Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2546
Re-launch TMA ความท้าทายใหม่ของ ดุสิต นนทะนาคร             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด
โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย
โฮมเพจ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ค้าวัสดุซิเมนต์ไทย, บจก. - CDC
เชลล์แห่งประเทศไทย, บจก.
ลีเวอร์บราเธอร์
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย - TMA
ดุสิต นนทะนาคร




เมื่อเวทีเศรษฐกิจการค้า ดำเนินไปท่ามกลางการแข่งขัน และเพิ่มพูนความได้เปรียบด้วยเทคนิคการบริหารจัดการแผนใหม่ องค์กรวิชาชีพที่มีเกียรติประวัติและความเป็นมายืนยาวใกล้ 40 ปี แห่งนี้ กำลังปรับตัวพร้อมกับแสวงหาแนวทางเพื่อรองรับกับกระบวนการเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญ

 

การเปิดตัวหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร (Management Development Program : MDP) ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) ซึ่งได้เปิดรับผู้สนใจเข้าอบรมรุ่นแรกมาตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 ที่ผ่านมา หากพิจารณาอย่างผิวเผินหลักสูตรดังกล่าวอาจเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อยืนยันการคงอยู่ และแสวงหารายได้ให้กับองค์กรแห่งนี้ ไม่แตกต่างไปจากกิจกรรมประจำปี ที่คณะผู้บริหารสมาคมฯ ในแต่ละช่วงปีจำเป็นต้องทำ

ซึ่งนั่นย่อมมิใช่สิ่งที่ ดุสิต นนทะนาคร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทค้าวัสดุซิเมนต์ไทย (CDC) ในฐานะประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย คนปัจจุบันต้องการ และพึงใจที่จะดำเนินไปอย่างแน่นอน

เพราะในอีกด้านหนึ่ง หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารนี้ได้สะท้อนความพยายามของ TMA ที่จะหนุนนำพัฒนาการเรื่องการบริหารจัดการภายในองค์กรธุรกิจไทย ให้สามารถยืนหยัดและเบียดแทรกการรุกคืบขององค์กรธุรกิจข้ามชาติได้อย่างเท่าเทียม

"จุดแข็งของ TMA ตั้งแต่อดีตอยู่ที่หลักสูตรการอบรมต่างๆ ซึ่งต้องถือว่าหลักสูตรการบริหารจัดการของ TMA เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการศึกษาในเรื่องเหล่านี้ อย่างจริงจัง ทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจไทย แต่ใน ช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจอาจทำให้กิจกรรมส่วนนี้ลดบทบาทไปบ้าง พร้อมกับการเกิดขึ้นของแนวคิดการบริหารแบบใหม่ TMA-MDP จึงเป็นเหมือนการเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง" ดุสิตบอก

แต่ความสมบูรณ์ที่ดุสิตต้องการเติมให้กับ TMA ดูจะมีมากและกว้างไกลกว่านั้น การปรับตัวของ TMA ในยุคที่มีดุสิตเป็นประธานสมาคมฯ จึงขยายบริบทไปสู่การสร้างให้เกิดคุณค่าใหม่ๆ ขึ้นมา ผสานกับพื้นฐานที่มั่นคงดั้งเดิมขององค์กร เพื่อให้สามารถสอดรับกับผู้คนและยุคสมัย

หากเปรียบเทียบเวลาที่ผ่านมาขององค์กรแห่งนี้เป็นประหนึ่งช่วงชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งแล้ว ต้องนับว่าเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและมีหลักฐานมั่นคงพอสมควร แต่ความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ในเชิงธุรกิจนั้น อาจเป็นกรณีที่มิได้เกี่ยวข้องกับอายุเท่านั้น หากยังมีปัจจัยว่าด้วยทัศนะที่ถูกต้องเหมาะควร และจังหวะเวลาที่ลงตัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่า

ดุสิตเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ในจังหวะเวลาที่สำคัญมากช่วงหนึ่ง เพราะนอกจากจะเป็นห้วงยามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศกำลังอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างการฟื้นตัวและการทรุดลงแล้ว

เขายังเป็นประธานสมาคมฯ ที่กำลังนำพาองค์กร วิชาชีพที่มีความเก่าแก่แห่งนี้เคลื่อนตัวผ่านหลักอายุ 39 ปี เข้าสู่การเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งในปี 2547 ด้วย

