ทีพีไอโพลีนเสนอซื้อหนี้ทั้งหมด 1,100 ล้านเหรียญคืนโดยมีส่วนลด หลังยืนยันว่ามีแบงก์รัฐรายหนึ่งพร้อมปล่อยเงินกู้รีไฟแนนซ์หนี้
750 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านเจ้าหนี้เตะถ่วงอ้างไม่มีอำนาจตัดสินใจและเจ้าหนี้มาไม่ครบ
ชี้แหล่งเงินทุนซื้อหนี้นั้นยังไม่มีความน่าเชื่อถือ ศาลได้สั่งเลื่อนการประชุมนัดไกล่เกลี่ยออกไปเป็นวันพุธที่
30 ก.ค.นี้ ชี้การ ประชุมครั้งหน้าแม้ไม่มีข้อยุติแต่ก็มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่
"ปกรณ์" ดึง 4 ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ร่วมสางปัญหา TPI พร้อมเตรียมจัดทำรายงานการเงินเสนอเจ้าหนี้-ก.ล.ต.เพื่อขอเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก
1 เดือน
วานนี้ (22 ก.ค.) ศาลล้มละลายกลางได้นัดไกล่เกลี่ยการพิพาทระหว่างบริษัท ทีพีไอโพลีน
จำกัด (มหาชน) (TPIPL)ในฐานะผู้บริหารแผนฯกับเจ้าหนี้ รวมทั้งได้เชิญตัวแทนจากบริษัท
ปูนซีเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่มีความสนใจที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนในทีพีไอโพลีน
นายพิชัย นิลทองคำ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง กล่าวว่า ในการประชุมไกล่เกลี่ยครั้งนี้
ทางลูกหนี้ได้มีข้อเสนอที่จะซื้อหนี้ทั้งหมดของบริษัทฯจำนวน 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยมีส่วนลดหนี้ พร้อมทั้งแสดงหนังสือยืนยันว่ามีธนาคารของรัฐรายหนึ่งเสนอเงิน
700-800 ล้านเหรียญในการชำระหนี้ครั้งนี้
"ลูกหนี้เสนอให้เจ้าหนี้แฮร์คัตสัดส่วน 50% ของมูลหนี้ แต่พูดไปพูดมา ลูกหนี้ยอมที่จะจ่ายหนี้คิดเป็นสัดส่วน
70%ของมูลหนี้ โดยขอลดหนี้ 30% ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถตัดสินใจได้ อ้างว่า ไม่มีอำนาจ
และเจ้าหนี้มาไม่ครบ ซึ่งความจริงแล้วเจ้าหนี้แต่ละรายกลับไปพิจารณาว่าจะลดหนี้เท่าไรแล้วมาเสนอ
เมื่อลูกหนี้ชำระให้แล้วก็ถือว่าจบ ทำไมต้องไปถามเจ้าหนี้รายอื่นด้วย"
ดังนั้นศาลจึงได้เลื่อนการประชุมไกล่เกลี่ยออกไปเป็นวันพุธที่ 30 กรกฎาคมนี้
โดยมอบหมายให้เจ้าหนี้กลับไปพิจารณาว่าจะสามารถลดหนี้ให้ลูกหนี้เท่าไร และฝ่ายลูกหนี้พิจารณาแนวทางอื่นในการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มทุนเติม
นอกเหนือจากการกู้ยืมสถาบันการเงินดังที่ได้เสนอมา อาทิ การขายหุ้นเพิ่มทุนให้พันธมิตรทางธุรกิจ
การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดย ขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (PO) ก็สามารถ ทำได้เช่นกัน
เพราะขณะนี้ตลาดหุ้นดี ซึ่งมีนักลงทุนพร้อมที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอโพลีน
นายพิชัย กล่าวต่อไปว่าหากเจ้าหนี้เสนอตัวเลขการลดหนี้มา แล้วลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด
โดยไม่ต้องอาศัยช่องทางอื่นก็สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนเสมอไป แต่ถ้าวงเงินที่เจ้าหนี้เสนอมาสูงกว่าวงเงินที่แบงก์สนับสนุน
ลูกหนี้ก็คงต้องหาออปชั่นที่ 2 หรือ 3เข้ามาเสริม
ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลาง ต้องการให้คดีนี้ได้ข้อสรุปในแนวทางที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ
