เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปล/เรียบเรียง
เรื่อง ดิอีโคโนมีสต์ 14 สิงหาคม 2551
ชาวอเมริกันกำลังรู้สึกว่า ไยจึงต้องทนกับโรงพยาบาลในประเทศที่ค่ารักษาแสนแพง แถมคุณภาพก็ "งั้นๆ" ในเมื่อสามารถไปรับการรักษาที่ดีกว่าในเอเชียและที่อื่นๆ
Robin Cook รู้ดีถึงอันตรายในโรงพยาบาล Cook ซึ่งเป็น แพทย์ที่จบการศึกษาจาก Harvard คือนักแต่งนิยายสยองขวัญที่ใช้ฉากในแวดวงการรักษาพยาบาลมาหลายสิบเรื่อง รวมถึงที่นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อย่าง Coma และ Outbreak ซึ่งเขาคาดการณ์ได้ถูกต้องเกี่ยวกับการเกิดโรคระบาดร้ายแรง และการโจมตีด้วยอาวุธเชื้อโรค anthrax รวมถึงตลาดมืดซื้อขายอวัยวะ Foreign Body นิยายเล่มล่าสุดของเขาก็ยังคงเป็นจินตนาการสยองขวัญที่เล่นกับสิ่งที่กำลังจะเป็นแนวโน้มใหม่ในอุตสาหกรรม การรักษาพยาบาล นั่นคือการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
เรื่องราวในหนังสือเกี่ยวกับ Maria Hernandez แรงงานหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งเดินทางไปที่อินเดียเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม เนื่องจากไม่สามารถสู้ค่าผ่าตัดที่แสนแพงในสหรัฐฯ ได้ แต่พระเจ้า! เธอและนักท่องเที่ยวทัวร์สุขภาพคนอื่นๆ กลับเสียชีวิต อย่างลึกลับ แต่เมื่อเปรียบเทียบชะตากรรมของ Hernandez กับคนไข้และนักท่องเที่ยวทัวร์สุขภาพตัวจริงอย่าง Robin Steele ชาวอเมริกันซึ่งเพิ่งเดินทางไปเข้าโรงพยาบาล Wockhardt ในอินเดีย เพื่อรับการผ่าตัดหัวใจ เขาไม่เพียงแต่กลับมามีสุขภาพดีได้ แต่ยังได้เพลิดเพลินกับการหยุดพักผ่อนในอินเดียหลังจากการผ่าตัด พร้อมกับประหยัดเงินไปได้หลายพันดอลลาร์อีกด้วย
ชะตากรรมของ Hernandez อาจทำให้นิยายขายดี แต่สุขภาพที่ดีของ Steele จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่อนาคตของธุรกิจ การรักษาพยาบาล ซึ่งแต่เดิมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีลักษณะจำกัดอยู่แต่ภายในท้องถิ่นมากที่สุด แต่บัดนี้กำลังจะกลายเป็นธุรกิจโลกาภิวัตน์มากขึ้น หลายปีต่อจากนี้ไป โลกอาจจะได้เห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในธุรกิจนี้ จะมีแพทย์ พยาบาล และคนไข้ข้ามพรมแดนมากขึ้น ซึ่งจะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและโอกาส ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลไปพร้อมกับพวกเขาด้วย แม้หากความรุ่งเรืองของทัวร์สุขภาพทั่วโลกอาจจะไม่มากอย่างที่คาดหวัง แต่ก็ยังสามารถจะเป็นตัวเร่งให้รัฐบาลและโรงพยาบาลในสหรัฐฯ เริ่มหันมาคิดทบทวนตัวเอง และยังอาจจะนำการแข่งขันเข้าไปสู่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในสหรัฐฯ รวมทั้งที่อื่นๆ ในโลก
ความจริงโลกาภิวัตน์มิใช่เรื่องใหม่สำหรับโรงพยาบาล การ outsource งานเก็บประวัติคนไข้ การถ่ายทอดบันทึกการรักษาของแพทย์ผ่านสื่อทางไกล และการวิเคราะห์ฟิล์มเอกซเรย์ เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์จาก Columbia University ยังคิดด้วยว่า โรงพยาบาลยังอาจจะโอนงาน อื่นๆ ไปให้บริษัทในต่างประเทศทำได้อีก เช่น งานบริการลูกค้าและงานที่เกี่ยวกับขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมประกันสุขภาพ การ outsorce งานเหล่านี้จะช่วยให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯ สามารถ ประหยัดเงินไปได้ถึง 70,000-75,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หลายปีมานี้ โรงพยาบาลชั้นนำในสหรัฐฯ อย่างเช่น Mayo Clinic และ John Hopkins ยังแตกกิ่งก้านสาขาไปยังตะวันออกกลางและเอเชียด้วย
