เด็กหนุ่มหน้าตี๋ อารมณ์ดี ในก๊วน "ซูโม่สำอาง" เมื่อ 20 ปีก่อน กลายมาเป็นเจ้าของรายการ
เกมโชว์ในระดับแถวหน้าในวันนี้ ด้วยสไตล์การทำธุรกิจที่เรียบง่าย ไม่ได้แตกต่างกับบุคลิกของเขานัก
ทุกอย่างไม่มีการวางแผน ไม่มีการวางเป้าหมายชัดเจน แต่มีวิธีคิดในการทำรายการที่
"แตกต่าง"
จนกระทั่งสามารถกาวขึ้นมาเป็น "ผู้นำ" อีกคนหนึ่งของวงการบันเทิงเมืองไทย
เมื่อสิ้นเสียงว่า "ถูกต้องคร้าบ..." ของปัญญา นิรันดร์กุล พิธีกรในรายการแฟนพันธุ์แท้
รายการยอดนิยมหนึ่งของช่อง 5 ทุกคืนวันศุกร์ แน่นอนว่าทั้งคนดู และผู้ร่วมรายการเป็นได้เฮอย่างสนุกสนานกันอย่างลืมตัว
นี่คือตัวอย่างเกมโชว์หนึ่งของบริษัทเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ที่ให้ผู้ชมทางบ้านล้วนๆ
เป็นผู้สร้าง สีสัน และความสนุกสนานให้กับรายการ
รูปแบบการนำเสนอที่มีสาระ แต่เต็มไปด้วยเสียง หัวเราะ และยังสามารถดึงดูดผู้ชมได้อย่างเหนียวแน่นตลอดรายการ
เป็นอีกมิติหนึ่งของวงการโทรทัศน์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในวงการโทรทัศน์บ้านเรา
"ผมไม่ได้คิดว่าเป็นคนเก่ง แต่มีวิธีคิดในการทำงานตามแบบของผม แล้วอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ปีนี้สื่อต่างๆ
ได้เข้ามาขอสัมภาษณ์มากมาย"
ปัญญา นิรันดร์กุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
เริ่มต้นให้สัมภาษณ์กับ "ผู้จัดการ" อย่าง "ถ่อมตัว" ไม่ใช่เป็นเรื่อง "บังเอิญ"
แน่นอนที่วันนี้เขาเป็นบุคคล "เป้าหมาย" คนหนึ่งที่ถูกตามสัมภาษณ์มากที่สุดในวงการทีวีไทย
ปัญญา นิรันดร์กุล
ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ปัญญา นิรันดร์กุล กรรมการผู้จัดการบริษัทเวิร์คพอยท์
เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ได้ค่อยๆ สะสมประสบการณ์และเรียนรู้ความต้องการของคนดูรายการเกมโชว์ต่างๆ
ในเมืองไทย รวมทั้งเป็นผู้ผลิตรายการทีวีแนวคิดใหม่ ที่ "แตกต่าง" ออกมา
จนปัจจุบันนี้แม้เขาเป็นเพียงเจ้าของรายการทีวีเพียง 8 รายการทางสถานีช่อง
5 และช่อง 9 เท่านั้น แต่เกือบทุกรายการของเขา "ฮิต" ติดตลาดอย่างรวดเร็ว
ทำให้เขากลายเป็น "ผู้นำ" คนหนึ่งของวงการบันเทิงไทยที่น่าสนใจทันที
