ในยุคที่เมืองไทย คำว่า SMEs กำลังเป็นคำที่ฮอตมากอยู่ในขณะนี้ หากย้อนกลับไปดูพัฒนาการของบริษัทยานภัณฑ์จะเห็นได้ว่านี่คือตัวอย่างของ
SME ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความต่อเนื่อง จนเติบใหญ่กลายเป็นอุตสาหกรรม
เพียงแต่ยานภัณฑ์ถือเป็นโมเดลหนึ่งของ SME ที่เป็นเครือข่ายของอุตสาหกรรมยานยนต์
ซึ่งได้รับอิทธิพลของการพัฒนามาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งอาจไม่ตรงกับแนวทางพัฒนา SMEs ตามแนวคิดของพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาของ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเท่าใดนัก
ยานภัณฑ์เริ่มต้นจากเขียว พันธ์พาณิชย์ บิดาของสัมพันธ์ และพริษฐ์ พันธ์พาณิชย์
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เขียวเป็นเจ้าของกิจการขนส่ง โดยมีรถบรรทุก
และรถโดยสาร ครอบคลุมพื้นที่อยู่ในภาคอีสาน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ในประเทศไทยได้เกิดภาวะขาดแคลนอะไหล่รถยนต์
เขียวซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้อะไหล่ จึงคิดจะซ่อมรถบรรทุกโดยตัวเอง และด้วยความที่มีทักษะทางด้านช่าง
มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ จึงเริ่มผลิตอะไหล่ขึ้นมาใช้เอง
เพื่อให้รถสามารถวิ่งรับผู้โดยสาร หรือบรรทุกสินค้าต่อไปได้
จากอะไหล่ที่ทำขึ้นมาใช้กับกองรถบรรทุก และรถโดยสารของตัวเอง ก็เริ่มแพร่หลาย
โดยขายใหักับเจ้าของรถยนต์รายอื่น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี
2488 อะไหล่ของเขียวก็เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมากขึ้น เขียวจึงมีความคิดที่จะบุกเบิกธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
ในปี 2495 เขียวได้ตั้งบริษัทยานภัณฑ์ขึ้น โดยมีคนงานเพียง 7 คน ตั้งโรงงานอยู่บนพื้นที่
4 ไร่ ในเขตพระโขนง โดยมีสำนักงานขายอยู่ที่ถนนหลวง ห้าแยกพลับพลาไชย ผลิตท่อไอเสีย
และอะไหล่รถบรรทุกส่งให้ตามอู่ และร้านค้าต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และขยายต่อไปในภูมิภาค
จนกระทั่งมีลูกค้าอยู่ทั่วประเทศไทยกว่า 700 ราย
ปี 2514 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยสนับสนุนให้มีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทย
และได้มีข้อบังคับให้ผู้ที่จะเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย ต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศในสัดส่วน
25% บริษัทฮีโน่ มอเตอร์ ซึ่งมีแผนตั้งโรงงานในประเทศไทย ได้ว่าจ้างให้ยานภัณฑ์เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานดังกล่าว
โดยเริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่างเต็มตัว
อีก 2 ปีต่อมา ยานภัณฑ์ได้เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโรงงานของโตโยต้า
และได้มีการขยายตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ขึ้นที่บนพื้นที่ 20 ไร่ เขตอำเภอบางพลี
จังหวัดสมุทรปราการ ในปี 2520
ปี 2525 ยานภัณฑ์ก็เริ่มพัฒนาในด้านเทคโนโลยี โดยได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัทซังโกะ
ประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต ให้ได้ตามมาตรฐานสากล
ปี 2543 โรงงานของยานภัณฑ์ ก็ได้รับใบรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO 9000
และใบรับรองคุณภาพมาตรฐาน QS 9000 และได้รับใบรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
ISO 14000 ในปี 2546
จากโรงงานที่เริ่มต้นด้วยคนงานเพียง 7 คน ปัจจุบันโรงงานทั้ง 2 แห่งของยานภัณฑ์
มีคนงานมากกว่า 1,000 คน และจากลูกค้าซึ่งเป็นค่ายรถรายใหญ่ เพียง 2 รายในช่วงเริ่มต้น
ได้ขยายไปสู่ค่ายรถอื่นอีกรวม 10 ราย และมีแผนจะขยายฐานลูกค้า และสายการผลิตให้กว้างขึ้นไปอีก
จากโครงการขยายงาน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนถึง 1,500 ล้านบาท
ถือเป็นต้นแบบของ SME ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
แต่ SMEs ในโมเดลนี้ ยังจำเป็นต้องฝากอนาคตไว้กับทิศทางของอุตสาหกรรมหลัก
และอาจได้รับผลกระทบ หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่อาศัยเงินลงทุนจากต่างประเทศ