นอกจากนี้การที่คนไข้ที่ร่ำรวยเดินทางไปทำศัลยกรรมที่ เมืองนอกก็เป็นเรื่องปกติที่มีมานานแล้ว Dennis Cortese ผู้บริหาร Mayo Clinic ในมินนิโซตา ตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจรักษาพยาบาล อาจเป็นโลกาภิวัตน์มานานถึง 100 ปีแล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อน ชาวอังกฤษที่เบื่อกับการรอคอยคิวผ่าตัด เริ่มเดินทางไปรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อหรือทำศัลยกรรมเสริมสวยในต่างประเทศ โดยที่บางกรณีรัฐบาลอังกฤษยังออกเงินให้อีกด้วย แต่เมื่อคิวของคนไข้ในระบบสวัสดิการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษเริ่มสั้นลง และการขอเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเริ่มเข้มงวดขึ้น แนวโน้มนี้จึงชะงักไป
อย่างไรก็ตาม คนไข้กลุ่มใหม่จะมาเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ สิ่งที่ทำให้ใครๆ รู้สึกตื่นเต้นในขณะนี้ก็คือ โอกาสที่การท่องเที่ยว เชิงสุขภาพจะรุ่งเรืองสุดๆ ในระดับมวลชน เมื่อชนชั้นกลางชาวอเมริกันกำลังเตรียมพร้อมและเต็มใจที่จะกระโจนเข้าสู่การท่องเที่ยวชนิดนี้ รายงานของบริษัทที่ปรึกษา Deloitte เมื่อเดือนกรกฎาคมทำนายว่า จำนวนชาวอเมริกันที่จะเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 750,000 คนในปีที่แล้วเป็น 6 ล้านคนในปี 2010 และจะแตะหลัก 10 ล้านคนในปี 2012 คาดว่า คนไข้อเมริกันจะหอบเอาเงิน 21,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เข้าไปให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาภายในเวลา 4 ปีข้างหน้านี้ ระบบการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลอุดหนุนของยุโรปอาจจะพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อหว่านล้อมประชาชนให้รับการรักษาภายในประเทศ ต่อไป แต่คนไข้ในยุโรปก็ยังเริ่มเดินทางไปรักษาในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากค่ารักษาที่ถูกกว่าและสามารถเดินทางไปได้อย่างง่ายๆ
โรงพยาบาลในเอเชียดูจะเป็นผู้ชนะรายใหญ่ที่สุด โดยโรงพยาบาลดาวรุ่งในเอเชียอย่างเช่น Parkway Health ของสิงคโปร์ ต่างยินดีต้อนรับคนไข้ต่างชาติ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทยรักษาคนไข้ชาวอเมริกันจำนวนหลายหมื่นคนต่อปี และเพิ่งขยายโรงพยาบาลเพื่อรองรับคนไข้จากต่างประเทศ 6,000 คน พร้อมกับ อ้างว่านั่นทำให้บำรุงราษฎร์กลายเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก การเพิ่มขึ้นของคนไข้ชาวอเมริกันที่โรงพยาบาล Wockhardt ในอินเดีย ทำให้ Vishal Bali ผู้บริหารสูงสุดของโรงพยาบาลเชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังถึงจุดพลิกผัน อย่างแท้จริง
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเช่นนั้น รายงานของ McKinsey บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโต้แย้งว่า เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลที่ว่า มีคนไข้หลายล้านคนเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวก็ยังทำนายว่า อนาคตของทัวร์สุขภาพดูสดใส และในระยะยาว อาจจะทำให้ความคิดที่ว่า ธุรกิจรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจที่จำกัดอยู่แต่ภายในท้องถิ่นหมดไป