แม้ว่าปัญญาไม่ใช่เจ้าของบริษัทที่ผลิตรายการทีวีที่มากสุดในเมืองไทย หากเทียบกับค่ายยักษ์ใหญ่
เช่น บริษัทมีเดีย ออฟ มีเดียส์, แกรมมี่ หรือค่ายกันตนา ซึ่งกันตนานั้นแม้จะเล็กกว่าอีก
2 ค่าย แต่ผลิตรายการป้อนโทรทัศน์ทุกช่องมากกว่า 30 รายการต่อเดือน เวลาขายโฆษณาประมาณ
700 นาที ในขณะที่บริษัทเวิร์คพอยท์ฯ มีรายการที่กำลังออกอากาศทั้งหมดเพียง
8 รายการทางช่อง 5 และช่อง 9 เท่านั้น และมีเวลาการขายโฆษณาเพียงประมาณ 420
นาทีต่อเดือน (เวลาในการทำรายการ ทั้งหมดเดือนละ 42 ชั่วโมง เป็นเวลาโฆษณาชั่วโมงละประมาณ
10 นาที)
แต่สาเหตุสำคัญที่สร้างให้ปัญญากลายเป็น "ผู้นำ" คนหนึ่งในวงการโทรทัศน์ของเมืองไทยคือ
รายการของเขาติดตลาด และเป็นรายการดังของสถานีแทบทั้งสิ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่า
วันนี้ "แฟน พันธุ์แท้" ทุกคืนวันศุกร์หลังข่าวทางช่อง 5 และ "เกมทศกัณฐ์"
ทุกคืนเวลาทุ่มครึ่งก่อนข่าวทางช่อง 9 ได้กลายเป็น "Talk of the Town" ของผู้คนทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับรายการชิงร้อยชิงล้านที่ยังคงมีเรตติ้งสูงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลานานกว่า
10 ปี
ทุกวันอาทิตย์เป็นเวลา 3 ชั่วโมง เต็มตั้งแต่บ่าย 2 โมงถึง 5 โมงเย็น เป็นเวลาของเวิร์คพอยท์ฯ
ที่จะนำเสนอความบันเทิงให้กับผู้ชมใน 3 รายการ รายการละ 1 ชั่วโมง เริ่มจากระเบิดเถิดเทิง
ละคร Situation Comedy ต่อด้วยรายการเกมแก้จน ปิดท้ายด้วยรายการเกมจารชน
"Action Game" ที่ได้รับรางวัลสุดยอดเกมโชว์ระดับเอเชี่ยน "Asian Television
Awards 2002" ถึง 2 ปีซ้อน ในปี 2543 และปี 2544 ส่วนทุกคืนวันอังคาร ทางช่อง
9 (21.00-22.00 น.) ยังมีรายการ "เถ้าแก่ใหญ่" ที่ให้โอกาสคนตกงานหรือคนที่จะประกอบสัมมาอาชีพ
อีก 1 ชั่วโมง
ราคาขายโฆษณาดีที่สุดของเวิร์คพอยท์ฯ อยู่ในช่วงเวลาของรายการแฟนพันธุ์แท้
(22.20-23.35 น.) และชิงร้อยชิงล้าน (22.20-24.20 น.) นาทีละประมาณ 2.4 แสนบาท
ส่วนรายการในช่วงกลางวัน วันอาทิตย์ นาทีละประมาณ 2 แสนบาท รายการเวทีทอง
เที่ยงวันเสาร์ (12.00-13.00 น.) เกมโชว์รายการแรกของบริษัทที่มีอายุนานถึง
15 ปี ราคา ประมาณนาทีละ 1.8 แสนบาท ส่วนรายการเกมทศกัณฐ์ (19.35-20.00 น.)
