Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2535
"ซัมมิท โอโตซีทกรุ้ป" จำเป็นต้องโตต่อไป"             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 

 
Charts & Figures

อาณาจักธุรกิจพันล้านของทั้งสองกลุ่ม
มูลค่านำเข้า-ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ระหว่างปี 2531-33
ครอบครัวตระกูล"จุฬากูร" และ "จึงรุ่งเรืองกิจ"


   
search resources

Auto-parts
ซัมมิทโอโตซีทกรุ๊ป
สรรเสริญ จุฬางกูร




"ความสำเร็จในการซื้อกิจการสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ท แต่ต้องล้มเหลวในการซื้อกิจการไอทีเอฟหลังจากที่กลุ่มซัมมิท ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของ "สรรเสริญ จุฬางกูร" พี่ใหญ่ของตระกูลพี่น้องสกุล "จุฬางกูร" และ "จึงรุ่งเรืองกิจ" ต้องเจอปัญหานโยบายภาษียานยนต์และชิ้นส่วนเมื่อปีที่แล้วและแรงกดดันที่จะตามมาจากแกตต์ในอนาคต การโตของกลุ่มต่อไปทั้งในและนอกส่วนกิจการที่เกี่ยวเนื่องชิ้นส่วนรถยนต์ จึงเป็นหนทางที่ต้องดำเนินไปเพื่อวางโครงสร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กลุ่มต่อไป"

การที่กลุ่ม "ซัมมิทโอโตซีท" เป็นธุรกิจหน้าใหม่ที่โดดเด่นขึ้นมาในยุทธจักรการเงินได้ในคราวประมูลไอทีเอฟนั้น อาจจะเป็นที่งุนงงสำหรับคนที่ไม่รู้จักดีเพราะว่าภาพพจน์ของสรรเสริญ จุฬางกูร ประธานกลุ่มบริษัทนี้เป็นคนประเภท "LOW PROFILE" มาก ๆ อันเป็นคุณสมบัติประการสำคัญของคนในตระกูลนี้ แม้แต่ในฐานะบทบาทอุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ตามที

สรรเสริญเป็นเศรษฐีใหม่ที่เริ่มต้นสร้างตัวมาจากอาชีพช่างซ่อมเบาะเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ตำนานของการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนโพ้นทะเลแต่ละคนต่างก็มีสีสันของชีวิตที่แตกต่างกันไป ขณะที่เมื่อร่ำรวยแล้วจึงมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน

สรรเสริญในอดีต เขามีชื่อว่า "ฮังตง แซ่จึง" ชาติกำเนิดเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่มณฑลกวางตุ้ง พ่อชื่ออาฮง และแม่ชื่อม้วยเฮียง น้องชายน้องสาวสี่คนคือพัฒนา โกมล สุริยะและอริสดาล้สนโชคดีที่เกิดในแผ่นดินไทย ขณะที่ฮังตงหนีความยากจนจากเมืองจีนมาสร้างตัวที่นี่เมื่อายุได้ 21 ปีแล้ว

"พ่อผมเป็นคนมองการณ์ไกล ท่านเป็นคนชี้ทางให้ผมไปฝึกงานเป็นลูกจ้างซ่อมเบาะรถ เพราะคิดว่ายังหากินกับรถได้อีกนาน เรียกว่ากินไม่หมดชั่วลูกชั่วหลาน" ประธานซัมมิทโอโตซีทย้อนรำลึกถึงคำพูดของพ่อ

จากชีวิตเริ่มต้นลูกจ้างร้านซ่อมเบาะได้สามปี สรรเสริญกับเพื่อนสนิทอีกสองคนก็มองเห็นลู่ทางการทำมาหากิน ทั้งสามจึงร่วมกันตั้งร้านซ่อมเบาะ "สามมิตร" รับจ้างซ่อมเบาะจักรยานยนต์และรถยนต์ ทำอยู่ได้ปีเศษก็แยกย้ายกันไป

ยุคปี 2511 บทบาทสำคัญยุคต้นของสรรเสริญคือเป็นเถ้าแก่วัย 26 ปีของ "ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามมิตรชัยกิจ" ที่ถนนทรัพย์ นับว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของการสะสมทุน กิจการห้างนี้มีทุนจดทะเบียนหนึ่งแสนบาท ที่ทำการก็อาศัยห้องแถวไม้คูหาเดียว ซึ่งระเกะระกะด้วยวัสดุเย็บซ่อมเบาะเช่นจักรเย็บผ้า ฟองน้ำและกาว มีพัดลมตัวเดียว การทำงานก็มีลักษณะแบบครอบครัวที่ทุกคนต้องช่วยกันบุกงาน โดยมีลูกจ้างแค่ 6 คน

"กลุ่มซัมมิทนี้เกิดจากซอยทรัพย์ด้วยกัน ตั้งแต่ผมยังเด็ก ๆ เห็นอาเจ็กขี่สกู๊ตเตอร์มารับออเดอร์จากเรา เดี๋ยวนี้เขาขยายใหญ่มาก" วัชระ พรรณเชษฐ์แห่งบริษัทเอ็มเอ็มซีสิทธิผลผู้ผลิตรตมิตซูบิชิเล่าภาพอดีตที่ทำการค้าด้วยกันให้ฟัง

ยุคต้น ๆ สรรเสริญมีน้องชายสองคนช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ และโกมล พัฒนาเปลี่ยนจากชื่อสกุลจีน "ฮั้งฮ้อ แซ่จึง" ในปี 2512 ขณะที่โกมลได้เปลี่ยนชื่อสองครั้ง ครั้งแรกเปลี่ยนจากชื่อ "เอี่ยมจุ่ง" เป็น "เสรี" ในปี 2516 และเปลี่ยนอีกครั้งเป็น "โกมล" เพื่อศิริมงคล

