|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินครึ่งปีหลังแบงก์พาณิชย์ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆมากขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงยอดหนี้เน่าที่เริ่มกลับเข้ามา ส่วน NIM มีโอกาสลดลงจากดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขณะที่การปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่นัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินทิศทางการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ว่า ความแข็งแกร่งทางการเงินและการทำธุรกิจของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ความต้องการสินเชื่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายย่อยมีโอกาสชะลอลง เช่นเดียวกับ แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อดี (Core Performing Loans) ในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่คงจะชะลอตัวลงด้วย โดยมีอัตราการขยายตัว ณ สิ้นปี 2551 ที่ประมาณ 9.0-10.0% เทียบกับ 16.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551
นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจดังกล่าว ยังอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับการติดตามปัญหาการถดถอยของคุณภาพหนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็อาจกดดันให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจต้องรับรู้ผลขาดทุน หรือภาระจากการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารของสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 2551นี้ด้วย
นอกจากนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ท่ามกลางภาวะที่สินเชื่ออาจชะลอตัวลง สวนทางกับต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไปในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา และจากการแข่งขันออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีโอกาสที่จะขยับลดลงประมาณ 0.05-0.10% จากในช่วงครึ่งแรกของปีมาที่ 3.59-3.64% บนเงื่อนไขว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอาจไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกแล้วในช่วงที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอนาคตทางธุรกิจและสุขภาพทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจไม่สดใสเท่าที่ควร แต่ก็เป็นสถานการณ์เดียวกันกับที่ภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ ขณะที่ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังคงมีความมั่นคงทางการเงินในระดับสูง ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวม ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 15.10% โดยแบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 เท่ากับ 11.61% สัดส่วนการกันสำรองต่อหนี้เสียจัดชั้นรวมที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ถึงประมาณ 1.2 เท่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 และสัดส่วนเอ็นพีแอลเองก็ลดลงจากอดีตมาก เช่นเดียวกับการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าอดีตมาก ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้มั่นใจว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะทนทานต่อปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยนี้ได้
|
|
 |
|
|