|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เลห์แมนพ่นพิษไม่เลิก หลังอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 สั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกรายในคดีขายทอดตลาดสินทรัพย์ของ ปรส. กดดัน "วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ" โชว์สปิริตลาออกจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ แบงก์กสิกรไทย มีผล 17 ก.ย. ด้านเอ็มอีแบงก์ยันการลาออกนี้ไม่กระทบต่อการดำเนินงานของแบงก์ เนื่องจากมีผู้บริหารสายงานที่จะดูแลและบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการได้สั่งฟ้องคดีการขายทอดตลาดสินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องทั้งจาก ปรส. บริษัท เลห์แมน บาร์เดอร์ส โฮลดิ้งอิงค์ กองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด บริษัท เลแมนบาร์เดอร์ส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้ทำให้มีชื่อนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เข้าไปเกี่ยวข้องในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด และกองทุนรวมโกลบอลไทย พรอพเพอร์ตี้ ในฐานะที่เป็นคู่สัญญาของบริษัท เลห์แมน บราเดอร์ส ฯ เมื่อปี 2541
จากกรณีดังกล่าว แม้จะเป็นการดำเนินการในฐานะผู้แทนนิติบุคคล แต่นางวิวรรณ มีความรู้สึกไม่สบายใจ และมีความตั้งใจที่จะจัดการเรื่องคดีดังกล่าวที่ติดมาตั้งแต่เป็นผู้บริหารของบลจ.วรรณ ให้เสร็จสิ้น โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ขอลาออกจากตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2551 เป็นต้นไป
สำหรับการลาออกของนางวิวรรณ ครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคาร เนื่องจากมีผู้บริหารระดับสูงในสายงานที่จะดูแลและบริหารงานได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทุกรายในคดีการขายทอดตลาดสินทรัพย์ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 56 สถาบันการเงิน ที่ถูกปิดกิจการ ขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ทำให้รัฐเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จากเดิมในชั้นสอบสวนอัยการที่ร่วมเป็นคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นให้กันนางวิวรรณไว้เป็นพยานเนื่องจากได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี สามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงขบวนการในการกระทำความผิด
สำหรับคดีนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา ประกอบด้วย นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานคณะกรรมการ ปรส. และนายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขานุการ ปรส. กับพวกอื่นๆ ซึ่งเป็นนิติบุคคล รวม 6 คน ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเป็นผู้สนับสนุนพนักงานในการกระทำความผิด โดยศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้อง และนัดแถลงเปิดคดี วันที่ 20 ตุลาคมนี้ เวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ อัยการโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการประมูลของ ปรส. คดีการขายสินทรัพย์ให้กับบริษัท เลห์แมน บราเดอร์ โฮลดิ้ง อิงค์ แต่บริษัท เลห์แมนฯ กลับไปโอนขายสิทธิ์ให้กองทุนรวมโกลบอลไทยพร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เข้าร่วมประมูลตามกฎหมาย เนื่องจากหากทำสัญญากับบริษัท เลห์แมนฯ ทางบริษัทจะต้องมีภาระภาษีรวม 2,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนโกลบอลไทยจัดตั้งขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อนึ่ง คดีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2540 โดยมีมูลเหตุมาจากภายหลังจากที่มีการปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งอย่างถาวร รัฐบาลจึงได้ออกพระราชกำหนดจัดตั้งปรส. เพื่อให้ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิด ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ของชาติ รวมมูลค่าราว 823,000 ล้านบาท แต่กลับมีการดำเนินการแบบไม่โปร่งใส คือนำหนี้ดีและเสียมารวมกันก่อนจะทำการประมูลแบบเหมารวม ซึ่งทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากถึง 6 แสนล้านบาท
|
|
|
|
|