"น้อง ๆ ผมทุกคนเย็บเบาะเป็นหมด คุณพ่อผมก็ช่วยด้วย เราทำงานกันหามรุ่มหามค่ำ ช่วงแรกมีลูกจ้างแค่ 6 คนเดี๋ยวนี้กลุ่มเรามีพนักงาน 5,600 กว่าคนแล้ว" สรรเสริญเล่าด้วยความภูมิใจ

สามปีต่อมา ความเติบโตอย่างเงียบ ๆ ของกิจการซ่อมเบาะเริ่มมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเนื่องจากผลกระทบของนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2514 บังคับให้โรงงานทุกแห่งใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (LOCAL CONTENT) ในอัตรา 25% สำหรับรถจักรยานยนต์ และอัตรา 20% สำหรับรถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศ

เงื่อนไขของนโยบายเศรษฐฏิจนี้ ได้เปิดโอกาสทองให้กับธุรกิจซ่อมเบาะขนาดย่อมอย่าง "สามมิตรชัยกิจ" พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น "บริษัท ซัมมิทโอโตซีท อินดัสตรี จำกัด" ในปี 2515 งานจำนวนมากได้ไหลมาเทมาจนกระทั่งไม่มีการรับซ่อมหรือทำเบาะขายปลีกเช่นแต่ก่อน หากแต่บริษัทใหม่นี้มีฐานะเป็น OEM ที่ทำหน้าที่ผลิตและจัดส่งมอบสินค้าให้กับโรงงานประกอบรถยนต์

"ลูกค้ารายแรกของเราคือ สยามยามาฮ่า เขาว่าจ้างให้เราทำเบาะรถจักรยานยนต์ ในช่วงต้น ๆ ก็ผลิตเบาะรถไม่ค่อยสูง ที่ทางร้านสี่คูหาก็ยังพอกล้อมแกล้มไปได้ แต่ต่อมามีแนวโน้มสูงขึ้น ๆ เราก็เลยขยายไปซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่สาธุประดิษฐ์ซึ่งสภาพเป็นสวน ตอนแรกซื้อได้ 357 ตารางวา ๆ ละพันบาท เดี๋ยวนี้เนื้อที่โรงงาน 14 ไร่และได้ขยายไปที่ใหม่ตรงบางนา-ตราดอีก 50 ไร่ซึ่งซื้อไว้ 5-6 ปีที่แล้ว" สรรเสริญกล่าวถึงการขยายกิจการ

ถึงตอนนี้แล้ว กิจการซัมมิทโอโตซีทก้าวทะยานไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง ทุนของครอบครัวเพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นตามภาวะเติบโตของอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในประเทศศึ่งถูกกระตุ้นโดยนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบันมีการเพิ่มอัตราการใช้ LOCAL CONTENT รถจักรยานยนต์เป็น 70% และรถยนต์นั่งให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศไม่ต่ำกว่า 54%

ปัจจุบันยอดขายของซัมมิทโอโตซีทไม่ต่ำกว่า 1,788 ล้านบาทและได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 30 ล้านบาท รับจ้างผลิตเบาะรถยนต์ แผงกันแดด ผ้าบุหลังคา พรมปูพื้น แผงประตู เบรก ให้กับรถยนต์ทุกแห่งกำลังผลิตเดือนละ 15,000 ชุด โดยแต่ละชุดจะมีชิ้นส่วนย่อย ๆ ประกอบนับได้ 13,000 รายการ

"ในขั้นต้นเทคโนโลยีเรายังไม่มี ก็เริ่มจากเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบเป็นชิ้น เราก็ได้แต่เพียงแค่ค่าแรง แล้วหลังจากนั้นเราก็เริ่มเรียนรู้เองว่าชิ้นส่วนไหนที่พอจะทำเองได้" สรรเสริญเล่าให้ถึงยุคบุกเบิกโรงงาน

ซัมมิทโอโตซีทจึงเป็นบริษัทที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง แม้ว่าภาพพจน์การผลิตเบาะจะเป็นสินค้าที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง แต่ในยุคเริ่มต้นสรรเสริญก้ได้ขอความรู้ด้านเทคนิคทำเบาะและวัสดุตกแต่งรถจากบริษัทญี่ปุ่น NAMBA PRESS WORKS เป็นแห่งแรกในปี 2517

"ช่วงนั้นหลังจากที่เราได้เบาะแล้ว ลูกค้าก็ยังให้เราทำชิ้นส่วนประเภทโครงเบาะเหล็กที่ต้องมาขึ้นรูปปั๊ม เราจึงเริ่มผลิตชิ้นส่วนที่ง่ายก่อน เช่นชิ้นส่วนพวกแบคเก็ตต่าง ๆ ซึ่งซ่อนอยู่ในตัวถังเพื่อเสริมให้แข็งแรง" สรรเสริญกล่าว

ในปี 2517 สรรเสริญได้ตั้งบริษัทใหม่ "ไทยออโต อินดีสทรี" เพื่อทำแม่พิมพ์ชิ้นส่วนและระบบท่อไอเสีย โดยให้พัฒนาน้องชายคนที่สองซึ่งอายุห่างกัน 5 ปีเป็นผู้ดูแล

สรรเสริญเรียนรู้ถึงการก้าวไปข้างหน้าโดยมีโนว์ฮาวจากญี่ปุ่นเป็นหัวหอก ในปีต่อมา เขาก็ได้เซ็นสัญญาด้านเทคนิคกับบริษัท IMASEN ELECTRIC INDUSTRIAL เพื่อสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มขึ้นในเบาะด้วยการเสริมเทคนิคเข้าไป