"TMA กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่สี่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและท้าทายมาก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมิได้หมายความว่าสิ่งที่ผ่านมาไม่ดี ไม่ใช่ หากแต่ TMA ต้องมีการปรับตัวให้มีลักษณะที่สามารถเข้าถึงและเข้ากันได้กับผู้คนและสังคมธุรกิจ"

นับตั้งแต่การก่อตั้งสมาคมฯ ในปี 2507 กล่าวได้ว่าในช่วง 10-15 ปีแรกเป็นช่วงเวลาที่บรรษัทจากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทในการส่งผ่านเทคนิควิธี ในการบริหารจัดการธุรกิจให้กับสมาชิกขององค์กรแห่งนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Shell, Lever Brothers โดยผนวกเข้ากับฐานความรู้ท้องถิ่นที่มีปูนซิเมนต์ไทยเป็นแกนหลัก

ทศวรรษที่ 2520 ซึ่งถือเป็นยุคที่ 2 นับเป็นช่วงเวลาที่สมาคมฯ แห่งนี้ สั่งสมความสำเร็จและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดองค์กรวิชาชีพอื่นๆ อย่างกว้างขวางพร้อมๆ กับการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของ "วาทกรรมแห่งความโชติช่วงชัชวาล" ขณะที่หลักสูตรการอบรมของสมาคมฯ ได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นหลักสูตรพื้นฐานสำหรับนักศึกษาวิชาบริหารธุรกิจด้วย

กระทั่งในช่วงปลายของทศวรรษที่ 2530 เค้าลางของการล่มสลายทางเศรษฐกิจได้ครอบคลุมบริบทของธุรกิจอย่างกว้างขวาง องค์กรแห่งนี้จึงเข้าสู่ภาวะชะงักงันควบคู่กับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดำเนินเนิ่นนานมากว่าครึ่งทศวรรษ พร้อมกับสัญญาณว่าด้วยการฟื้นตัว ที่แฝงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ดุสิต นับเป็นผู้บริหารระดับสูงของปูนซิเมนต์ไทย คนที่ 5 ที่เข้ามามีบทบาทนำในสมาคมฯ แห่งนี้ และการเข้าดำรงตำแหน่งประธานสมาคมของเขา เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องหลังจากที่ปูนซิเมนต์ไทย ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนองค์กรภายใน และสามารถก้าวข้ามวิกฤติการณ์มาได้ท่ามกลางการระบุให้เป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาของแวดวงธุรกิจไทย

"ก่อนหน้านี้ ปูนซิเมนต์ไทยมีบทบาทในสมาคมนี้อย่างมาก ซึ่งหลังจากที่สามารถข้ามพ้นช่วงเวลาที่หนักหน่วงของเรามาแล้ว นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากอีกครั้งหนึ่งที่ปูนซิเมนต์ไทยจะได้มีโอกาสร่วมกับองค์กรอื่นๆ สร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคมธุรกิจไทยไปพร้อมกัน"

ทัศนะว่าด้วยการปรับเปลี่ยนของดุสิต ที่มีต่อองค์กรแห่งนี้มีความชัดเจนและนำไปสู่รูปธรรมในทางปฏิบัติบ้างแล้ว เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ ของสมาคมฯ จากเดิมที่นำอักษรย่อของสมาคมฯ ทั้ง TMA และ สจธ. มาประกอบเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ที่เน้นความมั่นคงและสะท้อนลักษณะพุ่งทะยาน มาสู่การวางเรียงตัวอักษร TMA ในแนวระนาบ และสร้างน้ำหนักด้วยการไล่เฉดสีจากเข้มไปหาอ่อน พร้อมกับการจัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์ใหม่ที่เป็นเสมือนการ re-launch TMA เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เป็นการปรับเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ที่เรียบง่าย แต่สะท้อนเรื่องราวมากมาย

เพราะดุสิตมิได้จำกัดอักษร TMA ไว้เพียงการหมายถึงชื่อเรียกขานสมาคมแห่งนี้เท่านั้น แต่เขาได้เพิ่มเติมคุณค่าให้กับอักษรทั้งสามนี้อย่างน่าสนใจ

