สถาบันการเงิน "แบงก์และประกันภัย ประกันชีวิต" กังวลประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปี อันแสนอัปยศ อดสูของ "เลห์แมน บราเธอร์ส" อดีตวาณิจธนกิจ เบอร์ 4 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จะกลายมาเป็นระเบิดเวลา จุดชนวนลูกคลื่น "ซัพไพร์ม โดมิโน" ลุกลามเป็นปฎิกิริยาลูกโซ่ลุกลามถึง การลงทุนในต่างประเทศของสถาบันการเงินในประเทศ พอร์ตลงทุนในตลาดหุ้น บริษัทลูกของสถาบันการเงินที่ติดบ่วงกรรมไปด้วย และที่มองข้ามไปไม่ได้ก็คือ ธุรกิจประกันภัยต่อ "รีอินชัวเรอร์" ในต่างประเทศ ที่เข้ามาหอบเงินจากการรับประกันภัยต่อไปลงทุนในซัพไพร์ม อาจจะปรากฎอาการให้เห็นในเร็ววันนี้...
การประกาศตัวด้วยการยกธงขาว ของ "เลห์แมน บราเธอร์ส" อดีตวาณิชธนกิจเบอร์ 4 ของตลาดหุ้น "วอลล์สตรีท" อเมริกา ในวัน "อาทิตย์วิปโยค" 15 ก.ย. 2551 ที่ผ่านมา หลังยื่นต่อศาลขอรับการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย เพราะขาดทุนจากอิทธิฤทธิ์ "ซัพไพร์ม" ในอเมริกา หลายฝ่ายเชื่อว่า ในช่วงปลายจะออกอาการไม่ต่างจาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง" แต่เปลี่ยนมาเป็น "โรคระบาด แฮมเบเกอร์" แทน
ว่ากันว่า แม้แต่แบงก์ใหญ่หลายแห่ง ที่นำเงินไปลงทุนตราสารทางการเงินผ่านวาณิชธนกิจ เจ้าของเชื้อโรคร้ายรายนี้ ก็ยังเชื่อว่า อาจจะต้องตัดงบบัญชีเป็นหนี้สูญไปแล้ว บางแห่งสูงถึง 3 พันกว่าล้านบาท
ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้างความมั่นใจ ลดอาการตื่นตระหนก ด้วยการชี้แจงถึงการตรวจสอบข้อมูลธนาคารพาณิชย์ 14 แห่ง พบว่ามีการลงทุนในพอร์ตของ เลห์แมนฯ 4,300 ล้านบาท จากการปล่อยกู้และการลงทุนในตราสารที่เลห์แมน์ฯ เป็นผู้ออก จากจำนวนสินทรัพย์รวมที่ธนาคารพาณิชย์ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ค.มีมูลค่า 102,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.3 ของสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทยบอกว่า แบงก์กสิกรไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ แต่จะมีผลกระทบจากเหตุการณ์หรือไม่ ให้ไปดูว่ามีสินค้าทางการเงินตัวไหนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมของสถาบันการเงินสหรัฐบ้าง
"วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐทำให้มีการดูดเงินจากทั่วโลกกลับไปยังสหรัฐเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เริ่มเห็นตั้งแต่ต้นปี แล้ว ดูได้จากตลาดหุ้นไทยมีการขายสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นบิ๊กแคป"
แบงก์หลายแห่งที่ส่ออาการติดเชื้อ ส่วนใหญ่ยอมรับผลกระทบจากการนำเงินไปลงทุน จนต้องตัดหนี้สูญ แต่ก็มีหลายแห่งจะต้องติดตามอาการต่อไป หากพบว่าเกิดการด้อยค่าในสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ตามหลักเกณฑ์ธนาคารพาณิชย์จะต้องกันสำรองเพิ่มตามความจริง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
แต่ที่น่าจับตาทุกฝีก้าวก็คือ บริษัทลูกของเอไอจี อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ในประเทศไทย หลังจาก บริษัทแม่ เอไอจี เลือดไหลโทรมกาย เพราะติดบ่วงกรรมจากการเข้าไปลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับซัพไพร์ม จนผลประกอบการไตรมาส3ปีนี้ ปรากฎสีแดงเถือก