เมื่อโอกาสทางเศรษฐกิจเปิดเนื่องจากนโยบายรถยนต์ของรัฐบาล สรรเสริญก็ได้ประยุกต์การลงทุนของตนให้สอดคล้องกันในปี 2519 สรรเสริญได้ขยับฐานะบริษัทจากผู้รับจ้างผลิตกลายเป็นผู้ร่วมลงทุนกับ บริษัท เอเชียนฮอนด้ามอเตอร์ ซึ่งผลิตรถจักรยานยนต์มอเตอร์ไซค์ก่อตั้งบริษัท "เอเชียน ออโตพาร์ท"

"ในระยะหลังเราคิดว่าข่ายงานของเราเติบโตมาก ลำพังถ้าเราไปลงทุน 100% การดูแลก็ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะชิ้นส่วนบางอย่างต้องลงทุนสูงมาก ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีของเขา และอีกอย่างญี่ปุ่นเขาก็อยากจะมาตั้งโรงงานที่นี่ซึ่งเขาก็อยากได้เราเป็นหุ้นส่วน" นี่คือเหตุผลการร่วมลงทุนที่สรรเสริญกล่าวถึง

สรรเสริญยังได้อธิบายถึงลักษณะของบริษัทร่วมทุนที่เขาทำอยู่มีสองลักษณะคือ หนึ่ง-ส่วนที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทเข้าไปบริหารแต่ด้านโรงงานญี่ปุ่นดูแล สอง-ส่วนที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทเข้าไปเพียงถือหุ้น เช่นบริษัทอีเกิลวิง

อย่างไรก็ตามบริษัทร่วมลงทุนอย่างเอเชียน โอโตพาร์ทแห่งนี้มีผลการดำเนินงานที่เด่นมากในกลุ่ม ยอดขายในปัจจุบันปีละ 1,340.7 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 136.6 ล้านบาท ปี 2530 สรรเสริญได้โอนตำแหน่งประธานให้กับพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ

ปัจจัยของความสำเร็จของเอเชียน ออโตพาร์ทมาจากโครงสร้างตลาดและความเติบโตของอุปสงค์กับราคาของรถจักรยานยนต์ที่สูงมากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 3 แสนคัน ตลอดจนกระบวนการผลิตและการวิจัยพัฒนาก็อิสระจากบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเพราะขนาดรถจักรยานยนต์ในไทยแค่ 70-150 ซีซี. ขณะที่ญี่ปุ่นนิยมใช้ไม่เกิน 250 ซีซี. ทำให้ผู้ประกอบการของไทยซึ่งมีอยู่ 5 รายสามารถพัฒนาไปสู่การผลิตทั้งคันได้ส่งผลถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับประโยชน์นี้ด้วย

สรรเสริญพอใจกับสถานะใหม่แบบผู้ร่วมลงทุนนี้ เพราะทำให้กิจการของซัมมิทโอโตซีทมีความมั่นคงขึ้นและได้รับผลประโยชน์ด้านโนว์ฮาวและรับบการบริหารการผลิตแบบญี่ปุ่น

ตลอดเวลา 10 ปีที่พี่น้องตระกูล "แซ่จึง" ได้มุมานะสร้างฐานะ สรรเสริญจะเป็นผู้นำที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก และมีอำนาจตัดสินใจแบบรวมศูนย์ในฐานะพี่ใหญ่ ที่ถือปรัชญาของชีวิตเพียงคำเดียวว่า "ซื่อสัตย์"

ภายใต้ชายคาเดียวกันที่มีลักษณะครอบครัวใหญ่ประกอบด้วยพี่น้อง 5 คน แต่ละคนมีครอบครัวมีลูกหลาน ทำให้ต่างคนต่างความคิดและไม่มีระบบชัดเจน

ความเป็นอยู่เช่นนี้ย่อก่อให้เกิดความรู้สึกต่อน้องชายคนรองอย่างพัฒนาอยู่มาก ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่พัฒนาคิดว่าเขารอบรู้วิทยายุทธได้เรียนรู้จัดสินค้าตลาด ลูกค้าจนครบถ้วนแล้ว ก็ถึงเวลาอันสมควรที่จะแยกตัวออกไปสร้างอาณาจักรเอง

ดังนั้นในปี 2520 "บริษัทซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี" ภายใต้การนำของ "พัฒนา จุงรุ่งเรืองกิจ" ได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ และสรรเสริญได้ยกตลาดลูกค้าที่มีอนาคตดีมากคือส่วนของรถจักรยานยนต์ทั้งหมดให้น้องชายทำ

นับว่าเป็นการเริ่มต้นสร้างดาวกันคนละดวงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ความคิดในเรื่องแนวทางการบริหารและการลงทุนของพี่ชายกับน้องชายจึงเริ่มแยกกันอย่างชัดเจน

ความจริงการถือตนเป็นใหญ่ระหว่างสองพี่น้องที่มีนิสัยใจคอใกล้เคียงกันนี้ สามารถเห็นได้จากเหตุผลของการตั้งนามสกุลใหม่ของสรรเสริญซึ่งเปลี่ยนจาก "แซ่จึง" เป็น "จุฬางกูร" แทนที่จะใช้นามสกุล "จึงรุ่งเรืองกิจ" ของน้องชายเหมือนคนในครอบครัว นอกจากเหตุผลของการเป็นคนต่างด้าวแล้ว ความที่อยากสร้างข้อแตกต่างกว่าคนอื่น เพื่อสร้างความเป็นตัวของเขาเอง ก็ทำให้สรรเสริญตั้งนามสกุลที่เขาคิดว่าไพเราะกว่าของเดิม ทั้ง ๆ ที่นามสกุลของน้องชายเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการแล้ว ตั้งแต่ปี 2515 ที่พัฒนาหันมาใช้ชื่อสกุลไทย

