|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
 |

เวลาท่านผู้อ่านชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศทั้งฟุตบอลโลก ยูโรเปียนแชมเปียนลีกมักจะสะดุดตากับแผ่นป้าย Let's Kick Racism out of Football ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า ช่วยกันขับไล่การเหยียดสีผิวจากฟุตบอล การเหยียดสีผิวนั้นหลายท่านอาจจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะเวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็เห็นฝรั่งเอาอกเอาใจเราเป็นอย่างดี ไปตามโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวฝรั่งก็แสนที่จะเป็นมิตร แต่ถ้าท่านไหนเคยไปใช้ชีวิตในต่างประเทศจะเห็นต่างกัน เรื่องเหยียดสีผิวนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่โดนกันทุกคน ใครไม่โดนถือว่าแปลก
เรื่องเหยียดสีผิวนั้นที่จริงแล้วมาจากพวกฝรั่งที่เน่าจนถึงแก่น เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมฝรั่งชนิดที่รัฐบาลที่มีจิตสำนึกต้องพยายามแก้ไข ส่วนพวก นักการเมืองที่ไร้จิตสำนึกก็จะใช้พวกนี้เป็นฐานเสียงเพื่อที่จะได้เข้าไปในสภา พวกที่เกี่ยวข้องกับลัทธิเหยียด สีผิว โดยมากมักจะเป็นฝรั่งที่มีปัญหาทางสังคม เช่นทหารผ่านศึกที่ถูกปลดประจำการและหางานไม่ได้ กุลี คนตกงาน ฮูลิแกน พวกขี้เหล้าเมายา คนชั้นกรรมาชีพ แต่ไม่ใช่ว่าพวกนี้ทุกคนจะเป็นคนไม่ดีนะคนดีในกลุ่มพวกนี้ก็มีอยู่มาก แต่แนวคิดเรื่องว่าชาวผิวขาวยิ่งใหญ่นั้นเกิดจากการที่ตนเองไร้ความสามารถ ที่จะเป็นคนสำคัญหรือเป็นที่ยอมรับในสังคมและเห็นชาวผิวสีประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนเองทำไม่ได้ สังเกตไหมครับว่า นโยบายเหยียดสีผิวของนาซีนั้นมา จากความคับแค้นใจของกุลีกับทหารผ่านศึกเยอรมันที่สู้ชาวยิวไม่ได้ในทางธุรกิจประกอบกับเศรษฐกิจที่มีปัญหา พรรคอย่างนาซีจึงถือกำเนิดเพื่อสนองตัณหาของคนพวกนี้ ส่วนในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ในอดีตก็เช่นกันแนวคิดเหยียดสีผิวก็เกิดจากความขี้แพ้ชวนตีของฝรั่งโลภมากในศตวรรษที่ 19
ต้นตอของการเหยียดสีผิวในดาวน์อันเดอร์นั้นแท้จริงแล้วมาจากยุคตื่นทอง ตรงนี้ท่านผู้อ่านหลาย ท่านคงประหลาดใจ เพราะว่าเมื่อพูดถึงการตื่นทองท่านผู้อ่านคงนึกถึงยุคคาวบอยอันแสนจะคลาสสิก เช่นการต่อสู้กับอินเดียนแดง หรือ นายอำเภอปืนไวอย่าง ไวแอท เอิร์บ ดวลปืนกับเหล่าร้าย แต่ในความเป็นจริงแล้วขุมทองคือรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายในยุคต่อมา ในขั้นพื้นฐานขุมทองทำให้เกิดเมืองร้างขึ้นเต็มไปหมด หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าฝรั่งมาตั้งถิ่นฐานเพราะการขุดทอง แต่ในความเป็นจริงแล้วทองคำไม่ได้ทำให้ เกิดการตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศใดประเทศหนึ่งมาก นัก เพราะว่านักขุดทองนั้นส่วนมากไม่ได้มีความคิดที่จะอยู่ที่ไหนถาวร ตัวอย่างเช่น นักล่าทองชื่อดัง แกเบรียล รีด วิ่งขุดทองจากแคลิฟอร์เนียมาถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสเที่ยวนิวซีแลนด์ในเขตเวสต์แลนด์ ท่านจะพบเมืองร้างจำนวนมาก ซึ่งถูกทิ้งร้างหลังจากทองหมด แม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่าง ควีนสทาวน์ แอโรทาวน์ หรือครอมเวลล์ ในอดีตเมือง เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รองรับนักขุดทองโดยเฉพาะ มีแค่บางเมืองเช่น ควีนสทาวน์ที่โชคดี เพราะมีวิวสวย จึงกลายเป็นเมืองรีสอร์ตในปัจจุบัน เมื่อมีทองก็ต้องมีเรือกลไฟ รถไฟ ไปรษณีย์ โทรเลขไว้สำหรับการคมนาคม และเมื่อมีคนก็มีโรงเตี๊ยมกับร้านเหล้าไว้รองรับนักขุดทอง มีช่างเหล็กไว้ตีจอบเสียม เกือกม้าและอุปกรณ์หาทอง จากนั้นก็ต้องมีโรงรับจำนำไว้ตึ๊งทอง ธนาคารไว้รับฝากทอง มีร้านค้าไว้ขายของ ที่สำคัญที่สุดก็ต้องมีโจร โดยมากก็เป็นคนที่คิดว่าจะมา ขุดทอง แต่ไม่รุ่งเลยไปปล้นคนอื่นเพราะง่ายกว่า พอมีโจรก็ต้องมีนายอำเภอไว้จับโจร พอกลายเป็นชุมชนใหญ่ก็จะต้องมีนักการเมืองมาหาเสียง นักการเมืองนี่เองที่ทำให้เกิดนโยบายเหยียดสีผิว แม้ว่าทุกวันนี้การเหยียดสีผิวจะโดนต่อต้าน จากทั้งในประเทศและ ทั่วโลก แต่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรื่องเหยียดสีผิวนั้นเป็นนโยบายหลักที่ทำให้นักการเมืองได้แจ้งเกิดทีเดียว
ในยุคตื่นทอง นักขุดทองที่มาขุดจนรวยแล้วจากไป ไม่ได้มีแต่ฝรั่ง เพราะมีชาวจีน ชาวแขก จำนวนไม่น้อยลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลไปขุดทองที่อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พอคนจีน คนแขกเข้ามามาก พวกนักแสวง โชคฝรั่งก็กลัวว่าส่วนแบ่งของตนเองจะลดลง ก็แสดงอาการ หมาหวงก้าง แต่จะไปด่าคนจีน คนแขกโพล่งๆ ก็เห็นว่าจะไม่รุ่ง จึงสร้างกระแสใหม่ขึ้นมาเช่นกล่าวหาว่าชาวเอเชีย มีเชื้อโรคติดตัวเพราะบ้านเมืองสกปรกและเป็นพาหะแห่ง โรคระบาด จากนั้นในศตวรรษที่ 19 พวกผู้ใช้แรงงานกระพือความกลัวชาวเอเชียเป็นวงกว้าง เพราะชาวจีนขยัน ขันแข็งสู้งานและไม่เกี่ยงเงินเดือน ทำให้เกิดสภาวะผันผวน ในราคาการจ้างงาน ทำให้สมัชชาแรงงานเสียอำนาจการต่อรอง เพราะถ้าแรงงานฝรั่งเรื่องมาก นายจ้างก็จะเลิกจ้าง ฝรั่งและหันไปจ้างกุลีจีนแทน ในส่วนที่สองนี่เองทำให้เกิดกระแสต่อต้านชาวเอเชียในเมืองฝรั่งมาจนถึงทุกวันนี้แต่ปัจจุบันเปลี่ยนรูปจากการเหยียดสีผิวไปเป็นสมัชชาแรงงานกับนโยบายการนำเข้าแรงงานจากต่างชาติแทน
เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา นักการเมืองที่หากินกับนโยบายเหยียดสีผิวมากมายได้รับเลือกจนบางคนได้เป็น รัฐมนตรีด้วยนโยบายออกกฎหมายจำกัดการเข้าเมืองของ ชาวจีน เช่น การออกกฎหมายว่าชาวจีนเข้ามาในนิวซีแลนด์ จะต้องจ่ายค่าเข้าเมืองคนละสิบปอนด์ ในสมัย นั้นเป็นเงินมากพอสมควร บางครั้งออกกฎหมายว่าเรือบรรทุกสินค้าจะให้คนจีนลงจากเรือได้ 1 คนต่อสินค้าที่เข้า มาในประเทศทุกๆ 10 ตัน ถ้าขนมา 200 ตัน คนจีนเข้า เมืองได้ 20 คน เกินกว่านั้นห้ามเข้า ต่อมามีนักการเมือง อุบาทว์ที่เอาตรงนี้มาหากิน โดยแก้กฎหมายเพิ่มจาก 10 ปอนด์ เป็น 100 ปอนด์ต่อคน บ้างก็เพิ่มจาก 10 ตัน เป็น 200 ตัน
