|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ตุลาคม 2551
|
 |

หากเปรียบละครคาบูกิ (Kabuki) ดั่งบอนไซญี่ปุ่นต้นใหญ่ที่ผ่านการตัดแต่งกิ่งมายาวนานกว่า 4 ศตวรรษ จนได้ทรงที่สมบูรณ์แบบแล้ว Super Kabuki ก็เป็นเสมือนบอนไซญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคนิคทางวิศวพันธุศาสตร์เข้าช่วยตัดต่อยีนให้มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง โรคพืชและแมลงเป็นอย่างดีแล้ว จึงเริ่มนำต้นกล้าปลูกลงกระถางดัดกิ่งให้เข้ารูปตามคุณลักษณ์ที่คงความสง่างามในแบบฉบับดั้งเดิม
ในแวดวงของคาบูกิทุกวันนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อของ Ichikawa Ennosuke ที่ 3 ผู้ริเริ่มวางรากฐาน Super Kabuki ซึ่งเปิดรอบปฐมทัศน์ด้วยเรื่อง Yamato Takeru เมื่อปี 1986 ที่ Hakataza โรงละครคาบูกิแห่งใหม่ล่าสุดในห้วงเวลานั้น ทั้งที่ละครคาบูกิแต่ละเรื่องแต่ละรอบนั้นมีผู้สนใจเข้าชมอย่างเนืองแน่นอยู่เป็นนิตย์ก็ตาม แต่ Ichikawa Ennosuke ในฐานะนักแสดงละครคาบูกิระดับแนวหน้ากลับตระหนักถึงบางสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งแฝงเร้น อยู่ภายในการแสดงของละครคาบูกิที่วิวัฒน์มานานกว่า 400 ปี
ประเด็นที่ Ichikawa Ennosuke ตระหนักถึงนี้ถูกหยิบยกเป็นหัวข้อสนทนากับอาจารย์ Umehara Takeshi นักปรัชญาและผู้เชี่ยวชาญพิเศษสาขาญี่ปุ่นศึกษาประจำ International Research Center for Japanese Studies (Nichibunken) ซึ่งเห็นพ้องกันว่ารูปแบบโดยรวมของละครคาบูกิที่แสดงอยู่ในขณะนั้นแม้จะผ่านการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงของญี่ปุ่น แต่นั่นกลับยากแก่การเข้าสู่การรับรู้ของเยาวชนส่วนใหญ่ซึ่งถูกรายล้อมด้วยสิ่งบันเทิงและศิลปะแขนงอื่นอีกมากมายที่อาจจะมีความน่าสนใจมากกว่า
ในปี 1976 แนวคิดของละครคาบูกิรูปแบบใหม่ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่า Super Kabuki ได้เริ่มขึ้นจากการพัฒนาเทคนิคการแสดงบนเวทีโดยใช้เทคโน โลยีสมัยใหม่เข้าช่วย มีการดำเนินเรื่องด้วยถ้อยคำที่สามารถเข้าใจได้ง่ายรวมถึงเทคนิคการแต่งหน้า (Keren) และการเปลี่ยนเครื่องแต่งกายที่รวดเร็วโดยมีอาจารย์ Umehara Takeshi เป็นผู้เขียนบท
กระนั้นก็ตามกว่าที่ Super Kabuki เรื่องแรกจะออกสู่สายตา สาธารณชนญี่ปุ่นได้ต้อง ผ่านกระบวนการฝึกฝน ทีมงานในทุกรายละเอียด ที่ใช้เวลานานถึง 10 ปีบนแรงเสียดทานจากการดูแคลนของกลุ่มคนที่ยังยึดติดอยู่กับฐานคติรูปแบบเดิมและปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงนอกรีตประหนึ่งเป็นการลบหลู่เกียรติประวัติอันยาวนานของ ละครคาบูกิ ความเป็นมาของละครคาบูกิสามารถสืบ ย้อนกลับไปได้จากบันทึกลายลักษณ์อักษรที่เกียวโตในปี 1603 อันเป็นปีเริ่มต้นของสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1867) ซึ่งศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ได้จำเริญ ขึ้นอีกครั้งในยามบ้านเมืองสงบจากศึกสงครามที่สืบเนื่องมาจากรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางการปกครอง โดยโชกุน Tokugawa Ieyasu