เรื่องราวการตั้งตัวเป็นอิสระโดยลำพังของพัฒนากับครอบครัวของเขาซึ่งมีสมพรเป็นคู่ชีวิต คนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นการแตกสามัคคี แต่จริง ๆ กลับเป็นเรื่องให้ผลดีเกินคาด เพราะในเวลาต่อมากลุ่มไทยซัมมิทโอโตพาร์ทนี้ก็มีศักยภาพเติบโตไม่แพ้กลุ่มบริษัทของพี่ชาย

"กลุ่มของน้องชายจะเพิ่มคำว่า "ไทย" เข้าไปในชื่อเช่น ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท ส่วนของผมจะขึ้นต้นชื่อด้วย "ซัมมิท" ของเขาจะเน้นด้านเบาะและชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ส่วนผมเน้นเบาะและชิ้นส่วนรถยนต์ ต่างคนต่างแยกการบริหารชัดเจน มีบ้างที่แต่ละฝ่ายจะถือหุ้นซึ่งกันและกัน" สรรเสริญแก้ความสับสนที่มีคนไม่เข้าใจภาพพจน์ของทั้งสองกลุ่ม

ผลการดำเนินงานปีที่แล้วของทั้งกลุ่มไทยซัมมิทฯ 5 บริษัทได้แก่ไทยซัมมิทโอโตพาร์ท ไทยชนาธรอุตสาหกรรม ไทยฮาร์เนส ไทยซัมมิทเอนจิเนียริ่งและไทยซัมมิทพีเค มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,865 ล้านบาท และมีทิศทางการเติบโตที่น่าจับตา เนื่องจากกลุ่มไทยซัมมิทเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บีซีซีได้เมื่อต้นปีนี้ งานนี้สรรเสริญยืนยันหนักแน่นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย

แม้น้องชายจะแยกตัวไปทำเอง ขณะนั้นซัมมิทโอโตซีทคงเหลือไว้เพียงงานชิ้นส่วนรถยนต์ และสรรเสริญก็ต้องเดินหน้าหาสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป สรรเสริญได้ลงหลักปักฐานทีละน้อยอย่างแน่นหนา ในปี 2521 เกิด "บริษัทไทยสตีลเคเบิล (ทีเอสเค)" เพื่อผลิตสายเบรคของรถจักรยานยนต์และรถยนต์ และอีกสามปีต่อมาสรรเสริญได้ใช้กลยุทธ์ร่วมลงทุนกับบริษัทญี่ปุ่น NIPPON CABLE SYSTEM เพื่อพัฒนาการผลิตและการตลาดของสายเบรค

การลงสู่ภาคการผลิตที่กว้างออกไป ก่อให้เกิดบริษัทใหม่ ๆ ตามมาในปี 2522 คือบริษัทสามมิตร โอโตซีสแอนด์พาร์ท ซึ่งสรรเสริญให้น้องชายคนที่สาม "โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ" ดูแลการผลิตภัณฑ์โพลียูริเทนและเบาะมอเตอร์ไซค์ให้กับอีกตลาดส่งออกและขายท้องตลาดโดยตรง มิใช่ป้อนโรงงาน เป็นคนละลูกค้ากัน

โกมล จึงรุ่งเรืองกิจเป็นน้องคนที่สามของสรรเสริญ มีบุตรสามคนกับยาใจ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของครอบครัวที่สรรเสริญให้ความไว้วางใจมาก

ในที่สุดสรรเสริญก็ใช้กลยุทธ์ขยายตัวออกไประหว่างปี 2529 จนถึงปี 2534 ปีละไม่ต่ำกว่าสองแห่งหลังจากที่ไม่มีการตั้งบริษัทใหม่ตั้งแต่ปี 2522

สถาบันการเงินที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทใช้เป็นหลักก็มี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารโตเกียว ในสามแห่งนี้กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะใช้ธนาคารกรุงเทพมากที่สุด

การขยายกิจการครั้งหลังนี้ สรรเสริญเอื้อโอกาสแก่น้อง ๆ คือให้โอกาสน้องชายน้องสาวที่อยู่กันมานานและมีวี่แววไปได้ไกลออกไปตั้งบริษัทใหม่ และมีอิสระในการบริหารหรือลงทุนได้

บริษัทหนึ่งที่มีความสำคัญคือบริษัทซัมมิทโอโตบอดี้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เอสเอบี" ซึ่งตั้งในปี 2529 ได้กลายเป็นภาคการผลิตชิ้นงานใหญ่ เช่นชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ซึ่งได้เช่าสิทธิบัตรเทคโนโลยี STAMPING DIES จากบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น

"เราจะเน้นทำตัวถังรถยนต์ทั้งหมด เริ่มจากชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์โดยเสริมเครื่องจักรหนักเช่นแม่พิมพ์ซึ่งเราได้สั่งซื้อ 5 ตัวมูลค่านับสิบล้าน ที่เอสเอบีเราจะเน้นชิ้นงานใหญ่ ส่วนที่ซัมมิทโอโตซีทเราจะผลิตแต่เบาะ" สรรเสริญอธิบายถึงการแบ่งแยกสายการผลิต ซึ่งเอสเอบีได้ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 50 ไร่ที่ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตรที่ 12