"ในทัศนะของผม T หมายถึง trust คือความน่าเชื่อถือ ส่วน M เป็นเรื่องของ modern มีความทันสมัย และ A คือ active กระฉับกระเฉง ตื่นตัวอยู่ตลอด TMA ในวัย 40 ปี จึงเป็นเรื่องขององค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ เข้ากับยุคสมัยและเปี่ยมด้วยความตื่นตัวว่องไว"

คุณค่าและความหมายที่ดุสิตเพิ่มเติมเข้าสู่องค์กรแห่งนี้มิได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศ หากเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นและสั่งสมยาวนานจากการที่เขาทำงานเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในปูนซิเมนต์ไทย องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมรากฐานที่มีความเกี่ยวพันกับพัฒนาการของสังคมธุรกิจไทย และเป็นองค์กรธุรกิจแห่งแรกๆ ที่นำเสนอแนวทางในการประกอบธุรกิจด้วยการเน้นเรื่องความเป็นธรรม (fairness) กระทั่งปัจจุบันกลายเป็นวาทกรรมยอดนิยมในนามของบรรษัทภิบาลไปแล้ว

นอกจากนี้ การได้มีโอกาสรับผิดชอบกิจกรรมของ บริษัทค้าวัสดุซิเมนต์ไทย (CDC) ในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมดำเนินไปท่ามกลางความซบเซา ขณะที่รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นในนามของ eBusiness กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นนั้น ย่อมทำให้เขามีความเข้าใจและตระหนักถึงประเด็นว่าด้วยความทันสมัยเป็นอย่างดี

ประสบการณ์โดยตรงของดุสิต ในฐานะ strategic user หนึ่งในจำนวนไม่มากนัก ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนองการปรับเปลี่ยนในเชิงยุทธศาสตร์อย่างได้ผล ดูจะเน้นย้ำข้อเท็จจริงนี้

แต่มิได้หมายความว่ากิจกรรมการออกเยี่ยมตัวแทนจำหน่ายของปูนซิเมนต์ไทยในภูมิภาคต่างๆ ที่ดำเนินมาเป็นประหนึ่งธรรมเนียมปฏิบัติจะลดลงแต่อย่างใด ขณะที่บทบาทและกิจกรรมทางสังคมในมิติอื่นๆ ที่มีอยู่หลากหลายของดุสิต ทำให้เขาเป็นผู้บริหารที่ดำรงอยู่ด้วยความกระฉับกระเฉง และในหลายกรณีดำเนินไปในลักษณะที่ถึงลูกถึงคนยิ่ง

"บางครั้งมีภารกิจไม่ว่าจะเป็นการประชุมโดยสมาคมหรือการเจรจาทางธุรกิจกับองค์กรที่ต่างกัน ในเวลาที่เหลื่อมกัน จะหวังให้รถยนต์ที่เรานั่งไปถึงที่หมายทันเวลาอย่างเดียวไม่ได้ บางทีเราต้องตัดสินใจกระโดดลงเลย มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ต้องเอาละ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เหมือนกับธุรกิจซึ่งต้องกล้าที่จะเลือก กล้าที่จะตัดสินใจ บนพื้นฐานของความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้น"

เขาเทียบเคียงก่อนที่จะบอก "ผู้จัดการ" อย่างอารมณ์ดีว่า กำลังหาซื้อหมวกนิรภัยติดไว้ในรถยนต์ให้พร้อมสำหรับกรณีฉุกเฉินยามที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำ

ความคิดและบุคลิกภาพส่วนตัวของดุสิตที่ได้สะท้อนออกมานี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นสำหรับการกำหนดทิศทางใหม่ของ TMA แต่ประสบการณ์ในฐานะอดีตนักกีฬารักบี้ฟุตบอล ที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นทีมมากกว่าความสามารถส่วนบุคคล ทำให้เขาให้ความสำคัญกับคณะผู้บริหารของสมาคมฯ ในการผลักดันภารกิจ re-launch องค์กรแห่งนี้ไปสู่ความสำเร็จ พร้อมกับการผนวกรวมผู้คนในแวดวงธุรกิจเข้าเป็นเครือข่ายอย่างกว้างขวาง

ซึ่งความสำเร็จของดุสิต นนทะนาคร ในฐานะประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย ในห้วงเวลาจากนี้จะได้รับการบันทึกไว้อย่างไร เป็นกรณีที่ท้าทายให้ค้นหาคำตอบอย่างยิ่ง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us