นักวิชาการจาก Harvard Business School เห็นพ้องด้วย โดยชี้ว่า แม้ว่าตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพอาจจะยังกล่าวโอ้อวดเกินจริงไปบ้างในขณะนี้ แต่ตลาดนี้กำลังเริ่มจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ธุรกิจใดที่ผู้ให้บริการตั้งราคาไว้สูง แต่การบริการกลับมีความผิดพลาดสูง ก็ย่อมเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาสให้แก่คู่แข่งที่แคล่วคล่องว่องไวกว่า ผู้ให้บริการที่ว่านั้นก็คือระบบการรักษาพยาบาลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ แต่กำลังต้องการการปฏิรูปโดยด่วน
การที่การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกนำโดยคนไข้จากอเมริกานั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้น 2 ข้อ คือ เหตุใดทัวร์สุขภาพจึงเพิ่งจะมารุ่งเรืองเอาตอนนี้และจะเกิดผล เช่นใดต่อระบบการรักษาพยาบาลทั้งในชาติยากจนและชาติร่ำรวย
เมื่อก่อนนี้มีชาวอเมริกันเพียงน้อยคนที่จะเดินทางไปรับการรักษาในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ชาวอเมริกันที่ต้องการใช้บริการรักษาพยาบาลเริ่มเดินทางไกลจากบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะออกค่าใช้จ่ายเอง และไม่ใช่การเดินทางระยะใกล้อย่างเช่นเพียงเวเนซุเอลา หรือเพียงข้ามชายแดนเข้าไปในเม็กซิโกเพื่อซื้อยาราคาถูกเท่านั้น แต่ขณะนี้ชาวอเมริกันกำลังเดินทางข้ามโลกเพื่อไปรับการผ่าตัดเข่าและผ่าตัดหัวใจ รวมไปถึงการตัดมดลูกและผ่าตัดหัวไหล่
แรงจูงใจประการหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันทำเช่นนั้นคือเพื่อประหยัดเงิน ค่ารักษาที่แสนแพงในสหรัฐฯ สูงจนแซงหน้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปแล้ว ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดที่มีค่ารักษาแพงที่สุดในโลก แต่ Deloitte คำนวณว่า ค่าผ่าตัดหลายอย่างโดยเฉลี่ยของโรงพยาบาลดีๆ ในต่างประเทศ เท่ากับประมาณ 15% เท่านั้นของค่ารักษาที่คนไข้จะต้องจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วค่าใช้จ่ายใดๆ ในอเมริกาก็มักจะแพงกว่าในประเทศยากจนอยู่แล้ว ดังนั้นค่ารักษาที่ถูกเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกันเกิดแห่กันไปรักษาในต่างประเทศได้ ปัจจัยอีก 2 ประการคือ หนึ่งคุณภาพของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเอเชียและละตินอเมริกาในขณะนี้ ดีเทียบเท่าโรงพยาบาลหลายๆ แห่งในประเทศร่ำรวย และประการที่สองคือ การที่ตาข่ายความปลอดภัยของการประกันสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ในสหรัฐฯ กำลังเริ่มขาดหลุดรุ่ย
ชาวอเมริกันมากกว่า 45 ล้านคนไม่มีประกันสุขภาพ และอีกหลายล้านคนทำประกันไว้ในวงเงินที่ต่ำมาก คนเหล่านี้เห็นว่าการบินไปเมืองนอกและยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าผ่าตัดด้วยตัวเอง สำหรับการผ่าตัดชนิดเดียวกันในสหรัฐฯ ยังถูกกว่าการซื้อประกันสุขภาพที่ยังต้องหาเงินมาจ่ายค่ารักษาขั้นต้นหรือจ่ายสมทบ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่ผู้ประกันตนต้องรับผิดชอบเองด้วยซ้ำไป Arnold Milstein จากบริษัทที่ปรึกษา Mercer เรียกคนอเมริกันกลุ่มนี้ว่า "ผู้ลี้ภัยทางการแพทย์"
ธุรกิจขนาดใหญ่ยังสนใจที่จะเข้าร่วมวงด้วย Epstein, Becker & Green บริษัทกฎหมายในสหรัฐฯ ชี้ว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่เริ่มสนใจที่จะสนับสนุนให้พนักงานไปท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการพยายามรับมือกับค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ ที่แพงขึ้นตลอดเวลา หลายบริษัทพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