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลการดำเนินงานของบริษัทซัมมิทโอโตบอดี้ยังอยู่ในภาวะขาดทุน หทัยรัตน์ จุฬางกูร ภรรยาของสรรเสริญซึ่งดูแลด้านบัญชีการเงินของกลุ่มบริษัทอยู่ได้เล่าให้ฟังว่า

"มันเป็นการลงทุนระยะยาว เราเพิ่งเปิดมาได้สามปี ได้ลงทุนด้านที่ดินและเครื่องจักรมูลค่านับร้อยกว่าล้านบาท ดิฉันคิดว่าปีหน้าจะพอมีกำไรบ้างแล้ว"

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการแตกตัวของซัมมิทโอโตซีทในระยะ 5 ปีหลังนี้ มีความพยายามฉีกแนวไปจากเดิม เช่นกิจการผลิตรองเท้าเพื่อส่งออกแก่ดันลอปในนามบริษัท ซัมมิท ชูส์ อัปเปอร์ และบริษัทซัมมิท สปอร์ตแวร์ ทั้งนี้สรรเสริญได้ให้อริสดา น้องคนสุดท้องเป็นผู้ดูแลกิจการส่วนนี้ และกิจการสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ทซึ่งโกมล น้องชายคนที่สามบริหารอยู่

ส่วนสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายคนที่สี่ของสรรเสริญยังได้บริหารบริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ หรือ "เอสอีซี" ซึ่งก่อตั้งในปี 2530 ทำหน้าที่ผลิตวิทยุ ซีดีให้กับบริษัทโซนี่ ประเทศไทยด้วย

"ซัมมิทโอโตซีท" เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรผู้นำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในชื่อของ "ซัมมิทโอโตซีทกรุ๊ป" และ "ไทยซัมมิทโอโตพาร์ทกรุ๊ป" ที่เป็นหัวรถจักรลากเอาความเจริญมั่งคั่งในรูปของการลงทุนแตกแขนงออกไปเป็นธุรกิจอีกมากมายไม่ต่ำกว่า 19 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 5,669 ล้านบาท มีรายได้รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 7,447 ล้านบาท

ผลที่ได้จากการก่อรูปเงินทุนอันแข็งแกร่งนี้ ในระยะเวลาสองทศวรรษทำให้สรรเสริญกับครอบครัวมีนโยบายที่จะหาลู่ทางกระจายเงินไปลงทุนในกิจการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สักแห่ง อันเป็นการประยุกต์การลงทุนให้เข้ากับเศรษฐกิจยุคสมัยปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสทองให้โดยที่แบงก์ชาติเพิ่มใบอนุญาตขยายประเภทธุรกิจประกอบกิจการเงินทุนหลักทรัพย์ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกันแนวความคิดนี้ก็ทำให้กลุ่มไทยซัมมิทโอโตพาร์ทของพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจซื้อ บงล. บีซีซี จะสังเกตว่าสไตล์การบริหารงานและการตัดสินใจของพัฒนาจะรวดเร็วกว่าพี่ชายที่ยังคงสไตล์ CONSERVATIVE มาก

บงล. ไอทีเอฟ เป็นเป้าหมายซึ่งมีผู้บริหารกลุ่มซัมมิทโอโตซีทสนใจ แรงดึงดูดที่เร้าใจ นอกจากสาขาไอทีเอฟทั้ง 6 แห่งแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญคือการลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใสจากใบอนุญาตไอทีเอฟ ซึ่งมีอยู่ 8 ใบ ประกอบด้วย หนึ่ง-ใบอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการลงทุนและพาณิชย์ สอง-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา สาม-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่าย สี่-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่าย ห้า-ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการบริโภค หก-เพื่อการเคหะ เจ็ด-ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และแปด-กิจการค้าหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นแรงดึงดูดใจมาก ๆ สำหรับผู้ที่อยากได้ SEAT ในฐานะโบรกเกอร์ของตลาดหลักทรัพย์

"เหตุผลที่เข้าไปจะซื้อไอทีเอฟ เพราะปัจจุบันกิจการของเรา 90% เป็นด้านธุรกิจยานยนต์ทั้งหมด เราทำมา 20 ปีก็บริหารได้อยู่ตัวแล้ว จึงอยากจะทำธุรกิจอื่น ๆ ที่มีอนาคตดีอย่างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่แหวกแนวออกไป แต่ไม่ใช่ว่าจะมาเป็นฐานเงินทุนที่สนับสนุนอุตสาหกรรมของเรา เราคิดว่าที่น่าสนใจคือตัวใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์ซึ่งมีราคาแพงมาก และเรื่องบุคลากรเราก็ไม่ห่วงเท่าไหร่ แต่เผอิญมีเรื่องขัดข้องทางเทคนิคเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า 9% หรือ 12% แต่ก็ยุติแล้ว เราก็คิดว่าในอนาคตก็ยังสนในด้านนี้อีก" สรรเสริญเปิดเผยการรุกขยายไปในไอทีเอฟ

แต่การก้าวเข้าไปในธุรกิจที่ตนเองไม่มีความรอบรู้อย่างละเอียดนำมาซึ่งความจริงอันยากปฏิเสธว่า ในความสำเร็จนั้นย่อมมีความล้มเหลวผิดพลาดบ้าง ประโยชน์ของความล้มเหลวก็คือบทเรียนอันมีค่าที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทต้องจำให้แม่นและถือเป็นข้อเตือนใจครั้งต่อไป

