องเป็นนักฟุตบอล
เขาเริ่มเล่นฟุตบอลอย่างจริงจัง จากนักฟุตบอลโรงเรียนไปเป็นนักฟุตบอลระดับจังหวัด กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้กับสโมสรการท่าเรือ ได้ค่าจ้างวันละ 53 บาท หลังจากติดทีมชาติก็เริ่มทำงานที่แผนกเงินเดือนและแผนกบุคคลที่ธนาคารกรุงเทพ
เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เหล้าไม่ดื่ม บุหรี่ไม่สูบ ไม่เที่ยวกลางคืน อาศัยแฟลต เป็นที่พัก แต่ชีวิตไม่รวย?
เขาเริ่มมองหาความมั่นคงให้กับชีวิต เขาต้องการแต่งงาน มีรถวอลโว่ มีเงินก้อน
ชีวิตเขาหักเหทันทีหลังจากที่ไปส่งภรรยาไปอบรมเป็นตัวแทนขายประกันชีวิตที่เอไอเอ เขาเห็นคนที่ไปอบรมมีรถป้ายแดงราคาแพงขับ เขาจึงเข้าไปฟังอยู่หลังห้องสัมมนา จากวันแรกเป็นวันที่สองที่สามจนถึงวันที่ห้า
เขาตัดสินใจขายประกันชีวิต และเพียงสัปดาห์แรกเขาขายประกันชีวิตได้ 9 ราย
ทำให้หัวหน้าเรียกตัวเข้าพบ จนกระทั่งพบคำถามที่เปลี่ยนชีวิต หัวหน้าของเขาบอกกับสรรค์ชัยว่า เขาจะไม่มีวันได้รถ บ้าน เงินก้อนเลย หากยังทำงานอยู่ที่เดิม แต่เชื่อว่าหากสรรค์ชัยเปลี่ยนงานมาทำประกันเขาจะมีทุกอย่าง
"หัวหน้าผมบอกว่า ผมทำได้และเอาหัวเป็นประกัน"
สรรค์ชัยลาออกจากชีวิตมนุษย์เงินเดือนไว้เพียง 5 ปี หันหลังให้กับนักฟุตบอลอาชีพ
ในตอนนั้นเขาเป็นพนักงานหนุ่มขายประกันวัย 29 ปี ที่ก้าวหน้าจากอาชีพนักขาย ประกันอย่างรวดเร็ว และก็ได้ทุกสิ่งที่เขาคาดหวัง ชื่อเสียง เกียรติยศ
สิ่งที่ทำให้สรรค์ชัยก้าวมาสู่เป็นผู้บริหารแนวหน้าในธุรกิจประกันชีวิต เป็นเพราะเขาไม่เคยหยุดฝัน แม้ว่าอายุจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เขามีแรงบันดาลใจคือ พ่อและแม่ของเขาที่มีบุคลิกเป็นผู้ให้มาโดยตลอด
ประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมาตลอดกว่า 20 ปี ไม่เพียงถ่ายทอดไปสู่นักขายรุ่นใหม่ให้กับบริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดไปสู่ลูกของเขาในวัยเพียง 18 ปี ที่มีความฝันจะเป็นนักขายที่ประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับสรรค์ชัยผู้เป็นบิดา
ส่วนสุมิทร์ญา ภรรยาของสรรค์ชัย ปัจจุบันมีอาชีพตัวแทนขายประกันเป็นผู้บริหารฝ่ายตัวแทนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการขายในบริษัทเดียวกันกับเขา
แม้ว่าตอนนี้สรรค์ชัยมีอายุ 52 ปี แต่เขาวาดชีวิตหลังเกษียณไว้ว่าจะสร้างชมรมนิวไลฟ์ให้ความรู้กับนักขายต่อไป
ด้านปรีชา หลังจากที่ต่ออายุการทำงานไปอีก 3 ปี จากปัจจุบันที่มีอายุครบ 60 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาก็ยังสนุกอยู่กับงาน แต่เขาก็ไม่อยากบอกมั่นอกมั่นใจจนเกินไปเพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ เขาเริ่มมองหาตัวแทนเช่นเดียวกัน
ปรีชาบอกว่าบุคลิกของผู้บริหารคนใหม่จะต้อง human friendly oriented สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้คน พนักงาน กองทัพนักขาย นักธุรกิจแอมเวย์ และมีพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต กัดไม่ปล่อย
ผู้บริหารต้องเป็นนักการตลาด นักขาย เป็นนักการเงิน มีความรู้ด้านไอที
สิ่งที่ปรีชาเน้นย้ำอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารคนใหม่ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่สูงมาก
ปรีชาบอกว่าเขาไม่อยากเห็นปรีชาคนที่ 2 ไม่ควรมีสไตล์เหมือนเขาแต่อาจมีอะไรบางอย่างในเชิงแนวคิดของแอมเวย์ และไม่ควรมีเงาของเขาคลุมอยู่ในแอมเวย์เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ดี
สิ่งที่เห็นในตัวตนของปรีชาและสรรค์ชัย เขาทั้งสองเป็นนักสร้างฝันให้กับนักขาย และดึงอัจฉริยภาพนักขายเหล่านั้นให้ลงมือปฏิบัติจนเกิดผล
ปรีชาและสรรค์ชัยตอกย้ำความคิดอยู่เสมอว่า คนที่ประสบความสำเร็จสามารถล้มเหลวได้ แต่ต้องไม่ล้มเลิกแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ตาม
|
|
|
|
|