13.00 น. ณ บังลังก์พิเศษ ศาลล้มละลายกลาง บนชั้น 17 อาคารกรุงเทพประกันภัย
คลาคล่ำไปด้วยตัวแทนพนักงาน TPI ทนายความตัวแทนของเจ้าหนี้ และสื่อมวลชน
ทุกคนมาเพื่อร่วมรับฟังคำสั่งของศาล ที่จะประกาศว่าจะแต่งตั้งใครเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
TPI เป็นรายต่อไป หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 เมษายน ศาลแห่งนี้ได้ตัดสินถอดบริษัทเอฟเฟคทีฟ
แพลนเนอร์ส ออกจากการเป็นผู้บริหารแผนดังกล่าว
ตัวแทนของกระทรวงการคลัง ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าเป็นคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในบัลลังก์
เริ่มจาก พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฐ ในเวลา 13.10 น. ตามมาด้วยปกรณ์ มาลากุล
ซึ่งมาพร้อมกับนิพัทธ พุกกะณะสุตอีก 10 นาทีต่อมา ต่อด้วยพละ สุขเวช และอารีย์
วงศ์อารยะ
เวลา 13.40 น.อรพินท์ เลี่ยวไพรัตน์ ภรรยาของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้บริหารแผนชั่วคราวที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลเมื่อวันที่
21 เมษายน เดินทางมาถึง และได้เข้าไปพูดคุยกับ พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฐ ด้วยท่าทีที่เป็นมิตรอย่างยิ่ง
แต่ประชัยมิได้เดินทางมาร่วมรับฟังคำสั่งศาลในครั้งนี้แต่อย่างใด
เวลา 13.48 น. องค์คณะผู้พิพากษา เดินขึ้นบนบัลลังก์ และเปิดโอกาสให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายแถลงท่าที
แต่ปรากฏว่า ทั้งตัวแทนเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ตลอดจนผู้บริหารแผนชั่วคราวขอไม่แถลง
"บรรยากาศในวันนี้ เป็นไปด้วยดี แต่ละฝ่ายมีมิตรไมตรีต่อกัน" ผู้พิพากษาถึงกับเอ่ยปาก
หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฐ ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการคลังแถลง
ซึ่ง พล.อ.มงคลได้ใช้เวลาไปประมาณ 10 นาที แถลงถึงสิ่งที่จะกระทำ หากศาลประกาศให้เข้าเป็นผู้บริหารแผน
พร้อมขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินของ TPI ประสบผลสำเร็จ
14.00 น. หลัง พล.อ.มงคลกล่าวคำแถลงเสร็จสิ้น องค์คณะผู้พิพากษาได้ขอเวลาปรึกษาหารือกันก่อนที่จะออกคำสั่ง
เวลา 14.45 น. คำสั่งแต่งตั้งตัวแทนของกระทรวงการคลัง 5 คน ซึ่งประกอบด้วย
พล.อ.มงคล อัมพรพิศิษฐ, พละ สุขเวช, อารีย์ วงศ์อารยะ, ปกรณ์ มาลากุล และทนง
พิทยะ ให้เข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของ TPI ก็ถูกประกาศออกมา
บรรยากาศในบัลลังก์ขณะนั้น เต็มไปด้วยความเงียบสงบ ไม่มีใครแสดงท่าทีดีใจ
หรือคัดค้าน จะมีเพียงกลุ่มผู้สื่อข่าวที่พยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลเนื้อหาของคำสั่งศาล
เพื่อให้แต่ละคนได้ข้อมูลครบถ้วนที่สุด