การแสดงที่ศาลเจ้า Kitano Tenmangu ใน เกียวโต เมื่อต้นฤดูใบไม้ผลิปี 1603 ท่วงท่าการร่ายรำที่แปลกตาไปจากขนบธรรมเนียมเก่านั้นสร้างสีสันใหม่ในสังคมเอโดะอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยอาภรณ์สีฉูดฉาดที่เลียนแบบเครื่องแต่งกายของ Kabukimono* ผสานกับทักษะการร่ายรำที่ฝึกฝนจากการปวารณาตนทำงานให้กับศาลเจ้า Izumo มาก่อนส่งผลให้งานแสดงของ Izumono Okuni กลายเป็นที่นิยมและได้รับการกล่าวขานไปทั่วเกียวโต ในฐานะ "งานบันเทิงร่วมสมัยของชุมชน" ซึ่งถูกเรียกว่า Kabuki**-odori ถึงขั้นที่ Izumono Okuni ได้รับเชิญให้เข้าแสดง Kabuki-odori ในวังที่เกียวโต ในปีเดียวกันและยังข้ามไปแสดงที่ปราสาทเอโดะ ในปี 1607 (ปัจจุบันเอโดะเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว)
ก่อนที่จะแพร่หลายไปทั่วประเทศอันเป็นจุดเริ่มของละครคาบูกิซึ่งแสดงโดยผู้หญิงที่เรียกว่า Onnakabuki
แต่ก็เพราะความนิยมที่ขยายตัวโดยไร้ทิศทาง ส่งผลให้ศิลปะแขนงนี้ถูกสื่อออกไปอย่างบิดพลิ้วกลายเป็นศิลปะความบันเทิงที่ถูกเลียนแบบใช้บังหน้าการทำงานของเหล่าโสเภณีนำมาซึ่งความเสื่อม ทรามที่ขัดต่อระเบียบสังคมเอโดะจนถูกยกเลิก Onnakabuki ไปในปี 1629
ต่อมาจึงฝึกหัดเด็กชายที่ยังไม่ได้โกนหัวไว้ผมแบบผู้ใหญ่ให้แสดงคาบูกิแทน ซึ่งเรียกว่า Wakashu-kabuki แต่สุดท้ายก็ถูกสั่งห้ามแสดงไปอีกด้วยเหตุผลทำนองคล้ายกันในปี 1652 ในที่สุดจึงเปลี่ยนมาใช้นักแสดงเป็นชายล้วนกลายมาเป็น ต้นแบบของ Kabuki ในปัจจุบันที่พัฒนาเครื่องแต่งกายอย่างสวยงามรวมถึงท่วงท่าอากัปกิริยา การพูดการจาของนักแสดงที่รับบทผู้หญิงที่เรียกว่า Onnagata นอกจากนี้ยังแตกแขนงย่อยออกเป็นหลายบทบาท เช่น ตัวละครผู้หญิงวัยกลางคน (Kashagata), ตัวตลก (Dokegata), บทผู้ร้าย (Katakiyaku), บทผู้ดี (Tachiyaku) นักแสดงละคร คาบูกิที่มีชื่อเสียงจะได้รับการตั้งชื่อใหม่เพื่อใช้ในการแสดงซึ่งมักจะถ่ายทอดชื่อดังกล่าวโดยเชื้อสายไปยังอนุชนรุ่นหลังด้วย
ในยุคการปฏิรูปไปสู่ความทันสมัยของจักรพรรดิ Meiji (ค.ศ.1868-1912) เลยไปถึงสมัยTaisho (ค.ศ.1912-1926) และสมัย Showa (ค.ศ. 1926-1989) มีการปรับปรุงการแสดงให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาเป็นลำดับที่เรียกว่า Shinkabuki จนถึงปัจจุบันสมัย Heisei มีละครคาบูกิแสดงอยู่ราว 400 เรื่องซึ่งแบ่งตามเนื้อหาได้เป็น 2 ประเภทคือ Jidaimono ที่เกี่ยวกับสงคราม ตำนานเก่าแก่ และ Sewamono แสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนชั้นกลางในสมัยเอโดะ ฆาตกรรมซ่อนเงื่อน Ichikawa Ennosuke ที่ 3 เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากกว่าชื่อจริง (Kinoshi Masahiko) เขาเกิดเมื่อ 9 ธันวาคม 1939 เติบโตขึ้นในตระกูลของนักแสดงคาบูกิที่มีชื่อเสียงมาหลายชั่วอายุคนเช่นรุ่นปู่ทวดคือ Ichikawa Ennosuke ที่ 1, รุ่นปู่คือ Ichikawa Ennosuke ที่ 2, รุ่นบิดาคือ Ichikawa Danshiro ที่ 3 และมีพี่ชายคือ Ichikawa Danshiro ที่ 4