ศึกประมูล บงล. ไอทีเอฟประกอบด้วยสี่กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาชิงชัย กลุ่มแรก ทักษิณ ชินวัตร ผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมชื่อดัง ซึ่งให้ ดร. ทนง พิทยะเป็นตัวแทนเสนอราคาในนามของกลุ่มชินวัตร กลุ่มที่สอง-สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัลยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าที่มาเอง โดยที่ปรึกษาคือเจเอฟธนาคมเป็นผู้ยื่นซอง กลุ่มที่สาม-สรรเสริญ จุฬางกูร ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของกลุ่มซัมมิทโอโตซีท ซึ่งเป็นม้ามืดในงานนี้ และกลุ่มที่สี่-วิชัย กฤษดาธานนท์ แลนด์ลอร์ด ผู้ร่ำรวยจากการพัฒนาที่ดินและนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในนามของ "กลุ่มกฤษดานคร"

บทเรียนบทที่หนึ่งเริ่มบนเงื่อนไขในวันที่ 30 มีนาคมที่แต่ละกลุ่มได้รับทราบด้วยวาจามิใช่ลายลักษณ์อักษรจาก จรุง หนูขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือ หนึ่ง-จำนวนหุ้นของไอทีเอฟที่ถือครองโดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงนจำนวน 67,442,846 หุ้น สอง-"การยกตัวอย่าง" อัตราดอกเบี้ย (DISCOUNT RATE) 12% แก่ผู้บริหารทั้งสามกลุ่ม แต่มีกลุ่มกฤษดานครที่ไม่ทำตามตัวอย่างซึ่งให้ผลดีเกินคาด และสาม-ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงินปันผลไอทีเอฟที่จะจ่ายหุ้นละ 25 ส.ต. ที่เตือนให้อย่าลืมคิดลงไปด้วย

ข้อมูลทั้งหมดนี้ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทได้ป้อนให้กับไพบูลย์ เสรีวิวัฒนาที่ปรึกษาประเมินราคาหุ้นไอทีเอฟ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปิดลับเป็นระยะเวลาศึกษา 10 วัน แม้แต่ธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลักของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทและเป็นผู้อาวัลเงินก้อนใหญ่จำนวนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทก็ปกปิด

จนกระทั่งถึงวันที่ 7 เมษายนซึ่งเป็นวันเปิดซองประมูล เมื่อจับภาพเฉพาะกลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะเห็นว่าสรรเสริญซึ่งเป็นคนไปเซ็นชื่อนั่งใกล้กับน้องชายสุริยะ ส่วนหทัยรัตน์อยู่ด้านข้างกับไพบูลย์

เมื่อซองแรกของชินวัตรเปิดขึ้นด้วยราคาต่อหุ้น 24 บาท ตามด้วยซองที่สองของเซ็นทรัลให้ราคาต่อหุ้น 23 บาท อันดับสามกลุ่มกฤษดานครให้ราคาสูงถึง 41.25 บาทและกลุ่มสุดท้ายคือซัมมิทโอโตซีทเสนอราคาต่อหุ้นสูง 37.88 บาท

เมื่อพิจารณาให้ละเอียดระหว่างคู่ชิงดำระหว่างกลุ่มกฤษดานครกับกลุ่มซัมมิทโอโตซีท จะพบว่าราคาต่อหุ้นที่กฤษดานครยื่นเสนอไป 41.25 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,782,017,398 บาท ขณะที่กลุ่มซัมมิทโอโตซีทเสนอราคาต่อหุ้น 37.88 บาทคิดเป็นเงินรวม 2,554,735,006 บาท ทั้งคู่มีเงื่อนไขชำระเป็นแคชเชียร์เช็คประมาณ 20% ส่วนของซัมมิทฯ จ่าย 500 ล้าน แต่ของกฤษดานคร 556 ล้านบาท

เงื่อนไขการชำระเงินของกลุ่มซัมมิทฯ ที่เทเงินสดให้ตั้งแต่ปีที่ 1-5 ปี ๆ ละ 410 ล้านบาทกล่าวกันว่าอยู่บนฐานความเชื่อที่อัตราดอกเบี้ย 12% เสมอและคิดว่าถ้าจ่ายเงินสดช่วงต้นจะดีกว่าเพราะช่วงนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลงเหลือเพียงแค่ 11% เท่านั้น ทำให้การคำนวณค่าเงินสดในปัจจุบันจะมีลักษณะจ่ายน้อยลงในปีสุดท้าย

ขณะที่กลุ่มกฤษดานครจะใช้หลักคิดอีกอย่างคือ จะเริ่มชำระเงินตั้งแต่ปีที่ 3-5 โดยปีที่ 3 จะจ่าย 556 ล้านบาท ปีที่ 4 และ 5 จะจ่ายปีละ 834 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเงินสดปัจจุบันจะมีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในระยะหลัง

จำนวนเงินที่จ่ายทุกตัวได้ถูกคำนวณเป็นค่าเงินสดปัจจุบัน (PRESENT VALUE ) เพื่อใช้เปรียบเทียบโดยใช้ DISCOUNT RATE 9% ยอดเงินรวมของกลุ่มซัมมิท 2,098 ล้านบาท ราคาต่อหุ้น 31.114 บาท ส่วนกลุ่มกฤษดานครคิดออกจะได้ยอดเงินรวม 2,119 ล้านบาท และราคาต่อหุ้น 31.430 บาท

ผลต่างของราคาต่อหุ้นที่กลุ่มซัมมิทฯ พ่ายแพ้กลุ่มกฤษดานครไปคือ 31 สตางค์เท่านั้นเมื่อเอามาตรฐาน DISCOUNT RETE 9% เป็นหลัก