หากเจ้าหนี้รับเงื่อนไขของลูกหนี้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจทั้งระบบเป็นได้ด้วยดี การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี
2548 น่าจะเป็นตัวเลข สองหลัก
"หากทั้งสองฝ่ายลดทิฐิ มามองความจริง แนวทางนี้ก็จบลงได้ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
ส่วนแนวทางที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปลดทีพีไอโพลีนออกจากการเป็นผู้บริหารแผนฯนั้น
มันต้องใช้เวลานาน และค่อนข้างยืดยาว ซึ่งเจ้าหนี้คงต้องการให้ผมย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อน
แต่คุณไม่ต้องเป็นห่วงว่าอุดมการณ์นี้จะเปลี่ยนไป แม้ว่าจะเปลี่ยนตัวอธิบดีผู้พิพากษา
เพราะมันเป็นอุดมการณ์ของศาลนี้ไปแล้ว"
นายพิชัย กล่าวยอมรับ การเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งหน้านี้ คงไม่สามารถได้ข้อสรุป
แต่จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็พร้อมที่จะเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง
ทั้งนี้ นายพิชัย นิลทองคำ เข้ามาดำรงตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2545 จนถึง 30 กันยายนนี้ ก็จะหมดวาระในตำแหน่งดังกล่าว
นายลือศักดิ์ กังวาลสกุล ตัวแทนจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้
ทางผู้บริหารแผนฯ ได้เสนอขอรีไฟแนนซ์หนี้เดิม โดยเสนอตัวเลขวงเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐมารีไฟแนนซ์หนี้เดิม
โดยไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนให้คณะกรรมการเจ้าหนี้พิจารณา
ดังนั้น คณะกรรมการเจ้าหนี้จึงไม่สามารถพิจารณาได้ รวมทั้งตัวเลข 750 ล้านเหรียญ
ซึ่งลูกหนี้อ้างว่าเป็นวงเงินที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนในการรีไฟแนนซ์นั้น
ทางเจ้าหนี้ไม่ทราบชื่อ และไม่มั่นใจว่าเป็นแหล่งเงินที่น่าเชื่อถือหรือไม่ รวมทั้งมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
รวมไปถึงสัดส่วนในการลดหนี้ ว่าเจ้าหนี้จะลดหนี้ได้มากน้อยเพียงใด
"วันนี้ ไม่สามารถพิจารณากันได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่มีข้อมูล ดังนั้นศาลจึงได้เลื่อนการไกล่เกลี่ยออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์
ซึ่งระหว่างนั้นคง จะมีความก้าวหน้าขึ้นเนื่องจากเจ้าหนี้และลูกหนี้คงมีการหารือร่วมกัน" นายลือศักดิ์กล่าว
ปัจจุบันทีพีไอโพลีน มีหนี้เงินต้นรวม ทั้งสิ้น 950 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยค้างจ่าย
150 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายวีระพันธุ์ ประทีปสุวรรณ รองประธานกรรมการ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า
ในการเจรจาครั้งนี้ ทางปูนซีเมนต์นครหลวงได้กันตัวเองออกมาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้หารือกันเต็มที่
หากทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันได้ ทางSCCC ก็ยินดีด้วย แต่หากไม่สามารถตกลงร่วมกันได้
ก็พร้อมที่จะเข้ามา โดยยอมเป็นทางเลือกสุดท้าย
"ตอนนี้ขอดึงตัวเองออกมาก่อน เพื่อให้เจ้าหนี้ลูกหนี้ได้หารือกัน ส่วนที่มีการพูดกันว่า
ถ้าปูนกลางเข้ามาซื้อทีพีไอโพลีน จะเป็นการผูกขาดตลาดนั้น ก็แล้วแต่จะคิด ซึ่งผมเองก็ไม่อยากเข้าไปนักหรอก
