"มันก็เห็นว่าโจทย์คืออะไร เห็นอยู่ว่าคอขวดอยู่ตรงไหน ถึงจุดหนึ่งมันก็ปิ๊งขึ้นมาว่า มันต้องมีทางออกสิ เราไม่ใช่คนแรกในโลก แต่เราเป็นคนแรกในเมืองไทยที่ทำในสเกลใหญ่ สเกลก็คือยกให้ไปหมด ไทยทนุทำแค่ 20 คน แต่ดีบีเอส เวิลด์ไวด์ เซ็นสัญญาวันเดียวกับเรา แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ทำข่าวใหญ่ ดีบีเอสทำเป็นข่าวใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเซ็นพร้อมกัน ผมเชื่อเลยว่าอีกไม่นานก็จะต้องมีคนทำตาม คือหมากตัวนี้มันเหมือนกับว่าเราจะมีคอขวดไม่ได้ ถ้ามีคอขวดเรื่องไอทีก็เสร็จทันที" บัณฑูร ล่ำซำ สรุปความคิดรวบยอดของเขาที่ว่าด้วย Outsourcing ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรากฐานทางความคิดสำคัญของระบบธนาคารเลยทีเดียว
สถานการณ์ของธนาคารไทยในเรื่อง Outsourcing เริ่มต้นด้วยธนาคารไทยทนุ ซึ่งเป็นสาขาดีบีเอสสิงคโปร์ เริ่มต้นก่อน ด้วยงานบางส่วน เพียงโอนเจ้าหน้าที่ 20 คน ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยเปิดฉากปลายปีที่แล้วเป็นดีลครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในเดียวกันที่ธนาคารดีบีเอส สำนักงานใหญ่สิงคโปร์ลงนามสัญญา โดยกสิกรไทยลงนามสัญญากับไอบีเอ็มมูลค่าหนึ่งหมื่นล้านบาท เป็นเวลา 10 ปี ทั้งนี้ได้โอนย้ายพนักงานเดิมในส่วนงานเทคโนโลยี ถึง 232 คน ให้ไอบีเอ็มเหลือไว้ 140 คน (รายละเอียดดูจากแผนภูมิ)
วนารักษ์ เอกชัย ในฐานะอดีตที่ปรึกษาด้านไอที เข้ามามีบทบาทเรื่อง Outsourcing โดยเฉพาะในตอนแรก ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้จัดการใหญ่ด้าน Human Resource แทนฝรั่ง ให้ความเห็นว่า ศูนย์คอมพิวเตอร์ธนาคารไทยเติบโตอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเริ่มจากปี 1980 โตตามธุรกิจต่อเนื่องมาจนถึงปี 1997 พอธุรกิจมีปัญหา ศูนย์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ต้องใช้เงินปีละเป็นพันล้านบาท เป็นภาระหนักของธนาคาร ที่สำคัญกระแสโลกเปลี่ยน ศูนย์คอมพิวเตอร์พ้นยุคไปแล้ว "เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ทักษะของคนแบงก์ตามไม่ทัน ค่าตัวบุคลากรในด้านเทคโนโลยีสูงกว่าคนของแบงก์เทรนไว้ก็ลาออกไปมาก ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าแล้ว" เขาย้ำถึงความเป็นไปในภาพรวม
วนารักษ์ หรือโจ อดีตผู้บริหารไอบีเอ็มตั้งแต่ปี 1981 ในช่วงไอบีเอ็มยึดตลาดไอทีของธนาคารไทยไว้ได้อย่างมั่นคงแล้ว มีบทบาทสำคัญในการวางระบบเอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทย เขาบอกว่าเขาดูแลบริการธนาคารแห่งนี้มาตลอด 24 ปีเต็ม
นี่เป็นแนวความคิดที่เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการธนาคารไทย ที่เคยอ้างความลับและความปลอดภัยของข้อมูล ทำให้แต่ละธนาคารต้องลงทุนสร้างระบบของตนเอง (Proprietary Network) ต่อมาก็พัฒนาไปสู่ระบบเปิด (Open System) เมื่อเทคโนโลยีธนาคารระดับโลกพัฒนาไปเร็วมากจนธนาคารตามไม่ทัน และล่าสุดนี่ก็คือยกงานสำคัญเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้บริษัทชำนาญไปทำเลย
"คุณปั้นมีไอเดียแบบนี้มาแล้ว ตั้งแต่เป็นกรรมการผู้จัดการ มีการตั้งบริษัทโปรเกรส ซอฟต์แวร์ ผมก็ออกมา บริหารบริษัทนี้ 8 ปี จากนั้นกลับมาทำที่แบงก์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว" ชาติชาย สุนทรเกียรติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวแนวทางสำคัญของการบริหารธนาคารแบบโฟกัสเฉพาะธนาคารเท่านั้นของบัณฑูร ล่ำซำ ซึ่งว่าไปแล้วบริษัทใหม่ที่นำหน้าชื่อว่า "โปรเกรส" คือบริษัทใหม่ที่ธนาคารกสิกรไทยตั้งขึ้นเพื่อรับงานที่ไม่ใช่หัวใจของธนาคารออกไปทำอีกนับสิบเรื่อง
ชาติชายเป็นนักเรียนทุนธนาคารกสิกรไทยอีกคนหนึ่งมีบทบาทในธนาคารกสิกรไทยยุคใหม่ ตามสูตรที่ผ่านการศึกษา ด้านวิศวกรรมแล้วสอบชิงทุนไปเรียน Information System ที่ New York University กลับมาทำงานด้านบัตรเครดิตพักหนึ่ง ก็ถูกย้ายไปเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโปรเกรส ซอฟต์แวร์ พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อธนาคารและบริษัทในเครือในปี 2536 จากนั้นในปี 2544 กลับมาทำงานที่ธนาคารอีกครั้งหนึ่ง
เขาเป็นคนหนึ่งใน 3 คนที่ดูแลโครงการ Outsourcing (ร่วมกับวนารักษ์ เอกชัย อภิชัย บุณยเกียรติ รองกรรมการผู้จัดการ)
ทุกวันนี้ งานส่วนสำคัญ 3 ส่วน ดูโดย IMB Delivery Services ซึ่งทำงานที่สำนักงานเดิมของกสิกรไทย พวกเขาเพียงเปลี่ยนป้ายชื่อ และอาจจะไม่ได้จอดรถที่ที่จอดรถธนาคาร แต่พวกเขามีรายได้ และก็สามารถทำตัวตามสบายได้มากกว่าพนักงานธนาคาร
สิ่งที่ดูง่ายๆ เช่นนี้ มาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางความคิดสำคัญที่น่าสนใจ และน่าติดตาม ผลจะเป็นอย่างไรระหว่างความเสี่ยง การที่แบงก์ไม่ชำนาญด้านการบริหารเทคโนโลยีกับการฝากหน่วยงานสำคัญไว้กับบริษัทเดียว ซึ่งอาจจะมีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ก็ได้
home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea resources | correspondent | advertise with us | contact us