ผลปรากฏว่าถ้าคิดเป็นกราฟเส้นตรงตัดกันสองเส้นที่แทนสองกลุ่มนี้ กรณีที่ DISCOUNT RATE ต่ำกว่า 10% กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะแพ้ แต่ถ้า DISCOUNT RATE สูงกว่า 10% กลุ่มซัมมิทโอโตซีทจะชนะ

สามกลุ่มที่พ่ายแพ้จึงบ่นเสียดายว่าถ้ากำหนดชัดเจนว่าสู้กันในอัตรา 9% ดังนี้ก็จะสู้ชนิดเทเงินในกระเป๋าเพิ่มให้กับราคาต่อหุ้นอีก 5 บาทยังไหว เป็นการเพิ่มกำไรให้กับรัฐบาลมากกว่า 8 เท่าตัว

เพราะเงินที่รัฐรับชำระเข้ามา ถ้าคิดหาผลประโยชน์บนฐานจากอัตราดอกเบี้ย 12% ณ สิ้นปีที่ 5 จะมีเงินรวมทั้งสิ้นจากกลุ่มซัมมิท 3,491 ล้านบาท แต่ถ้าเลือกกลุ่มกฤษดานครจะได้ 3,447 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มซัมมิท 43 ล้านบาท

แต่ถ้ารัฐเลือกที่จะใช้อัตราดอกเบี้ย 9% จากเงื่อนไขการชำระเงินของกฤษดานคร รัฐจะได้เงินรวมในสิ้นปีที่ 5 คือ 3,261 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มซัมมิทฯ 3,228 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มแรก 32 ล้านบาท

ดังนั้นสรุปผลรวมของผลประโยชน์สองตัวที่มาเปรียบเทียบกัน จะต่างกัน 230 ล้านบาท

แต่เมื่อทุกตัวเลขขึ้นตัวเลขบนกระดาน ปฏิกิริยาของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทคืองุนงงเมื่อเทียบกับผู้ชนะรู้สึกตัวเลขสูสีกันมาก มีการส่งสายตาข้ามฟากมองกันไปมาระหว่างที่ปรึกษาไพบูลย์ ซึ่งยกเครื่องคิดเลขมาเคาะตัวเลขที่อยู่ระยะไกลมากจนเคาะไม่ถูกกับสุริยะซึงขัดใจที่ไม่ได้พกพาเครื่องคิดเลขมาด้วย เมื่อทำอะไรไม่ได้ดีกว่านั้นต่างฝ่ายก็ทำท่าจะวางใจซึ่งกันและกัน ไม่มีใครแย้งขึ้นมาถึงอัตราดอกเบี้ย 9 หรือ 12%

แต่เมื่อผลการประมูลสิ้นสุดลง สุริยะได้เดินไปหาผู้ชนะ มีเสียงถามว่า "คุณวิชัย คุณคิด DISCOUNT RATE เท่าไหร่?" เสียงตอบจากวิชัยบอกว่า 10% แล้วเอาตัวเลขนั้นให้ดู แต่เมื่อเห็นปฏิกิริยาสุริยะงุนงงราวถูกทุบหัว วิชัยรีบมองหาเลขารู้ใจซึ่งรีบเปิดกระเป๋าเจมส์บอนด์เอาเครื่องคิดเลขมาเคาะแล้วบอกว่านี่ไง 12% แม้จะไม่เชื่อเท่าใดนัก แต่เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ชนะ ทุกคนก็เข้าไปจับมือแสดงความยินดีกับวิชัย

เย็นนั้น การตีกอล์ฟของสามพี่น้องเป็นไปอย่างกังวลถึงตัวเลขที่ต้องมีการทบทวนอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อพบความไม่โปร่งใสก็ได้ส่งจดหมายขอความเป็นธรรมไปตามขั้นตอน ในที่สุดการประมูลหุ้นไอทีเอฟ 67 ล้านหุ้นก็จบลงด้วยความเข้าใจว่ากฤษดานครชนะ และทุกสิ่งถือเป็นข้อสิ้นสุดแล้ว

งานนี้จึงถือเป็นบทเรียนบทสำคัญที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทต้องถือเป็นอาจารย์ในครั้งต่อไป คือหนึ่ง-อย่าปากหนักเมื่อเกิดสิ่ง "ไม่โปร่งใส" ต้องถามให้ชัดเจนทันที สอง-อย่าคิดหรือวางใจ "แทน" คนอื่น สาม-อย่าลืมพกพาเอาเครื่องคิดเลขไปด้วยทุกครั้งที่มีการซื้อขาย

นี่คือบทเรียนอันมีค่าที่ผู้บริหารซัมมิทโอโตซีทจำได้ตลอดจากนี้ไป

ทิศทางการขยายตัวของกลุ่มซัมมิทโอโตในสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะมีความผิดพลาดในความสำเร็จบ้างบางส่วน แต่โดยส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเป็นแนวนอนและแนวดิ่งโดยการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนมากมายนับร้อยชนิดของรถยนต์ ทั้งที่เป็นส่วนบริษัทของครอบครัวตัวเองล้วน ๆ และบริษัทร่วมทุนกับต่างประเทศ เช่นบริษัทอาเซียนออโตพาร์ท บริษัทซัมมิท สเตียริ่งวีล เป็นต้น

ในอนาคตของกลุ่มภายใต้การนำของสรรเสริญ ยุทธศาสตร์การขยายตัวก็ยังคงมีเป้าหมายหลักอยู่ที่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ในปลายปีนี้จะมีการผลิตพวงมาลัยรถยนต์โดยบริษัทซัมมิท สเตียริ่งวีล นอกจากนี้โครงการนิคมอุตสาหกรรมรถยนต์ที่แหลมฉบังอันมีกลุ่มมิตซูบิชิเป็นหัวหอก ก็ได้ชักชวนกลุ่มซัมมิทโอโตซีทไปเปิดโรงงานที่นั่น ด้วยการลงทุนในอนาคตเหล่านี้สรรเสริญยังยืนยันว่าอนาคตสดใสเพราะปริมาณการใช้รถต่อประชากรไทยแล้วยังอยู่ในอัตราต่ำมาก

ปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลที่ในอดีตเคยเป็นเสมือนหนึ่งมือที่หยิบยื่นโอกาสทองแก่สรรเสริญ กำลังเป็นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมือที่ฉุดกระชากให้ผู้ประกอบการต้องล้มหรือสะดุด?!

