จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความต่อเนื่องของประสบการณ์ของการทำงานในการบุกเบิกในบริษัทข้ามชาติ
เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นน้อยคนจะมี โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย
ยิ่งทำให้อภิรักษ์ โกษะโยธิน สร้างชื่อในฐานะมืออาชีพขึ้นมาเป็นลำดับ
อภิรักษ์ เริ่มต้นงานของตัวเองในพิซซ่าฮัท หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ เพียงแค่ 6 เดือน แต่ประสบการณ์ในครั้งนั้น ที่ได้จากการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝึกหัด
(Management Trainee) ที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่เสิร์ฟอาหาร ทำพิซซ่า เช็กสต็อก
ถูพื้น เป็นพื้นฐานของการสัมผัสผู้บริโภคโดยตรง มีผลต่อการตัดสินใจด้านการเรียนและอาชีพการงานของเขานับตั้งแต่นั้น
หลังจากจบจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อภิรักษ์กระโดดเข้าสู่แวดวงเอเยนซี่
เริ่มงานเป็น Account Executive ที่บริษัท Lintas Worldwide ที่มีลูกค้าหลักคือ
ลีเวอร์ บราเธอร์ส
ทำได้ 2 ปี มาร่วมบุกเบิกบริษัท Damask Advertising ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
และความสำเร็จของ Damask ในเวลานั้นก็ทำให้เขาเรียนรู้ขอบเขตของงานที่กว้างขึ้นกว่าเดิม
จากสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น พบปะคนมากขึ้น เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้บริหารทั้งในระดับกลางและสูง
แม้ประสบการณ์ในครั้งนั้น จะสร้างทักษะของการทำงานหนัก ที่ต้องเสนองานแข่งขันกับเอเยนซี่อื่นๆ
ได้เห็นถึงจุดเด่นของสินค้าแต่ละชนิด แต่งานเอเยนซี่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากไม่ได้ใช้ความรู้ด้านการตลาดที่มีผลต่อการสร้างสินค้าโดยตรง
"พอดีไปนั่งตัดผมที่สยามสแควร์ อ่านหนังสือพิมพ์เจอ เป๊ปซี่ อินเตอร์เนชั่นแนล
ประกาศอยากได้ผู้จัดการฝ่ายการตลาดมาดูแลสินค้า เซเว่นอัพ ผมเดินไปสมัคร
ก็ได้คุยกับผู้บริหาร พูดให้เห็นว่าทำไมเขาควรเลือกผม"
อภิรักษ์เข้ามาทำงานในเป๊ปซี่ อินเตอร์เนชั่นแนลในช่วงเวลาที่ศึกน้ำดำระหว่างเป๊ปซี่
และโค้กกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีการนำกิจกรรมรูปแบบใหม่ๆ อย่าง music
marketing เกื้อกูลต่อการสร้างประสบการณ์ในเวลานั้น และโครงสร้างองค์กรของเป๊ปซี่
ยังไม่ซับซ้อน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่จะได้งานอย่างเต็มที่
หลังจากที่ Marketing Director คนเก่าลาออก อภิรักษ์ได้รับโปรโมตขึ้นรับตำแหน่งจากที่เคยดูแลแค่น้ำสี
มิรินด้า และเซเว่นอัพ ได้ดูแลสินค้าทั้งหมดของเป๊ปซี่ รวมถึงการบุกเบิกตลาดอินโดจีน
กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนาม
นอกจากเป๊ปซี่แล้ว ประสบการณ์ที่สร้างความเชื่อมั่นมากๆ ให้กับอภิรักษ์ก็คือ
ฟริโต-เลย์ เพราะครั้งนี้เขาต้องเริ่มบุกเบิกธุรกิจโดยลำพังตั้งแต่ศูนย์จัดตั้งสำนักงาน
หาโรงงาน จัดหาแหล่งวัตถุดิบผลิต ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐผลักดันให้ชาวไร่หันมาปลูกมันฝรั่ง
นำระบบ supply chain มาใช้ จนถึงแผนการตลาด ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
Business Model ที่ทำอย่างเห็นผล นำไปสู่แนวคิดของการสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง
ภายใต้ชื่อ "ตะวัน" สินค้าแรกที่เตรียมทดลองตลาด คือ แคปหมูไร้มัน
ความสำเร็จจากงานในเป๊ปซี่ และฟริโต-เลย์ สร้างชื่อและความโดดเด่นให้อภิรักษ์เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
เฉพาะเป๊ปซี่รายเดียว ใช้งบโฆษณาปีละ 500 ล้านบาท ยังไม่รวมฟริโต-เลย์ มีมูลค่าตลาด
2,000 ล้านบาท
และความสำเร็จในครั้งนั้นได้สร้างความเชื่อมั่นแก่เขามีส่วนในการบุกเบิก
และสร้างสิ่งใหม่ๆ ในธุรกิจที่เป็นแนวโน้มในอนาคตอย่างจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
และโทรศัพท์มือถือ แม้จะไม่กลมกลืนกับประสบการณ์เดิมมากนักก็ตาม
"ผมคิดเสมอว่าถ้าไปทำงานในบริษัทไหน หรือได้สร้างธุรกิจนั้นจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงขยายที่เป็น