นาทีละประมาณ 2.2 แสนบาท
จากข้อมูลเบื้องต้น สามารถคำนวณรายได้ของบริษัทเวิร์คพอยท์ฯ ได้ประมาณ
90 ล้านบาทต่อเดือน ไม่รวมค่าโฆษณาจากแผ่นป้ายในรายการอีกประมาณ 20,000-30,000
บาทต่อ 1 แผ่นป้ายต่อครั้ง และเป็นยอดรวมเม็ดเงินที่ไม่ได้หักต้นทุนในการดำเนินการ
และส่วนลดในราคาค่าโฆษณา ยอดเงินกำไรที่เหลือสอดคล้องกับสิ่งที่ปัญญาบอกว่า
ทุกอย่างที่มีวันนี้มันมากกว่าที่เขาเคยคิด ซึ่งแม้ไม่มากนัก แต่เป็นสิ่งที่เขาพอใจ
และเป็นต้นทุนทำให้เขาสามารถผลิตงานให้กับสังคมในรูปแบบที่เขาพอใจมากขึ้น
แต่ดูเหมือนว่า "ยิ่งให้" เขาก็ยิ่ง "ได้รับ" ทุกวันนี้ นอกจากบ้านหลังใหญ่ย่านรังสิตที่เขาอยู่กับภรรยา
ลูกสาว 3 คน และลูกชาย 1 คนแล้ว เขายังซื้อที่ดินเก็บไว้หลายแปลง และยังมีเงินเหลือพอที่จะพาครอบครัวและพนักงานบริษัทไปเที่ยวทุกปี
ยกเว้นปีนี้ที่ไม่ได้ไป เพราะเกิดปัญหาเรื่องไข้หวัดมรณะ
ประสบการณ์กว่า 20 ปีจากรั้วมหาวิทยาลัยสู่วงการบันเทิงมาเป็นเจ้าของบริษัท
ทำให้ความคิดของเขาตกผลึกและสามารถสร้างความหลากหลายที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นในแต่ละรายการ
เมื่อประมาณปี 2545 รายการ "แฟนพันธุ์แท้" รายการที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมรายการจากทางบ้านได้แสดงความเป็นอัจฉริยะออกมา
อย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง เป็นความบันเทิงที่มีสาระ ได้รับการยอมรับจากคนดูอย่างรวดเร็ว
หัวข้อทุกเรื่องที่มาแข่งขันกันจะเป็นตำนานของชาวไทยในเรื่องต่างๆ เช่น แฟนพันธุ์แท้
กรุงศรีอยุธยา พระเครื่อง แสตมป์ไทย การท่องเที่ยวไทย ขนม ผลไม้ไทย รวมทั้งดาราไทยยอดนิยม
เป็นต้น รายการนี้ทีมงานที่ตั้งคำถาม และคัดเลือกคนที่เข้ามาเล่น ต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ได้คนที่เก่งจริงๆ
เข้ามาเล่น แต่ละหัวข้อมีคนสมัครไม่ต่ำกว่า 50 คน แต่จะคัดเลือกไปออกรายการเพียง
5 คนเท่านั้น
ความแรงของรายการแฟนพันธุ์แท้ ทำให้อัตราค่าโฆษณาของรายการนี้สูงกว่าอีกหลายๆ
รายการของเวิร์คพอยท์ฯ มาอย่างต่อเนื่อง
เดือนเมษายน 2546 เวิร์คพอยท์ฯ ได้เปิดฉากเกมใหม่ "ทศกัณฐ์" เกมโชว์ที่ให้ความรู้กับประชาชน
เน้นวิธีการที่เรียบง่าย สนุกสนาน โดยแข่งกันตอบว่าภาพใบหน้าที่ปรากฏขึ้นนั้นคือใคร
เกมง่ายๆ นี้มาแรงมาก ช่วยปลุกกระแสของโมเดิร์นไนน์ทีวีได้ดีทีเดียว
ความรู้และสาระต่างๆ ที่ผ่านการเล่มเกมอย่างสนุกสนาน พร้อมๆ กับความระทึกในการลุ้นรางวัลคือ
เทคนิค และเสน่ห์สำคัญในการทำรายการ ขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจเลือกจังหวะของสภาพแวดล้อมรอบตัวมาสร้างเป็นเกม
เช่น รายการเกมแก้จน เกมโชว์เกี่ยวกับอาชีพที่เกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำยุค
IMF ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้ ชีวิตและสร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับประชาชนในสังคม
ส่วนรายการเถ้าแก่ใหญ่ ก็เป็นการให้โอกาสคนตกงาน หรือคนที่ฝันจะประกอบอาชีพให้มีทุนและกิจการเป็นของตัวเอง
ปัญญายืนยันว่าทุกรายการเกิดจากภูมิปัญญาของเขาและทีมงาน ไม่มีการก๊อบปี้
หรือเลียนแบบรายการใดๆ ในโลก และนั่นคือองค์ประกอบแห่งความ สำเร็จที่สำคัญ
"ถ้าคุณคิดจะก๊อบปี้ คุณก็ตายตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะเมื่อไรเขาหยุด
คุณก็ต้องหยุดด้วยเพราะคุณคิดเองไม่เป็น"
แน่นอนว่า วิธีคิดต่างๆ ที่ได้มามันไม่ "แวบ" ขึ้นมาในสมองง่ายๆ แบบกดสวิตช์แน่
แต่เกิดมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก การเกิดเป็นลูกคนจนชาวจีนที่พูดไทยไม่ได้เลย
ทำให้เขาเป็นคนต่อสู้ชีวิตมาตั้งแต่เล็กๆ และคงเป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์ในระดับแถวหน้าในเมืองไทยละมัง
ที่ต้องอาศัยเพื่อนบ้านดูทีวี วันไหนเจ้าของบ้านอารมณ์ดีก็ได้นั่งดูอย่างสบายใจ
วันไหนเจ้าของบ้านอารมณ์ไม่ดีก็อดดู หรือหากได้ดูก็ต้องนั่งกันแบบชนิดตัวเกร็ง
"ตอนเรียนหนังสือ เย็นๆ ก็จะหิว เห็นเพื่อนคนอื่นกินน้ำแข็งใส กินก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น
อยากกินมากเลยนะแต่ไม่มีตังค์ เราเลยเดินถือกระเป๋ากลับบ้านเงียบๆ ไม่รู้สึกอะไรมาก
รู้เพียงแค่ว่าเราไม่เหมือนเขาเท่านั้นเอง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในตอนนั้น
ระหว่างความคิดที่ว่าทำไมไม่มีตังค์กับความน้อยใจ แต่ไม่เคยโทษพ่อแม่ เพียงแต่เรียนรู้ว่าความจริงคืออะไร
เมื่อรู้ความจริงปั๊บ ต่อไปอยากทำอะไร อยากได้อะไร เราก็กำหนดมันขึ้นมาเอง
จะขีดเส้นใต้ไว้เสมอว่า อย่าไปโทษโชคชะตา ทุกอย่างเราก็ต้องกำหนดขึ้นมาเอง"
ปัญญาเล่าย้อนไปถึงเศษเสี้ยวหนึ่งในอดีตกับความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
การไม่ยอมแพ้ต่อความยากจน มองโลกในแง่ดี ไม่โทษคนอื่น และพื้นฐานของการเป็นเด็ก
"กิจกรรม" ในช่วงเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลายเป็นรากฐานสำคัญที่เขาสามารถนำมาต่อยอดในการทำงานอาชีพภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ดีอย่างคาดไม่ถึง
ปัญญา นิรันดร์กุล ฉายแววความเป็นพิธีกร เป็นนักพูด ตั้งแต่ตอนเรียนปี
2 พรสวรรค์บวกกับเป็นคนมีอารมณ์สนุก มีลูกเล่นลูกฮา ทำให้เขากลายเป็นคนดังได้โดยไม่ต้องหล่อ
รวย หรือเรียนเก่ง
เมื่อจบออกมา เขาได้เข้ามาเป็นพิธีกรรายการ "พลิกล็อค" ของบริษัทเจเอสแอล
คู่กับดี๋ ดอกมะดัน, รัชนู บุญชูดวง แทนไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งขยับไปเปิดบริษัทบอร์น
