ปิคนิคฯ เข้าขั้นวิกฤต หลังผลงานสิ้นปี 50 ขาดทุนสุทธิกว่า 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 400 ล้านบาท หรือ 20% ขณะที่ผู้สอบบัญชีขยาดไม่กล้ารับรองงบการเงิน เหตุหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนกว่า 4.8 พันล้านบาท ผู้บริหารอ้างโดนบังคับโอนหุ้นบริษัทย่อยชำระหนี้ ทำให้ต้องบันทึกขาดทุน 1.3 พันล้านบาท บวกกับต้องปรับหนี้ระยะยาวเป็นหนี้ค้างชำระอีก 4.5 พันล้านบาท ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมพิจารณาเพิ่มเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนปิคนิคฯ ภายใน 7 วัน
นายสุเทพ อัคควุฒิไกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI กล่าวถึง ผลการดำเนินงานประจำปี สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2550 ว่า บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิ 2,401.79 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.81 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,003.48 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท หรือขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 398.31 ล้านบาท คิดเป็น 19.88%
ขณะที่ผลการดำเนินงานเฉพาะกิจการขาดทุนสุทธิ 2,567.91 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.87 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,006.52 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.68 บาท หรือขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น 561.39 ล้านบาท คิดเป็น 27.98%
พร้อมกันนี้ ปิคนิคฯ ได้ชี้แจงถึงสาเหตุที่ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น เกิดจากการถูกบังคับโอนหุ้นของบริษัทย่อยที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งจำนวน เพื่อเป็นการชำระหนี้สิน ทำให้ต้องบันทึกขาดทุนจากการดำเนินการดังกล่าวจำนวน 1,344 ล้านบาท รวมทั้งการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลงจากปีก่อน 822 ล้านบาท
สำหรับกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน (Unable to reach any conclusion) ดังกล่าวนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เกิดจากบริษัทบริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้สินหมุนเวียนรวมสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนรวมจำนวนเงิน 4,812 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมสูงกว่าสินทรัพย์รวม 1,647 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถนการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท
โดยสาเหตุที่ทำให้หนี้สินสูงกว่าสินทรัพย์ สืบเนื่องปิคนิคฯ ถูกบังคับโอนเงินลงทุนในบริษัทย่อยเพื่อชำระหนี้จำนวน 1,344 ล้านบาทดังกล่าวข้างต้น และบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายสินทรัพย์รวม 231 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ให้ผู้ประเมินราคาอิสระทำการประเมินมูลค่าถังก๊าซที่บริษัทฯ ได้บันทึกไว้เป็นสินทรัพย์ ซึ่งบริษัทได้ใช้รายงานการประเมินค่าจากผู้ประเมินอิสระเพื่อพิจารณาตัดจำหน่ายถังบรรจุก๊าซที่บันทึกเป็นสินทรัพย์ของบริษัทส่วนที่เกินกว่ารายงานการประเมินมูลค่า โดยบันทึกเป็นรายการขาดทุนจากการด้อยค่าและตัดจำหน่ายสินทรัพย์ในงบกำไรขาดทุน
ขณะเดียวกัน ปิคนิคฯ ยังได้ปรับปรุงบัญชีจากหนี้สินระยะยาว มาเป็นหนี้สินผิดนัดชำระเป็นจำนวนเงิน 4,510 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจ่ายเงินต้นตามสัญญาได้ แต่ปัจจุบันบริษัทได้ยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว
พร้อมกันนี้ บมจ. ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า บริษัท ปิคนิค มารีน จำกัด (บริษัทย่อย) ได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ โดยแต่งตั้งบริษัท สีลม แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา หลังจากได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะนำส่งงบการเงินประจำปี 50 เรียบร้อยแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยยังคงขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) และ NP (Notice Pending) หลักทรัพย์ของ PICNI ต่อไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาเพิ่มเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนของ PICNI ภายใน 7 วันทำการ หรือภายในวันที่ 23 กันยายน 2551
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุเหตุผลว่า งบการเงินดังกล่าวมีส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ คือ ติดลบ 1,647.97 ล้านบาท และผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 50 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ดังนั้นผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของปิคนิคฯ อาจจะไม่ได้แสดงค่าที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจสั่งการให้ PICNI แก้ไขงบการเงินได้
"ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเหตุเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน รวมทั้ง PICNI ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2551 และงบการเงินไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคงขึ้นเครื่องหมาย SP และ NP ต่อไป หลังจากประกาศให้ PICNI เข้าข่ายถูกเพิกถอน และขึ้นเครื่องหมาย NC (Non-Compliance) ตั้งแต่ 28 สิงหาคม 51"
|