ความร้อนแรงของ Hotspot ทำให้ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในหลายประเทศในภูมิภาคนี้
รวมทั้งไทย นำเอาบริการ Hotspot รวมเข้าไว้ในยุทธศาสตร์ทางธุรกิจไปแล้ว
แม้ว่า แอปเปิล คอมพิวเตอร์ จะเป็นผู้ริเริ่มบริการ Hotspot เป็นรายแรก
ในห้างสรรพ สินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ในลักษณะของการทดลองให้บริการ
แต่ผู้เล่นหลักและเป็นผู้เล่นสำคัญของธุรกิจ Hotspot หรือบริการ WiFi ของไทย
เวลานี้ กลับเป็นรายใหญ่อย่างทีเอ และชินคอร์ป เนื่องจากทั้งสองเป็นเจ้าของเครือข่ายโทรคมนาคม
ผู้บริหารของทั้งสองค่ายต่างเชื่อว่า แนวโน้มของการใช้โน้ตบุ๊ค และ PDA
ที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี และการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้บริการ
Hotspot ที่ใช้เครือข่ายและบริการที่มีอยู่ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา
"เราเชื่อว่าไม่นาน ไทยจะมีเครือข่าย WiFi ครอบคลุมทุกพื้นที่ จนเกิดคำว่า
Data Wire-Free สำหรับทีเอบริการที่มีอยู่จะทำให้เราตอบสนองการใช้งานเหล่านี้"
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารทีเอบอก
ด้วยเหตุนี้ ต่างฝ่ายต่างเลือกเฟ้นสถานที่ติดตั้งอุปกรณ์ สำหรับให้บริการ
Hotspot ให้กับลูกค้าที่หิ้วโน้ตบุ๊ค ถือเครื่อง PDA ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแลกกับอัตรา
ชั่วโมงอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 180 บาทต่อชั่วโมง
ซีเอส ล็อกซอินโฟ ยึดเอาห้างสรรพสินค้าเกษรพลาซ่า เป็นจุดให้บริการแรก
จากนั้นเริ่มทยอยติดตั้งตามห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล บริเวณหน้าร้านสตาร์บัคส์
โรงแรมดุสิตรีสอร์ท แอนด์ โปโล คลับ และมีอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างเจรจาและทดลอง
เช่น ร้านแมคโดนัลด์ ร้านสตาร์บัคส์
ในขณะที่ทีเอเปิดฉากบริการ TA Wi-Fi ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นแห่งแรก
มีผู้จัดสัมมนานักธุรกิจต่างชาติที่เดินทางมาดูงานเป็นลูกค้าเป้าหมาย แผนถัดไปคือการ
ติดตั้งในห้างสรรพสินค้าฟอร์จูน และอาคารห้างสรรพสินค้าต่างๆ
ทีเอและกลุ่มชินคอร์ป มีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน การเป็นเจ้าของโทรศัพท์
พื้นฐานของทีเอ ที่มีเครือข่ายบริการ Broad band ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
มีต้นทุนถูกกว่าดาวเทียม แต่ข้อเสียคือให้บริการได้เฉพาะในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัด
ต้องใช้เครือข่าย GPRS ของทีเอ ออเร้นจ์ และ แสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรที่เป็นเจ้าของเครือข่าย
ในขณะที่ชินคอร์ปมีดาวเทียมไทยคมเป็นหัวหอก ข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีดาวเทียม
อยู่ที่พื้นที่ให้บริการครอบคลุม และง่ายในการติดตั้ง หากต้องการให้บริการพื้นที่ไหน
ก็นำจานดาวเทียมติดตั้ง และยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียม เดินสายเพื่อเชื่อมโยงเข้าอุปกรณ์
Access Point แต่ข้อเสียคือราคาสูงกว่า
แม้ว่าบริการ Hotspot ของทีเอ และ ชินคอร์ป จะมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน แต่เป้าหมาย
ของการให้บริการ Hotspot ไม่แตกต่างกัน
ทีเอเชื่อว่าในอนาคตไม่ว่าผู้ใช้อุปกรณ์ประเภทใด จากเครือข่ายบริการชนิดใด
ผ่านโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ พีซีที มีมาตรฐานแตกต่างกันจะสามารถใช้บริการ
Hotspot ได้เหมือนกันหมด โดย log in ผ่าน password เดียวกัน ในรูปแบบของ
one network one number one account