trend เป็นตลาด mass ที่ต้องใช้การตลาดนำและต้องมีการแข่งขันสูง"
ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่นาน จำเป็นต้องนำระบบบริหารจัดการสมัยใหม่มาช่วย
ขณะเดียวกันก็มีแผนบุกตลาดในต่างประเทศ
ความตั้งใจของอภิรักษ์ในเวลานั้น คือ การนำประสบการณ์ด้านการตลาด และระบบจัดการสมัยใหม่มาใช้
เริ่มจากการจ้างเอ็นเตอร์ไพรซ์ ไอจี เปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อใช้บุกเบิกธุรกิจต่างประเทศ
จากแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ มาเป็นจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จ้างบอสตัน คอนซัลติ้ง
มาศึกษาเรื่อง supply chain management
แต่แรงเหวี่ยงของการเปลี่ยนแปลงธุรกิจที่มีอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา
จากเทปผีซีดีเถื่อนจนถึงเรื่องของลิขสิทธิ์คาราโอเกะ แทนที่จะเอาเวลาไปใช้กับการนำเอาระบบบริหารจัดการ
ขยายตลาดต่างประเทศตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก ทำให้เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้
ซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว และต้องใช้เวลา
ธุรกิจบันเทิงไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ มีเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่มีสไตล์
และการบริหารเฉพาะตัวที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นระหว่างคนทำงานด้วยกัน ไม่สามารถเอาหลักการบริหารเข้ามาควบคุม
และกำกับเหมือนธุรกิจทั่วไป
ลักษณะธุรกิจที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ทำให้เขาไม่สามารถนำประสบการณ์ความรู้มาใช้กับจีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ได้เต็มที่เหมือนกับที่เคยทำมาแล้วในเป๊ปซี่ หรือฟริโต-เลย์
"ผมพูดกับตัวเองตลอด จุดแข็งผมคือ เรื่องการตลาด ได้ทำงาน ได้ใช้ความรู้ด้านการบริหารจัดการมาตลอด
แต่พอเปลี่ยนมาอยู่แกรมมี่ ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด ทักษะยังเป็นประโยชน์
แต่ชีวิตจริงไม่ใช่ เป็นเรื่องบริหารชีวิตประจำวันของคนที่มีความชอบไม่เหมือนกัน"
"ขายสบู่ ยาสีฟัน snack ยังง่ายกว่ากันเยอะ น้ำอัดลมมีไม่กี่แบบ ใส่ขวด
กระป๋อง มีน้ำดำ น้ำสี แต่ที่แกรมมี่ เป็นจุดที่ทำให้ผมรู้สึกเลยว่า ธรรมชาติของธุรกิจนี้เปลี่ยนแปลงและซับซ้อนมากกว่าเยอะ
เป็นการบริหารความคาดหวังของคน 60 ล้านคนที่เปลี่ยนทุกวัน และไม่มีความแน่นอน
และเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ"
แม้งานจะไม่ราบรื่น แต่อย่างน้อยการร่วมงานในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในช่วง
2 ปีกว่า ทำให้อภิรักษ์โด่งดังไปตามศิลปินและยังเป็นมืออาชีพที่มีค่ามีราคาในสายตาคนภายนอก
บทเรียนที่ได้จากการทำงานในจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทำให้อภิรักษ์เชื่อว่าทำงานที่ทีเอ
ออเร้นจ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกครึ่งที่ผสมผสานระหว่างฝรั่งและไทย จะไม่ทำให้ประสบการณ์ที่เขาทำมาเบี่ยงมากเกินไป
แม้ว่าอภิรักษ์จะผ่านประสบการณ์ทำงานที่หลากหลาย แต่เป๊ปซี่ และฟริโต-เลย์
เป็นเพียง 2 แห่งที่สร้างความมั่นใจอย่างมากให้กับเขา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเติบโตไปกับบริษัทเหล่านี้
ยังมีเรื่องของผู้ถือหุ้น การสนับสนุนจากเจ้าของกิจการ
ความสำเร็จส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการทำงานในเป๊ปซี่ และฟริโต-เลย์ มาจากจังหวะและโอกาสในช่วงเวลา
และสินค้าที่มีไม่มากชนิด ไม่ซับซ้อน การได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ตลาดโทรศัพท์มือถือในเวลานี้
ขึ้นอยู่กับว่า บุคลิกในแบบ conservative ที่มีแบบฉบับการใช้ชีวิตที่ตายตัวของอภิรักษ์
จะปรับเข้ากับธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ที่มีแรงกดดันจากการแข่งขันสูง มีความยืดหยุ่นของสินค้าหลากหลาย
เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ต้องเข้าใจ lifestyle ความชอบของลูกค้า เป็นลักษณะของธุรกิจที่ไม่ต่างไปจากธุรกิจบันเทิงมากนัก
ได้อย่างไร