ในวัยเด็ก Ichikawa Ennosuke ฉายแววนักแสดงละครคาบูกิซึ่งประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแสดงเรื่องแรกที่ Tokyo Gekijo และได้รับชื่อ Ichikawa Danko ที่ 3 ตั้งแต่อายุ 8 ปีก่อนที่จะพัฒนาฝีมือการแสดงและได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น Ichikawa Ennosuke ที่ 3 ในเวลาต่อมาผลงานของ Ichikawa Ennosuke กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 1968 กลไกการชักลอกลวดสลิงที่ได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยเอโดะเพื่อบินขึ้นไปเหนือ ผู้ชมในบางฉากซึ่งเรียกเทคนิคนี้ว่า Chunori ถูกนำกลับมาใช้ในเรื่อง Yoshitsune Sembon Zakura จนกระทั่งถึงปี 2000 Ichikawa Ennosuke ได้ใช้เทคนิค Chunori ในการแสดงหลายๆ เรื่องไปกว่า 5,000 ครั้ง จนได้รับการกล่าวขานให้เป็น King of Chunori
นอกจากนี้ความสามารถอันโดดเด่นของ Ichikawa Ennosuke ยังเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปจากการรับบทนำในเรื่อง Date no Juyaku ที่ต้องเล่นเป็นตัวละครทั้ง 10 คนโดยใช้เทคนิคการเปลี่ยน เครื่องแต่งกายและการแต่งหน้าอย่างรวดเร็ว
กระนั้นก็ดีชื่อของ Ichikawa Ennosuke ถูกวิพากษ์อย่างหนัก เมื่อแนวคิด Super Kabuki ถ่ายทอดออกมาในปี 1986 ด้วยรูปแบบใหม่ที่ตั้งมั่นอยู่บนปรัชญาพื้นฐานดั้งเดิมของคาบูกิผ่านกระบวนการที่ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาอย่างประณีตบรรจงเพื่อให้บริบทของละครคาบูกิรูปแบบใหม่นี้เป็นที่น่าสนใจและน่าติดตามในทุกๆ องก์ของเรื่อง
การเลือก Yamato Takeru มานำเสนอนั้นนอกจากจะมีบทอันท้าทายยิ่งโดยที่ Ichikawa Ennosuke ในฐานะ Producer และนักแสดงเอกสวม บทเจ้าชายแฝด Ohusu และ Ousu โดยเฉพาะฉากที่ฝาแฝดทั้งสองต้องต่อสู้กันเองนั้นได้ใช้เทคนิคการแต่งหน้าอย่างรวดเร็ว (Keren) เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าอีกทั้งทรงผมและเครื่องแต่งกายได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีที่ตรงหน้าเวทีต่อหน้าผู้ชมซึ่งไม่อยากกะพริบตา ยิ่งไปกว่านั้นฝีไม้ลายมือการเขียนบทของอาจารย์ Umehara Takeshi ยังดำรงบริบทของตำนานกำเนิดประเทศญี่ปุ่นไว้อย่างครบถ้วนผ่านการอ้างอิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้ในปัจจุบัน เช่นเนื้อความตอนที่กล่าวถึงศาลเจ้าสำคัญอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นอย่าง Ise Jingu ในจังหวัด Mie และ Atsuta Jinju ในจังหวัด Aichi เป็นต้น