"ลูกค้าเดินออกจากศูนย์ฯ สิริกิติ์ฯ เอาไปต่างจังหวัดก็ต้องใช้ได้ หรือซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตจากศูนย์ฯ
สิริกิติ์แล้วเหลือนำไปใช้ที่อื่นได้ ใช้กับอุปกรณ์อะไร เครือข่ายอะไร ที่ไหนก็ได้
นี่คือไอเดียของเรา"
ในขณะที่กลุ่มชินคอร์ปมีแนวคิดไม่แตกต่างกัน และด้วยเหตุนี้พวกเขาใช้วิธีจัดสรรงบลงทุนก้อนหนึ่ง
จากบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้อง ซีเอส ล็อกซอินโฟ บริษัทแอดวานซ์ดาต้า บริษัทเอไอเอส
และชินแซทเทล ไลท์ พร้อมกับนำเอาทีมงานวิศวกรรม และการตลาดบางส่วน ร่วมศึกษาถึงการนำโครงข่ายที่มีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นโครงข่าย GPRS หรือคู่สายความเร็วสูงดาต้าเน็ต ดาวเทียม มาประยุกต์สร้างเป็นโครงข่ายบริการ
Hotspot
"ในที่สุดแล้ว ไวร์เลสผ่านมือถือจะมาแทนที่ เพราะการ download ข้อมูลผ่านระบบ
GPRS แพงกว่ามาก ต้องสร้างทางเลือกให้ลูกค้าเอไอเอสที่มีแนวโน้มจะใช้เครื่องปาล์ม
หรือพีดีเอ download ผ่าน Hotspot" อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ
บริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ บอก
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องอาศัยการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบเข้าถึงข้อมูลเดียวกันเป็นมาตรฐานเดียว
และทำให้ระบบบิลลิ่งรองรับกับการคิดคำนวณค่าบริการที่แตกต่างกันได้
นอกจากนี้ การใช้บริการในช่วงแรก ยังจำกัดอยู่ในคนบางกลุ่ม เช่น ผู้เดินทางจาก
ต่างประเทศ นักธุรกิจ การจะถูกนำไปใช้แพร่ หลายต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่การลงทุนขยายเครือข่ายพื้นที่ให้บริการเป็นเรื่องจำเป็น
เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของบททดสอบทางธุรกิจ business model ที่จะพิสูจน์ว่าบริการ
นี้จะเป็นได้จริงหรือไม่
"ถ้าจะดูว่าบริการนี้ไปได้หรือไม่ ต้องลงทุน 100 จุด ถึงจะเห็นผล ถ้าน้อยกว่านี้พิสูจน์ไม่ได้"
อนันต์ แก้วร่วมวงศ์ บอกถึงแนวคิดที่ได้จากการศึกษาในสิงคโปร์ ที่ติดตั้ง
200 จุด ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร สปอร์ตคลับ จนได้รับผลสำเร็จ
แผนการขยายจุดบริการของซีเอส ล็อกซอินโฟ จะต้องครอบคลุมในร้านกาแฟ ร้านแมคโดนัลด์
โรงแรม สนามบิน บริเวณ ที่เหมาะสมสำหรับนักธุรกิจจะหิ้วโน้ตบุ๊คมาใช้งาน
เช่นเดียวกับทีเอจะเลือกเฟ้นสถานที่ให้บริการเพิ่มขึ้น
"ถ้ามีความสำเร็จเกิดขึ้นมีคนใช้มากขึ้น เจ้าของสถานที่จะให้ความสนใจ
เมื่อถึงเวลานั้นเราจะขายแฟรนไชส์ แทนที่เราจะลงทุนเองทั้งหมด เราจะให้เจ้าของตึกซื้ออุปกรณ์
ไปลงทุนเอง ส่วนเราจะขายส่งชุดอินเทอร์เน็ตให้เขาไปขายให้ลูกค้าอีกต่อ"
อนันต์บอก
แรงผลักดันที่ทำให้ผู้ให้บริการทั้งสอง ต้องกระโดดเข้าสู่บริการ หากบริการ
Hotspot เป็นที่นิยมได้จริง ผลที่ได้รับไม่ใช่แค่รายได้จากชั่วโมงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
แต่ยังหมายถึงการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสาร โทรคมนาคม บริการบรอดแบนด์
ช่องสัญญาณดาวเทียม คู่สายความเร็วสูง โทรศัพท์มือถือ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขัน
ในการสร้างฐานลูกค้าภายใต้เครือข่ายของตัวเอง
"บริษัทที่มีเครือข่ายจะต้องจับมือกันแน่นแฟ้นมากขึ้น บริษัทไหนไม่มีเครือข่ายอยู่
ลำบาก" อนันต์บอก
ทั้งทีเอ และซีเอส ล็อกซอินโฟ ต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่สร้างเครือข่ายของตัวเอง
เพื่อพิสูจน์แนวคิดของบริการ Hotspot โดย ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายที่มีความต้องการของลูกค้าเป็นเดิมพัน