Hannaford เชนร้านชำใน New England เสนอให้พนักงาน 27,000 คนของตน เดินทางไปรับการผ่าตัดในหลายๆ โรคที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์แทนในสหรัฐฯ ซึ่งพนักงานจะสามารถ ประหยัดค่ารักษาที่ต้องจ่ายสมทบหรือจ่ายขั้นต้นไปได้ถึง 2,500-3,000 ดอลลาร์ Blue Ridge Paper Products บริษัทในรัฐ North Carolina ซึ่งผลิตกล่องกระดาษบรรจุนม พยายามเสนอให้พนักงานไปท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ แต่ถูกต่อต้านจากสหภาพ แรงงาน เลยต้องระงับแผนการดังกล่าวไป แต่ถึงแม้ว่าจะถูกขัดขวาง บริษัททั้งหลายในอเมริกาก็เริ่มสนใจที่จะให้พนักงานของตนไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งสมาคม American Medical Association ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ให้แก่แพทย์ในสหรัฐฯ เอง ยังสร้างความประหลาดใจอย่างมาก เมื่อออกคำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางไปทัวร์สุขภาพในต่างประเทศ
นั่นทำให้บริษัทประกันรู้สึกกล้ามากขึ้น หลังจากที่ระมัด ระวังในเรื่องนี้มานาน บริษัทประกันจำนวนหนึ่งเริ่มเสนอทางเลือก "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในต่างประเทศ" โดยสมัครใจให้แก่ลูกค้าองค์กร ผู้เชี่ยวชาญที่บริษัทกฎหมาย Epstein Becker ชี้ว่า บริษัทประกันกำลังกลัวว่าพวกเขาอาจจะล้าหลังคู่แข่ง หากไม่เสนอทางเลือกดังกล่าวให้แก่ลูกค้าบ้าง
หลังจากสามารถเอาชนะความคลางแคลงสงสัยที่มีมา แต่ดั้งเดิมได้แล้ว Aetna บริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ก็เริ่มโครงการนำร่องในปีนี้ในการร่วมมือกับโรงพยาบาลหลายแห่งในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม Charles Cutler แห่ง Aetna กล่าวว่า เงินที่บริษัทประหยัดได้จากการส่งลูกค้าไปรับการรักษาที่สิงคโปร์นั้น ไม่ได้มากไปกว่าบริษัทประกันอื่นๆ เพราะ Aetna ได้รับส่วนลดมากมายอยู่แล้วจากโรงพยาบาลต่างๆ ในสหรัฐฯ เนื่องจากความที่เป็นบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง ดังนั้น การเดินทางไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศสำหรับลูกค้า Aetna จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ก็เฉพาะการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่าย สูงตั้งแต่ 20,000 ดอลลาร์ขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งอาจรวมถึงการผ่าตัดหัวใจ
อย่างไรก็ตาม Cutler ยังคงรู้สึกกระตือรือร้น และตั้งข้อสังเกตว่า คุณภาพของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในต่างประเทศ อาจดีกว่าโรงพยาบาลอเมริกันโดยทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ อันเนื่องมาจากการที่โรงพยาบาลเหล่านั้นได้ปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส ทั้งยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีกว่าโรงพยาบาลทั่วไปในสหรัฐฯ ซึ่ง Cutler คิดว่า สาเหตุที่โรงพยาบาลในเอเชียปรับปรุงเรื่องความโปร่งใสรวมทั้งระบบคอมพิวเตอร์นี้ ก็เป็นเพราะต้องการจะทำตลาดกับลูกค้าชาวต่างชาติ ที่ยังคงมีความกังวลและคลางแคลงใน คุณภาพของโรงพยาบาลอยู่