ผมเคยอ่านรวมบันทึกสำคัญในนิวซีแลนด์ บทความที่น่าสนใจจากหมอสอนศาสนาที่เข้าไปในชุมชนชาวจีนในปี 1901 โดยชาวจีนที่เขาไปหาได้พูดกับเขาว่า "ถ้าทั้งผมและคุณเข้ารีด เวลาไปสวรรค์ เราเท่าเทียมกันใช่ไหม" พอหมอสอนศาสนาตอบ "ใช่" ชาวจีน จึงถามว่า "แล้วทำไมในประเทศของคุณ เราถึงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียม ฝรั่ง" พอโดนหมัดเด็ดนี้เข้าไปหมอสอนศาสนาจำต้อง เข้าเกียร์ถอยหลังกลับมานั่งคิด ก่อนเขียนจดหมายไปหนังสือพิมพ์โดยตอบว่า "There is no Labour vote in heaven." ผมขอไม่แปลเพราะว่าจะเสียความหมาย ดังนั้น ที่พึ่งของชาวจีนในศตวรรษที่ 19 จึงเหลือเพียง ศาล ซึ่งก็ต้องยกย่องในความเที่ยงธรรมของระบบตุลาการเมืองกีวี เพราะแม้ว่ากระแสการเมืองจะเกลียด คนเอเชียอย่างไร แต่เมื่อฝรั่งไปยิงนักขุดทองชาวจีนตายโดยให้เหตุผลเรื่องสีผิว ศาลนิวซีแลนด์สั่งจำคุกตลอดชีวิตฝรั่งคนนั้นทันที
ในที่สุดเมื่อทองหมดนักขุดทองทั้งจีน แขก ฝรั่ง ก็หายหมดเมือง กลายเป็นเมืองร้าง นักการเมืองก็สอบตก เรื่องเหยียดสีผิวก็เริ่มโรยราไปเพราะชาวจีนก็ไม่มากันแล้ว ส่วนที่ยังอยู่ก็มีไม่น้อยที่บอกลาเมืองกีวี แล้วกลับเมืองจีนไป แต่มรดกเรื่องเหยียดสีผิวก็ยังคงมีอยู่ในหมู่สมัชชาแรงงาน กว่าที่กฎหมายคิดค่าเข้าเมืองของชาวเอเชียจะถูกยกเลิก ก็หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บุคคลที่ลงมือยกเลิกกฎหมายเหยียดสีผิวทุกชนิดในนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการจริงๆ และได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนในนิวซีแลนด์ คือ เซอร์ คีธ โฮลีย้อค นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์จากยุค 1970 ซึ่งท่านมาจากพรรคชาตินิวซีแลนด์ซึ่งเป็นพรรค ฝ่ายขวา ท่านไม่ได้แชร์แนวคิดกับพวกเลเบอร์ หรือสมัชชา ท่านเสนอแนวคิดของท่านต่อสหประชาชาติในยุค 1970 เป็นผู้นำฝรั่งคนแรกๆ ที่นำเรื่องนี้เข้าสู่ยูเอ็น โดยกล่าวว่า "เราควรมอบสิทธิให้กับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นคนเชื้อชาติอะไรผิวสีอย่างไร เพราะว่าทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ของ ความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน"
เพื่อชดใช้ความผิดในอดีตรัฐบาลนิวซีแลนด์ได้จัดตั้งองค์กรเพื่อโปรโมตศิลปวัฒนธรรมเอเชียในนิวซีแลนด์ รวมทั้งได้ทำการขอโทษอย่างเป็นทางการกับสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลในนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 ทำให้ในปัจจุบันการเหยียดสีผิว ในนิวซีแลนด์ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำลงมาก เพราะแม้แต่หัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่งที่หาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวจนเคยได้เสียงมากติดอันดับต้นๆของประเทศก็ยังสอบตกไปแล้ว ถึงแม้ว่าแนวคิดอุบาทว์นี้คงยากที่จะหายไปจากโลก แต่เมื่อคนในสังคมส่วนมากเป็นคนดีและต่อต้านแนวคิดนี้ คนไม่ดีก็ไม่กล้าที่จะเปิดเผยความคิดของตนเอง แม้แต่นักการเมืองที่หากินกับกระแสนี้ก็ถดถอยทั้งผู้สนับสนุนและความนิยม
|
|
 |
|
|