ช่วงสายของวันที่ 7 กรกฎาคม บรรยากาศบริเวณชั้นล่างของธนาคารกรุงไทย มีความคึกคักเป็นพิเศษ
เพราะเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางมาเยี่ยมชมกิจการของธนาคารแห่งนี้
ถือเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่คน ที่แสดงท่าทีว่าให้ความสนใจต่อการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยอย่างจริงจัง
ต่างจากนายกรัฐมนตรีอีกหลายคน ที่มองเพียงว่าธนาคารรัฐวิสาหกิจ แห่งนี้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล
ดังนั้นจึงต้องใช้ให้ไปทำงานตามความประสงค์ของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
"ธนาคารกรุงไทย ไม่ได้ทำตามคำสั่งของรัฐบาล" พ.ต.ท. ทักษิณ ยืนยันระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
การเยี่ยมชมกิจการของธนาคารกรุงไทยของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ใช้เวลาค่อนข้างมาก
จากกำหนดการที่เริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางมาถึง
ได้ขึ้นไปยังชั้น 16 เพื่อร่วมประชุมกับคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคาร
จนกระทั่งถึงเวลา 11.30 น. จึงเดินออกมาจากห้องประชุม เพื่อแถลงข่าวและตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าว
ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที
แต่คาดว่าผู้บริหารของธนาคาร ไม่น่าจะใช้เวลาในการบรรยายภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของธนาคารแห่งนี้นานนัก
เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณสามารถรับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนาคารกรุงไทย
จาก "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ไปเรียบร้อยแล้ว
หลังจากนั้นจึงกลับเข้าไปในห้องประชุมอีกครั้ง เพื่อร่วมรับประทานอาหารกับคณะกรรมการ
และผู้บริหารของธนาคาร จนกระทั่งถึงเวลา 12.45 น. จึงเดินลงมายังชั้นล่าง
เพื่อเตรียมตัวกลับไปทำภารกิจอื่น
แต่ก่อนขึ้นรถกลับ ยังหยุดเพื่อให้เวลากับผู้สื่อข่าวที่รอซักถามเรื่องต่างๆ
อีกถึงกว่า 20 นาที
ประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวถึง หลังจากได้เข้าชมการดำเนินงานของธนาคารแห่งนี้
โดยภาพรวมแล้วมีแต่เรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการให้เครดิตกับธนาคารกรุงไทย
ในการดำรงบทบาทสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเป็นผู้นำในการปล่อยกู้ให้กับ
SMEs การขยายบริการของธนาคารลงไปถึงกลุ่มคนระดับรากหญ้า ผ่านโครงการธนาคารชุมชน
ตลอดจนการพัฒนาแนวคิด ของธนาคารให้เป็น Convenient Bank ซึ่งให้บริการความสะดวก
สบายกับลูกค้าอย่างครบวงจร
"ขณะนี้ถือว่าธนาคารกรุงไทย ได้เดินมาถูกทางแล้ว โอกาสที่จะมีความเข้มแข็ง
น่าจะมากขึ้น และถ้าจะมีการเทรนนิ่ง ปรับวัฒนธรรมจากความเคยชินเดิมที่ติดอยู่กับระบบรัฐวิสาหกิจ
ให้ดูเหมือนเล็ก แต่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความคล่องตัว ก็จะทำให้ธนาคารแห่งนี้มีคุณภาพสูงขึ้น"
ประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เน้นย้ำอย่างยิ่ง คือเรื่องของคน และวัฒนธรรมขององค์กรธนาคารกรุงไทย
ที่ติดยึดกับระบบรัฐ วิสาหกิจมาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตรงกับเป้าหมายของวิโรจน์ นวลแข กรรมการ ผู้จัดการใหญ่
ซึ่งกำลังเร่งแก้ไขอยู่อย่างขะมักเขม้น