นักวิเคราะห์ แนะลงทุนหุ้นแบงก์ ทหารไทย หลัง ANZ ประกาศยกเลิกซื้อหุ้นเพิ่มทุน
โดยรอดูความชัดเจนของมาตรการรัฐบาลที่จะนำออกมาอุ้ม ขณะที่บางรายฟันธงในที่สุดผู้ถือหุ้นใหญ่
นำโดยกระทรวงการคลัง-กองทัพ-พานทองแท้ จะต้องใส่เงินเพิ่มทุน
หลังจากที่ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป หรือ ANZ ได้ประกาศยกเลิกการเจรจาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารทหารไทย
จำกัด (มหาชน) หรือ TMB อย่างเป็นทางการ เนื่องจากการทำรายการดังกล่าวไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพอร์ตของกลุ่มเอเอ็นแซดรวมทั้ง
ไม่สามารถตกลงเงื่อนไขร่วมกันได้
ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้ให้เหตุผลว่า เอเอ็นแซดไม่สามารถตกลงราคาซื้อขาย TMB
ได้ เพราะราคาที่เสนอมาเป็นราคาที่ต่ำมาก ซึ่งล่าสุดได้มีการกำหนดราคาไว้ที่หุ้นละ
2.50 บาทเท่านั้น
โดยราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ราคาหุ้น TMB ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากเอเอ็นแซดประกาศล้มดีล ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ราคาหุ้นละ
6.05 บาท เพิ่มขึ้น 0.45 บาท หรือคิดเป็น 8.03% มูลค่าการ ซื้อขายรวม 632.49 ล้านบาท
นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวให้ความเห็นว่า บริษัทยังคงแนะนำให้นักลงทุนถือหุ้นของ
TMB ต่อไป แม้ว่าสัญญาเข้ามาเพิ่มทุนของ เอเอ็นแซดไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากบริษัทคิดว่าหากทาง
ANZ ให้เสนอราคาหุ้นตามที่มีกระแสข่าวออกมาคือ 2.50 บาท ถือว่าเป็นระดับราคา ที่ต่ำทำให้ผู้บริหารของ
TMB ไม่น่าจะขายหุ้น
รวมทั้งการเข้ามาถือหุ้นของ ANZ ก็มีสัดส่วน เพียง 10-20% ทำให้ ANZ ไม่มีอำนาจบริหารธนาคาร
และเชื่อว่าในที่สุด ANZ ก็จะต้องขายหุ้นออกไป ดังนั้นก็ไม่แปลกใจที่การตกลงซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนจะไม่สามารถตกลงกันได้
"แม้ว่าดีลของ ANZ จะไม่สำเร็จ แต่เชื่อว่าทางรัฐบาลจะหามาตรการต่างๆ ออกมารองรับ
ด้วยการ ดึงพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมทุน หรืออาจให้กองทุนวายุภักษ์เข้าไปถือหุ้นของธนาคารก็ได้
ดังนั้นนักลงทุนที่ถือหุ้น TMB อยู่ ยังไม่ควรขายออกไป ควรถือรอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการเพิ่มทุนก่อน"
ขณะที่นักวิเคราะห์อีกรายหนึ่งให้ความเห็นที่แตกต่างกันว่า การยกเลิกการร่วมทุนของ
ANZ คงเกิดเนื่องจากราคาหุ้นเพิ่มทุนใหม่ที่ไม่สามารถตกลงกันได้และจากประเด็นข่าวดังกล่าว
คาดว่ากลุ่มผู้ร่วมทุนที่เป็นสถาบันการเงินต่างประเทศอื่นๆ ที่เหลือก็จะมีการยกเลิกต่อเนื่อง
ขณะที่คาดว่าเงินเพิ่มทุนใหม่จะมาจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่
สำหรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิม TMB มีทั้งในส่วนของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ
ประกอบด้วย กระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วน 49.8% กองทัพบก 7.5% นายพานทองแท้ ชินวัตร
3.8% บริษัท ททบ. 5 3.4% และบริษัท ไทยประกันชีวิต 3.0%
ทั้งนี้ ทุนจดทะเบียนของแบงก์ทหารไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% เป็นหุ้นบุริมสิทธิในโครงการช่วยเพิ่มทุนขั้นที่
1 ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีเงื่อนไขของการลดทุนว่าหากต้องมีการลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมจะต้องมีการลดทุนในหุ้นสามัญจนเหลือ
0.01 บาทต่อหุ้นก่อนแล้วถึงจะ ลดทุนในส่วนของหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งปัจจัยดังกล่าว
ถือเป็นความเสี่ยงนอกเหนือจากปัญหาว่าใครจะเป็นผู้ใส่เงินเพิ่มทุนใหม่เข้ามา
ด้านฐานะทางการเงิน หากพิจารณาราคา ตามมูลค่าทางบัญชี ไตรมาส 2 ปี 2546 อยู่ที่ระดับ
4.03 บาท เป็นราคาที่ได้รวมมูลค่าหุ้นบุริมสิทธิพาร์ 10 บาทแล้ว ดังนั้นความเสี่ยงด้านปัจจัยพื้นฐานของ
TMB ปัจจุบันสำหรับหุ้นสามัญ มีอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก ความสำเร็จในการเพิ่มทุนในไตรมาส
3 ปี 2546 และประการที่ 2 หุ้นบุริมสิทธิปัจจุบันมีสิทธิที่เหนือกว่าหุ้นสามัญเรื่องการถูกลดทุน
ขณะที่ราคาหลังการปรับปรุงมูลค่าทางบัญชี Adj. BV ปัจจุบันรวมจำนวนสำรองฯ ตามที่
ธปท. กำหนดให้มีการตั้งภายในปีนี้จะอยู่ที่ 2.6-3.0 บาทต่อหุ้น โดยราคาเป้าหมายยังคงอยู่ที่
4 บาทต่อหุ้น ราคาในกระดานหลักทรัพย์อยู่ที่ 6.05 บาท ดังนั้นจึงแนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้น
TMB