ในกรณีที่รัฐบาลอาจจะ "ยกเลิก" ข้อกำหนดบังคับสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ไว้ที่ 54% เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องจากแกตต์ (ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีอากร)

ถ้าหากการยกเลิก LOCAL CONTENT นี้เกิดขึ้นจริง ความหายนะย่อมเข้ามาสู่ผู้ผลิตชิ้นส่วนใหญ่น้อย 300 กว่าราย สรรเสริญในฐานะอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จำเป็นต้องดำเนินบทบาทในฐานะตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์เข้าเรียกร้องรัฐบาลให้ปกป้องอุตสาหกรรมนี้สุดชีวิต

"ผมคลุกคลีกับวงการนี้มา 20 กว่าปี ผมยังเห็นว่าอนาคตยังดีอยู่ แน่นอนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนจาก 112% เหลือ 20% ขณะที่ผู้ผลิตในประเทศต้องนำเข้าวัตถุดิบเสียภาษี 60% เพราะฉะนั้นถ้ายกเลิก LACAL CONTENT ผู้ผลิตอย่างผมอาจจะนำเข้าก็ได้เพราะเสียภาษีแค่ 20% หรือถ้าผลิตในประเทศก็ต้องให้มีปริมาณมากพอ แต่ถ้ามีปริมาณชิ้นส่วนน้อยก็น่าหนักใจ" สรรเสริญกล่าวถึงปัญหาอนาคต

ความพยายามที่ธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดของกลุ่มทำให้สรรเสริญในฐานะผู้นำจำเป็นต้องคิดยุทธศาสตร์การเติบโตขยายไปในธุรกิจอื่น ๆ เป็นการลงหลักปักฐานอีกฐานหนึ่งให้มั่นคงแข็งแรง

แนวโน้มที่เกิดขึ้นแล้วคือ การเข้าไปธุรกิจบริการและธุรกิจการพัฒนาที่ดินที่สรรเสริญได้เข้าไปเทคโอเวอร์สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์ท แล้วให้โกมล จึงรุ่งเรืองกิจน้องชายคนที่สามดูแล โดยจ้างมืออาชีพบริหารจนประสบความสำเร็จดี

ขณะที่หทัยรัตน์ ภรรยาของสรรเสริญได้ริเริ่มโครงการบ้านจัดสรรที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยร่วมลงทุนกับเพื่อนสนิท และการซื้อที่ดินมูลค่า 200 กว่าล้านเพื่อพัฒนาเป็นโรงงานซึ่งเป็นที่เดิมของบริษัทธานินทร์ยูเนียน และที่ดินที่จังหวัดระยอง

"พี่จะซื้อที่ดินโดยจะดูว่าที่ตรงนั้นต้องไม่ตรงกับทางสามแพร่ง แม้จะขายราคาแสนถูกอย่างไรพี่ก็ไม่เอา เพราะมันไม่สบายใจ" หทัยรัตน์เล่าให้ฟัง

นอกจากธุรกิจที่ดินแล้ว ความสนใจในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ยังเป็นลู่ทางการลงทุนที่เร้าใจอยู่ แม้จะพลาดหวังจากกรณีไอทีเอฟก็ตามที

"ความสนใจในธุรกิจนี้ก็คิดว่าทำให้เราสามารถขยายธุรกิจได้แตกต่างจากแนวอุตสาหกรรม" หทัยรัตน์ให้ความเห็น

ทั้งที่ดินและธุรกิจการเงิน ว่ากันตามจริงแล้ว มันสามารถ CAPITALIZED ทุนและ GENERATE LIQUIDITY ให้กลุ่มซัมมิทฯ ได้ในยามที่ตลาดชิ้นส่วนในประเทศเกิดภาวะตกต่ำลง

การเติบโตของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทนั้นจะไม่ทำแบบหวือหวาหรือลงทุนอย่างใหญ่โต แต่จะทำจากเล็กไปหาใหญ่ โดยค่อย ๆ ทำทีละขั้น จนกว่าจะพบว่าเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มไปได้ดีจึงขยายใหญ่โต

และวิธีการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เป็นสิ่งที่สรรเสริญปฏิเสธตลอดมา ภาพพจน์นี้ได้สะท้อนถึงแนวคิดอันอนุรักษ์นิยมของเขา บนความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของกลุ่มเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพากระบวนการระดมทุนในลักษณะนี้

โดยสรุปแล้ว อนาคตของกลุ่มซัมมิทโอโตซีทได้เปิดพรมแดนอาณาจักรของการลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไว้แน่หนามากกว่ายุคก่อน และปูทางให้กับทายาทธุรกิจรุ่นลูกหลานท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนโยบายรถยนต์ของรัฐบาลที่ใกล้ตัวใกล้ใจมากที่สุดนี้ สรรเสริญต้องพิสูจน์ความเป็นอัจฉริยภาพของเขาว่าจะสามารถมองการณ์ไกลและปรับยุทธวิธีให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us