David Boucher แห่ง Blue Cross and Blue Shield ใน South Carolina บริษัทประกันสุขภาพยักษ์ใหญ่อีกแห่งหนึ่ง ก็สงสัยในคุณภาพของโรงพยาบาลในเอเชียในตอนแรก ดังนั้นเขาจึงเดินทางไปดูด้วยตาตัวเอง เขาเดินทางมายังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อ 2 ปีก่อน Boucher เล่าว่าเขาได้นั่งจิบกาแฟที่ร้าน Starbucks ที่เปิดสาขาอยู่ในล็อบบี้ของโรงพยาบาล พลางบอกตัวเองว่า นี่ไม่ใช่โรงพยาบาลประจำหมู่บ้านที่มีแต่มีดหมอที่ขึ้นสนิม เมื่อกลับไปอเมริกา เขาได้เกลี้ยกล่อมให้บริษัทอนุมัติให้เปิดแผนกใหม่ Companion Global Healthcare เพื่อจะเจาะตลาด "ทะเลสีคราม" (blue ocean) ที่ยังแทบไม่มีคู่แข่งนี้โดยเฉพาะ
Boucher เปิดเผยต่อไปว่า ลูกค้าของแผนกเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตสินค้าและบริษัทอื่นๆ ที่ส่วนต่างกำไรหดหาย ไปเนื่องจากการแข่งขันกับต่างประเทศ ต้องการทดลองดูว่า ความคิดของเขาจะเป็นจริงหรือไม่ นั่นคือเขาได้เสนอต่อบริษัทเหล่านั้นว่า จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของพนักงานลงได้ เพียงแค่ยอมให้พนักงานราว 5-8% เปลี่ยนไปรับการรักษาพยาบาลที่ถูกกว่าในต่างประเทศ Boucher ยังคาดการณ์ด้วยว่า ต่อไปสัดส่วนของพนักงานที่เปลี่ยนไปใช้บริการโรงพยาบาลที่ถูกกว่าในต่างประเทศ อาจจะเพิ่มขึ้นสูงจนถึง 1 ใน 5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด
การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพอาจจะฟังดูแปลกสำหรับคนไข้รายบุคคล แต่ Boucher ชี้ว่า การคิดอย่างโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับลูกค้าองค์กรของเขา บริษัทเหล่านี้อาจตั้งอยู่ใน Columbia, South Carolina แต่มีคู่แข่งหรือลูกค้าอยู่ในประเทศโคลัมเบียหรืออเมริกาใต้ รวมทั้งในแอฟริกาใต้และเอเชีย
Curtis Schroeder ผู้บริหารบำรุงราษฎร์คิดว่า ความต้อง การค้นหาสิ่งที่คุ้มค่า จะผลักดันให้คนพากันเดินมาในทิศทางของ เขา "ที่สำคัญคือ เรากำลังขายรถ Cadillacs ในราคา Chevy" Schroeder กล่าว และเขาก็มีเหตุผลดีพอที่จะเชื่อเช่นนั้น ในปีที่แล้วเพียงปีเดียว มีชาวอเมริกันประมาณ 33,000 คนที่เดินทางมารับการรักษาที่บำรุงราษฎร์
คนไข้จากต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปในประเทศยากจน จะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจนอย่างไร หากฟังจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ คุณก็อาจจะคิดว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นโศกนาฏกรรม พวกเขาชี้ว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะสภาพที่ย่ำแย่ของระบบการรักษาพยาบาลในสหรัฐฯ และผลที่จะเกิดขึ้นกับชาติกำลังพัฒนาก็จะเลวร้ายเช่นกัน การทะลักเข้ามาของคนไข้ต่างชาติจะทำให้เงินทุนและบุคลากรทางการแพทย์ไหลออกไปจากระบบสาธารณสุขของรัฐในชาติยากจน เพื่อไปทำงานที่ได้เงินเดือนดีกว่าในการดูแลรักษาคนไข้ต่างชาติและคนร่ำรวย
เป็นความจริงที่ว่า การที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรุ่งเรืองขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ระบบสาธารณสุขในสหรัฐฯ ล้มเหลว รายงานการวิจัยของธนาคารโลกแสดงความวิตกเกี่ยวกับปัญหา "สมองไหลภายในประเทศ" ว่าเป็นปัญหาที่น่าวิตกในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ขาดแคลนแพทย์และพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิแพทย์และพยาบาลรายใหญ่ อย่างเช่นอินเดียและฟิลิปปินส์ ปัญหาสมองไหลภายในประเทศแทบจะไม่ใช่ปัญหาที่น่าวิตก เพราะมีบุคลากร ทางการแพทย์ในจำนวนที่มากพอ และปัญหาขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ที่มีอยู่ในบางประเทศ ก็สามารถจะบรรเทาลงได้ด้วยการปฏิรูป อย่างเช่นการเปลี่ยนวิธีสนับสนุนทางการเงินให้แก่การศึกษาด้านการแพทย์ ซึ่งยังจะเป็นการช่วยปรับปรุงระบบสาธารณสุขของภาครัฐที่กำลังป่วยไปพร้อมกันด้วย