แต่ถ้าคุยแล้วไม่ลงตัว ผมพร้อมจะเข้ามา เพื่อเป็นทางเลือกสุดท้าย"
ทั้งนี้ ทางปูนซีเมนต์นครหลวง เสนอที่จะใส่เงินเข้ามาในทีพีไอโพลีนจำนวน 370
ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมทั้งหารือกับเจ้าหนี้ว่าจะลดหนี้ได้เท่าไร หลังจากนั้นออปชั่นอื่นในการจัดหาแหล่งเงินมาชำระหนี้ส่วนที่เหลือ
เพื่อแลกกับการถือหุ้นใหญ่เกิน 70%
"ปกรณ์"ดึง 4 มือการเงินสางปัญหา TPI
พร้อมขอเจ้าหนี้-ก.ล.ต.ยืดจ่ายหนี้ 1 เดือน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะกรรมการผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้คัดเลือกทีมงานด้านการเงินที่จะเข้ามาร่วมบริหารแผนฟื้นฟูฯ
TPI อีก 4 ท่าน โดยได้เซ็นสัญญาในการเข้าทำงานแบบเต็มเวลา เป็นเวลา 6 เดือน
ทั้งนี้ ทีมงานด้านการเงินดังกล่าว ประกอบด้วย 1.นางนิธิวดี จาตุภุช อดีตผู้บริหารด้านการเงิน
ธนาคารแหลมทอง และธนาคาร ยูโอบี รัตนสิน, 2.นายสุวิทย์ นิวาสวงศ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน
ธปท., 3.นายจุมพล สันติวงศ์ อดีต ผู้อำนวยการโรงพิมพ์ธนบัตร ธปท. และ 4.นายอธิวุฒิ
ระวิวัฒนวงศ์ อดีตรองผู้อำนวยการฝ่ายของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง
"ขณะนี้ทีมงานด้านการเงินลงตัวแล้ว แต่เราทำสัญญาจ้างเพียง 6 เดือน เพราะส่วนใหญ่จะอาศัยคนในบริษัทที่มีอยู่เดิม
ซึ่งเท่าที่ดู เราจะไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรมากนัก และจะอาศัยคนในที่มีความรู้ความสามารถ
และมีประสบการณ์ในการทำงานอยู่แล้ว" นายปกรณ์กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า คณะผู้บริหารแผนฯ อยู่ระหว่างการขอข้อมูลบริษัท TPI มาศึกษา
โดยจะเน้นเรื่องด้านการจัดการกระแสเงินสดให้มีสภาพคล่องดีพอต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท
นอกจากนี้ คณะผู้บริหารแผนฯ จะต้องจัดทำรายงานด้านการเงินของ TPI นำเสนอต่อคณะกรรมการเจ้าหนี้
รวมทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ TPI เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.)
พร้อมกับ ได้ขอเลื่อนชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย ตกเฉลี่ยเดือนละ 320-330 ล้านบาท ที่ถึงกำหนด
จ่ายภายใน 2 วันนี้ออกไป 1 เดือน เพราะต้องตรวจสอบกระแสเงินสด และเงินทุนหมุนเวียนหลังเข้าทำงานเพียง
6 วัน
นายอภิชาติ พันธุ์เกษร ที่ปรึกษาคณะ กรรมการเจ้าหนี้ TPI กล่าวว่า TPI คงค้างหนี้
2 ส่วน คือดอกเบี้ยค้างชำระมากกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินทุนหมุนเวียนที่นำไปใช้ซื้อน้ำมัน
ดิบ 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คณะกรรมการเจ้าหนี้เข้าใจถึงการทำงานของผู้บริหารแผนของ
TPI และให้เวลาไปศึกษาแนวทางการชำระหนี้ดังกล่าว
นายทนง พิทยะ ผู้บริหารแผนกิจการ ทีพีไอ เปิดเผยว่า คณะกรรมการต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการใหม่
เพื่อให้สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนหนี้คงค้างนั้น ผู้บริหารแผนต้องขอเวลาดูกระแสเงินสดก่อน
เพราะช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับปรุงการผลิต ทำให้ต้องดูความสามารถในการผลิตและความสามารถในการชำระหนี้รวมทั้งฐานะทางการเงินของ
TPI ด้วย