ในฉากท้ายของเรื่องที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมได้กล่าวขวัญถึงคือ เทคนิค Chunori ซึ่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นช่วยให้ดวงวิญญาณ ของ Yamato Takeru ซึ่งเปลี่ยนเป็นหงส์แล้วโบยบิน สู่ท้องฟ้ายามราตรีกลับไปหาพระจักรพรรดิ (พระบิดา) ได้สมจริงอย่างเป็นธรรมชาติ
ความสำเร็จดังกล่าวหยิบยื่นโอกาสให้ Super Kabuki ในเรื่องถัดๆ ไปได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการเข้าสู่สัมผัสของผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทันสมัยอย่างเช่นการใช้แสงเลเซอร์ประกอบฉากหรือการใช้น้ำที่ตกลงมาจริงๆ บนเวที การให้ความสำคัญกับบทพูดที่มีความร่วมสมัยก็ดี หรือความพิถีพิถันในการใช้ดนตรีประกอบที่เรียบเรียงใหม่โดยมืออาชีพเข้ามาร่วมนำเสนอจิตวิญญาณ ของละครคาบูกิได้อย่างแยบยล ซึ่งองค์ประกอบปลีกย่อยเหล่านี้ล้วนสะกดความสนใจของผู้ชมทุกวัยไว้ได้ราวกับหลุดเข้าไปในโลกแห่งคาบูกิ จึงไม่ใช่เหตุบังเอิญหากอายุเฉลี่ยโดยรวมของผู้ที่เข้าชม Super Kabuki จะน้อยที่สุดในบรรดาละครคาบูกิที่มีอยู่ในปัจจุบัน
Ichikawa Ennosuke ยังเสริมรากฐานให้กับนักแสดงรุ่นใหม่ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพรับบทสำคัญใน Super Kabuki อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากผลงานในปี 2005 และล่าสุดปี 2008 ที่นำ Yamato Takeru กลับมาแสดงใหม่โดยมี Ichikawa Ukon กับ Ichikawa Danjiro สามารถสลับกันเล่นบท (Double Casting) เป็น Yamato Takeru ได้ทั้งคู่ เท่ากับเป็นวิธีการเพิ่ม Man Power ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้นักแสดงหลักมีเวลาพักผ่อน มากขึ้นได้อย่างชาญฉลาด
แม้ว่าองค์การ UNESCO ได้ประกาศให้ละคร คาบูกิเป็น Masterpiece of Oral and Intangible Heritage of Humanity อันดับที่ 3 ของญี่ปุ่น ในปี 2005 ซึ่งยกย่องคุณค่าของละครคาบูกิให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแต่นั่นไม่ได้มีนัยสำคัญมากกว่าการช่วยกระตุ้นให้สาธารณชนและคนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงละครคาบูกิ เป็นการตอกย้ำแนวคิดดั้งเดิมของ Izumono Okuni ที่นำเสนอ "งานบันเทิงร่วมสมัยของชุมชน" ในสมัยเอโดะได้ด้วยจังหวะการดำเนินไปของ Super Kabuki ที่สร้างความมั่นใจได้ว่าละครคาบูกิจะดำรงสภาวะ "ศิลปะความบันเทิงสำหรับสาธารณะ" ในอนาคตไว้ได้อย่างมั่นคง
หมายเหตุ :
* Kabukimono หมายถึงนักรบไร้สังกัดที่บางกลุ่มแฝงตัวเป็นนักเลงอันธพาลในสมัยเอโดะ
** ข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งคือ Kabuki เป็นคำนามที่ผันมาจากคำกิริยา Kabuku ซึ่งหมายถึง to be eccentric, extraordinary ในปัจจุบันนคำกิริยาคำนี้ไม่ค่อยได้ใช้ในภาษาญี่ปุ่นแล้ว
|
|
 |
|
|