เอไอจี ที่มีอาการบอกช้ำแสนสาหัส จึงต้องการห้ามเลือดโดยด่วน ด้วยการมองหาแหล่งเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่อง หรืออาจจะขายกิจการที่มีอยู่ ขายหุ้น หรือ หลักทรัพย์ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองออกไป
หุ้นเอไอจี ร่วงรูด พอๆกับเลห์แมนฯ และยังต้องระดมเงินทุนเข้ามากอบกู้วิกฤต เพราะ ณ มิ.ย. ปีนี้ ผลประกอบการขาดทุนสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐจากซัพไพร์มเพียงอย่างเดียว และขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆอีกอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลของบรรดานักวิเคราะห์เศรษฐกิจบอกว่า เอไอจี ต้องใช้เงินมาอุดเส้นเลือดไม่ให้ไหลนองพื้น อย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ต้นปี 2551 เอไอจีได้เพิ่มทุนไปแล้วร่วม 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดังทั้งสามแห่ง ต่างก็ลดเกรดเอไอจีลงมาเป็นไม่น่าลงทุน จนเชื่อว่าการระดมทุนจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก สถานะของเอไอจี จึงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
อาการเข้าขั้นโคม่าของ "เอไอจี" บริษัทแม่ เบอร์หนึ่งของธุรกิจประกันภัยระดับโลก เจ้าของโลโก้บนหน้าอก นักฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จึงส่งผลมาถึงบริษัทลูก ในทุกจุดทั่วโลก โดยเฉพาะ "เอไอเอ" ที่กำลังถูกตั้งข้อครหาจากผู้คนทั่วไป
ที่น่าคลางแคลงใจมากไปกว่านั้น ก็คือ นอกจากไฟลามทุ่งอย่าง ซัพไพร์ม ที่เอไอจี เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง เอไอจี และบริษัทลูก เอไอเอ ยังต้องเผชิญหน้ากับหายนะ เฮอริเคน ที่ยังคงพัดกระหน่ำในรัฐใหญ่ของอเมริกา ทั้งเท็กซัส และหลุยเซียน่า
จึงเท่ากับ ทั้งบริษัทแม่ ที่ขาดทุนบักโกรก จนต้องหาตัวผู้ยึดเกี่ยว และแหล่งทุน ขณะที่บริษัทลูก ที่มีผลประกอบการงดงามในต่างถิ่น ก็ต้องประจันหน้ากับ มหันตภัยร้ายขนาบข้างซ้าย ขวา อย่างไม่มีทางเลี่ยง ไม่ต่างกับยืนอยู่บนปากเหว...
จนหลายฝ่ายกังวลว่า บริษัทแม่อาจจะทวงเอาผลกำไร จากธุรกิจบริษัทลูกในต่างแดน เพื่อเอามาช่วยกอบกู้วิกฤตในสหรัฐ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบไปถึงผู้ถือกรมธรรม์
อย่างไรก็ตาม คปภ. ได้ออกโรงยื่นหน้ามายืนยัน สถานะการเงินของเอไอเอ ยังสวยสดงาม โดยเฉพาะเงินกองทุนที่สูงเกินหลักเกณฑ์ถึง 1,107% และมีทรัพย์สินมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดย 7 เดือนที่ผ่านมา เอไอเอ สาขาประเทศไทย มีทรัพย์สินรวม 3.8 แสนล้านบาท และมีกำไรสะสมมากกว่า 70,000 ล้านบาท
" สัดส่วนหุ้นของเอไอเอในเอไอจี คิดเป็น 1.36% น้อยมาก จึงไม่น่าเป็นห่วง"
คปภ. ชี้แจงรายงานว่า การส่งเงินกำไรกลับอเมริกาของเอไอเอ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งก็คือ คปภ. ก่อน เพราะตามกฎหมายระบุไว้ว่า ทุกครั้งที่ขอส่งกำไรกลับแผ่นดินแม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของ คปภ.ทุกครั้ง
รายงานนับจากปี 2546 เอไอเอ ได้ทำเรื่องขอส่งกำไรกลับอเมริกา และคปภ.อนุมัติ 1,200 ล้านบาท ปี 2547 จำนวน 1,200 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 2,000 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 2,000 ล้านบาท
และปี 2550 ได้ยื่นขอนำส่งกำไรกลับอเมริกา จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยจะทยอยส่งเดือนละ 1,000 ล้านบาท แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจาก คปภ.