ออพเปอเรชั่น ทำรายการโทรทัศน์ป้อนให้กับทางช่อง 3 แทน และปัญญายังได้ร่วมกับเพื่อนจากคณะสถาปัตย์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหลายคนทำรายการ "ซูโม่สำอาง" รายการตลกที่ดังมากในช่วงนั้น
ภาพของเขาซึ่งมานั่งพับเพียบเรียบร้อยในช่วงของภาษาไทยวันละคำ อาจจะยังติดตาผู้คนจำนวนมาก
หลังจากนั้นงานภาพยนตร์ก็ทยอยกันเข้ามา ปัญญาเป็นพระเอกหน้าตี๋คนเดียวในวงการที่ขายดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กองพันทหารเกณฑ์ เกมมหาโชค ลูกหนี้ทีเด็ด ล้วนแต่เป็นหนังที่ทำเงินทั้งนั้น
และวันหนึ่งหน้าที่พิธีกรรายการพลิกล็อคที่ทำยาวนานถึง 8 ปีก็จบลง ชีวิตของเขาเริ่มพลิกล็อกไปเป็นเจ้าของบริษัทเอง
ในปี พ.ศ.2532 โดยร่วมกับประภาส ชลศรานนท์ ผู้บริหารสำคัญอีกคนหนึ่ง รายการแรกคือ
รายการเวทีทอง ซึ่งเป็นรายการเกมโชว์เน้นความสนุกสนานที่สะท้อนมาจากบุคลิกของปัญญาเอง
"ผมมีความพอใจอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่เคยคาดหวังหรือตั้งเป้าหมายอะไรมาก่อน
มีเพียง 1 รายการก็ดีใจมากแล้ว แต่เราเป็นคนขี้เบื่อ คิดโน่นคิดนี่ไปเรื่อย
เลยมีรายการต่อๆ ไปตามมา แล้วก็ปรับรายการกันตลอด แต่บังเอิญไอ้สิ่งที่ผมคิดมันโดน
มันอาจจะเป็นไปได้ว่ามีเซนส์ตรงนี้อยู่"
ความต่างของปัญญา นอกจากวิธีคิดแล้ว เขายังเป็นเจ้าของเกมโชว์รายการแรกๆ
ที่ "กล้า" ลงทุน อย่างเช่นในรายการชิงร้อยชิงล้าน ต้องมีฉากและการแสดงอันตระการตา
รวมทั้งการให้ความสำคัญในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแดนเซอร์หรือคอรัส ซึ่งเป็นจุดดึงดูดคนดูที่สำคัญ
ทำให้รายการนี้น่าดู นอกเหนือไปจากการแสดงความสามารถพิเศษของ "แก๊ง 3 ช่า"
รายการระเบิดเถิดเทิง ละคร situation comedy ทุกบ่ายวันอาทิตย์ ปัญญาอัดดาราตลกให้ความบันเทิงกันอย่างเต็มที่
โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายเรื่องค่าตัวดาราอย่างไม่อั้น
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนหนึ่งในวงการบันเทิงบ้านเราวันนี้ ดูเหมือนว่าปัญญา
นิรันดร์กุล ไม่ได้กำหนดยุทธวิธีหรือวางแผนใดๆ ไว้ก่อนเลย และเมื่อมาถึงจุดนี้
ท่ามกลางคู่แข่งในวงการมากมาย เขาก็ยังยืนยันที่จะบอกว่า ไม่เคยวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า
ปีหน้าต้องผลิต เพิ่มขึ้นอีกกี่รายการ จะต้องตั้งเป้ารายได้ไว้เท่าไร เขาบอกว่าเมื่อถึงเวลา
รายการของเขาอาจจะยกเลิก หรือเพิ่มรายการใหม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ซึ่งเขาจะตัดสินใจเอง
และการเพิ่มรายการใหม่นั้น เป็นเรื่องที่เหนื่อยและต้องคิดหนักอย่างมากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เขาก็พยายามกระจายบทบาทของการเป็นพิธีกรออกไป
ใน 8 รายการ ปัญญาจะทำหน้าที่เป็นพิธีกรหลักในรายการชิงร้อยชิงล้าน คู่กับมยุรา
เศวตศิลา รายการเกมแก้จน คู่กับสิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ และเป็นพิธีกรเดี่ยวในรายการแฟนพันธุ์แท้