มีเหตุผลดีพอที่ชวนให้คิดว่า การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะเป็นผลดีต่อชาติยากจน ประการหนึ่ง โรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้โรงพยาบาลรัฐละเลยการรักษาคนจน ก่อนที่จะเกิดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ หรือโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐในอินเดียและในชาติกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ก็ยุ่งเหยิงวุ่นวายมานานแล้ว อันเป็นผลมาจากปัญหาคอร์รัปชั่นและการขาดการแข่งขันของโรงพยาบาลรัฐ แต่ไม่ใช่เป็นเพราะสาเหตุจากความยากจน เห็นได้จากการที่ประเทศยากจนหลายประเทศก็สามารถมีระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ เช่น คอสตาริกา มาเลเซีย แม้กระทั่งชาติคอมมิวนิสต์อย่างคิวบา
นอกจากนี้การที่โรงพยาบาลเอกชนมีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ ยังจะส่งผลดีแบบเป็นลูกโซ่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนจน ธนาคาร โลกตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของคลินิกเอกชนที่มีคุณภาพสูงในประเทศตรินิแดดและแถบทะเลแคริบเบียน ได้จูงใจให้แพทย์ที่ไปทำงานในต่างประเทศตัดสินใจอพยพกลับบ้านเกิด
ในอินเดียก็เกิด "สมองไหลกลับ" เช่นกัน หลายปีหลังมานี้ Bali ผู้บริหาร Wockhardt กล่าวว่า มีแพทย์ชาวอินเดียฝีมือดีมากกว่า 20 คนแล้วที่เดินทางกลับมาตั้งรกรากที่อินเดียจากอังกฤษ และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเพราะการที่โรงพยาบาลของเขาเสนอสถานที่ทำงานที่มีคุณภาพระดับโลก และงานที่มีค่าตอบแทนอย่างดี เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า มีคนร่ำรวยเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากโรงพยาบาลของเขา ขณะนี้โรงพยาบาล Wockhardt ได้ขยายไปสู่เมืองชั้นรองๆ ลงไปในอินเดียแล้ว ซึ่งหมายความว่า คนธรรมดาทั่วๆ ไปก็สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้เป็นครั้งแรก เช่นโรคหัวใจและการรักษาโรคข้อและกระดูก
ผลดีอีกประการที่เกิดขึ้นคือ มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หลายทศวรรษก่อน แทบจะไม่มีโรงพยาบาลใดเลยในประเทศยากจนที่จะสามารถอ้างได้ว่า สามารถให้บริการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงสุด แต่ในวันนี้มีโรงพยาบาลนับสิบๆ แห่งทั่วโลก ที่ได้คุณภาพตามข้อกำหนดอันเข้มงวดในการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลของคณะกรรมการที่มีชื่อว่า Joint Commission International สถาบันไม่หวังผลกำไรที่ได้รับความเคารพ ในการประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของโรงพยาบาล อาจกล่าวได้ว่า การได้รับการรับรองจากคณะกรรมการดังกล่าวถือเป็น ราคาที่จำเป็นต้องจ่าย สำหรับโรงพยาบาลที่จริงจังกับการจะก้าว เข้าสู่ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับโลก
Tom Johnsrud แห่งโรงพยาบาล Parkway Health เครือ โรงพยาบาลยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ซึ่งเปิดสาขาในบรูไนและจีนด้วย เปิดเผยว่า คนไข้ต่างชาติมีสัดส่วนถึง 35-40% ของคนไข้ทั้งหมดในโรงพยาบาลของเขา แม้ว่าคนไข้จากสหรัฐฯ จะไม่ได้ส่งผลถึงขั้นชี้เป็นชี้ตายโรงพยาบาลที่หวังจับลูกค้าต่างชาติ แต่การสามารถ ดึงดูดคนไข้ชาวอเมริกันให้เข้ามารับการรักษา นับเป็นวิธีที่ช่วยสร้าง ชื่อเสียงให้แก่โรงพยาบาลได้อย่างดี และแม้ว่าการที่โรงพยาบาลเพิ่มมาตรฐานนั้น ก็เพื่อหวังจะดึงดูดลูกค้าต่างชาติ แต่คนไข้ในประเทศก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน
โรงพยาบาล "ระหว่างประเทศ" บางแห่งยังก้าวล้ำหน้าไป กว่าโรงพยาบาลในสหรัฐฯ โรงพยาบาลที่ดีที่สุดกำลังถูกสร้างขึ้นจากการเริ่มนับหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องแบกภาระการมีอาคารและอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์เก่าๆ หรือสหภาพแรงงานที่เล่นการเมืองสูงหรือภาระอื่นๆ เหมือนกับโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ที่กำลังถูกฉุดรั้งไว้ด้วยภาระเหล่านั้นอยู่ เมื่อบำรุงราษฎร์มองหาเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อจะนำมาใช้ในโรงพยาบาลเมื่อ 10 ปีก่อน แต่กลับพบว่าบรรดา บริษัทคอมพิวเตอร์ต่างปิดตัวเองเกรงความลับทางการค้ารั่วไหลและต่างคนต่างทำงาน อันเป็นวิธีทำธุรกิจของบริษัทในประเทศร่ำรวยมากเสียจนกระทั่งพวกเขาไม่อาจจะจัดการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ขึ้นมาจากศูนย์ให้สมบูรณ์สำหรับใช้ในโรงพยาบาลได้
แต่บำรุงราษฎร์ก็ไม่ได้หวั่นเกรงและตัดสินใจออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเอง โดยศึกษาจากระบบที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมอื่นๆ Schroeder ชี้ว่า การที่บำรุงราษฎร์สามารถวางระบบคอมพิวเตอร์ได้สำเร็จ เป็นเพราะความได้เปรียบของบำรุงราษฎร์มิได้มีพื้นฐานอยู่ที่แรงงานราคาถูกอย่างเดียว แม้ว่าค่าจ้างแรงงานจะมีสัดส่วนเพียง 18% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของบำรุงราษฎร์ เทียบกับ 55% ของโรงพยาบาลในอเมริกา แต่ความแตกต่างที่สำคัญกว่านั้นคือวิธีการที่บำรุงราษฎร์ส่งมอบบริการให้แก่ลูกค้า
ระบบ IT ของบำรุงราษฎร์มีคุณภาพดียิ่งกว่าระบบในโรงพยาบาลสหรัฐฯ หรือยุโรป จน Microsoft ถึงกับเข้าซื้อระบบคอมพิวเตอร์ Global Care Solution ของบำรุงราษฎร์ไปเมื่อปีที่แล้ว Peter Neupert ผู้บริหารของ Microsoft บริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ รู้สึกประทับใจกับความสำเร็จของโรงพยาบาลไทยแห่งนี้มาก จนตัดสินใจตั้งสำนักงานใหญ่ของ งานด้านระบบสารนิเทศโรงพยาบาลขึ้นในกรุงเทพฯ และยังระบุว่า ความสำเร็จในระบบสารนิเทศอย่างก้าวกระโดดของบำรุงราษฎร์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่า นวัตกรรมสามารถจะเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ เมื่อตลาดการรักษาพยาบาลเข้าสู่ตลาดโลกและแผ่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังมีสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ ผลของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็ยังคงจำกัด การผ่าตัดหลายๆ อย่างไม่อาจจะทำในโรงพยาบาลต่างประเทศได้อย่างปลอดภัย และความวิตกเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางกฎหมายและการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาด ก็จะยังคงมีอยู่ตลอดไป นอกจากนี้ กลุ่มล็อบบี้สนับสนุนแพทย์ยังอาจจะพยายามขัดขวางแนวโน้มนี้ Schroeder แห่งบำรุงราษฎร์ยืนยันว่า โรงพยาบาลของเขาไม่ใช่ "หนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ"