ขณะที่ผู้บริหาร เอไอเอ สาขาประเทศไทย ยังคงเก็บตัวเงียบ แต่ก็มีการส่งสัญญาณการจัดแถลงข่าวเร่งด่วนออกมาเป็นระยะๆ หลังจากบรรดาลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์กำลังสงสัยกับข่าวคราวความเป็นไปของ เอไอจี
อย่างไรก็ตาม สำหรับประกันภัยอื่นๆ อาจจะต่างออกไป ผลกระทบโดยตรงอาจไม่ชัดเจนเหมือนเอไอเอ แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมมากกว่า
โดยเฉพาะ ธุรกิจรับประกันภัยต่อหรือ รีอินชัวเรอร์ ที่บริษัทประกันภัยแทบทุกแห่งต้องนำเงินที่ได้จากเบี้ยรับ ไปประกันความเสี่ยงภัยกับธุรกิจเหล่านี้ และธุรกิจเหล่านี้ก็มักจะนำเงินไปบริหารความเสี่ยงจาก ธุรกิจวาณิชธนกิจระดับโลก ชื่อดังแทบทั้งสิ้น
จนว่ากันว่า ถ้าตรวจสอบได้ว่า รีอินชัวเรอร์ ต่างประเทศรายใด นำเงินไปลงทุนผ่าน วาณิชนกิจติดกลุ่มติดเชื้อมะเร็งระยะสุดท้าย ทั้งในอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ก็จะมีผลต่อการเคลมสินไหมของลูกค้า คือ ธุรกิจประกันภัยในประเทศ และลูกค้าบริษัทประกันภัย ซึ่งหากเกิดภัยใดใดขึ้นมา บริษัทก็อาจจะขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินนำมาจ่ายสินไหมให้ลูกค้าได้
ผู้บริหารบริษัทประกันภัย หลายแห่ง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านอกจากผลกระทบจากการรับประกันภัยต่อแล้ว ก็ยังมีผลกระทบจากพอร์ตลงทุนมากกว่าจะเป็นการรับประกันภัย โดยเฉพาะพอร์ตลงทุนในหุ้น ที่อาจจะลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นบางตัวที่อาจจะเกี่ยวพัน หรือติดหางเลขไปกับ "ซัพไพร์ม มหาวิโยค" ด้วย
" ตลาดหุ้นอ่อนไหว ถ้าติดลบนานๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นได้"
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต บอกว่า เมืองไทยฯอาจจะต้องชะลอการลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นจะมีผลกระทบโดยตรงต่อ ทรัพย์สิน เงินกองทุน จนกระทั่งไล่ลามมาถึง มูลค่าหุ้นได้
" เราลงทุนในตลาดหุ้นเพียง 5-6% ถือว่า ไม่มาก เพราะกฎหมายกำหนดไม่ให้ลงทุนความเสี่ยงสูงในสัดส่วนที่มาก"
อย่างไรก็ตามธุรกิจประกันชีวิตส่วนใหญ่ มักจะลงทุนในตลาดพันธบัตรเป็นสัดส่วนที่สูง จึงไม่น่าจะกระทบมากนัก
ขณะที่ยังมีธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตบางแห่ง เริ่มมองหาโอกาสลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงในต่างประเทศ ก็อาจจะมีการชะลอ หรือ เลื่อนการลงทุนออกไป
สาระ ย้ำความมั่นใจว่า ธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิตไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เพราะเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการประกันภัย หรือ คปภ.ที่เข้มงวดและอนุรักษ์นิยม
"แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของการตื่นตระหนกมากกว่า ดังนั้นจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คืนกลับมา"
ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ ธุรกิจประกันภัยก็มีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด สินค้าทางการเงินเสี่ยงสูงจึงไม่สามารถลงทุนได้ง่ายนัก ดังนั้นก็จะไม่กระทบต่อฐานะการเงินและความแข็งแกร่งของบริษัท
อย่างไรก็ตาม มีการจับตาบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะธุรกิจสัญชาติสหรัฐจะโยกเงินกลับไปช่วยเสริมสภาพคล่องบริษัทแม่ก็ใช่ว่าทำได้ง่าย เพราะต้องผ่านการพิจารณาจาก คปภ. และต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามเกณฑ์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงทุนกลับได้ทันที
|