รายการเกมทศกัณฐ์ และเกมแก้จน ใน ขณะที่สิเรียมเป็นพิธีกรหลักในระเบิดเถิดเทิง
โหน่ง สามช่า และธงชัย ประสงค์สันติ เป็นพิธีกรรายการ เถ้าแก่ใหญ่ หม่ำ จ๊กมก
และเกียรติ กิจเจริญ เป็นพิธีกรในรายการเวทีทอง ส่วนเกมจารชน มีมยุรา เศวตศิลา,
ศัลย์ อิทธิสุนันท์ และโหน่ง สามช่า เป็นพิธีกร
แต่ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปเขาจะไปเต็มที่กับตำแหน่งผู้บริหาร คอยคุมเกม
และบริหารการจัดการงานทั้งหมดของบริษัท เพราะเขาย้ำชัดเจนว่า เขาไม่มีทางหยุดหน้าที่ของการเป็นพิธีกรแน่นอน
ยังรักและสนุกกับมันอย่างมาก
"เราก็ทำงานไปแต่ในใจรู้ว่าเรามีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำงานให้สังคมผ่านสื่อบันเทิงที่เราถนัด
ดังนั้นจะไม่เปลี่ยนชีวิตของตนเอง เกมโชว์ยังมีต่อไป แต่จะทำเกมให้คนดูได้สาระได้สนุกอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องคิด
จะไม่ไปทำรายการเนี้ยบๆ เต็มไปด้วยสาระ 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน และหากจะให้ถอยไปเป็นผู้บริหารอย่างเดียวก็หมายถึง
ว่าต้องยืมมือคนอื่นมาทำงานด้านพิธีกร ซึ่งผมคิดว่าคนที่มีความสามารถไม่ได้หากันได้ง่ายๆ
หรือถ้ามี เขาทำรายการเองไม่ดีกว่าหรือ ยังไงหน้าที่นี้ผมต้องทำเอง เพราะผมมองเกมออก"
ทุกวันนี้ชีวิตของเขาเลยมีความสุขอยู่กับการที่ได้คิดงาน และทำงานตลอดเกือบทุกวันในโรงถ่าย
สตูดิโอ กรุงเทพฯ บนถนนแจ้งวัฒนะ วันไหนไม่ไปอัดรายการเอง ก็ดูรายการของตนเองที่คนอื่นเป็นพิธีกร
เพื่อช่วยดูข้อบกพร่องและเสนอแนะ เสร็จงานในแต่ละวัน ก็จะตรงกลับบ้าน เป็นคนในวงการบันเทิงอีกคนหนึ่งที่เบื่อแสงสีและการสังสรรค์ตอนค่ำคืน
ชีวิตในบ้าน ส่วนใหญ่ปัญญาจะอยู่กับทีวี และเล่นกับลูกชายคนเล็ก "น้ำมนต์"
ในขณะที่สามสาว น้ำตาล น้ำทอง น้ำหอม ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น เริ่มจะมีโลกส่วนตัวของตนเอง
ปัญญาจะใช้เวลากับทีวีมากที่สุด โดยนั่งกดไล่ดูไปทุกช่อง วนเวียนไปอย่างนั้นจนดึก
และตื่นขึ้นมาตอนเช้าพร้อมกับรีโมตในมือเริ่มทำงาน
วันว่างจริงๆ จะชักชวนเพื่อนฝูงก๊วนเดิมที่มีประภาส และทีมงานไปเล่นกอล์ฟ
ซึ่งเป็นกีฬาอย่างเดียวที่เขามีโอกาสได้เล่นบ้าง
"ทุกวันนี้ ผมมองเวิร์คพอยท์ฯ อย่างภูมิใจ อนาคตจะโตขนาดไหน ผมไม่คิดแล้ว
มีทางก็ทำไปตามสภาพ วันหนึ่งมันอาจจะหายไปเลย หรือกลายเป็นบริษัทมหาชนก็แล้วแต่
ผมไม่ได้แพลนไว้ล่วงหน้า เดี๋ยวมันมาเอง ผมว่าผมไม่ใช่นักธุรกิจที่ดี เป็นศิลปินมากกว่า
ทำไปแล้วมีความสุข โดยไม่ต้องเครียดกับตัวเลขมากมาย"
การแข่งขันในเรื่องเกมโชว์ นับวันจะเพิ่มกระแสความร้อนแรงขึ้น แต่ปัญญา
นิรันดร์กุล ก็พอใจที่จะบอกว่า
"ในชีวิตนี้เดินมาถึงตรงนี้แล้วโดยวิธีนี้ผมก็จะเดินอย่างนี้ต่อไป"