Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2551








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2551
จีนกับวิกฤติการสูญเสียสถานะ "โรงงานของโลก"             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Economics




เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศจีน ครองตำแหน่ง "โรงงานของโลก (World Factory)" มานานหลายปีเต็มที ด้วยความได้เปรียบทางด้านต้นทุนทางวัตถุดิบและต้นทุนทางด้านแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นประเทศที่มีตลาดภายในที่มีขนาดใหญ่มหึมาอีกด้วย

หลังเสร็จสิ้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายแขนงต่างออกมากล่าวถึงอนาคตของเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก (Post-Olympics) ว่าจะดำเนินไปในทิศทางไหน จะรักษาอัตราการเติบโตในระดับสูงต่อไป หรือเริ่มชะลออัตราการเติบโตจากการลดระดับการอัดฉีด-ลงทุนของภาครัฐ และการแตกตัวของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์-ตลาดหลักทรัพย์

แท้จริงแล้วภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ทว่า ภาวะฟองสบู่ดังกล่าว ถูกจำกัดอยู่ในวงที่ไม่กว้างนัก กล่าวคือ ฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้แตกตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2550 แล้ว ส่วนฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังไม่ถึงกับวิกฤติ และแม้จะเกิดปัญหาจริง ปัญหาก็จะถูกจำกัดอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น เป็นต้น เท่านั้น

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ออกมาประกาศว่าในปี 2551 นี้ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราร้อยละ 10 ลดลงจากร้อยละ 11.9 ในปี 2550 ส่วนในปีหน้า หรือปี 2552 นั้นเอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะลดระดับอัตราการเติบโตลงเหลือเพียงร้อยละ 9.5

สำหรับการคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะลดลงเหลือต่ำกว่าเลขสองหลักนั้น ในมุมมองหนึ่งแล้วต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนและทั่วโลกต่างก็คาดหวังให้เศรษฐกิจจีนที่เติบโตในอัตราสูงมาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ลดความร้อนแรงลงบ้าง ตามนโยบาย Soft Landing ของจีนที่พยายามทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทว่าไม่เคยประสบความสำเร็จ

ซึ่งในประเด็นนี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี นามอิฟซัล อาลี มองว่า ในระยะยาวแล้ว หากจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างยั่งยืนก็จำต้องควบคุมอัตราการเติบโตให้อยู่ในช่วงร้อยละ 9-10

ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้คำนึงหรือกล่าวถึงมากนักก็คือ ปัญหาการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของภาคการผลิตจีน อันเกิดจากปัจจัยด้านต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับต้นทุนในการผลิตในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยปัจจัยหลักๆ ประกอบไปด้วย ต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนด้านแรงงาน ต้นทุน ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ just-style.com ได้เผยแพร่รายงานถึงสถานการณ์การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจสิ่งทอของจีน โดยระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 สหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากจีนกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 โดยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโรงงานในประเทศจีนไม่เพียงมาจากราคาพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในส่วนของกฎหมายแรงงานและกฎหมายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ขณะเดียวกันภาครัฐของจีนยังมีนโยบายจำกัดการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและลดความช่วยเหลือในส่วนของเงินสนับสนุนสินค้าส่งออกของผู้ส่งออกด้วยเช่นกัน

มากกว่านั้น แรงกดดันของภาคการส่งออกของจีนยังมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน (เหริน หมินปี้) ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าเงินของจีนนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ที่รัฐบาลจีนประกาศผ่อนคลายการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่นั้นมาเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นมาตลอด จาก 8.23 หยวน/ดอลลาร์ ในปี 2548 มาเป็น 6.85 หยวน/ดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือหากคิดเป็นสัดส่วนแล้ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเกือบร้อยละ 20 แล้ว ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ผู้ส่งออกชาวจีนย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บริษัทข้ามชาติต่างเริ่มเบนหน้าหนีจากจีน โดยเฉพาะเมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากปัญหาเรื่องราคาค่าแรงในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปัจจุบันมีตัวเลขระบุอย่างชัดเจนว่า ในเอเชียมีประมาณ 7 ประเทศผู้ส่งออกที่มีต้นทุนทางแรงงานที่ต่ำกว่าจีน อย่างเช่น เวียดนาม ปากีสถาน กัมพูชา บังกลาเทศ เป็นต้น

โดยค่าแรงต่อชั่วโมงของแรงงานในเวียดนาม อยู่ที่เพียง 0.38 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง ปากีสถาน 0.37 เหรียญต่อชั่วโมง กัมพูชา 0.33 เหรียญต่อชั่วโมง บังกลาเทศ 0.22 เหรียญต่อชั่วโมง ขณะที่ค่าแรงของจีนนั้นพุ่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 1.08 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ เวียดนามถือเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของจีนมากที่สุด โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ในส่วนของสินค้าประเภทอื่นๆ อย่างเช่นของเล่นนั้น แม้ว่าในปี 2550 ต่อเนื่อง 2551 ของเล่นที่ผลิตจากจีนนั้นจะประสบปัญหาความด้อยคุณภาพในการผลิตจนทำให้ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกเกิดกระแสการแบนและเรียกคืนของเล่นที่ผลิตจากจีนอย่างกว้างขวาง ทว่าบริษัทของเล่นอเมริกันก็ยังคงต้องพึ่งพาโรงงานในจีนอยู่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในปีนี้ราคาของของเล่นที่ผลิตจากโรงงานจีนจะต้องถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 5-10 อันเนื่องมาจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนการผลิตดังที่กล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2551 ที่ผ่านมาว่า โรงงานของบริษัทฮ่องกงและไต้หวันจำนวนมากที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินจีนอาจต้องปิดตัวลง เนื่องจากแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ในขณะเดียวกับบริษัทไอทีและผู้ผลิตเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อเมริกัน ไต้หวันและญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง อย่างอินเทล หงไห่กรุ๊ป (Hon Hai Technology Group; บริษัทสัญชาติไต้หวันที่รับผลิตเครื่องเล่นเพลงไอพอดให้แอปเปิล) แคนนอน และโซนี่ ต่างก็เลือกย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งไปที่เวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่า

สำหรับปัญหาต้นทุนในการผลิตของโรงงานในประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็มีผู้เสนอหนทางแก้ไขว่า บริษัทข้ามชาติอาจใช้วิธีการย้ายฐานจากพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทางตะวันออกหรือตอนใต้ของจีน เข้าไปยังพื้นที่ทางตอนกลางหรือตอนตะวันตกของจีนที่มีค่าแรงต่ำกว่า กระนั้น การย้ายฐานการผลิตดังกล่าวก็ต้องชั่งน้ำหนักกับต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ในมุมของจีนเอง "วิกฤติด้านต้นทุนการผลิตที่เกิดขึ้นนั้น อีกด้านหนึ่งอาจมองให้เป็น "โอกาส" ก็ได้เพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นแท้จริงแล้วก็คือ การดึงเอาต้นทุนแอบแฝง เช่น ต้นทุนจากการขูดรีดแรงงาน ต้นทุนจากการทำลายสิ่งแวดล้อมเข้ามาคำนวณอยู่ในต้นทุนการผลิตจริงๆ ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของแรงงานและประชากรชาวจีนนั้นได้รับการพัฒนาขึ้นในระยะยาว

นอกจากนั้นอาจกล่าวได้ว่า วิกฤติในครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสของระบบเศรษฐกิจจีนในการยกระดับแรงงานในภาคการผลิตให้ไหลเข้าสู่ภาคบริการ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีฝีมือและสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าก็เป็นได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us