เขาพูดถูกที่ว่า การที่ชาวอเมริกันเดินทางไปรักษาในโรงพยาบาลต่างประเทศ หาใช่ทางแก้ปัญหาที่สามารถทดแทนการปฏิรูประบบสาธารณสุขที่กำลังมีปัญหามากมายของสหรัฐฯ ได้ แต่การที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับความนิยม ควรจะเป็นตัวเร่งให้สหรัฐฯ เร่งปฏิรูปการรักษาพยาบาลของตนเองมากกว่า IndUSHealth บริษัทตัวกลางระหว่างบริษัทประกันและลูกค้า องค์กร และช่วยประสานงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอินเดียเห็นว่า ความสำคัญของทัวร์สุขภาพหาใช่การ "ส่งออก" คนไข้จากชาติร่ำรวยไปยังชาติกำลังพัฒนา แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นการ "นำเข้าการแข่งขัน" เข้าสู่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ เสียมากกว่า
การแข่งขันที่มาจากโรงพยาบาลที่ดีที่สุดที่อยู่ในต่างประเทศ อาจจะเป็นการเริ่มนำความโปร่งใสและการแข่งขันในด้านราคา เข้าไปสู่ระบบการรักษาพยาบาลที่ไร้ประสิทธิภาพในชาติร่ำรวย ซึ่งเป็นตลาดที่เกือบผูกขาดและยังเต็มไปด้วยสิ่งจูงใจที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล การแข่งขันจากโรงพยาบาลในชาติกำลังพัฒนาอาจทำให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯ และยุโรปลดค่ารักษาลง หากพวกเขาเริ่มตระหนักว่า จะต้องสูญเสียมากเท่าใดในเชิงธุรกิจ
Deloitte ประเมินว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะทำให้สหรัฐฯ ต้องสูญเสียเงิน 162,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 จากการที่คนไข้นำเงินค่ารักษาไปจ่ายให้แก่โรงพยาบาลในต่างประเทศ แทนที่จะเป็นโรงพยาบาลในประเทศ มีสัญญาณว่าบรรดาผู้บริหารโรงพยาบาลอเมริกันเริ่มรู้สึกได้ถึงการแข่งขันแล้ว ส่วนโรงพยาบาลในยุโรปก็อาจจะหนีไม่พ้นแรงกดดันจากกระแสโลกาภิวัตน์ในธุรกิจรักษาพยาบาลนี้ด้วยเช่นกัน มีการประเมินว่า มีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชาวอังกฤษถึง 50,000 คน ที่ได้เดินทางไปรักษาในต่างประเทศในปี 2006 และใช้จ่ายเงินเป็นค่ารักษา ไปหลายล้านปอนด์ในตุรกี อินเดียและฮังการี
Charles Cutler แห่ง Aetna ยืนยันว่า ผู้บริหารโรงพยาบาล ในขณะนี้เริ่มรับรู้ถึงภัยคุกคามของการแข่งขันที่มาจากโรงพยาบาล ในต่างประเทศแล้ว กรณีของ Hannaford เครือข่ายร้านชำใน New England ทำให้โรงพยาบาลในท้องถิ่นต้องทบทวนนโยบายค่ารักษาพยาบาลของตัวเองใหม่ Christus Health โรงพยาบาลในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ปกป้องตัวเองด้วยการซื้อกิจการ Muguerza เครือโรงพยาบาลในภาคเหนือของเม็กซิโก และขณะนี้ก็กำลังชักชวนให้ชาวอเมริกันไปใช้บริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่โรงพยาบาลที่เพิ่งซื้อมาในเม็กซิโกนั้น Thomas Royer ผู้บริหาร Christus Health กล่าวว่า เขาพร้อมจะขยายธุรกิจไปยังเปรูด้วย
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังจะเป็นสิ่งที่ Cutler เรียกว่าเป็น "กลไกตลาดแบบท้าทาย" ที่จะช่วยบีบให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯ ต้องปรับปรุงทั้งราคาและคุณภาพการรักษาพยาบาล ไม่ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะบังเกิดผลอย่างที่บรรดาผู้สนับสนุนต่างปรารถนาหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ นี่คือพลังที่มิอาจไม่ได้รับการประเมินคุณค่า
|